การเรียกชื่อตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา” อย่างไหนถูกต้องกันแน่


การแก้ไขกฎหมาย ๓ ฉบับเพื่อตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทำให้เกิดเรื่องแปลกขึ้นหลายกรณี แต่กรณีหนึ่งที่แปลกมาก ทำให้คนในวงการเขตพื้นที่การศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต้องพิศวงงงงวยกันแทบทุกคน ก็คือ เรื่องการเรียกชื่อตำแหน่งของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตกลงเรียกว่าอย่างไรกันแน่ ระหว่าง “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” กับ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” และ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา”

ตามกฎหมายที่แก้ไข รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษา ๑๘๕เขตเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑๘๓ เขต และจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๔๒ เขต ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นอันสรุปลงได้ว่า

๑. เขตพื้นที่การศึกษา เรียกว่า “เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” และ “เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา” เช่น เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ อย่างแน่นอน

๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรียกว่า “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” และ “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา” เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ อย่างแน่นอน Confirm ฟังธง

(หมายเหตุ กรณีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา คนในคนนอกวงการคงจะเข้าใจและตามทันได้ในเวลาไม่นาน แต่กรณีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทั้งคนในคนนอกคงไม่เข้าใจหรือไม่รู้หรอกว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ มีขอบเขตอยู่ในท้องที่ใด ถ้าจะมีการแก้ไขการเรียกชื่อเสียใหม่โดยวงเล็บจังหวัดต่อท้าย เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ (พังงา ภูเก็ต ระนอง) เป็นต้น)

แต่ถึงแม้เขตพื้นที่การศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะแยกเป็น “ประถมศึกษา” และ “มัธยมศึกษา” เกิด “อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา” ขึ้นแล้ว และอีกไม่นานก็จะเกิด “อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา” ด้วย แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ยังเรียกว่า “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะ

๑. มิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๘ ข. ให้มีตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ดังนั้นตำแหน่งจึงยังคงเรียกชื่อตามที่กฎหมายกำหนดไว้เดิม คือ “รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” และ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” ไม่ว่าจะสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็ตาม

๒. ที่จริง แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา และตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาไว้ แต่ ก.ค.ศ.ก็อาจหยิบยกเอาเหตุที่มีการแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา มากำหนดตำแหน่งขึ้นก็ได้ โดยให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วจัดทำมาตรฐานตำแหน่งแยกออกจากกันก็ได้ แต่ ก.ค.ศ.ได้ตัดสินใจแล้วว่าไม่แยก โดยใช้วิธีปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฏิบัติงานอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แต่มีสเปกบางประการแตกต่างกันออกไป เช่น ประสบการณ์การบริหารงานระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา

ดังนั้น ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ว่าจะอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา เรียกชื่อตำแหน่งว่า “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” เพียงชื่อเดียว สำหรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

มีคนสงสัยว่า ถ้าอย่างงั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ก็คงต้องดูสถานที่อยู่ของหนังสือราชการที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคนนั้นลงชื่อว่าเป็นสำนักงานใด ถ้าจะแนะนำตัวให้ผู้อื่นรู้จักคงต้องหายใจลึก ๆ แล้วแนะนำว่าเป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา” ย่อว่า “ผอ.สพท.สพป.พง หรือเป็น “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ (พังงา ภูเก็ต ระนอง)” ย่อว่า “ผอ.สพท.สพม.๑๔” ถ้าจะทำป้ายชื่อติดเครื่องแบบปฏิบัติราชการสีกากีคงต้องจ่ายค่าทำป้ายชื่อแพงหน่อย

มีคนสงสัยอีกว่าทำไมกรณีของผู้อำนวยการสถานศึกษา ก.ค.ศ.ให้เรียกว่าผู้อำนวยการโรงเรียนได้ แล้วกรณี “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา” หรือ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ (พังงา ภูเก็ต ระนอง)” จะเรียกว่า “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา” (ผอ.สพป.พังงา) หรือ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔” (ผอ.สพม.๑๔) บ้าง ทำไมจึงไม่ได้ คงขึ้นอยู่กับ ก.ค.ศ.ว่าจะให้เรียกอย่างนั้นได้หรือไม่ กรณีของผู้อำนวยการโรงเรียนฟังมาว่า มีคนไม่เห็นด้วยมากเพราะผู้อำนวยการโรงเรียนมิใช่ตำแหน่งตามกฎหมาย แต่เมื่อปล่อยออกมาแล้วก็แล้วกันไป ขณะนี้ยังมีหลายหน่วยงานที่ไม่ใช้ชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ใช้ว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียน...” หรือ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยาลัย...” อยู่ก็มี

วิพล นาคพันธ์

๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓

อ่านข่าวสารทั้งหมดของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

หมายเลขบันทึก: 404249เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
นายณรงค์ศักดิ์ มหัทธนอภิกรม

ผมคิดไว้ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น และมั่นใจว่าหลายคนด้วย แต่ในระบบเขตพื้นที่ฯ จนถึง สพฐ. หรือแม้ระดับสูงกว่านั้น ก็ดูเหมือนจะยินยอมให้ใช้กันแบบที่ใช้ในปัจจุบันนี้อย่างตามกันไปทั่วประเทศ ไม่มีนักกฎหมายฯ หรือนักการศึกษาฯ ที่กล้าจะวิเคราะห์ออกมาอย่างท่านวิพล เราจึงอยู่ในกลุ่มพวกมากลากไป เรื่อย ๆ ถ้ามิใช่ศาลฯ ตัดสิน หรือ กฤษฎีกาตีความให้สิ้นสุดเสียที ลูกหลานไทยก็พลอยเข้าใจไปอย่างนั้นอีกนานเท่านาน อยากให้สังคมไทยใช้คำและความหมายที่ถูกตามกฎหมาย หรือจะแก้ไขกฎหมายให้ได้อย่างใจท่านเหล่านั้นก็ให้รีบ ๆ ทำเสียทีเถอะครับ ลูกหลานไทยจะได้ไม่พลอยเป็นพวกมากลากไปเข้าป่า เข้าพงอยู่เรื่อยเลยครับ ขอให้ผู้ใหญ่ในแวดวงระดับชาติช่วยด้วยเถอะครับ ขอบพระคุณล่วงหน้า ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคนหนึ่ง

การใช้ชื่อตำแหน่งที่กล่าวถึง ยังคงยืนยันตามเดิมอยู่หรือเปล่า เพราะหนังสือราชการที่ออกจาก สพฐ. หรือ ก.ค.ศ. ได้เปลี่ยนชื่อกันหมดแล้ว เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑ หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑ ช่วยตอบให้กระจ่างด้วยนะครับ เพราะอาจจะมีการนำข้อความที่คุณลงไว้นี้ไปอ้างอิงจนกระทั่งเกิดความสับสนอีก

ครูวิทยาครับ

บทความของผมเป็นความเห็นทางกฎหมายโดยวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วลงความเห็นว่าตามกฎหมายแล้วควรเป็นอย่างไร มุมมองอาจไม่เหมือนกับของคนอื่น การอ้างอิงถ้าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาไม่มีปัญหา เพราะจะต้องนำไปวิเคราะห์วิจารณ์ก่อนแล้วจึงลงบทสรุป

ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดว่าอย่างไร และมีเจตนารมณ์อย่างไร แต่ถ้าผู้มีอำนาจหน้าที่เช่น ก.ค.ศ.กำหนดว่าอย่างไรก็ต้องใช้ตามนั้น แต่มิได้หมายความที่ ก.ค.ศ.กำหนดจะถูกเสมอไป ผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถโต้แย้งได้ สุดท้ายผู้ที่ชี้ขาดคือศาลตามระบบนิติรัฐของประเทศไทยเราครับ

ขอบคุณที่สนใจอ่านบันทึกของผม

วิพล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท