การเรียนรู้ยุทธศาสตร์การจัดการงานวัฒนธรรม และวัฒนธรรมกับการพัฒนา จากศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 |
พระครูภาวนาสมาธิคุณ
ตามที่นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เสนอ รูปแบบ (MODEL) ศึกษากรณีความสำเร็จในการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก และเครือข่ายเกษตรธรรมชาติ จังหวัดพิจิตร โดยใช้การวิเคราะห์ตามทฤษฎีระบบ (System Theory) และ SWOT นั้น ทำให้ทราบจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแนวความคิด (Concept) และเสริมสร้างปัญญาจากการแลกเปลี่ยนความรู้หลายประการ จะกล่าวเป็นลำดับสืบต่อไป
ประการที่ 1 ทฤษฎีรูปแบบ ประกอบด้วย INPUT, PROCESS, OUTPUT และ OUTCOME เป็นลักษณะการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์มากกว่าเป็นการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์
การวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ จะเน้นไปยังบุคคล หรือชีวิต หรือวิถีชีวิต ซึ่งมีการพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามปัจจัย และสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ และมีระบบซับซ้อน จึงควรจะวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีไร้ระเบียบ (CHAOS THEORY) หรือ DYNAMIC COMPLEX SYSTEM จะเหมาะสมกว่า
ทำให้ทราบว่า “คนเป็นผู้สร้างความไร้ระเบียบในสังคม ความเป็นคนย่อมแตกต่างจากความเป็นมนุษย์”
ประการที่ 2 ปัจจัยนำเข้า (INPUT) ของทฤษฎีระบบ เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ต้องแก้ไข ยังเจาะลงไปไม่ได้ลึกอีกหลายสาเหตุ ที่ต้องเอาเข้ามาวิเคราะห์ด้วย เช่น โครงการของรัฐบาลที่เข้าสู่องค์กร, การทำงานของหน่วยงาน NGO, ระบบการทำงานของข้าราชการ เหล่านี้เป็นต้น ที่มีผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรทั้งสอง แต่ใน VCD ไม่ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ผู้วิเคราะห์ระบบจะต้องเจาะลงไปให้ลึกกว่านี้ โดยนึกถึงสภาพที่เป็นจริงที่เคยพบด้วยตนเอง
ทำให้ทราบว่า “สรรพสิ่งในสากลโลก ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ”
ประการที่ 3 แนวความคิดในเรื่องวัฒนธรรม หรือกระบวนการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม อย่าไปยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีต ต้องมองวิเคราะห์สภาวะปัจจุบัน และสืบสาวไปยังอนาคต เพราะว่า สภาวะการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในสังคมมนุษย์มีการพลวัตอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ทราบว่า “วัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดความ สมสมัยตามยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
ประการที่ 4 การวิเคราะห์โดยใช้ SWOT ที่วิเคราะห์จุดอ่อน, จุดแข็ง, ภัยคุกคาม และโอกาส ควรจะใช้วิธีคิดเชิงบวกเสริมเข้าไปด้วยในการยกย่อง เยินยอ (APPRECIATION) เข้ามาวิเคราะห์ด้วย ซึ่งมีข้อดีมากกว่า SWOT ในแง่ที่มีความยืดหยุ่น มีลักษณะการค้นหาความสำเร็จมาวิเคราะห์ เป็นการเสริมสร้างแรงบวก เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น และปิติ นับว่าเป็นจิตวิทยาการกระตุ้นให้ทำงานอย่างภาคภูมิใจ
ทำให้ทราบว่า “การยกย่องเยินยอผู้อื่นมากเกินไป ต้องระวังในการตกขอบอย่างขาดสติสัมปชัญญะ”
ประการที่ 5 ทุนนิยม อย่าไปตีความหมายว่า “ทุนคือเงินตรา” แต่ทุนในที่นี้ หมายถึง ความรู้หรือปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เสมือนเป็นอริยทรัพย์ หรือทรัพย์ภายในทางหลักพุทธศาสนา
ทำให้ทราบว่า “ทุนนิยม ในที่นี้ หมายถึง ทุนทางด้านปัญญา”
ประการที่ 6 เรื่อง KM (KNOWLEDGE MANAGEMENT) ถ้าทำได้ผลสำเร็จ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน รู้การเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด และสามารถบริหารเวลาทำให้สร้างปริมาณงานได้มากขึ้น
ทำให้ทราบว่า “เรื่อง KM ต้องรู้จริงจากการปฏิบัติ ไม่สามารถเข้าใจได้ภายในวันเดียวฉันใด พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา 6 พรรษา ในการตรัสรู้ จึงสามารถสอนผู้อื่นได้”
ประการที่ 7 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ หรือ เครื่องมือการจัดการความรู้ในบล็อก (BLOG) โดยผ่านเทคโนโลยี IT เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ และการจัดการความรู้ซึ่งกันและกัน นับว่าเป็น ขุมทรัพย์ความรู้ไว้ใช้งาน และหมุนเวียนเกลียวความรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
ทำให้ทราบว่า “วัฒนธรรมการเรียนรู้ในยุคนี้ มีการปฏิวัติไปตามยุค IT ถ้าสามารถฝืนทวนกระแสในยุคนี้ เรียนรู้ไม่ใช้ IT นับว่าเป็นเลิศในทักษะการเรียนรู้”
ประการที่ 8 บทสุดท้าย คือ การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้หลังจากทำงานเสร็จแล้ว (AAR - AFTER ACTION REVIEW) โดยตั้งคำถาม 5 ข้อ และให้ตอบตามความคิดของตนเอง
ทำให้ทราบว่า “AAR เป็นเครื่องมือประเมิน หรือ ตัวชี้วัดการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน ชี้วัดถึงประสบสำเร็จหรือล้มเหลว หลังจากเรียนรู้เสร็จ”
บทสรุป
สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในการเสริมสร้างปัญญา
1. การใช้ทฤษฎีระบบ
2. หลักการใช้ทฤษฎีไร้ระบบ
3. วิธีการคิดในเชิงบวกในการยกย่อง
เยินยอ
4. การจัดความรู้ (KM)
5. เครื่องมือการจัดความรู้ในบล็อก (BLOG)
6. การแลกเปลี่ยนความรู้หลังจากทำงานเสร็จแล้ว (AAR)
7. ความสุขในการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้ตำราเรียน ฃ
(TEXT BOOK)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พระครูภาวนาสมาธิคุณ พระครูภาวนาสมาธิคุณ พระครูภาวนาสมาธิคุณ ใน วัฒนธรรมศึกษา
คำสำคัญ (Tags)#วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 40111, เขียน: 21 Jul 2006 @ 14:27 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 15:25 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก
กระผมอ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ จะติดตามอ่านต่อไปครับ
นมัสการด้วยความเคารพครับ