การใช้ “coping card ” เพื่อลดภาวะซึมเศร้า


1. ชื่อหัวข้อกิจกรรม    การใช้ “coping card ” เพื่อลดภาวะซึมเศร้า

 

2. ประเภทผลงาน

                r  ส่งประกวด   r  จัดบอร์ด

 

3. วัตถุประสงค์กิจกรรมคุณภาพที่ได้ดำเนินการ

-  เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า

 

4. หลักการเหตุผล

                    ปัจจุบันอัตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากการรายงานกรมสุขภาพจิตปีงบประมาณ 2546-2547 พบว่าผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น จากปี พ.ศ. 2546 จำนวน 1,371259 ราย เป็น 2,139366 รายในปี พ.ศ. 2547 สำหรับโรงพยาบาลพิจิตร จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการปี พ.ศ. 2552 พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชมารับบริการจำนวน 6,712 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่มีปัญหาซึมเศร้าที่มารับบริการทั้งสิ้น 1,325 ราย คิดเป็น ร้อยละ 18.6 ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคนเป็นครั้งคราว เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจต่อความกดดัน หรือความสูญเสีย จนทำให้รู้สึกหดหู่และเกิดอาการซึมเศร้าตามมา ถือว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกและมีผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพส่วนตัวในการเผชิญอุปสรรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากอาการซึมเศร้าเป็นต่อเนื่องเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เป็นต้นว่า นอนไม่หลับ คิดฟุ้งซ่านตลอดเวลา สมรรถภาพทางการทำงานถดถอย  ความสนใจทางเพศน้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก ปวดศีรษะ หากยิ่งปล่อยให้ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวต่อไปโดยไม่มีการจัดการที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดความคิดในแง่ลบ รวมทั้งมองโลกในแง่ร้าย บางคนอาจเกิดความคิดอยากทำร้ายตนเองได้

การบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้าประกอบด้วยการรักษาหลายแบบ เช่น การใช้ยา การทำจิตบำบัด การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม การให้คำแนะนำ ในรายที่เป็นไม่รุนแรง การนัดผู้ป่วยและครอบครัวมาพบแพทย์สม่ำเสมอ โดยแพทย์และพยาบาลให้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคและการจัดการเกี่ยวกับความเครียดที่เป็นสาเหตุของโรค ร่วมกับการให้กำลังใจและช่วยเหลือประคับประคองทางจิตใจก็อาจเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่สำหรับในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยยาร่วมกับการให้คำปรึกษาแนะนำ (counseling) แบบตัวต่อตัวจะช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้การฝึกให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy)โดยเน้นให้ผู้ป่วยรับรู้วิธีคิดหรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และนำมาพูดคุยกับผู้รักษาและเปลี่ยนวิธีคิดให้เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลงได้ อย่างไรก็ตามจากการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามักมีความคิดที่บิดเบือนจากความเป็นจริง มีความคิดต่อตนเอง สิ่งแวดล้อมและอนาคตในทางลบ ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติไม่ได้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล การปรับเปลี่ยนวิธีการคิดจึงต้องใช้ระยะเวลาในการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องค่อนข้างนาน แต่ผู้ป่วยบางรายมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้ไม่สามารถมาตามนัดหมายเพื่อรับบริการให้คำปรึกษาและปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคในการบำบัดรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว

                      จากที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช จึงได้ตระหนักถึงรูปแบบในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โดยดำเนินการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดในทางลบให้เป็นไปในทางบวก ด้วยวิธีการที่ง่ายๆ สามารถฝึกได้ด้วยตนเอง โดยใช้ระเวลาสั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังเพื่อลดภาวะซึมเศร้า และลดโอกาสในการพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าต่อไป

 

5. การวิเคราะห์สาเหตุ

                ปัญหา: รูปแบบการบำบัดรักษาไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าบางราย

5.1 สาเหตุด้านระบบ

- รูปแบบการบำบัดรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าไม่หลากหลาย

- รูปแบบการบำบัดรักษาแบบเดิมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยบางราย

5.2 สาเหตุด้านบุคลากร

 - บุคลากรมีจำนวนน้อย ภาระงานมาก บางครั้งการดูแลผู้ป่วยจึงไม่เป็นไปตามโปรแกรมการบำบัดรักษา

- ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่มารับบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น (111 รายต่อเดือน) ทำให้บุคลากรมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยแต่ละราย

5.3 สาเหตุด้านผู้ป่วย

                      -  ผู้ป่วยขาดนัด หรือมารับการรักษาไม่ต่อเนื่อง

                      - ผู้ป่วยไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดจากลบให้เป็นบวกได้ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะเครียดหรือภาวะกดดันทางจิตใจ

 

6. การเก็บข้อมูลก่อนการปรับปรุง

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการซักถามผู้ป่วยที่มารับบริการติดตามหลังการให้คำปรึกษาและการฝึกการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดที่กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช พบว่า

1. ผู้ป่วยบางรายยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดในทางลบของตนเองให้เป็นทางบวกได้ทันทีที่เกิดปัญหาหรือเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตในชีวิต ภายหลังการประเมินภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยซ้ำ จึงยังคงพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าอยู่

2. ผู้ป่วยบางรายนึกความคิดในทางบวกที่จะใช้ในการแทนที่ความคิดในทางลบเพื่อลดภาวะซึมเศร้าไม่ได้

 

7. การวางแผนและดำเนินการปรับปรุง

ระยะที่ 1   ขั้นเตรียมความพร้อม

1. วิเคราะห์ประเมินสภาพปัญหาโดยนำกระบวนการหลักมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดผู้เกี่ยวข้อง และผลกระทบในเชิงระบบ

2. วางแผนพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา ประกอบด้วย  

          2.1) ประเมินสภาพปัญหาและค้นคว้าหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา

          2.2) กำหนดเป้าหมาย และวางแผนการดำเนินงาน

 ระยะที่ 2   ขั้นดำเนินการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา

                       1. วิเคราะห์กระบวนการหลัก และกิจกรรมการดูแลบำบัดรักษาตามกรอบแนวคิด ทฤษฎีการรักษา การพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า

                       2. นำมาตรฐานต่างๆ เช่น Nursing  standard, CPG, Best practice  มาวิเคราะห์เพื่อหารูปแบบการบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า

       3. พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าได้แก่  Coping Card

                       4. ดำเนินการประเมินและการติดตามผล                               

 

 

 

8. ผลลัพธ์/การวิเคราะห์ผล และการจัดทำเป็นมาตรฐานงาน

                -  มีรูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โดยผู้ป่วยสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง       ด้วยวิธีการที่ง่าย และสะดวก

 

9. ประโยชน์ต่อตนเอง/หน่วยงาน/ลูกค้า

                9.1 ต่อตนเอง/หน่วยงาน

                -  Coping Card ใช้งานง่าย ผู้ป่วยสามารถนำไปฝึกเพื่อลดภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเองหลังจากที่ผู้บำบัดได้แนะนำวิธีการใช้งาน

                -  ลดระยะเวลาในการฝึกการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด

                9.2 ต่อลูกค้า

                - ผู้ป่วยสามารถพกพา Coping Card ได้สะดวก เมื่อมีความคิดในทางลบเกิดขึ้น สามารถหยิบ Card ขึ้นมาอ่านเพื่อหยุดความคิดในทางลบและเปลี่ยนความคิดให้เป็นไปในทางบวกได้ทันที

หมายเลขบันทึก: 403857เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 06:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท