อธิบดีบัญชีกลางมอบนโยบายผู้บริหาร


อธิบดีบัญชีกลางมอบนโยบายผู้บริหาร

อธิบดีกรมบัญชีกลางประชุมเพื่อมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารกรมบัญชีกลางเมื่อช่วงเช้า พร้อมย้ำมั่นใจ
ในความสามารถของผู้บริหารทุกท่านที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้กรมบัญชีกลางก้าวเดินต่อไปเข้าสู่ปี่ที่ 121 อย่างยั่งยืน

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการประทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ และจะเริ่มปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่  1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป  จากกรอบภารกิจของกระทรวงการคลัง
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในปี 2554-2559 ได้แก่

1.    การสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการสร้างโอกาสเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ เสริมสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันให้แก่ประชาชนและมีระบบรองรับเมื่อว่างงานและเกษียณอายุ

2.    การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยการปฏิรูประบบโลจิสติกส์ในเชิงยุทธศาสตร์ เสริมสร้างศักยภาพภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

3.    การจัดทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยกระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณรายได้  ทั้งนี้ เป้าหมายในการบริหารการคลัง คือ การลงทุนอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ต่อปี และงบดำเนินงานไม่เกินร้อยละ 60 เพื่อให้เศรษฐกิจมีการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ได้รับมอบนโยบายที่สำคัญ คือ

1.    เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุม และบริหารรายจ่ายภาครัฐและรายจ่ายประจำตามภารกิจของรัฐบาลให้อยู่ในกรอบ MOU ระหว่างกระทรวงการคลังกับสำนักงบประมาณ โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะ
ค่ารักษาพยาบาลอย่างเข้มงวด

2.    พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกรมบัญชีกลาง เช่น การเบิกจ่ายเงินภาครัฐ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  การรายงานรายรับ-รายจ่ายเงินนอกงบประมาณ

3.    ส่งเสริมความโปร่งใส เป็นธรรม โดยการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

 

จากนโยบายสำคัญที่ได้รับมอบมา กรมบัญชีกลางจึงได้มีการวางแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังโดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ 

1.    ให้บุคลากรของกรมฯ มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หรือการมี Service Mild ในการให้บริการแก่ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.    ให้มีการศึกษาหรือหาแนวทางเกี่ยวกับการให้ผลประโยชน์ตอบแทน หรือสวัสดิการที่เป็นธรรม เช่น การกำหนดสิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นต้น รวมถึงการศึกษาหาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพข้าราชการ

3.    กำหนดวิธีการดำเนินงานและกำกับดูแลเงินนอกงบประมาณ คล้ายกับกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของ สคร. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารเงินคงคลัง และในเบื้องต้นจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเงินฝากคลังที่เป็นปัจจุบัน และทบทวนเหตุผลความจำเป็นของเงินฝากคลังนั้นๆ หากหมดความจำเป็นควรเรียกนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 
ในส่วนที่ยังจำเป็นอยู่ ก็กำหนดขอบเขตและระยะเวลาที่ชัดเจน  ส่วนที่เป็นเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีการพัฒนามาตรฐานของระบบการประเมินผลการดำเนินงานให้มีความเป็นสากลและครอบคลุมเงินทุนหมุนเวียนทั้งหมด  และใช้ผลการประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาสถานะของเงินทุนหมุนเวียน ว่าเหมาะสมที่จะคงสภาพเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือยกระดับเป็นรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน หรือยุบรวม/เลิก  โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ ต้องเร่งดำเนินการจัดทำรายรับ-รายจ่ายของเงินนอกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลจะได้ทราบจำนวนเงินนอกงบประมาณที่เป็นรูปธรรม และสอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ต้องรายงานรายรับ-รายจ่าย
เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกปีภายใน 60 วัน นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ

4.    ศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคลังให้กับบุคลากรท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านการคลังเพิ่มมากขึ้น และดำเนินงานให้ระบบ GFMIS สามารถเชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ (E-LAAS)
 ซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นระบบเรียบร้อยแล้ว และมีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ ระยอง  ฉะเชิงเทรา  สมุทรสาคร  และนครสวรรค์  ล่าสุดได้มีการหารือกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเบิกจ่ายตรงให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมด้วย

5.    พัฒนาปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูล และดำเนินธุรกรรมทางการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  เพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้ง กระตุ้นตลาดและเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเอกชน

6.    ประสานงานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดให้งานตรวจสอบภายในเป็นสายงานวิชาชีพในพระราชกฤษฎีกากำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทวิชาชีพเฉพาะและประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่นเดียวกับงานด้านวิชาการตรวจเงินแผ่นดินและการตรวจสอบบัญชี โดยผู้ตรวจสอบภายในต้องผ่านการทดสอบและฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์วิชาชีพที่สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงการคลังกำหนด หรืออาจมีการพิจารณาเป็นค่าตอบแทนพิเศษเช่นเดียวกับนิติกร ถ้าไม่สามารถกำหนดให้เป็นสายงานวิชาชีพได้

ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ กรมบัญชีกลางมีความเชื่อมั่นว่าสามารถดำเนินการในการเป็นกลไกสำคัญ
ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนได้   นายรังสรรค์กล่าวต่อท้าย

หมายเลขบันทึก: 403866เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 06:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท