การวิจัยในชั้นเรียน


การวิจัย

1. การวิจัยในชั้นเรียนคืออะไร ?

            การวิจัยในชั้นเรียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Classroom Research คือกระบวนการหาความรู้หรือวิธีการใหม่ ๆ    รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเอง หรือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ผลการวิจัยใช้ได้เฉพาะกลุ่มที่ทำการศึกษา บางทีเราเรียกว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

2. ใครเป็นผู้ทำวิจัยในชั้นเรียน ?

     ผู้ทำวิจัยในชั้นเรียนคือ ครูผู้สอน

3. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้มีขั้นตอนอะไรบ้าง ?

         การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้มีขั้นตอนดังนี้

1)  วิเคราะห์ปัญหา/การพัฒนา

2)   วางแผนแก้ปัญหา/การพัฒนา

3)   จัดกิจกรรมแก้ปัญหา/การพัฒนา

4)   เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล

5)   สรุปผลการแก้ปัญหา/การพัฒนา 

4. ครูผู้สอนจะเริ่มต้นทำวิจัยในชั้นเรียนอย่างไร ?

           ครูผู้สอนจะเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ คือ  สอนไปสังเกตไป ว่าผู้เรียนคนไหนมีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหน แล้วพยายามบันทึกไว้ จากนั้นสรุปข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเด็กในชั้นมีกลุ่มเก่งกี่คน  กลุ่มอ่อนกี่คน  ใครบ้างที่เรียนอ่อน  อ่อนในเรื่องอะไร  เพื่อจะได้คิดหานวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มอ่อนต่อไป

5. ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาต้องเป็นด้านความรู้เท่านั้นใช่หรือไม่ ?           

          ไม่ใช่ !!! ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาอาจเป็นด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ หรือด้านความประพฤติ พฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนก็ได้

6. การทำวิจัยในชั้นเรียน จะทำให้ครูทิ้งชั้นเรียน   เพราะ ต้องไปค้นคว้าเกี่ยวกับนวัตกรรม ใช่หรือไม่ ?

          ไม่ใช่ !!!  การทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยเล็ก ๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานจริง มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียน เป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องค้นคว้าหรืออ้างอิงแบบวิทยานิพนธ์ รูปแบบการหาความรู้อาจได้มาจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน จากเอกสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากการประชุมอบรม สัมมนา จากรายการ โทรทัศน์ทางการศึกษา จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น Internet วิทยานิพนธ์ รายงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีผู้ทำไว้

7. รายงานผลการวิจัยในชั้นเรียนจะเขียนเมื่อไร ?

           เขียนขึ้นเมื่อครูผู้สอนเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ครูผู้สอนต้องเขียนสรุปผลการวิจัย  หากพบว่าผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ครูผู้สอนอาจต้องทำวิจัย ในชั้นเรียนซ้ำอีกครั้งหรือหลาย ๆ ครั้ง   จนกว่าผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ และ/หรือมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตามเจตนารมณ์ตามหลักสูตรอย่างแท้จริง

8. การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนต้องเขียนตามระเบียบวิธีวิจัย คือต้องมีบทที่ 1 ถึง บทที่ 5 ใช่หรือไม่?

           ไม่จำเป็น!!! การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ครูสามารถเขียนง่าย ๆ โดยระบุปัญหาที่ พบ สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และผลการแก้ปัญหา อาจมีข้อเสนอแนะหรือ ข้อสังเกตต่อท้าย และแนบหลักฐานสิ่งที่ได้ ดำเนินการ เช่น แบบฝึก แบบบันทึก ฯลฯ

9. ทำวิจัยแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ?

           ทำวิจัยแล้วมีประโยชน์อย่างแน่นอน ประโยชน์ต่อนักเรียนคือ นักเรียนแต่ละคนจะได้รับการพัฒนา หรือแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ประโยชน์ต่อครูคือ ครูมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ครูผู้สอนสามารถสรุปเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อรอรับการประเมินตามมาตรฐานวิชาชีพครู และ สามารถรวบรวมเป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนระดับให้สูงขึ้น

10. การวิจัยในชั้นเรียนและการวิจัยในโรงเรียนต่างกันอย่างไร ?

          การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยของครูที่ประจำอยู่ในห้องเรียน ซึ่งสังเกตพบว่า นักเรียนบางคนมีปัญหา และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาของนักเรียนบางคนดังกล่าว ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถ แก้ไขได้ หาวิธีแก้ไข (ซึ่งไม่ใช่วิธีสอน) ดำเนินการแก้ไขไปพร้อม ๆ กับการสอนนักเรียนกลุ่มใหญ่ จนปัญหา ดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียนรายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า

          การวิจัยในโรงเรียน เป็นการวิจัยของผู้บริหารโรงเรียน หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งสังเกตพบว่า ครูบางคนมีปัญหา ในงานครู และเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าว ก็ระบุได้หลายสาเหตุ จึงเลือกสาเหตุที่ตนสามารถแก้ไขได้ หาวิธีการ แก้ไข ดำเนินการแก้ไข ไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติงานปกติของตน จนปัญหาดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย จึงเขียน รายงานการวิจัยซึ่งมีความยาว 2-3 หน้า เช่นเดียวกัน

11. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนจะทำได้ทุกกลุ่มสาระหรือไม่ ?

          การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน สามารถทำได้ทุกกลุ่มสาระไม่ว่าจะเป็นสาระความรู้ การปฏิบัติ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการพัฒนาคุณธรรม ลักษณะของแต่ละกลุ่มสาระใช้กระบวนการเดียวกัน คือ ก่อนวิจัยต้องมีการหาปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา หาแนวทางแก้ไข นำแนวทางไปดำเนินการ สรุปผล การเขียนรายงาน

12. โดยสรุปการวิจัยในชั้นเรียนจะมีลักษณะอย่างไร ?

       การวิจัยในชั้นเรียนจะมีลักษณะดังนี้

1)   ผู้วิจัยยังคงทำงานตามปกติของตน 

2)   ไม่ต้องสร้างเครื่องมือวิจัย

3)    ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก 

4)   ไม่ต้องทบทวนรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

5)   ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

6)   ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและจำนวนบุคคลที่ต้องการแก้ไข   

7)   ความยาว 2-3 หน้าต่อเรื่อง 

8)   นักเรียน/ครู ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนา

9)   ไม่มีการระบุประชากร กลุ่มตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่าง 

10) ไม่ต้องใช้สถิติสรุปอ้างอิง และไม่มีระดับนัยสำคัญ

11.   ไม่มีการทดสอบก่อนหลัง 

12.   ไม่มีกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุม

13.   เป็นการวิจัยเชิงคุณลักษณะ (Qualitative research มากกว่า Quantitative research)

14.   เน้นการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาของนักเรียน/ครู บางคน บางเรื่อง 

 

                ในการออกแบบแผนการวิจัยนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ บางส่วนที่ควรจะมี  ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มักจะเป็นปัญหาค่อนข้างมากสำหรับผู้ที่เริ่มทำวิจัย  องค์ประกอบดังกล่าว ได้แก่ 

                1.  โจทย์วิจัยและคำถามการวิจัย (Research problem and question)  ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด  เพราะการทำวิจัยจะทำไม่ได้เลยหรือถ้าหากทำได้ก็เป็นการทำที่ผิดทิศทาง  ถ้านักวิจัยไม่มีโจทย์หรือคำถามการวิจัยที่ชัดเจน  ทั้งนี้เนื่องจากการทำวิจัยนั้นจะเริ่มจากความสงสัย การมีปัญหาใคร่รู้คำตอบเกี่ยวกับตัวแปรหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ดังนั้นหากไม่สงสัยหรือไม่มีโจทย์เสียแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำการวิจัยไปเพื่ออะไร

                โจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัย (Research problem)  และคำถามการวิจัย (Research question) นี้บางครั้งก็ใช้ทดแทนกันได้ในความหมายที่เหมือนกัน  แต่ถ้าจะแยกความแตกต่างแล้ว  โจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัยก็จะมีการนำไปใช้ที่กว้างกว่าคำถามการวิจัย  นั่นคือ  เมื่อกำหนดโจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัยได้แล้วก็นำปัญหานั้นๆ มาแยกแยะตั้งเป็นคำถามย่อยๆ ซึ่งประเด็นคำถามย่อยๆ นี้ ก็คือ คำถามการวิจัย (Research question) นั่นเอง

                2.  กรอบเชิงทฤษฎีและกรอบแนวคิด (Theoretical and conceptual framework)  ในการดำเนินงานวิจัยเรื่องใดๆ ก็ตาม  ปัญหาการวิจัยและแนวทางที่จะหาคำตอบให้กับปัญหามิได้เกิดมาบนความว่างเปล่า  หากล้วนแต่ต้องมีพื้นฐานที่มาที่จะช่วยอธิบายเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์หรือตัวแปรต่างๆ  ที่ผู้วิจัยสนใจศึกษาหาคำตอบ  ซึ่งพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่  ทฤษฎีและข้อค้นพบบางอย่างจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ผู้วิจัยจะศึกษา  ถ้าทฤษฎีและข้อค้นพบจากงานวิจัย (เดิม) นี้ มีการเขียนในลักษณะเป็นรูปแบบหรือแบบจำลอง  รูปแบบหรือแบบจำลองนี้ก็คือ กรอบเชิงทฤษฎี (Theoretical framework) นั่นเอง 

                สำหรับกรอบแนวคิดการวิจัย (conceptual framework)  นั้นก็คือ  กรอบเชิงทฤษฎีที่ลดรูปลงมาเพื่อใช้สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ  กล่าวคือ  ในขณะที่กรอบเชิงทฤษฎีได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยหรือความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งหมดที่นักวิจัยต้องศึกษาที่มาจากทฤษฎีแนวคิดและผลงานวิจัยต่างๆ   ที่เกี่ยวข้อง  แต่เมื่อดำเนินการวิจัยในเรื่องดังกล่าว  นักวิจัยได้พิจารณาลดตัวแปรบางตัวลง หรือทำให้ตัวแปรบางตัวเป็นตัวแปรคงที่  จึงทำการปรับกรอบเชิงทฤษฎีใหม่ก็จะได้เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย (conceptual framework)  สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ

                3.ขอบเขต (Scope)  ข้อจำกัด (Limitation) และข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption) จากกรณีที่นักวิจัยทำการลดรูปกรอบเชิงทฤษฎีเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยดังในหัวข้อที่ผ่านมาก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงขอบเขต (Scope)  ของการวิจัย  นั่นคือ  ถ้าผลการวิจัยเป็นเช่นไรแล้วจะมีขอบเขตในการสรุปอ้างอิงไปสู่เฉพาะนักเรียนในกลุ่มนี้เท่านั้น  หากมีปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้ศึกษา (ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยหรือตัวแปรที่ศึกษา)  ต้องระบุเป็น ข้อจำกัด (Limitation) ของการวิจัยครั้งนี้ด้วย  นอกจากนั้นแล้วถ้านักวิจัยระบุว่าปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้นำเข้ามาศึกษาในครั้งนี้มีผลอย่างสุ่มหรือผลคงที่กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  การระบุเช่นนี้ก็เรียกว่า ข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption)

                4.  กรอบการวิจัย (Research flow chart)  กรอบการวิจัยหรืออาจจะเรียกว่า กรอบวิธีดำเนินการวิจัย  หมายถึง  แผนภูมิที่เขียนขึ้นในลักษณะเป็นผังไหล (flow chart)  แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนกิจกรรมและผลที่จะได้รับจากการดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นตอน  เพื่อสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยเกิดความคิดรวบยอด (Concept)  เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของการดำเนินงานวิจัยในเรื่องนั้นๆ

 

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).

พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

หมายเลขบันทึก: 400670เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท