ทฤษฎีคางคกของลุงบุญหนา


ทฤษฎีคางคกของลุงบุญหนา

        หลายท่านอาจจะเคยอ่านทฤษฎีคางคกจากปรัชญาโยชิซูกุมาบ้างแล้ว  ซึ่งหากนำมาเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ก็สามารถอธิบายพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี  ความจริงสำหรับครูอ๊ะเองเคยรับรู้ทฤษฎีนี้มีนานนับยี่สิบปีแล้ว  แต่ไม่เคยคิดว่ามันจะมีความสำคัญมากในภาวะของโลกในปัจจุบันนี้
     ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ครูอ๊ะเรียนอยู่ชั้น ป.4 หลังฤดูเกี่ยวข้าวครูอ๊ะกับเพื่อนๆ ได้นำควายไปเลี้ยงที่นาของลุงบุญหนา แล้วก็ไปนอนเล่นที่เถียงนาน้อยของลุงบุญหนากัน  ที่ใต้ถุนเถียงนาน้อยนั้นมีหม้อนึ่งเก่าๆ อยู่ใบหนึ่ง  ครูอ๊ะกับเพื่อนๆ ก็จะเอามาเคาะเล่นตามประสาเด็กๆ   แต่ก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นคางคกถูกต้มตายอยู่ในหม้อนึ่งใบนั้น
   ด้วยความสงสัยจึงมีคำถามมากมายถามลุงบุญหนา
“ต้มคางคกทำไม”  “ใครต้มคางคกกิน”  “คางคกกินได้ด้วยหรือ”  “ทำไมต้องต้มคางคก” ฯลฯ
แต่คำตอบที่ได้จากลุงบุญหนาคือ
“มันถูกต้มจนตายเพราะน้ำไม่ร้อน”
คำตอบของลุงบุญหนาสร้างความแปลกใจให้กับครูอ๊ะและเพื่อนๆ เป็นอย่างมาก
สุดท้ายลุงบุญหนาจึงอธิบายว่า
“ธรรมชาติของคางคกนั้นสามารถปรับตัวได้ดี  มันบังเอิญมาลอยคอว่ายน้ำอยู่ในหม้อนึ่งใบนี้อย่างสบายอารมณ์  เมื่อป้าภรรยาลุงบุญหนาก่อไฟนึ่งข้าวแต่เช้ามืด (ลุงบุญหนากับภรรยานอนที่เถียงนา) ด้วยความรีบจะออกเก็บกองข้าวแต่เช้ามืดไม่ทันได้สังเกต ป้าก็จับหม้อนึ่งตั้งค้างเตาไฟโดยไม่รู้ว่ามีคางคกอยู่ในนั้น  เจ้าคางคกโชคร้ายเมื่อน้ำเริ่มอุ่นก็จะคิดว่า  “สบายตัวดีเหลือเกิน”  เมื่อน้ำเพิ่มอุณหภูมิขึ้นตามลำดับมันก็จะคิดว่า  “น้ำอุ่นนี้กระตุ้นเลือดลมดีแท้ รออีกสักครู่จึงจะกระโดดออก”  แล้วมันก็ปรับตัวตามระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ  กว่ามันจะรู้ว่าอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่จะทนได้ มันก็สายไปเสียแล้ว  มันจึงนอนตายขาชี้ให้ดูอย่างที่เห็น
ในขณะเดียวกัน  หากน้ำในหม้อนึ่งนั้นร้อนอยู่แล้ว แล้วเจ้าคางคกตัวนี้บังเอิญกระโดดเข้าไปพอดี  มันจะดีดตัวออกจากหม้อทันทีเพราะมันไม่สามารถปรับตัวได้ทันในขณะนั้น แล้วมันก็จะไม่ตาย  ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับสุภาษิตไทยที่ว่า
“น้ำร้อนปลาเป็น  น้ำเย็นปลาตาย”  นั่นเอง
ทฤษฎีคางคกของลุงบุญหนาจึงอธิบายได้อย่างนี้แล

หมายเลขบันทึก: 405598เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2010 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ต้มคางคก นอนที่เถียงนา

นอนแรกนึกว่าใครเถียงใคร ตากับยายเถียงกัน

เถียงนา คืออะไรเหรอค่ะ

สวัสดีครับครู อ๊ะ ขอบคุณ ทฤษฎีคางคกจะได้ไปเป็นบทเรียน ครับ

ขอตอบแทนน้องกอสาวใต้ เถียง ก็หนำนา ขนำนา หรือเพิงหมาแหนบนหัวนา ไว้กันแดดกันฝนได้ดีนักแล

สวัสดีครับ

คุณ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- อธิบายได้ถูกต้องแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท