โรงเรียนกับชาวเขา


 

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เลขาฯ ไปเตรียมค่ายที่โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว กิ่งอ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มาค่ะ ทุกอย่างเรียบร้อยแบบเรียบๆ สบายๆ กำลังดีสำหรับชาวค่ายสิบคนที่จะไปเรียนรู้ร่วมกับทุกคนที่นั่น

 

หลังจากนั้นเลขาฯเดินทางต่อไป อ.ดอยสะเก็ด ไปเยี่ยมบ้านพักกาสะลอง และโครงการอื่นๆที่สนับสนุนผ่านมูลนิธิไทย-ลาหู่ อีกหลายโครงการ

 

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ตกใจไม่น้อย คือสาวสองคนจากบ้านห้วยน้ำดิบ ที่ชาวค่าย คบเด็กสร้างบ้าน(ดิน) บ้านกาสะลอง ภาคสอง เมื่อเดือนมีนาคม เพิ่งไปเยี่ยมเยียนมา ออกไปจากบ้านแห่งความหวัง - บ้านพักสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ไปแล้ว

 

คนหนึ่งออกเพราะพ่อที่ไม่สบายมารับตัวไป นัยว่าให้ไปช่วยแม่เลี้ยงดูแลพ่อ  ยังดีที่ได้ข่าวว่าน้องย้ายไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้านใหม่ น้องคนนี้ขยันขันแข็ง ทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน น่าจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเหลือครอบครัวและคนรอบข้างได้อีกมาก

 

น้องอีกคนหนึ่งไม่ชอบเรียนนัก แต่ทำงานฝีมือดีพอใช้ เลขาฯเคยคิดไว้ว่า น้องคนนี้เหมาะไปเรียนต่อสายอาชีพ น่าจะไปตามทางของเขาได้  แต่มาเกิดเรื่องเมื่อน้องไปพูดจาไม่สุภาพอย่างรุนแรงใส่เจ้าหน้าที่ดูแล หลังจากเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ขึ้นแล้วหลายครั้ง สุดท้ายแม่ของน้องมารับตัวกลับไปอยู่หมู่บ้านที่มีแต่โรงเรียน กศน.  มีชาวบ้านมากระซิบว่าช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา น้องกลับไปอยู่บ้านและมีแฟน

 

เลขาฯหวั่นๆว่า ขึ้นไปเยี่ยมน้องครั้งต่อไป น้องอาจจะกำลังอุ้มลูก เหมือนสาวๆอายุต่ำกว่า 15 ในหมู่บ้านอีกหลายคน

 
 

            ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่ง คือบริเวณใกล้ๆบ้านพักกาสะลอง เดิมเป็นป่าโปร่งไปจนจรดเชิงเขา แต่ตอนนี้มีชาวบ้านมาปลูกบ้านอยู่กันเป็นหมู่ใหญ่ ราว 12 หลัง หลายครอบครัวคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะมีเด็กๆที่รับทุนจากพูนพลังอยู่หลายคน พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ย้ายลงมาทำงานในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด บางคนถึงสิบปีแล้ว ค่อยๆเก็บหอมรอมริบจนรวบรวมเงินกันมาซื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เพื่อสร้างชุมชนลาหู่ขึ้นที่นี่

 

                เด็กๆจากบ้านเหล่านี้เดิมที่ไปเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ย้ายมาเข้าโรงเรียนใกล้บ้านใหม่ คือโรงเรียนบ้านป่าไม้แดง ที่เคยมีปัญหาเรื่องห้ามเด็กห่อข้าวมาโรงเรียน  เลขาฯก็เพิ่งทราบจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิไทย-ลาหู่ ว่านักเรียนสามร้อยกว่าคนในโรงเรียนนี้ กว่าครึ่งเป็นเด็กชนเผ่า

 

                เด็กชาวเขาเป็นตัวปัญหา โรงเรียนเลยไม่สามารถทำตามมาตรฐานได้อาจารย์ในโรงเรียนถึงกับบ่นอย่างนี้ ซึ่งในความเป็นจริง เหล่าอาจารย์ก็คงปวดหัวอยู่ไม่น้อย เด็กชนเผ่า มีภาษาของเขาเองอยู่แล้ว ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง แน่นอนว่าเด็กคงไม่สามารถเรียนได้ดีเท่าเด็กที่ภาษาไทยเป็นภาษาแม่  แต่นั่นเป็นปัญหาหรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มาตรฐานที่คุณครูว่า มีไว้เพื่อชี้วัดแบ่งระดับหรือเพื่อเป็นเป้าหมายในการทำงานกันแน่  ความคิดเรื่องมาตรฐานคงยังต้องมีการปรับให้เข้าใจกันทุกฝ่ายให้มากกว่านี้  

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียน#ชาวเขา
หมายเลขบันทึก: 40158เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     หากมาตรฐานที่ว่าขัดกับบริบทที่แท้จริง และเป็นตัวปัญหาเสียเองแล้ว มาตรฐานนั้นก็หาใช่มาตรฐานที่ดีไม่ ผมไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยครับที่จะนำมาตรฐานจากส่วนกลางไปใช้เฉกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในการจัดการศึกษาครับ
  มีความเห็นเช่นเดียวกับคุณชายขอบค่ะ ซึ่งบางทีสิ่งที่เราเห็นว่ามันเหมาะสม มันดีแต่บางครั้งมันอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้เพราะพวกเขาก็มีวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว ครูหรือพวกเราต่างหากที่จะต้องเป็นคนที่เข้าใจในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท