การขับเคลื่อนแผนชุมชน


 

                การพัฒนาด้านการเกษตรและชุมชน เมื่อได้จัดการความรู้ จึงได้รับองค์ความรู้ที่ยังไม่ได้รับทราบหรือบางอย่างนั้นหลงลืมไป เนื่องจากไม่ได้นำมาใช้นานแล้ว การขับเคลื่อนแผนชุมชนที่คุณพัฒน์ฐมญชุ์    เชื้อเนียม จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท นำไปปฏิบัติในพื้นที่แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงขอเชิญชวนผู้อ่านนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือพัฒนาชุมชนของท่านได้ครับ

ความเป็นมาและแรงบันดาลใจ

               คุณพัฒน์ฐมญชุ์    เชื้อเนียม กล่าวว่า  แผนชุมชน  เป็นเครื่องมือสำหรับหมู่บ้าน/ชุมชน  ใช้ในการพัฒนาตนเอง  และเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน  ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  แผนชุมชนจึงเป็นผลของการบริหารจัดการให้ชุมชนเรียนรู้  จนสามารถค้นหาปัญหา  ศักยภาพ  และกำหนดเป้าหมายด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งชุมชนให้ร่วมกันคิด  ตัดสินใจ  นำแนวทางไปใช้ในการดำรงชีวิตของคนในชุมชน  ทั้งระดับครอบครัว  และชุมชน  เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต  โดยกำหนดกิจกรรมโครงการในลักษณะที่ชุมชนทำได้เองทันทีด้วยความสามารถ  และศักยภาพของชุมชน  หรืออาศัยความสามารถในการร่วมกันกับหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ  ในการดำเนินการ  หรืออาจยกให้เป็นภาระของหน่วยงานภายนอกชุมชนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมโครงการที่เกินขีดความสามารถของชุมชน  เมื่อผลการพัฒนา  ป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน  สู่จุดมุ่งหมายของการเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง  อยู่เย็นเป็นสุข

                แผนชุมชนเป็นกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ของคนในชุมชน  ทำให้รู้จักตัวตนของตนเองและชุมชน   สร้างพลังความสามัคคีในชุมชน   ทำให้ชุมชนใช้ประสบการณ์   และความรู้ร่วมกันกำหนดทิศทาง   แนวทางการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ   มีกระบวนการแก้ไขปัญหา  มีสาเหตุของปัญหา  มีเป้าหมายในการดำเนินการได้  โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง  ลดการพึ่งพาภายนอก  เว้นแต่ที่จำเป็น  ด้วยการคำนึงถึงศักยภาพ  ทรัพยากร  ภูมิปัญญา  วิถีชีวิต  วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นหลัก  แผนชุมชนจึงเป็นของชุมชน  ดำเนินการโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน  ทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเชื่อมประสานภาคีการพัฒนา  ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนงบประมาณ  และส่วนราชการ  อื่น ๆ ได้ด้วย

วัตถุประสงค์

                  การจัดเรียนรู้การขับเคลื่อนแผนชุมชน จะช่วยในการวางแผนสนับสนุนการจัดทำแผนชุมชนระดับหมู่บ้านในการทบทวนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำรวจ  รวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูล  ปรับแผนชุมชน/กิจกรรม โครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของชุมชนตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประกอบการประเมินพัฒนาคุณภาพแผนชุมชน

 กระบวนการ/ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ

      ๑.  ประสานภาคีการพัฒนา  คณะทำงานแผนชุมชนระดับตำบล  และแกนนำการจัดทำแผนชุมชนของหมู่บ้าน  กำหนดแผนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ

      ๒.  คณะทำงานแผนชุมชนระดับตำบล  และแกนนำการจัดทำแผนชุมชนของหมู่บ้าน สำรวจรวบรวม  และวิเคราะห์ข้อมูลของหมู่บ้านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนชุมชน  วิเคราะห์ปัญหาของหมู่บ้าน  แนวทางการแก้ไขปัญหา  กำหนดกิจกรรม/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      ๓.  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ  ตามประเด็นที่กำหนด  คือ

           ๑)  ทบทวนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง/การประยุกต์ใช้

           ๒) กระบวนการจัดทำแผนชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

           ๓) กรอบ  ๕  แผนงานตามยุทธศาสตร์อยู่ดี มีสุข

          ๔) การประเมินและพัฒนาคุณภาพแผนชุมชนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

          ๕) การวางแผนสนับสนุนการจัดทำแผนชุมชนระดับหมู่บ้าน/มอบหมายภารกิจในการสำรวจ  รวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูลของหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนชุมชน

 

ปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จ

                               การสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการจัดทำแผนชุมชน โดยจัดวางระบบข้อมูลและระบบการติดตามเพื่อใช้ในการดำเนินการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน ควบคู่กับการบูรณาการแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม   ร่วมกับส่วนราชการ   หน่วยงานภาคเอกชน   และองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง  โดยมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานในพื้นที่อำเภอ  ดำเนินการในลักษณะบูรณาการทั้งแผนงาน  งบประมาณ  และการปฏิบัติในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน เจ้าภาพหลักควรอำนวยการ  ประสาน  เร่งรัด  ตรวจสอบ  ติดตาม  และประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการ  หน่วยงานภาคเอกชน  และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 ข้อพึงระวังในการดำเนินงาน

 

                                ๑.  มีการใช้ข้อมูล  จปฐ.  กชช. ๒ ค  และข้อมูลบัญชีรับจ่ายครัวเรือนร้อยละ  ๗๐  ขึ้นไป  ร่วมในการวิเคราะห์  และจัดทำแผนชุมชน                                          

                                ๒.  มีตัวแทนครัวเรือนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชนมากกว่าร้อยละ  ๗๐  ของครัวเรือนทั้งหมด

                               ๓.  ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  มีส่วนร่วมในการจัดทำตั้งแต่ต้น

                               ๔.  มีแผนชุมชนเป็นลายลักษณ์อักษร

                               ๕.  มีกระบวนการชุมชนตามแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีแผนงาน/โครงการ

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อยู่ดี  มีสุข

                               ๖.  มีกิจกรรมพึ่งตนเอง  (ทำเอง)  อย่างน้อยร้อยละ  ๓๐  ของกิจกรรมในแผนชุมชน  และมีการนำไปปฏิบัติ  อย่างน้อยร้อยละ  ๓๐  ของกิจกรรมพึ่งตนเอง

  ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน

                                 “นักพัฒนาชุมชน”  ทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวย  (Facilitator)  การให้เกิด “พลังชุมชน”  ให้ประชาชนใช้พลังชุมชนในการบริหารจัดการงานพัฒนาของชุมชน  ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดความคิด  เกิดปัญญารู้คิด  รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เกิดเป็น  “พลังความคิด”  ช่วยจัดกระบวนการกลุ่มทั้งการเรียนรู้ร่วมกันและการเพิ่มทักษะการทำงาน  เพื่อสร้าง  “พลังการกระทำ”  ทั้งยังต้องสร้างกระบวนการอาสาสมัคร  ส่งเสริมและสร้างสรรค์ภาวะผู้นำ  ให้ตระหนักสำนึกในบทบาทหน้าที่ในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  เสริมแรงจูงใจ  กระตุ้น  ประสานความร่วมมือร่วมใจให้มีส่วนร่วมและแสดงอำนาจการตัดสินใจอย่างสมบูรณ์เพื่อส่งเสริม  “พลังจิตสำนึก”  ของประชาชนให้มั่นใจ  เชื่อมั่นในศักยภาพของตน  จนสามารถกระทำการต่าง ๆ  เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

เบอร์โทรศัพท์        ๐ – ๕๖๔๓ - ๐๒๖๓

คำสำคัญ (Tags): #แผนชุมชน
หมายเลขบันทึก: 402326เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2010 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท