กำเนิดตลาดหุ้นทั่วโลก


คุณรู้หรือไม่?

  ตลาดหุ้นกว่า 130 แห่งทั่วโลกมีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์มาตั้่งแต่สตวรรษที่ 13 แล้ว นายหน้าในสมัยนั้นจะซื้อขาย "ตั๋วเงิน" ซึ่งก็คือสัญญาการกู้ยืมของพ่อค้านายทุนนั่นเอง ในสมัยนั้นหากคนที่ถือครองตั๋วเงินต้องการใช้เงินก่อนตั๋วหมดอายุสัญญา  ก็สามารถขายตั๋วนั้นให้กับคนอื่นได้  ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ตลาดหุ้นแบบที่รู้จักกันในปัจจุบันจึงได้ถือกำเนิดขึ้น  ตลาดหุ้นในอัมสเตอร์ดัมซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1611นับเป็นตลาดหุ้นที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  ส่วนกฏระเบียบการซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นเริ่มใช้กันเป็นครั้งแรกในอังกฤษ ในค.ศ.1697

ตลาดหุ้นในสมัยก่อนเกิดจากการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของพ่อค้าตามเมืองใหญ่ๆ  พ่อค้าในลอนดอนมักมาชุมนุมกันตามร้านกาแฟรวมทั้งร้านที่ชื่อ นิว โจนาธานบนถนน เธร็ดนีดเดิล หน้า้ร้านนี้เริ่มติดป้ายคำว่า "ตลาดหุ้น" เมื่อประมาณปี ค.ศ.1760

สำหรับในนิวยอร์ก พ่อค้ามักมาชุมนุมกันใต้ต้นไม้ใหญ่ในแถบซึ่งปัจจุบันคือ "วอลล์สตรีท"  ในช่วงศตวรรษที่ 19 การอุตสาหกรรมได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีบริษัทต่างๆนำหุ้นออกมาขายกันอย่างคึกคัก  จึงเกิดความจำเป็นต้องมีสถานที่ถาวรสำหรับการซื้อขายหุ้นขึ้น

ตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดนี้กว่า 1,500รายและมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 60%ของการซื้อขายหุ้นทั่วโลก

ตลาดหุ้นที่ใหญ่รองลงมาคือตลาดโตเกียวซึ่งมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเท่าๆกับตลาดนิวยอร์ก แต่มีมูลค่ารวมแล้วไม่ถึงครึ่งหนึ่งของตลาดนิวยอร์ก

ใครเป็นผู้ดำเนินกิจการตลาดหุ้น  ตามครรลองของตลาดเสรี  ผู้ดำเนินงานในตลาดหุ้นทั่วโลกก็คือกลุ่มคนที่สร้างตลาดขึ้นมา  กลุ่มคนเหล่านี้มีลักษณะคล้ายสมาคมที่เคร่งครัดในการรับสมาชิก  ในหลายประเทศนั้น สมาชิกภาพในตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หากสมาชิกในปัจจุบันยินยอม  และในตลาดหุ้นนั้นยังมีที่ว่างสำหรับสมาชิกใหม่แต่ค่าสมาชิกสมาคมนี้แพงมากคือประมาณ 375,000 ดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับตลาดหุ้นนิวยอร์ก และสูงถึง 6.6ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับตลาดหุ้นโตเกียว  ในตลาดอื่นแม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์เรื่องการรับสมาชิกใหม่  แต่มิได้มีการกำหนดยอดสมาชิกไว้ตายตัว

สมาชิกของตลาดหุ้นเป็นผู้ตั้งระเบียบข้อบังคับของตลาดขึ้นโดยมีข้อแม้ว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศ  แต่ในบางประเทศจะมีองค์กรอิสระซึ่งคอยควบคุมการดำเนินงานของตลาดหุ้น เช่น คณะกรรมการ ก.ล.ต.ของไทยเป็นต้น

ผู้สร้างตลาดและนายหน้าค้าหุ้น  สิทธิพิเศษอันสำคัญยิ่งที่กลุ่มสมาชิกของตลาดหุ้นจะได้รับคือสิทธิ์ในการ "สร้างตลาด" ซึ่งหมายถึงการเป็นจุดรวมในการซื้อขายหลักทรัพย์หนึ่งๆและยังจะมี โบรกเกอร์(BROKER) เป็นผู้ที่ติดต่อซื้อขายได้โดยตรงกับผู้สร้างตลาดในนามลูกค้าของตน

สเปเชี่ยลลิสต์(SPECIALIST) ทำหน้าที่คล้ายผู้สร้างตลาดคือมีสิทธิ์เฉพาะในการซื้อขายหลักทรัพย์และสามารถเลือกซื้อกับนายหน้าค้าหุ้นที่ต้องการหลักทรัพย์นั้นหรือซื้อขายด้วยเงินของตนเองก็ได้

รายได้ของผู้สร้างตลาดนั้นมาจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายของหลักทรัพย์หรือที่เรียกว่า "สเปรด"(SPREAD)

ราคาหลักทรัพย์  หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจะมีมูลค่าหน้าตั๋วที่เรียกกันว่า "พาร์" (PAR) อาทิ หากบริษัทต้องการระดมเงินทุน 10ล้านบาทก็อาจขายหุ้นในตลาด 10ล้านหุ้นที่ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท อย่างไรก็ดีเมื่อเริ่มมีการซื้อขายในตลาดราคาของหุ้นนี้อาจเปลี่ยนไปจากราคาพาร์ดังกล่าว ถ้าคนที่ต้องการซื้อหุ้นมีมากกว่าคนที่ต้องการขาย ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นในทางกลับกันราคาหุ้นจะลดต่ำลงหากคนต้องการขายมีจำนวนมากกว่าคนซื้อ

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดหุ้น
หมายเลขบันทึก: 40088เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ได้รับความรู้เพิ่มอีกแล้วค่ะ ชอบมากค่ะ
  • เป็นเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจดีค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท