การจัดทำผลงานทางวิชาการ


ส่วนมากผู้ทำผลงานทางวิชาการขาดการศึกษาความหมายของผลงานทางวิชาการที่กำหนดโดย ก.ค.ศ.จากคู่มือประเมินด้านที่ 3 จึงมักดำเนินการจัดทำผลงานทางวิชาการส่งเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงอยากขอให้ทุกท่านได้อ่าน และทำงานอย่างมีหลักวิชาในทุก ๆ เรื่อง จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จในอาชีพ

แนวการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้น

          จากประสบการณ์ที่เคยพบ การทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาความหมายของผลงานทางวิชาการที่ ก.ค.ศ.ได้ให้ไว้ในคู่มือการประเมินด้านที่ 3 ที่ให้ความหมายของผลงานทางวิชาการว่า “ผลงานทางวิชาการหมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่จัดทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ โดยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย และได้นำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานในหน้าที่ จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ” จากความหมายนี้ ผมมองแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 พัฒนานวัตกรรมโดยมีกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ(เป็นการศึกษาค้นคว้า วิจัย) ส่วนที่ 2 นำนวัตกรรมที่มีคุณภาพแล้วนั้นมาแก้ปัญหา หรือพัฒนานักเรียน หรืองาน ที่รับผิดชอบ และส่วนที่ 3 คือเผยแพร่ผลงานโดยการชักชวนให้ผู้อื่นได้นำไปใช้ หรือได้นำไปอ้างอิงในการทำงานทำให้เกิดประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ(มีร่องรอยหลักฐานให้เห็นว่างานวิชาการของเราที่เพื่อน ๆ ได้นำไปใช้พัฒนางานของเขา ทำให้งานของเขามีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าให้เห็น) แต่ผลงานทางวิชาการ(โดยเฉพาะ ค.ศ.3) ส่วนใหญ่มักจะรายงานผลการพัฒนานวัตกรรม(อาจจะเป็นแบบเรียนสำเร็จรูป หรือแบบฝึก ฯลฯ) ซึ่งเนื้อหาสาระของการดำเนินงาน -มีการสร้างนวัตกรรม -นำนวัตกรรมไปหาประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน -ประเมินผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังใช้นวัตกรรม และ-ศึกษาความพึงพอใจจากการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม(ส่วนมากมักกำหนดวัตถุประสงค์ของการทำงานว่า 1)เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของ(นวัตกรรม) หรือเพื่อหาประสิทธิภาพของ(นวัตกรรม), 2)เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ หรือเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังใช้(นวัตกรรม), และ 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจ หรือความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนได้ด้วยนวัตกรรมที่สร้างขึ้น)  โดยดำเนินการกับนักเรียนที่รับผิดชอบสอนทั้งกระบวนการ(ทั้งสามวัตถุประสงค์) ซึ่งทำในลักษณะการทำวิทยานิพนธ์ หรือการศึกษาอิสระ(Independent Study) ตามความคิดเห็นของผมเห็นว่า การดำเนินการในขอบเขตดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพียงครึ่งแรกตามความหมายของผลงานทางวิชาการ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอีกสองส่วน คือ เป็นการดำเนินการพัฒนานวัตกรรม โดย “การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย” เท่านั้น แต่ยังไม่ได้ “นำไปแก้ปัญหา หรือพัฒนางานในหน้าที่จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ” แต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการประเภทใด ต้องแสดงให้เห็นกระบวนการดำเนินงาน และผลงานให้ครอบคลุมตามความหมายของผลงานทางวิชาการที่ ก.ค.ศ.กำหนดด้วย จึงควรส่งเป็นผลงานทางวิชาการ

         จึงอยากจะให้ข้อเสนอแนะกระบวนการทำผลงานทางวิชาการที่ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1)ศึกษาผลการประเมินงานที่รับผิดชอบที่ผ่านมาหรือผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในเรื่องต่าง ๆ ของวิชา ว่ามีปัญหาหรือมีจุดใดหรือเรื่องในบ้าง หรือมีจุดใดหรือเรื่องใดที่ต้องพัฒนาบ้าง, 2)ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหา/พัฒนา โดยการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดและครอบคลุมปัญหาที่พบ เพื่อให้ได้แนวคิดอย่างครบถ้วน สมบูรณ์มาใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานตามที่พบในข้อ 1), 3)ออกแบบนวัตกรรมที่จะนำมาแก้ปัญหา หรือพัฒนางานที่รับผิดชอบ, 4)สร้างนวัตกรรมตามที่ออกแบบไว้+สร้างเครื่องมือวัดคุณภาพของนวัตกรรม+เครื่องมือวัดผลการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานตามที่พบในข้อ 1), 5)ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความตรง(Validity)ของเครื่องมือทุกชนิดที่สร้าง, 6)ทดลองหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนวัตกรรม(กรณีเป็นนวัตกรรมที่นักเรียนนำไปเรียนด้วยตนเองได้โดยที่ครูไม่ต้องยุ่งเกี่ยว เช่น แบบเรียนสำเร็จรูป แบบฝึก หนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสือเสริมประสบการณ์ (กับนักเรียนกลุ่มอื่น อาจจะทดลองกับนักเรียนรุ่นปีที่ผ่านมา หรือทดลองกับนักเรียนโรงเรียนอื่น)แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมที่ใช้ประกอบการสอนหรือการเรียน เช่น เอกสารประกอบการสอน เอกสารประกอบการเรียน หาคุณภาพตามข้อ 5) ก็เพียงพอ) สำหรับเครื่องมือวัด ถ้าเป็นแบบทดสอบ ต้องทดลองหาค่าอำนาจจำแนก ค่าความยากง่ายของข้อสอบ และความเชื่อมั่น(Reliability)ของเครื่องมือวัด, 7)นำนวัตกรรมที่มีคุณภาพแล้ว ไปใช้แก้ปัญหา หรือพัฒนานักเรียนที่รับผิดชอบ และเก็บข้อมูลผลการแก้ปัญหาหรือพัฒนาโดยใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพแล้ว มาวัดผลของการแก้ปัญหา หรือพัฒนา, 8)วิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนานักเรียนที่รับผิดชอบโดยใช้นวัตกรรมที่สร้างขึ้น, 9)เผยแพร่นวัตกรรมให้โรงเรียนอื่น ๆ ได้นำไปใช้ และติดตามเก็บข้อมูลผลการนำไปใช้, 10)เขียนรายงานผลการแก้ปัญหาหรือพัฒนานักเรียนโดยใช้นวัตกรรมที่สร้างขึ้น พร้อมผลการเผยแพร่(รายงาน 5 บท) ส่งเป็นผลงานทางวิชาการ พร้อมเอกสารอื่น ๆ ตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ

       ถ้าดำเนินการได้ดังนี้ ก็นับว่าได้ดำเนินการครบถ้วนของผลงานทางวิชาการตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนด และถ้าดำเนินการตลอดงานอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ผมคิดว่าวิทยฐานะที่ต้องการน่าจะไม่ไปไหนครับ

       เพื่อไม่ต้องมีความเครียดถ้าจะต้องทำผลงานทางวิชาการ ทุกท่านต้องปฏิบัติในหน้าที่ให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการทุกกระบวนการทำงานให้เป็นปกติของการประกอบอาชีพ เช่น -เมื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้(ต้องตรวจสอบคุณภาพของการออกแบบ และเครื่องมือวัดที่ใช้) -นำไปจัดการเรียนรู้ เมื่อพบปัญหา -แก้ปัญหาโดยการศึกษาวิธีการแก้ปัญหา -สร้างนวัตกรรมมาแก้ปัญหา(ตรวจสอบคุณภาพของนวัตกรรม)-นำนวัตกรรมมาแก้ปัญหา -วัดผลการแก้ปัญหา –วิเคราะห์และสรุปผลการแก้ปัญหา –เผยแพร่ผลงาน –เก็บข้อมูลผลการเผยแพร่ ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีผลงานมากพอสมควร รวบรวมจัดทำรายงานการพัฒนานักเรียนที่รับผิดชอบ ส่งเป็นผลงานทางวิชาการได้ ขอให้โชคดีครับ อ่านเพิ่มเติม และดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://chalermfakon.multiply.com/journal/item/14/14

หมายเลขบันทึก: 404509เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2010 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่าอาจารย์ได้ความรู้มากมาย

ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ ก็รีบจรดปากกาลงบนกระดาษหรือพิมพ์ลงบนแป้นคอมพิวเตอร์เลยนะครับผมเอาใจช่วยให้ได้ ค.ศ.3 ค.ศ.4 ค.ศ.5ทุกคนครับ

ชอบครับ ชัดเจนดี

จะได้เตรียมตัว ตั้งแต่เนิ่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท