บทนำ


“ธรรมานุสรณ์”ที่ระลึกเนื่องในงานฌาปนกิจศพคุณแม่ชิต ยอดแก้ว ณ ฌาปนสถานวัดจาก ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา วันเสาร์ที่ ๒ เดือนตุลาคม พ.ศ ๒๕๕๓

 หากเปรียบชีวิตเหมือนการเดินทางบนเส้นทางอันยาวไกล แน่นอนว่า บนเส้นทางนั้นย่อมมีทั้งความราบรื่น และความยากลำบากมากบ้างน้อยบ้างปะปนกันเป็นธรรมดา

 บางช่วงของเส้นทางอาจจะต้องเจอกับความยากลำบากอย่างหนักหนาสาหัสแทบเอาชีวิตไม่รอด

 บางครั้งอาจจะเจอกับความสะดวกสบายอย่างเลิศเลอและไม่อยากให้ลับลา ดุจเดียวกับชีวิตของทุกคนที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างเป็นธรรมดา 

 

 เมื่อวงจรของชีวิตดำเนินไป การปรารถนาแต่ความสุขอย่างเดียว และปฏิเสธความทุกข์ในทุกกรณีคงเป็นไปไม่ได้ ความทุกข์และความสุขจึงเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับชีวิตเสมอ ดุจความสว่างและความมืดที่เคียงคู่โลก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะดำรงอยู่กับความสุขและความทุกข์นั้นอย่างไร  ให้ได้รับความสุขที่แท้จริง ไม่เป็นสุขแบบ(สุก)ร้อน คอยเผารนชีวิตจิตใจในภายหลัง และเราจะดำรงอยู่กับความทุกข์อย่างไร ให้ความทุกข์เป็นปัญหากับชีวิตน้อยที่สุด ดุจเดียวกับการเดินในท่ามกลางฝนและแดดอย่างไรให้เปียกฝนและถูกแดดร้อนเผารนให้น้อยที่สุด  

 

icon การจะเป็นเช่นนั้นได้ ชีวิตต้องมีหลักหรือที่พึ่งพิง ดุจการมีร่มคอยป้องกันในยามที่ฝนตกและแดดจ้า

 ดุจการมีแผนที่และเข็มทิศในยามที่ท่องป่าและมหาสมุทร

 ดุจการมียานพาหนะเครื่องอาศัยในการเดินทางไกล 

 เมื่อเป็นเช่นนั้นอะไรกันเล่าจะมาเป็นที่พิงพิงชีวิตที่ว่านั้นได้

 

 ตามหลักพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำให้พึ่งตนเองเป็นสำคัญ ดังพุทธภาษิตที่รู้กันโดยมากว่า  

 

 อตฺตา  หิ  อตฺตโน  นาโถ   ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน  

 

 การพึ่งตนเองจึงเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่!ต้องทำความเข้าใจกันอีกนิดก่อนว่า คำว่า “พึ่งตนเอง”ในที่นี้  จะศักดิ์สิทธิ์และมีประสิทธิผล ตนจะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเน้นย้ำต่อจากพุทธภาษิตประโยคต้นว่า 

 

 อตฺตนา  หิ  สุทนฺเตน  นาถํ  ลภติ ทุลฺลภํ 

ทั้งนี้ ผู้มีตนที่ฝึกดีแล้ว  ย่อมมีที่พึ่งที่หาได้ยาก  

 

  เป็นอันแสดงว่า การจะมีตนเป็นที่พึ่งได้อย่างดีนั้น  ตนต้องได้รับการฝึกฝนมาด้วยดี  หากจะถามว่าอะไรเล่าจะเป็นเครื่องฝึกฝนอบรมตนให้สามารถเป็นที่พึ่งที่ดีได้ ธรรมะ คือ คำตอบสุดท้าย หากบุคคลมีธรรมะเป็นเครื่องฝึกตน เป็นเครื่องดำเนินชีวิตแน่นอนว่า ตนย่อมได้รับการฝึกฝนในทางที่ดี   

 

 คาถาชีวิต เล่มนี้มุ่งนำเสนอธรรมะในรูปแบบสูตรแห่งการฝึกฝนตน เพื่อเป็นเข็มทิศชีวิตช่วยบอกทางให้ชีวิตก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีงาม มีความสันติสุขเป็นเป้าหมาย โดยที่เนื้อหาของหนังสือนี้ เป็นการนำข้อธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นหลักปฏิบัติ (๗ เรื่อง) มาขยายความเป็นภาษาง่ายๆ เพื่อให้จดจำได้สะดวก แต่ก็ไม่ทิ้งหลักเดิมและมีการอธิบายเสริมเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจตามความเหมาะสม  

 

 หัวใจของ คาถาชีวิต คือ นำเสนอคาถาธรรม(คาถาทำ) ที่ต้องทำถึงจะบรรลุผลตามแนวพุทธศาสตร์  มิใช่เพียงแต่ท่องบ่นดุจเวทย์มนต์ในทางไสยาศาสตร์ ความขลังของคาถาชีวิต จึงอยู่ที่จิตรับรู้  จดจำจนขึ้นใจและเข้าใจชัด ความศักดิ์สิทธิ์ของคาถาชีวิต จึงอยู่ที่การปฏิบัติตามอย่างจริงจัง     

 

 หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  หนังสือ “คาถาชีวิต” เล่มนี้  จะเกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนตามสมควรและหากเกิดมีผลความดีอันใดจากความเพียรพยายามคิด และเขียนเพื่อนำเสนอธรรมะในครั้งนี้ ผู้เขียนขอแผ่บุญกุศลให้บิดามารดาคือ คุณพ่อเจือ-คุณแม่ชิต ยอดแก้ว พระอุปัชฌาย์คือ พระราชปริยัติโกศล (เสถียร ฉนฺทโก) อาจารย์ คือ (พระมหามนัส คุณธมฺโม และพระครูศรีคณาภิรักษ์ (พงศธร เขมจารี) และผู้มีพระคุณทุกท่านและขอตั้งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านทั้งหลายขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้มีส่วนแห่งความดีนี้ด้วยเทอญฯ

 

               

 ญาณภัทร   ยอดแก้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท