ลักษณะการบูชาพระพุทธรูปแนวประชานิยม


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย. 2552.

ด้วยเหตุผลที่แนวคิดและความเชื่อของพระพุทธศาสนาแนวประชานิยม  มีต้นเค้ามาจากพระพุทธศาสนาแนวจารีต  แต่มากลับกลายเพราะการผสมผสานกับลัทธิความเชื่ออื่น ๆ  ทำให้ ลักษณะการบูชาพระพุทธรูปแนวประชานิยมไม่ได้แตกต่างจากแนวจารีตไปเสียทั้งหมด   เช่น การสรรเสริญพระพุทธคุณ   การแสดงความเคารพนอบน้อม   และการถวายเครื่องสักการะต่าง ๆ  เหล่านี้ได้คติมาจากพระพุทธศาสนาแนวจารีตและถือเป็นส่วนแห่งธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ   แต่ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างการบูชาพระพุทธรูปแนวจารีตกับแนวประชานิยมนั้น  อาจจะพอสรุปได้ดังนี้  

 

                        1)  พระพุทธศาสนาแนวประชานิยม  เน้นการบูชาด้วยอามิส  แต่ไม่ได้อาศัยอามิสมาเป็นเครื่องชักจูงใจให้เกิดคุณธรรม  เกิดปัญญาเป็นสำคัญ  กล่าวคือ ไม่ได้คำนึงถึงการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นยอด

 

                        2)  พระพุทธศาสนาแนวประชานิยม  มีเป้าหมายของการบูชาเน้นที่ลาภผลดลบันดาล  ความมีโชค  ความปลอดภัย  ความสมหวังสมปรารถนาเป็นหลัก   ไม่ได้เน้นที่การคลายทิฏฐิมานะหรือเพื่อพระนิพพาน

 

                  ลักษณะของการบูชาพระพุทธรูปแนวประชานิยมจึงเห็นได้ชัดจากพิธีกรรมในประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ  เหล่านี้

 

         1. การบนบานและการแก้บน    

การบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาช้านานจนถึงขั้นมีการเผยแผ่เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย  แม้ในยุคปัจจุบันที่เจริญด้วยวิทยาการต่าง ๆ  ดังเช่น มีผู้รวบรวมการบนบานและวิธีแก้บนไว้  โดยอ้างถึงสถานที่ต่าง ๆ  ดังนี้   

 

(1) วัดมหาบุศย์ (ศาลย่านาค) เรื่องที่บนบาน คือ โชคลาภ, ความรัก, การเกณท์ทหารวิธีบน  คือ  จุดธูป 9 ดอก  วิธีแก้บน คือ  แก้ตามคำกล่าว หรือ ถวายผ้าถุง, ของเล่นเด็ก, พวงมาลัย    (2) ศาลหลักเมือง  เรื่องที่บนบาน คือ  ความมั่นคงในหน้าที่การงาน  วิธีบน  ธูป 3 ดอก, เทียน 1 เล่ม, ผ้าแพร่ 3 สี, ดอกบัว  วิธีแก้บน ถวายพวงมาลัย หรือ ผูกผ้า 3 สี  (3) พระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่)  เรื่องที่บนบาน ค้าขาย, การเรียน, งาน, หนี้สิน, (โดยมากจะเป็นเรื่องค้าขาย)  วิธีบน ใช้ธูป 16 ดอก, มาลัยดาวเรือง, มาลัยมะลิดาวเรือง หากขอพรใช้ 9 ดอก วิธีแก้บน แก้บนตามคำกล่าว หรือโดยการนำอาหารมาถวายท่าน  (4)  ลานพระบรมรูปทรงม้า เรื่องที่บนบาน การเรียน, ขอให้มีสิทธิ์เรียนรักษาดินแดน  วิธีบน จุดธูป 16 ดอก, กุหลาบสีชมพู, (บนครั้งแรกจุดธูป 16 ดอก ครั้งต่อไป 9 ดอก)  วิธีแก้บน แก้บนตามคำกล่าว หรือนำ น้ำมะพร้าวอ่อน, กล้วยน้ำว้า, ทองหยอด, บรั่นดี, บุหรี่, ข้าวคลุกกะปิ,กุหลาบชมพู  (5)  กรมหลวงชุมพร (เสด็จเตี่ย) เรื่องที่บนบาน ส่วนมากจะเป็นการขอมากกว่าการบน   วิธีบน จุดธูป 19 ดอก และกุหลาบแดง  วิธีบนแก้บน แก้ตามคำกล่าว หรือ ถวาย กุหลาบแดง, ประทัด, หมากพูล, ผลไม้  (6)  ศาลเจ้าพ่อเสือเรื่องที่บนบาน การค้าขาย, เสริมวาสนาบารมีวิธีบน ธูป 18 ดอก ปีก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ มาลัย 1 พวง  (หรือถวายเงินเติมน้ำมันตะเกียง)วิธีแก้บน แก้ตามคำกล่าว   (7)  พระตรีมูรติ เรื่องที่บนบาน เกี่ยวกับความรักวิธีบน  เทียนแดง 1 เล่ม, ธูป (ควรบนตั้งแต่ 09.30 – 21.30 น.) วิธีแก้บน แก้ตามคำกล่าว หรือ น้ำผลไม้, กุหลาบแดง, มาลัยกุหลาบ, ช้าง  (8) หลวงพ่อโสธร เรื่องที่บนบาน การมีบุตร, และโชคลาภ  วิธีบน จุดธูป 16 ดอก และพวงมาลัย   วิธีแก้บน คือ แก้ตามคำที่บน[1]

 

                     การบนบานในลักษณะดังกล่าวนี้  ถือเป็นวิธีการปฏิบัติตนที่แสดงให้เห็นลักษณะของพระพุทธศาสนาแนวประชานิยมอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้ว่า  พระพุทธรูปเช่นหลวงพ่อโสธรก็เป็นที่บนบานของผู้ปรารถนาสิ่งต่าง ๆ อยู่ด้วย  แม้พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ในสังคมไทยก็ถูกยกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจดลบันดาลและมีการบนบานประกอบกับการบูชาอยู่โดยทั่วไป  ดังเช่น  หลวงพ่อวัดไร่ขิง  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง ตำบล ไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งพาบนบานอธิษฐานขอพรของสาธุชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เมื่อได้รับพรสมดังอธิฐานแล้วก็จะทำพิธีแก้บน ซึ่งก็มีการถวายธูปเทียน ปิดทองคำเปลว จุดประทัดถวาย ซึ่งก็ดูจะเป็นธรรมดา แต่ที่ดูจะแปลกกว่าที่อื่น ๆ คือผู้คนจะนิยมแก้บนด้วยการถวายว่าว ชนิดต่าง ๆ มากมายจนบางครั้งเต็มบริเวณพระอุโบสถ ด้วยเหตุที่ผู้คนเชื่อกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงรับบนว่าว ซึ่งก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มีคนถวายว่าวมากมาย[2] 

 

         2.การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา 

เป็นการประกอบพิธีด้วยความเชื่อว่า การประสบความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น  เพราะถึงคราวเคราะห์  มีบาปเคราะห์หรือกรรมชั่วที่เคยทำไว้ตามให้ผล  จำเป็นต้องทำการแก้เคราะห์ร้ายนั้นเสีย  โดยการประกอบพิธีสะเดาะห์เคราะห์  ซึ่งมักจะทำควบคู่กันไประหว่างการบูชาพระพุทธเจ้า  เทวดาและการสวดมนต์    ดังเช่นวิธีการสะเดาเคราะห์ที่ปรากฎในหนังสือคู่มือสวดมนต์วิธีแก้กรรมสะเดาะเคราะห์  ที่แสดงถึงขั้นตอนการบูชาเป็นลำดับ  เช่น  การนำข้าวตอก  ดอกไม้  ธงสามชาย  9  สี  ปักที่ผลมะพร้าว  เทียนแท้หนัก  1  สลึง  9 เล่ม  ธูป  9  ดอก  ปักที่ผลมะพร้าว  มะพร้าวอ่อน  9  ผล  ใช้จานรอง  เมื่อจัดวางของทุกอย่างพร้อมแล้วให้จุดธูปเทียนหน้าโต๊ะบูชาพระ และที่ผลมะพร้าว  นั่งคุกเข่า  ประนมมือสำรวมจิตให้สงบ  แล้วกราบพระ  บูชาพระพุทธเจ้าและเทวดาเป็นลำดับไป[3]  โดยบทสวดนั้นโดยมากเป็นบทพระปริตรที่มีการนิยมสวดกันในงานพิธีสำคัญ ๆ  แต่จะมีเคล็ดลับในการสวดแตกต่างกันไปตามที่ผู้ทำพิธีจะเป็นผู้แนะนำ

 

         ผู้ทำพิธีในการสะเดาะเคราะห์นี้  มีทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส   แต่ในปัจจุบันพระภิกษุดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากกว่าฆราวาสทั่วไป และแม้แต่การทำพิธีทางศาสนาเช่นพิธีเกี่ยวกับการถวายสังฆทานและพิธีพิจารณาผ้าบุงสุกุลเป็นบังสุกุลตาย  ก็ยังถูกนำมาประกอบในการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาในวัดต่าง ๆ  จำนวนไม่น้อย  โดยมีการนำพระพุทธรูปมาเป็นประธานในพิธีนั้น ๆ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของผู้ประกอบพิธี

 

          นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อสะเดาะห์เคราะห์  ซึ่งถือเป็นวิถีทางที่ชาวพุทธในสังคมไทยส่วนหนึ่งปฏิบัติกันและสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของการบูชาพระพุทธรูปที่เชื่อมโยงกับความเชื่อดังกล่าว

 

                     3. การบูชาพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด   

แนวคิดเรื่องพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดนั้นได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.3) ทรงโปรด ฯ ให้นำความเลื่อมใสศรัทธานี้มาเกี่ยวคล้องกับ “ชะตาชีวิต” บัญญัติเรื่องราว “พระพุทธรูปปางประจำวัน 9 ปาง”กำหนดตามนพเคราะห์สำหรับบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษา [4] ตามความเชื่อเรื่องกำลังวันในวัฒนธรรมพราหมณ์ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ทรงโปรดฯ ให้กำหนดบทสวดถือว่าเป็น “ธรรมพลี“ แทน “อามิสพลี”  แทรกระหว่างพิธีกรรม [5] จึงเป็นที่มาของการบูชาพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดและการสวดพระปริตรต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในวันเกิดของตน ๆ

 

                  การกำหนดพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นพระพุทธรูปประจำวันต่าง ๆ นั้น  เป็นการนำเอาพระพุทธรูปมาแทนที่การบูชาเทวรูปประจำนพเคราะห์นั้น ๆ[6] เป็นการพยายามแทรกแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเข้ากับแนวทางของพราหมณ์  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการรับเอาวิถีปฏิบัติแบบพราหมณ์มาปะปนในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน  แต่ก็ยังเป็นผลดีที่ทำให้การปฏิบัติเช่นนี้ยังเกี่ยวพันอยู่กับพระพุทธศาสนาเพราะไม่เช่นนั้น  ก็คงเป็นวิถีปฏิบัติแบบพราหมณ์ล้วน ๆ   ซึ่งพระพุทธรูปประจำวันต่าง ๆ นั้นมีดังนี้

 

(1)    วันอาทิตย์  ได้แก่   พระพุทธรูปปางถวายเนตร

 

(2)    วันจันทร์ ได้แก่  พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

 

(3)    วันอังคาร  ได้แก่  พระพุทธรูปปางไสยาสน์

 

(4)    วันพุธ  ได้แก่  พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

 

(5)    วันพฤหัสบดี  ได้แก่  พระพุทธรูปปางสมาธิ

 

(6)    วันศุกร์  ได้แก่  พระพุทธรูปปางรำพึง

 

(7)    วันเสาร์  ได้แก่  พระพุทธรูปปางนาคปรก

 

(8)    วันพุธกลางคืน  ได้แก่  พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์

 

(9)    พระเกตุ  ได้แก่  พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร[7]

 

                  การบูชาพระพุทธรูปในแต่ละวันนั้นมีบทสวดกำกับตามจำนวนกำลังวันซึ่งเป็นข้อกำหนดทางโหราศาสตร์ประกอบกัน  

 

      ลักษณะการบูชาพระพุทธรูปดังกล่าวมานี้  จะเห็นได้ว่ามีการผสมผสานกับความเชื่ออื่น ๆ อย่างชัดเจน  โดยเฉพาะความเชื่อของศาสนาพราหมณ์  ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์  ซึ่งขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาแนวจารีต  แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติกันอยู่และบางอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไปเสียแล้ว  การจะคัดค้านหรือห้ามปรามไม่ให้ปฏิบัติก็คงเป็นเรื่องใหญ่และยากที่จะทำได้ 

 

      เมื่อเป็นเช่นนี้  จึงเกิดคำถามว่า  ทำอย่างไรให้พระพุทธศาสนาแนวจารีตและแนวประชานิยมไม่ขัดแย้งกันมากนัก  สามารถยอมรับระหว่างกันได้โดยมุ่งถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายสถาบันพระพุทธศาสนา  พระสงฆ์และฆราวาส  

 

      การศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูปทั้ง 2  แนวทาง  จึงเป็นทางออกหนึ่งที่อาจจะเป็นช่องทางในการหาจุดร่วมและปิดช่องทางที่ทำให้เกิดข้อเสียหายแก่พระพุทธศาสนาโดยภาพรวมเสียได้  ในบทต่อไปจึงจะได้ศึกษาถึงเรื่องคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 


เอกสารอ้างอิง

      [1] http://www2.tatc.ac.th/~it34020/project1_2/kata2.html

      [2] สิทธิพล  พงษ์เก่า, “วิถีไทย : แก้บน,” ออนไลน์, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธร,  2549.

      [3]  คณาจารย์เลี่ยงเซียงจงเจริญ, คู่มือสวดมนต์และวิธีแก้กรรม สะเดาะเหคราะห์,  หน้า. 16.

      [4] ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ,กรมพระยา,ตำนานพระพุทธเจดีย์ (กรุงเทพฯ: จักรานุกูลการพิมพ์, 2544), หน้า  180.

      [5] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ,ประเพณีสิบสองเดือน พิมพ์ครั้งที่ 18  (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์.2542)  หน้า 552-553.

      [6] ขวัญทอง  สอนศิริ, พุทธนาคบริรักษ์ 48 พรรษา สยามบรมราชกุมารี, หน้า 84.

      [7]เรื่องเดียวกัน,  หน้า 85.

หมายเลขบันทึก: 402002เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท