ดูงานด้านโภชนาการ


สิ่งที่นำเสนอจะเป็นความรู้ปฏิบัติมากกว่าความรู้ทฤษฎี ทดลองทำ BAR

วันนี้ดิฉันและทีมงานเครือข่าย ได้ให้การต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ประกอบด้วยนักโภชนาการประจำโรงพยาบาลที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้นของฝ่ายโภชนาการ รพ. จำนวน ๑๔ คน อาจารย์/เจ้าหน้าที่ฝ่ายโภชนาการ รพ.รามาธิบดี ๖ คน และนักศึกษาปริญญาโทของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลอีก ๕ คน

ผู้ที่มาศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นผู้ปฏิบัติงานและนักศึกษาด้านโภชนาการ/การกำหนดอาหาร เราจึงจัดให้ได้เรียนรู้บทบาทของนักโภชนาการที่อยู่ในห้องอาหาร (ครัว) และบทบาทของนักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการที่ทำงานนอกครัว เนื่องจากมีเวลาจำกัดมาก (๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.) จึงต้องจัดนิทรรศการเสริมการเรียนรู้ในห้องประชุมด้วย และแบ่งเวลาในช่วงท้ายให้ไปดูสภาพจริงเพียง ๓๐ นาที

กลุ่มผู้ศึกษาดูงานมาถึง รพ.เทพธารินทร์ เร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ดิฉันจึงถือโอกาสเริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๔๕ น. ด้วยการแนะนำกิจกรรมว่าจะใช้การนำเสนอเป็นส่วนใหญ่และสิ่งที่นำเสนอจะเป็นความรู้ปฏิบัติมากกว่าความรู้ทฤษฎี ให้ซักถามได้ แต่คงแลกเปลี่ยนกันลงลึกไม่ค่อยได้ คราวนี้ดิฉันได้ทดลองใช้ BAR ซึ่งมีคำถามดังต่อไปนี้
๑. กิจกรรมครั้งนี้ควรจะเกิดผลอะไรขึ้นและวางแผนจะทำอะไรบ้าง
๒. มีอะไรที่คาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากบ้าง
๓. การทำกิจกรรมแบบนี้ที่ผ่านมา ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
๔. คิดว่าอะไรที่จะทำให้เกิดความแตกต่างจากเดิม

คุณปภาพินท์ โพธิทัด จาก รพ.สินแพทย์ ซึ่งกลุ่มบอกว่าอายุน้อยสุดและสวยที่สุดเป็นผู้เริ่ม BAR โดยบอกว่ากิจกรรมครั้งนี้ตนเองคิดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก จะได้รู้ระบบงาน ตนเองตั้งใจที่จะดู จดบันทึก และซักถาม ไม่คิดว่ามีอะไรที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในหลักสูตรนี้เคยไปดูงานที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพก็ได้เรียนรู้การทำงานระบบที่ใช้ outsource ยังไม่แน่ใจว่ามีอะไรที่จะทำให้เกิดผลแตกต่างจากเดิม

ร.ท.หญิงเพียงหทัย ศรีโรจน์ รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ขอพูดเป็นคนถัดไปว่าตนเองอยากรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งระบบ อยากรู้บทบาทของตนเองในทีม ไม่คิดว่ามีอะไรที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ที่เคยไปดูงานมาก็ได้เรียนรู้การใช้ระบบ outsource แต่มีเวลาน้อยและติดขัดเรื่องสื่อเรื่องอุปกรณ์ ความรู้ที่ได้ค่อนข้างเป็นเชิงทฤษฎี ครั้งนี้คาดว่าจะได้ความรู้เชิงปฏิบัติมากขึ้น

มีเวลาให้พูดได้เพียง ๒ คน คนที่เหลือดิฉันขอให้คิดให้คำตอบแก่ตนเอง (ในใจ) 

๐๙.๐๐ น. ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมากล่าวต้อนรับและถือโอกาสบอกถึงความสำคัญของเรื่องอาหารและสุขภาพ เล่าภาพรวมของการดูแลผู้เป็นเบาหวานและกิจกรรมต่างๆ ที่เทพธารินทร์พัฒนาขึ้นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความภาคภูมิใจที่โมเดลของเทพธารินทร์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นำไปสู่การทำงานสาธารณประโยชน์ที่ดึงเอาทุก stakeholders มาทำงานร่วมกัน ย้ำว่านักโภชนาการ/นักกำหนดอาหารมีความสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าและประชาชนไม่เป็นโรค ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการป้องกันโรคเรื้อรัง รวมทั้งประชาสัมพันธ์การประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม-๒ กันยายน นี้ ต่อจากนั้นจะมีอีกทุกปีและในปี ๒๕๕๒ จะเป็นการประชุมระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่มาก

๐๙.๓๕ น.คุณเบญจรงค์ วัชรสิงห์ หัวหน้าแผนกห้องอาหารและคุณกนกอร โชติจิรกาล นักโภชนาการประจำห้องอาหาร มาเล่ารายละเอียดการทำงานของนักโภชนาการในครัวด้วย PowerPoint ที่มีภาพประกอบด้วย สิ่งที่เล่าคืองานที่ทำจริงๆ นั้นมีขั้นตอนรายละเอียดอย่างไร ทำไมจึงทำเช่นนี้ ทำให้ผู้ฟังได้รู้ว่าผู้ป่วยในที่นี่สามารถเลือกเมนูอาหารได้ล่วงหน้า มีการคำนวณแคลอรี่ของอาหารแต่ละมื้อเพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ด้วย serve ผลไม้ให้ผู้ป่วยเบาหวานแทนขนม ถ้ามีเครื่องดื่มก็จะใช้น้ำตาลเทียม มีมาตรฐานการส่งอาหารถึงที่ไม่เกิน ๑๕ นาที การสั่งอาหารใช้ระบบ computer on-line ที่เปิดตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. คุณเบญจรงค์บอกว่าระบบนี้ช่วยลดความผิดพลาดได้ เดิมใช้สั่งอาหารทางโทรศัพท์ บางทีก็ฟังชื่อผู้ป่วยผิด เบอร์ห้องก็ผิด กว่าจะรู้ผู้ป่วยก็รับประทานอาหารไปเรียบร้อยแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะมีข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร ฯลฯ ผู้ฟังมีคำถามหลายข้อทีเดียว ได้เวลาอันสมควร เราจึงพักรับประทานอาหารว่าง ระหว่างนั้นผู้ศึกษาดูงานกลุ่มหนึ่งบอกกับดิฉันว่ากิจกรรมเช้านี้ดีมาก เสียดายที่มีเวลาน้อยไป

๑๐.๓๐ น. คุณชนิกา จรจำรัส (สุระสิงห์ชัยเดช) นักกำหนดอาหาร ประจำฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัยมาเล่าเรื่องการทำงานนอกห้องครัว ทั้งงานที่ OPD, IPD, งานวิจัย งานสาธารณประโยชน์  บทบาทสำคัญด้านการให้ความรู้และคำปรึกษา ตลอดจนงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ครัวสาธิต งานบางอย่างก็ปรับวิธีการตามสถานการณ์ เช่น เดิมนักกำหนดอาหารจะ round ผู้ป่วยที่อยู่ใน รพ. โดยไม่ต้อง request และแบ่งผู้ป่วยที่จะให้การดูแลตามความเสี่ยง (low, moderate, high) ปัจจุบันอัตรากำลังนักกำหนดอาหารมีน้อยลง จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้ RN ช่วยประเมินแทนและส่งปรึกษาเป็นรายๆ ไป

ประมาณ ๑๑.๑๕ น. ก่อนที่ผู้ศึกษาดูงานจะไปเรียนรู้จากนิทรรศการและสถานที่จริง ดิฉันนำเสนอคำถาม AAR และขอให้อาจารย์ผู้ดูแลทีมที่มาดูงานช่วยทำ AAR ในรถระหว่างเดินทางกลับด้วย

โอกาสนี้เราได้แนะนำรถเข็นอาหาร (ใส่ถาดอาหารนำส่งผู้ป่วย) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถรักษาอุณหภูมิร้อน-เย็นของอาหารได้ มีหลายขนาด ขนาดที่ใหญ่หน่อยก็มีกล้องติด ทำให้คนเข็นมองเห็นทางเดินข้างหน้าได้สะดวก

ผู้ศึกษาดูงานหลายคนได้ขอลงทะเบียนการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ด้วย กว่าทีมจะเดินทางกลับกันก็ใกล้ ๑๓.๐๐ น. เต็มที

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 40152เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้รายละเอียดจังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท