BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปวารณา


ปวารณา

วันนี้... ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จัดว่าเป็นวันปวารณาออกพรรษา จึงใคร่จะนำคำว่า ปวารณา มาบอกเล่าในโอกาสนี้

คำว่า ปวารณา นี้ แม้ผู้ใกล้ชิดกับวัดหรือพุทธศาสนามักจะเข้าใจความหมาย ผู้สนใจคำอธิบายศัพท์นี้เชิญ  คลิกที่นี้.

แต่เมื่อจะถอดความหมายตามรากศัพท์คงจะยากพอสมควร เพราะแม้แต่ผู้เขียนเองก็รู้สึกว่าจะยังไม่เคยเจอคำแปลตรงตัวตามรากศัพท์เลย เจอแต่คำแปลทับศัพท์ทั้งนั้น... ลองค้นหาตามคัมภีร์ต่างๆ ก็ยังไม่เจอที่ท่านวิเคราะห์ศัพท์ไว้โดยตรง ในคัมภีร์อภิธาน ท่านก็บอกไว้แต่เพียงว่า ศัพท์ว่าปวารณานี้ ใช้ในความหมาย ๒ อย่างคือ การห้าม (ปฏิกเขปะ) และ การเชื้อเชิญที่มีเครื่องสักการะเป็นเบื้องหน้า (อัชเฌสนา)

เมื่อดูตามอักขระ ปวารณา น่าจะมาจาก ป. เป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์คือ วร. ขณะที่ ณ. เป็นปัจจัยที่มาจาก ยุ. อีกครั้งหนึ่ง ( ป+วร+ยุ = ปวารณา) ซึ่งประเด็นแยกศัพท์ทำนองนี้ นักเรียนบาลีเบื้องต้นย่อมเข้าใจกันดี

อุปสัคตัวนี้ ใช้ในความหมายว่า ทั่ว. ข้างหน้า. ก่อน. ออก. ซึ่งจะใช้ความหมายใด ก็ตามความเหมาะสมของคำศัพท์นั้นๆ มิใช่เรื่องยาก

ประเด็นที่ยากก็คือ รากศัพท์ว่า วร เพราะเป็นรากศัพท์ที่พ้องรูป แต่ความหมายเกินสิบอย่าง เช่น แสวงหา. รุ่งเรือง. ห้าม. ปรารถนา. ผูกพัน. ห้าม. คบหา. ระวัง. ปิดบัง. ปิดกั้น. อยาก. ... ตัวอย่างก็เช่นกิริยากิตก์ที่มาจากรากศัพท์นี้ว่า วาเรตฺวา บางครั้งก็แปลว่า ขอ (สู่ขอหญิงสาวเพื่อให้มาแต่งงานกับบุรุษ) หรือบางครั้งก็แปลว่า กั้น (ปิดกั้นถนนหนทาง) เป็นต้น

ตั้งแต่ผู้เขียนเป็นเจ้าอาวาส หนังสือหรือคัมภีร์ก็แยกย้ายกันอยู่ตามกุฏิตามห้อง ไม่ค่อยมีโอกาสค้น เมื่อคิดจะเขียนศัพท์นี้ จำวัดเมื่อคืนก็คิดไปด้วย จนกระทั้งได้วิเคราะห์มาชุดหนึ่ง จึงนำมาเล่าไว้ กล่าวคือ

ปวารณา ศัพท์นี้ น่าจะมาจาก วร รากศัพท์ ในความหมายว่า ผูกพัน ... โดยมี เป็นอุปสัคนำหน้าในความหมายว่า ก่อน ...

ป+วร แปลว่า ผูกไว้ก่อน หมายถึง ถ้อยคำที่ใครบางคนผูกพันไว้เป็นเบื้องต้นเพื่อกิจบางอย่าง โดยมีอรรถวิเคราะห์ว่า

  • ปฐมํ วาเรติ ตายาติ ปวารณา
  • บุคลย่อมผูกไว้ก่อน ด้วยถ้อยคำนั้น ดังนั้น ถ้อยคำนั้น ชื่อว่า ปวารณา (เป็นเครื่องผูกไว้ก่อน)
  • เตน กิจฺจํ วาริยเต ตายาติ ปวารณา
  • กิจ อันเขา ย่อมผูกไว้ ด้วยถ้อยคำนั้น ดังนั้น ถ้อยคำนั้น ชื่อว่า ปวารณา (เป็นเครื่องอันเขาผูกไว้)

มื่อจะอธิบายตามอรรถวิเคราะห์นี้ ก็เช่น ภิกษุห้ามขอปัจจัย๔ กับผู้ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่ผู้ปวารณา ... ผู้ปวารณา ก็คือ ผู้ที่บอกไว้ ทำนองว่า พระคุณเจ้าต้องการสิ่งใดก็จงบอก เป็นต้น ทำนองนี้หมายความว่าได้ผูกไว้ด้วยวาจา ภิกษุจึงอาจขอได้...

ในกรณีวันปวารณาเข้าพรรษาก็ทำนองเดียวกัน ภิกษุปวารณากับสงฆ์หรือคณะว่า ด้วยสิ่งที่ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว หรือด้วยระแวงสงสัยก็ตาม ขอท่านผู้มีอายุอาศัยความเอ็นดู จงว่ากล่าว เมื่อกระผมเห็นอยู่ จักกระทำคืน... นั่นคือ ผูกไว้ด้วยวาจาให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวแนะนำตักเตือนได้ในสิ่งที่ได้เห็นได้ยินหรือระแวง...

ปวารณา ศัพท์นี้ คงจะต้องคอยผู้รู้ผ่านมาช่วยวิจารณ์ด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ปวารณา
หมายเลขบันทึก: 404187เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 07:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท