การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ


การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

ขั้นตอนในการวิเคราะห์ข้อมูล 

                การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพมีลำดับขั้นตอนที่สำคัญดังนี้

            ขั้นที่หนึ่ง การใช้แนวคิดทฤษฎีและการสร้างกรอบแนวคิดสำหรับการวิเคราะห์

      การใช้แนวคิด ทฤษฎีเพื่อใช้ในการสร้างกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยสามขั้นตอนหลักๆ คือ

      ๑. ก่อนเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูล

      ๒. ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล และขั้นวิเคราะห์ข้อมูล

      ๓. สรุปผล

     ลักษณะของกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัยเชิงคุณภาพ 

      กระบวนการวิจัยที่มีข้อมูลเชิงคุณภาพสามารถสร้างกรอบแนวคิดทฤษฎีได้ใน ๒ ส่วน กล่าวคือ

                   ส่วนที่ ๑ ในขั้นของการทดลองสร้าง สามารถใช้แนวคิดหลายๆ แนวคิดประกอบกัน เช่น การใช้สีจากพืชในการย้อมผ้าฝ้าย อาจใช้กรอบแนวคิดตั้งแต่ แหล่งสีที่ได้จากพืช วิธีการสกัดสี การเพิ่มความทนทานของสีย้อม ฯลฯ

                   ส่วนที่ ๒  ในขั้นของการสรุป โดยนำกรอบแนวคิดที่มีความใกล้ชิดกับข้อมูลรูปธรรมค่อนข้างมาก

                ขั้นที่สอง การตรวจสอบข้อมูล

       เป็นการประเมินคุณภาพของข้อมูลที่ได้ว่าอยู่ในระดับวิเคราะห์และสามารถตอบปัญหาหรือวัตถุประสงค์ (โจทย์วิจัย)ที่ตั้งเอาไว้มากเพียงใด ซึ่งการตรวจสอบข้อมูลมีเป้าหมายสำคัญดังนี้

        (๑) การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล วิธีการตรวจสอบข้อมูลที่นิยมกันคือ การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า โดยมีหลักการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า คือ การไม่ปักใจว่าแหล่งข้อมูลแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่ได้มาตั้งแต่แรกเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ นักวิจัยต้องหาความรู้จากแหล่งอื่นๆ มาประมวลเข้าด้วยกันแล้วก็รวมได้เป็นเพียงข้อมูลสองแหล่งคือ ข้อมูลที่เหมือนแบบแรก และข้อมูลที่ตรงข้ามกับแบบแรกซึ่งเรียกได้ว่าแบบที่สอง และแสวงหาข้อมูลต่อไปจนพบข้อมูลแบบที่สาม ข้อมูลที่ต่างไปจากที่หนึ่งและแบบที่สองถือเป็นข้อมูลแหล่งที่สาม

                           (๒) การตรวจสอบเพื่อดูความครบถ้วนและคุณภาพของข้อมูล                 คือ การประเมินว่าข้อมูลที่ได้มาครบถ้วนและมีคุณภาพเพียงพอในการวิจัยหรือไม่ ส่วนใหญ่ผู้วิจัยใช้ตนเองเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล เนื้อหาของข้อมูลอยู่ในรูปการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการและการสังเกต ซึ่งการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการจะมีสองประเภท คือ

               (๒.๑) ข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นหรือทัศนะของผู้ถูกสัมภาษณ์ (evaluative data)

                   (๒.๒) ข้อมูลที่เป็นการให้รายละเอียดหรือเล่าเหตุการณ์ (Descriptive data)

               ขั้นที่สาม การจดบันทึกและการทำดัชนีข้อมูล (notetaking and indexing)

                       วิธีการเก็บรวบรวมที่ใช้กันมากคือ สังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ และการใช้ข้อมูลเอกสารบางครั้งอาจมีการสนทนากลุ่มซึ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบหนึ่ง ในการจัดเก็บบันทึกข้อมูลภาคสนามทำได้ดังนี้

                   ๑. การจดบันทึกข้อมูล (notetaking) โดยปกติการบันทึกมี 2 ชนิด คือ

          ๑.๑ บันทึกย่อคือสิ่งที่นักวิจัยจดขณะที่เก็บข้อมูลอยู่ จดเฉพาะถ้อยคำสำคัญหัวข้อ หรือตัวเลข อาจเนื่องด้วยเวลาที่จำกัด

             ๑.๒ บันทึกฉบับสมบูรณ์ คือ การนำบันทึกย่อมาเรียบเรียงใหม่เป็นบันทึกฉบับสมบูรณ์

                    ๒. การทำดัชนีข้อมูล

                             การทำดัชนีข้อมูลคือ การเลือกคำบางคำมาใช้เพื่อจัดหมวดหมู่ข้อมูล ดัชนีสามารถจำแนกได้เป็น ๓ ชนิดคือ

           ๒.๑ ดัชนีเชิงบรรยาย (descriptive index)

           ๒.๒ ดัชนีเชิงตีความ (interpretive index)

           ๒.๓ ดัชนีเชิงอธิบาย (explanatory index)

            ขั้นที่สี่ การทำข้อสรุปชั่วคราวและการกำจัดข้อมูล (memoing and data reduction)

       การทำสรุปชั่วคราว คือ การลองเขียนประโยค (statement) ซึ่งผู้วิจัยคาดว่า เป็นลักษณะหรือความเชื่อมโยงของข้อมูล ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกันกับการทำดัชนี เมื่อผู้วิจัยเขียนประโยคสรุปแต่ละประโยค นักวิจัยจะทราบว่า ข้อมูลส่วนใดคือข้อมูลที่ต้องการต่อไปเพื่อการตรวจสอบหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม และข้อมูลส่วนใดคือข้อมูลที่ไม่ต้องการ การทำข้อสรุปชั่วคราวจึงเป็นการลดขนาดข้อมูลและช่วยกำจัดข้อมูลที่ไม่ต้องการออกไป

            ขั้นที่ห้า การสร้างบทสรุปและการพิสูจน์บทสรุป (drawing and verifying conclusion)

       เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการเมื่อทำข้อสรุปชั่วคราวและกำจัดข้อมูลที่เกินความจำเป็นซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นที่จะศึกษาน้อยทิ้งไปจึงดำเนินการสร้างบทสรุปและการพิสูจน์บทสรุป

       ๑. การสร้างบทสรุป

                           การสร้างบทสรุปคือ การนำข้อสรุปย่อยที่ทำไว้มาประมวลหรือปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ให้เป็นชุดของคำอธิบายที่ได้เรื่องราวและเข้าใจ เมื่อเขียนข้อความเหล่านี้ขึ้นแล้ว ข้อความนี้จะเป็นข้อค้นพบและเป็นข้อสรุปของการวิจัย

       ๒. การพิสูจน์บทสรุป

          เป็นการพยายามยืนยันความคิดที่ก่อรูปขึ้นนั้นมีความสอดคล้อง เหมาะสมที่สุดแล้วกับรูปธรรมที่ถูกอนุมานขึ้นมา การพิสูจน์จึงเป็นการทำให้ผู้วิจัยเองและผู้ยินยอมรับด้วยเหตุผลหรือยอมจำนนว่าการสรุปของตนหนักแน่นตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 401170เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท