AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

นักศึกษากับการเขียนเรียงความ


แต่ถ้า คำตอบและความเป็นจริง คือ “ไม่มีแล้ว” ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายเป็นที่สุด เพราะการเขียนเรียงความนั้น เป็นกระบวนการที่ทำให้นักเรียนผู้เขียนได้รู้จักการคิดวางแผน คิดอย่างเป็นระบบ ในการที่จะร้อยเรียงคำออกมาจากความคิดที่คิดเอาไว้ในสมอง และ ได้ฝึกฝนการรู้จักใช้ “คำ” (Word) ที่มีอยู่อย่างมากมายในภาษาไทย เพื่อให้เกิดความสละสลวย ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงจัดว่าเป็นทั้ง “ศิลป์และศาสตร์” อย่างลงตัว

     บันทึกนี้มีต้นเหตุมาจาก การที่ผมในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งขององค์กรนิรโทษสากล ที่ชื่อว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand : AI-Thailand) ซึ่งผมเคยร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ภายใต้กระบวนการเรียนการสอนวิชาสิทธิ เสรีภาพ และความมั่นคงของมนุษย์ และ วิชาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ที่ผมเป็นผู้สอน

     วันที่ 4 ตุลาคม 53 ที่ผ่านมา ผมได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของ AI ว่า จะจัดโครงการ Training of Trainers Workshop on Human Rights Education ขึ้น โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษานานาชาติ (International Education Institute) เป็นหลัก ให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

     ผมในฐานะ “อาจารย์” จึงได้รับสิทธิในการคัดเลือกนักศึกษาให้เข้าร่วมได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสและความทั่วถึง

     ผมจึงไม่คัดเลือกนักศึกษาทันที แต่เลือกที่จะใช้วิธีการคัดเลือกด้วย “การเขียนเรียงความ” ในหัวข้อที่ว่า สิ่งที่คิดว่าจะได้จากโครงการ และจะนำมาพัฒนาให้เกิดกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมที่วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างไร” ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 (ในความจริงแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับเรียงความเต็มหน้ากระดาษเสียด้วยซ้ำ)

     ผมจึงติดประกาศไว้ที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ที่หน้าตึกวิทยาลัยฯ ทั้งประกาศผ่านเฟซบุ๊ค (Facebook: FB) และ Hi5 สโมสรนักศึกษา รวมถึงประกาศในห้องเรียนทั้ง 3 ชั้นปี ตั้งแต่วันจันทร์ (4 ตุลาคม 53) เป็นต้นมา และมีกำหนดปิดรับเรียงความในวันศุกร์ที่ 8

     ปรากฎว่า หลังจากที่ประกาศออกไป จนเกือบถึงวันกำหนดปิดรับ ผมก็ยังไม่ได้รับเรียงความแม้แต่แผ่นเดียว และคิดว่า จะยกเลิกการเข้าร่วมโครงการนี้เสีย

     แต่ก่อนจะถึงวันสุดท้าย ในตอนดึกของคืนวันพฤหัสบดี ผมก็ได้รับข้อความทาง MSN จากนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง บอกว่าจะเขียนเรียงความ ผมก็รับคำว่า “ได้ ส่งมาเลย” ผ่านไปอีกนิดหน่อย เวลาราว ตี 1 กว่า ก็ได้รับข้อความผ่าน FB จากนักศึกษาหญิงต่างคณะอีกคนหนึ่งว่า สนใจและจะส่งเรียงความมาให้อ่าน ผมก็ “โอเคได้ ส่งมา” พอในวันรุ่งขึ้น ผมก็ได้รับเรียงความจากนักศึกษาหญิงอีกคนหนึ่งที่นำมาส่งให้ผมด้วยตัวของเธอเองที่วิทยาลัยฯ สรุปผมได้รับเรียงความทั้ง 3 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นที่ส่งมานั้น ผู้เขียนก็บอกกับผมว่า “เขียนไม่เป็น คิดว่าเขียนได้ไม่ดีพอ และขอให้ช่วยดูให้หน่อย” ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่กลับรู้สึกชมเชยพวกเธอเหล่านั้นเสียอีกว่า “เป็นผู้มีความพยายามที่จะเขียน” ซึ่งต่างไปจาก นักศึกษาบางคนที่ “อยากไป อยากได้ แต่ไม่อยากเขียน หรือไม่คิดจะเขียน เพื่อให้ได้มา”

     ผมขอทิ้งประเด็นเอาไว้แค่นี้ก่อน เพราะอยากจะพูดถึง “การเรียงความ” ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันยังมีการสอนหรือบังคับให้นักเรียนระดับประถม มัธยมเขียนเรียงความกันอยู่หรือไม่ เพราะสมัยผมเป็นนักเรียนประถมและมัธยม ผมยังได้เขียนอยู่เลย

     แต่ถ้า คำตอบและความเป็นจริง คือ “ไม่มีแล้ว” ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายเป็นที่สุด เพราะการเขียนเรียงความนั้น เป็นกระบวนการที่ทำให้นักเรียนผู้เขียนได้รู้จักการคิดวางแผน คิดอย่างเป็นระบบ ในการที่จะร้อยเรียงคำออกมาจากความคิดที่คิดเอาไว้ในสมอง และ ได้ฝึกฝนการรู้จักใช้ “คำ” (Word) ที่มีอยู่อย่างมากมายในภาษาไทย เพื่อให้เกิดความสละสลวย ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงจัดว่าเป็นทั้ง “ศิลป์และศาสตร์” อย่างลงตัว

     ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยสักนิด ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยโดยมากในปัจจุบันที่ไม่สามารถจะตอบคำถามข้อคำถามแบบอัตนัยได้อย่างมีหลักการ หรือ มีลำดับขั้น โดยมากจะเขียนเพียงสั้น ๆ ตามที่คิดได้ โดยขาดส่วนขยายที่จะช่วยเกิดความสมบูรณ์ในเนื้อหาที่ตนเองตอบ อีกทั้งยังมองเห็นถึง การมองโลก มองชีวิต และโลกทัศน์ของนักศึกษาเหล่านั้นที่ดูเหมือนแคบลง สั้นลงไปทุกขณะ ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงอนาคตของประเทศและคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศอย่างมาก

     ยิ่งไปกว่านั้น ยังมองไปถึง ระบบการศึกษาของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้ "วาทกรรมการปฏิรูป" ของบรรดาท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการศึกษาของชาติว่า "มีประสิทธิภาพและได้รับการปฏิรูปแท้จริงหรือไม่"

     สุดท้าย ผมก็คัดเลือกให้ นักศึกษาหญิงทั้ง 3 คน (2 คน จากสาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ 1 คน จากสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์) เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นว่าไม่มีใครส่งเรียงความ (เพราะผมตั้งใจที่ปฏิเสธส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการไปแล้ว) แต่เป็นเพราะว่า ด้วยที่เธอทั้งหลายเหล่านี้ “มีความพยายาม และความตั้งใจ” ที่จะเขียนเรียงความ แม้จะถ่อมตนว่า “เขียนได้ไม่ดี เขียนไม่เป็น” ก็ตาม แต่พวกเธอทั้ง 3 ก็ได้รับผลลัพธ์ตามที่ปรารถนาเอาไว้นั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 401782เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

่ขอบคุณค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท