การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

            กระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยปัจจุบันนับว่าเป็นยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยดังกล่าวสามารถมองได้ในหลายมิติ  หากจะมองความเจริญด้านวัตถุ  อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยก้าวสู่สังคมที่มีความทันสมัยทั้งในด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร การคมนาคม  และอื่นๆอีกมากมาย หรือ หากมองด้านระบบเศรษฐกิจ เป็นลักษณะเศรษฐกิจเสรีโดยเฉพาะการส่งออก และสินค้าเกษตรต่างๆ เป็นประเทศหนึ่งที่สำคัญของโลก รวมทั้งด้านการเมืองการปกครอง เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  และด้านวัฒนธรรมจัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทั้งด้านภาษา การแต่งกาย ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆนับว่าเป็นชาติหนึ่งที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม  หากมองโดยภาพรวมแล้วประเทศไทยมีความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ   แต่ถ้าหากจะมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าภาพเบื้องหลังของความเจริญในหลาย ๆ ด้านได้ทิ้งปัญหาที่หมักหมมจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข  เช่น  ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาคอรัปชั่น  ปัญหาโสเภณี   ปัญหาโรคติดต่อ และที่หายไปพร้อมกับความเจริญอีกประการหนึ่งคือ  คุณธรรมจริยธรรมของผู้คน และจิตสำนึกสาธารณะนั้นเอง

            อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพสังคมเกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย ขาดความสงบสุข และไม่เคารพในกฎหมาย อันเนื่องมาจากความประพฤติ หรือ การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของสมาชิกในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า สังคมดังกล่าวขาดคุณธรรมจริยธรรม และจิตสำนึกสาธารณะของสมาชิกในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องมุ่งเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และการมีจิตสำนึกสาธารณะในการอยู่รวมกันในสังคมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรอีกด้านหนึ่ง คือ การพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกสาธารณะ และเมื่อกล่าวถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จัดเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่เสริมสร้างความสามารถของมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางขององค์กรนั้นๆต้องการ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านได้เสนอคำจำกัดความของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้ดังนี้

            เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ย่อมหมายถึง การพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ สติปัญญา โดยกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการขัดเกลาจากสถาบันทางสังคม โดยการคิดจากความสงสัยสู่การฝึกฝนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผลลัพธ์จะยั่งยืนและมีคุณค่าได้นั้น ต้องเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ควบคู่กับความมีคุณธรรม ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ และเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นรองย่อมแสดงให้เห็นถึง การมีจิตสาธารณะของมนุษย์นั้นเอง จากแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ว่า “มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึก คือไม่เรียนรู้ไม่ฝึกหัดพัฒนาแล้ว จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อยู่ไม่รอดและไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้”1 จากแนวคิดดังกล่าวจะเห็นได้ชัดประการหนึ่ง คือ ความรู้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย เป็นสิ่งที่เกิดจากการประสมประสานกันอย่างลงตัวขององค์ประกอบของความรู้ที่หลากหลายซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์จำต้องเรียนรู้ เพื่อที่สามารถดำรงชีวิตในสังคมที่มีความสลับสับซ้อนอย่างปัจจุบันได้ และอีกด้านของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ควรจะเป็นดังคำจำความดังนี้  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ กระบวนการของกลุ่มกิจกรรมที่ปฏิบัติจัดทำในช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม และมีจุดประสงค์เน้นในกลุ่มย่อยที่ต่างกันขององค์กร คือ การฝึกอบรม การศึกษา และการพัฒนา จากองค์ประกอบของการพัฒนาดังกล่าวทั้ง การฝึกอบรม การศึกษา และการพัฒนา เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันในพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมีคุณภาพได้2      

          ซึ่งทิศทางของการพัฒนาที่ควรจะเป็น คือ การพัฒนา “คน” จะพัฒนาในลักษณะตรงกันข้าม จะต้องพัฒนาจากภายในตั้งแต่ระดับบุคคลระหว่างบุคคลจนถึงระดับองค์การ หรือที่เรียนว่าเป็นกระบวนการพัฒนาจากข้างในสู่ข้างนอก และผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนาคือ การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่องค์กรได้กำหนดไว้3 ทั้งนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้สมาชิกในองค์กรได้ปฏิบัติต่อไป

 ____________________________________________

1ปาฐกถานำในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

2ดนัย เทียนพุฒ, (2537), กลยุทธ์การพัฒนาคน: สิ่งที่ท้าทายความสำเร็จของธุรกิจ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 22

3ณรงค์วิทย์ แสงทอง, (2547), การบริหารงานทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่, กรุงเทพฯ: เอช อาร์ เซ็นเตอร์ จำกัด

 

           ในทางตรงกันข้ามเมื่อสังคมมีความล่ำสมัยมากขึ้นเพียงใด ความเลื่อมล้ำ การเอาเปรียบต่อกัน ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์ เหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการพัฒนาและการสร้างสรรค์ทรัพยากรที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงการมีจิตสำนึกสาธารณะของคนให้เกิดขึ้น ดังนั้นการที่จะสามารถสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆกับเสริมสร้างความมีคุณธรรมจริยธรรม และจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดในจิตใจของคนได้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในบริบทดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสู่การสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาสังคมโลกต่อไปได้และเมื่อกล่าวถึงคำว่า จิตสาธารณะ (Public Mind) หรือจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness) เป็นคำใหม่ที่มีใช้เมื่อไม่นานมานี้ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของจิตสำนึกสาธารณะหรือจิตสาธารณะ ไว้หลากหลายและมีการเรียกจิตสำนึกสาธารณะไว้แตกต่างกัน ได้แก่ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จิตสำนึกต่อสังคม จิตสำนึกต่อส่วนรวม จิตสำนึกสาธารณ-สมบัติ4 ซึ่งคำเหล่านี้มีผู้ให้ความหมายไว้ใกล้เคียงกันหลากหลายความหมายดังนี้

             จิตสำนึกสาธารณะ คือ การปลูกฝังจิตใจให้บุคคลมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เป็นการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากภายใน "จิตสาธารณ" เป็นสิ่งหนึ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการปลูก จิตสํานึกให้คนรู้จักเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจ มีความร่วมมือในการทําประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยลด ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเป็นหลักการในการดําเนินชีวิต ช่วย แก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชนสุขแก่สังคมส่วนร่วม ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดของ เดโช สวนานนท์ (2520 : 55) กล่าวว่า จิตสำนึกหมายความได้หลายทางร่วมกัน แต่ความหมายหนึ่ง คือ ลักษณะของบุคคลที่ตอบโต้ต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว ในอาการตระหนักรู้ สัมผัสความรู้สึก ความคิด และการต่อสู้ดิ้นรนของตนเองได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า คือ ลักษณะของบุคคลที่ทำอะไรลงไปอย่างรู้ตัว ไม่ได้ใจลอย หรือทำอะไรลงไปขณะมีอารมณ์วูบ หน้ามืด ขาดสติยับยั้ง5          

 _______________________________________________

5เดโช สวนานนท์ (2520: 55) ความหมายจิตสำนึกสาธารณะ (ออนไลน์). สืบค้นจาก

www.kasetyaso.ac.th/thai%20cultule/09.pdf. [เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553]

 

             จากความหมายของจิตสำนึกที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่าจิตสำนึกเป็นพฤติกรรมภายในอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่แสดงออกถึงภาวะทางจิตใจที่เกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด ความปรารถนาต่างๆ เป็นภาวะทางจิตตื่นตัว และรู้ตัวสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ที่รวมตัวกันขึ้น และมีความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้น และประเมินค่าสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นจิตสำนึก โดยจะการแสดงออกที่มีความเหมาะสม หรือไม่นั้น ก็จะขึ้นอยู่การที่บุคคลเหล่านั้นได้การพัฒนาขัดเกลาจากทางสถาบันทางสังคม อาทิเช่น ครอบครัว โรงเรียน วัด มัสยัด เป็นต้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบข้างล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขัดเกลาทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าเพื่อให้เป็นกลไก หรือ เครื่องมือที่สำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนสังคมในมีความเจริญก้าวหน้าไปควบคู่กับคุณธรรมและการมีชีวิตที่เกื้อกูลต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันอย่างมีความสงบสุขได้ แต่สิ่งดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขาดการเสริมสร้างให้มนุษย์มีจิตสำนึกสาธารณะต่อดำรงอยู่ร่วมกันซึ่งแนวคิดและข้อคิดเห็นข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ทรัพยากรที่ทรงคุณค่าอย่างมนุษย์ให้มีการเสริมสร้างการมีจิตสำนึกสาธารณะ ทั้งในระดับต่างๆในการปฏิบัติของคน ตัวอย่าง ผู้บริหารควรเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เอาสังคมเป็นตัวตั้ง เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังศรัทธา หรือแม้แต่การเสียสละในเชิงวัตถุระดับหนึ่ง ถ้าผู้บริหารขาดจิตสำนึกสาธารณะจนกลายเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จะเกิดการเอาเปรียบองค์กร เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้อง องค์กรคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมาทำให้องค์กรไม่มั่นคงได้ ย่อมส่งผลกระทบในหลายด้านๆซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดในองค์กรอย่าให้เกิดขึ้นกับองค์กรของตัวเองอย่างแน่นอนดังนั้นการที่สร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ที่มีให้มีลักษณะดังกล่าวประกอบด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

            ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะทางสัมพันธภาพของมนุษย์ ภาวะทางสังคม เป็นภาวะที่ลึกซึ้งที่มีผลต่อจิตสำนึกด้านต่างๆ ของมนุษย์ เป็นภาวะที่ได้อบรมขัดเกลา และสะสมอยู่ในส่วนของการรับรู้ทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เกิดสำนึกที่มีรูปแบบหลากหลาย ภาวะแวดล้อมทางสังคมนี้เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ครู สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป ตลอดจนระดับองค์กร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมาย ศาสนา รวมทั้งภาวะแวดล้อมด้านสื่อสารมวลชน และส่วนที่กำกับสำนึกของบุคคล คือ การได้สัมผัสจากการใช้ชีวิตที่มีพลังต่อการเกิดสำนึก อาทิ การไปโรงเรียน ไปทำงาน ดูละคร ฟังผู้คนสนทนากัน รับรู้เหตุการณ์บ้านเมือง ขับรถฝ่าการจราจรที่แออัด

            จากปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางที่ดีหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับบุคคลดังกล่าวจะได้รับการแนะนำ และอบรมสั่งสอนจากภาพแวดล้อมรอบข้างนั้นเอง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเติมโตในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีมากนัก แต่บุคคลดังกล่าวจะสามารถอาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างเข้าใจ และมีจิตสำนึกที่ดีย่อมขึ้นอยู่กับการที่บุคคลคนนั้นได้รับการอบรมขัดเกลามาอย่างถูกต้อง และสามารถทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายของสังคมได้อย่างเข้าใจ เมื่อเกิดความเข้าใจกับต้นเหตุของปัญหาต่างๆว่าเกิดขึ้นจากอะไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำให้บุคคลดังกล่าวได้ตระหนักรู้ว่าตนเองควรปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือ การที่บุคคลดังกล่าวได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี การเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ การอธิบายและทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างของสังคมที่เลวร้ายอย่างเข้าใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดจิตวิทยาพัฒนาการของ Fischer & Gochros (1975) และ Ross (1981) ได้สรุปหน้าที่ของตัวเอง เป็นสามลักษณะ คือ ประการแรก ทำหน้าที่สร้างพฤติกรรมใหม่ ทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจให้เคยเรียนรู้พฤติกรรมดังกล่าวพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น ประการที่สองทำหน้าที่เสริมพฤติกรรมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ประการที่สามทำหน้าที่ยับยั้งการเกิดของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม6

              ดังนั้นการที่การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถสร้างสรรค์ทรัพยากรที่มีความสมบูรณ์ได้นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยากมาก แต่สิ่งที่จะสามารถควบคุ้มพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม หรือ ไม่ดีนั้น คือ การพัฒนาคนในมีจิตสำนึกที่ดี จิตสำนึกในการช่วยเหลือ และคำนึงถึงคุณธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างปัจจุบันได้ 

 __________________________________________________________
6 Fischer, J., & Gochros, H. (1975). Planned behavior change: Behavior modification in social work. New York: The Free Press

 

           ปัจจัยภายใน สำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคล ในการพิจารณาตัดสินคุณค่าและความดีงาม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติทางจิตใจ เพื่อขัดเกลาตนเองให้เป็นไปทางใดทางหนึ่ง โดยเกิดจากการรับรู้จากการเรียนรู้ การมองเห็น การคิด แล้วนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าต้องการสร้างสำนึกแบบใด ก็จะมีการฝึกฝนและสร้างสมสำนึกโดยมีปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยหลักในเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ออกมากจากจิตสำนึกที่อยู่ข้างในตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฏีพัฒนาจริยธรรมของ โคห์ลเบอร์ด (Kohlberg) ได้กล่าวไว้ว่าการพัฒนาทางด้านจริยธรรมเป็นการพัฒนาทางด้านการเรียนรู้เงื่อนไขของผลกรรม เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตลอดชีวิต เมื่อคนเราประสบกับเงื่อนไขต่างๆ ทั้งที่กำหนดโดยธรรมชาติและสังคมรอบข้างก็จะสามารถค่อยๆเรียนรู้ และซึมซับ เงื่อนไขเหล่านั้น สามารถบอกได้ว่า การกระทำหนึ่งๆจะผิดถูกชั่วดีอย่างไรนั้น และปฏิบัติตนให้มีความสอดคล้องกับเงื่อนไขเหล่านั้น การเรียนรู้เงื่อนไขผลกรรมในรูปของผิดชอบชั่วดีนี้ เรียกว่า การเรียนรู้จริยธรรม คือ การตัดสินความผิดถูก  การตัดสินถูกผิดอยู่ที่ความตอบสนองต้องการของตนเอง และการตัดสินถูกผิดอยู่ที่ความเป็นระเบียบของสังคม7

            อย่างไรก็ตามการเกิดจิตสำนึกไม่สามารถสรุปแยกแยะได้ว่าเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทุกสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน จิตสำนึกที่มาจากภายนอกเป็นการเข้ามาโดยธรรมชาติ กระทบต่อความรู้สึกของบุคคล แล้วกลายเป็นจิตสำนึกโดยธรรมชาติ และมักไม่รู้ตัว แต่จิตสำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายในเป็นความจงใจเลือกสรร บุคคลระลึกรู้ตนเองเป็นอย่างดี เป็นสำนึกที่สร้างขึ้นเอง ระหว่างปัจจัยภายใน และภายนอก เป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่องกัน ดังนั้น การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องกระทำควบคู่กันไปทั้งปัจจัยภายในและภายนอกควบคู่ไปพร้อมๆกับการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของคนที่จำต้องที่มีต่อการเป็นทรัพยากรที่ควรกับคุณค่าแก่การยกย่องว่า เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ

________________________________________________ 

7ประยูรศรี สูยะศุนานนท์, (2526), จิตวิทยาพัฒนาการ, กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครูจันทเกษม

 ปัจจุบันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(Human Resource Development) เป็นหัวใจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง มนุษย์จึงจำเป็นต่อการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนานำพาความเจริญก้าวหน้ามายังสังคมประเทศได้ ดังนั้น การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของการพัฒนาสร้างสรรค์ทรัพยากรที่มีความสามารถ และมีจิตสึกนึกสาธารณะ เพื่อให้สังคมที่นับวันเปลี่ยมแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความทันสมัยมากขึ้น และเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูง เป็นสังคมที่ไม่แล้งน้ำใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะสังคมไทย การช่วยเหลือกัน การยิ้มให้กัน การยอมรับกัน คำว่า ไม่เป็นไร นับวันเป็นสิ่งที่กำลังค่อยๆสูญหายไปจากสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปมีจิตสำนึกสาธารณะ ถ้าสามารถปลูกฝัง ส่งเสริมหรือพัฒนาให้เด็กมีจิตสำนึกด้านสาธารณะ ด้วยวิธีการต่างๆ จะทำให้เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปมีจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อาสาดูแลรับผิดชอบสมบัติส่วนรวม มีการใช้อย่างสมบัติของส่วนรวมอย่างเห็นคุณค่า ใช้อย่างทะนุถนอม รู้จักการแบ่งปันโอกาสในการใช้ของส่วนรวมให้ผู้อื่น เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ปัญหาการทำลายสาธารณะสมบัติต่างๆ จะลดลง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์พวกพ้องก็จะลดน้อยลง อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืนต่อไป

 

 

เขียนและเรียบเรียงโดย อับดุลคอเล็ด เจะแต [email protected]

นักศึกษาปริญญาโท สาขา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร

04-07-2553

 

 

 

 

                                                                                                                   

 

บรรณนุกรม

ณรงค์วิทย์ แสงทอง, (2547), การบริหารงานทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่, กรุงเทพฯ: เอช อาร์ เซ็นเตอร์ จำกัด

ดนัย เทียนพุฒ, (2537), กลยุทธ์การพัฒนาคน: สิ่งที่ท้าทายความสำเร็จของธุรกิจ, กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 22

เดโช สวนานนท์ (2520: 55) ความหมายจิตสำนึกสาธารณะ (ออนไลน์). สืบค้นจาก www.kasetyaso.ac.th/thai%20cultule/09.pdf. [เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553]

ประยูรศรี สูยะศุนานนท์, (2526), จิตวิทยาพัฒนาการ, กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครูจันทเกษม

ปาฐกถานำในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

Fischer, J., & Gochros, H. (1975). Planned behavior change: Behavior modification in social work. New York: The Free Press

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 402008เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท