สถานการณ์น้ำท่วมที่นครราชสีมากับการทำงานของศูนย์อนามัยที่ 5


สรุปรายงานการการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยศูนย์อนามัยที่ 5 

ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2553

จังหวัดนครราชสีมา 

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 จังหวัดนครราชสีมา บางส่วนยังคงมีน้ำท่วมสูง แต่อยู่ในระดับทรงตัว โดยเฉพาะในเขต อำเภอด่านขุนทด อำเภอปากช่อง และ อำเภอปักธงชัย ส่วนอำเภอที่ยังคงมีระดับความรุนแรงอยู่ คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอจักราช ในพื้นที่อำเภอเมืองบางพื้นที่น้ำเริ่มลดระดับลงแล้ว

การดำเนินการแก้ไขปัญหาในจังหวัดนครราชสีมา 

1. ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์ฯ ร่วมประชุม ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา   เพื่อติดตามความก้าวหน้า หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค

2. ประชุมคณะทำงาน ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน สรุปผลการดำเนินงานแต่ละทีม ปัญหาอุปสรรค หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานในพื้นที่

  1. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนแก่ผู้ประสบภัย เช่น ปูนขาว คลอรีน ฯลฯ
  2. จัดทีมเพื่อไปปฏิบัติงานช่วยเหลือน้ำท่วม จำนวน 3 ทีม ดังนี้

ทีมที่ 1 ปฏิบัติงาน ณ อำเภอปักธงชัย

ทีมที่ 2 ปฏิบัติงาน ณ เขตตำบลจอหอ อำเภอเมือง

ทีมที่ 3 ปฏิบัติงาน ณ เขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

 (หมายเหตุ มีทีมทำงานน้อยเพราะส่วนใหญ่มาทำงานไม่ได้น้ำท่วมบ้านหมดครับในแต่ละทีมก็มีคนแค่ 3-4คนเท่านั่นเอง)

ทีมที่ 1 ปฎิบัติงานพื้นที่อำเภอปักธงชัย

เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา  ได้ลงพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม คือ เขตตำบลเมืองปักและเขตตำบลตะคุ ในพื้นที่สองแห่งนี้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 300 หลังคาเรือน  จากการสอบถามชาวบ้านพบว่าที่บ้าน ตำบลตะคุ

                        น้ำใช้            เป็นระบบประปาหมู่บ้าน

                        น้ำดื่ม           ใช้น้ำดื่มที่ได้รับบริจาค

                        อาหาร           มีทั้งเตรียมปรุงเองและได้รับบริจาค

                        สิ่งปฏิกูล         ขับถ่ายในบ้านของเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องที่น้ำไม่ท่วม 

กิจกรรมดำเนินการ

ในจุดนี้มีการเตรียมอาหารไว้สำหรับบริจาค จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำดื่มบริเวณในพื้นที่ตรวจคุณภาพทางแบคทีเรียเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำ  

  1. มอบคู่มือประชาชนเรื่องการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน  และภัยพิบัติ ให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย
  2. ร่วมแจกเวชภัณฑ์ยา  แจกถุงดำให้กับประชาชนที่เดือนร้อน
  3. สนับสนุนคลอรีนน้ำหยดทิพย์ 

 

ทีมที่ 2 ปฏิบัติงานพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

น้ำในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติยังมีปริมาณสูงเช่นเดิม และรุนแรงขึ้น ศูนย์อพยพที่เทศบาลไม่สามารถอาศัยต่อไปได้ เนื่องจากถูกตัดน้ำประปา และไฟฟ้าแล้ว บางส่วนย้ายไปอยู่ที่ โรงเรียนช้างราษฎร์บำรุง  เพราะน้ำท่วมไม่ถึง และมีพื้นที่กว้าง ประชาชนประมาณ 300 คน พักอาศัยที่อาคารเรียน ชั้น 1 และ 2 บางส่วนอาศัยที่หอประชุมโรงเรียน รถเล็กไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้ ต้องอาศัยรถบรรทุกของทหาร

กิจกรรมดำเนินการ

ในจุดนี้มีการเตรียมอาหารไว้สำหรับบริจาค จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำดื่มบริเวณในพื้นที่ตรวจคุณภาพทางแบคทีเรียเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำ  

กิจกรรมในพื้นที่ ต.โคกกรวด 

  1. สำรวจศูนย์อพยพที่ วัดละลมหม้อ ต. ขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ พบว่าน้ำลดแล้ว ไม่มีผู้พักอาศัยในวัด
  2. สำรวจที่วัดดอนแต้ว พบว่า ประชาชนกลับบ้านหมดแล้ว
  3. เก็บตัวอย่างผู้สัมผัสอาหารจากแม่ครัว จำนวน 3 คน
  4. แจกเวชภัณฑ์ยาให้ผู้ประสบภัย
  5. สนับสนุนถุงดำ ปูนขาว เจลล้างมือ สารส้มและหยดทิพย์ให้กับผู้ประสบภัย
  6. ให้ความรู้ในการใช้อุปกรณ์และสารเคมีที่จำเป็น เช่น ปูนขาว คลอรีน  สารส้ม และถุงดำ  ในการขับถ่ายของเสีย

 ทีมที่ 3 ปฏิบัติงานพื้นที่ตำบลจอหอ/หน้าราชภัฎ อำเภอเมือง

สถานการณ์บริเวณพื้นที่ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ได้แก่  หมู่ 1  หมู่ 3  หมู่ 4  หมู่ 5  หมู่ 13  และหมู่ 14  ซึ่งทั้ง 6 หมู่นี้เป็นหมู่บ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน  ส่วนหมู่ 6 และหมู่ 3 ประสบภัยน้ำท่วมเป็นบางส่วนเท่านั้น  โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น  7,371 ครัวเรือน  ประชากรที่ได้รับความเดือนร้อน 15,148  คน  และมีการอพยพมาในที่ปลอดภัยแล้ว 150  ครัวเรือน  ประชากร  300  คน  มีวัดในเขตพื้นที่ได้รับความเสียหาย  3  วัด   สถานที่ราชการ  1  แห่ง  และโรงงาน  1  แห่ง  

ในหมู่ 4  พบว่า ไม่มีน้ำสำหรับใช้อุปโภคเนื่องจากมีการหยุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ต้องใช้น้ำฝนที่ได้กักเก็บเอาไว้และคาดว่าจะใช้ได้อีกไม่เกิน 2 วันก็จะหมด  ส่วนน้ำดื่มจะได้รับจากการบริจาคและจากการบรรจุใส่ขวดน้ำนำจากแท้งค์น้ำฝนของคนในชุมชน  ปัจจุบันน้ำที่ผ่านชุมชนเป็นน้ำไหลยังไม่เกิดปัญหาเน่าเสียและกลิ่นเหม็นจากการขังของน้ำ  แต่เกิดปัญหาสุขภาพจากการเดินลุยน้ำแล้วบางส่วน  และเกิดปัญหาความเครียดขึ้น  ต้องการนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยเหลือ 

กิจกรรมการดำเนินการ

 1. ในบริเวณใต้อาคารที่ทำการของเทศบาลได้มีการจัดเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งในบริเวณนี้ได้มีการปรุงประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยที่อยู่ในพื้นที่ เก็บตัวอย่างอาหารทำการตรวจโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารด้วยชุดทดสอบ SI-2   จำนวน 2 ชนิด ได้แก่  แกงมะเขือใส่ไก่  และ ไข่เจียว

2. สำรวจความเสียหายในพื้นที่  หมู่ 4  พบว่า จุดนี้เป็นบริเวณที่น้ำท่วมสูงเนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดริมคลองบริบูรณ์ ในหมู่บ้านนี้ได้มีการช่วยเหลือกันเองโดยดำเนินการจัดตั้งสถานที่ปรุงประกอบอาหารและมีการบรรจุน้ำดื่มในบริเวณบ้านที่น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้นโดยการนำเรือบรรทุกอาหารและน้ำเข้าไปส่งให้ถึงบ้านผู้ประสบภัยทั้ง 3 มื้อ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารทำการตรวจโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารด้วยชุดทดสอบ SI-2   จำนวน 2 ชนิด  ได้แก่  ผัดหมี่ และข้าวผัดไข่  และเก็บตัวอย่างน้ำฝนที่ใช้ดื่มมาตรวจคุณภาพทางแบคทีเรีย

3. ในจุดบริการอาหารและน้ำดื่มหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานทางมหาวิทยาลัยได้ออกมาปรุงประกอบอาหารสำหรับบริการผู้ประสบอุทกภัยเป็นจำนวนมาก  โดยในช่วงเช้าและเที่ยงได้ให้บริการอาหารกล่องไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 กล่อง โดยทางทีมได้ประสานขอตรวจโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารด้วยชุดทดสอบ SI-2  ในอาหาร 2 ชนิด  คือ ส้มตำและไข่เจียว

4. จุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแยกจอหอในจุดนี้ทางศูนย์อนามัยที่ 5 ได้จัดสิ่งของไปสนับสนุน ได้แก่ หยดทิพย์    ถุงดำรองรับขยะ   ชุดทำแผลและเวชภัณฑ์ยาต่างๆ ให้สำหรับแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่

  จังหวัดชัยภูมิ

สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2550 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้มี 4 อำเภอที่ ได้แก่ อำเภอหนองบัวแดง  3 ตำบล  3 หมู่บ้าน อำเภอบ้านเขว้า 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน อำเภอเนินสง่า 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอเมือง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองน้ำท่วมทุกชุมชน 25 ชุมชน อยู่ในระดับลึก 1เมตร

การดำเนินการช่วยเหลือของศูนย์อนามัยที่ 5

ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมาได้จัดสิ่งสนับสนุนให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ  วันนี้รถหน่วยช่วยน้ำท่วมของศูนย์ฯ ออกเดินทางไปแล้วพรุ่งนี้คงมีภาพมาให้ดูครับ

แผนที่จะดำเนินการต่อไป

ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเน้นการเฝ้าระวังทางด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ

 

เหนื่อยแค่ไหนแรงใจเรายังดีอยู่สู้อยู่แล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 403869เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาให้กำลังใจคนทีมช่วยเหลือน้ำท่วมของ ศูนย์ฯ 5 ด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท