เพลงรำวงทำนองไทย


คนไทยนิยมเล่นรำโทนมานาน ในการเล่นรำโทนมีเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ประกอบจังหวะก็คือ โทน ฉิ่ง และกรับ โดยจังหวะการฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นเสียงหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกกันว่า "รำโทน" ในด้านของบทร้องจะเป็นบทร้องที่มีภาษาเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใดตามลักษณะของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่ การเกี้ยวพาราสีหยอกล้อของหนุ่มสาว การเชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่น (ฟังเพลงรำโทนของไทย ขับร้องโดยรุ่งเพชร แหลมสิงห์ เป็นเพลงลูกทุ่งที่แต่งขึ้นในภายหลัง http://www.charyen.com/jukebox/play.php?id=30187 )

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) นิยมเล่นรำโทนเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และความหวาดผวาจากภัยสงคราม เพลงที่นิยมได้แก่ เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล เป็นต้น (ฟังเพลงตามองตา http://www.krusoomsook.net/scout/song/tamongta.html )

ต่อมารัฐบาลในสมัยนั้นได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำโทนขึ้นใหม่ให้มีระเบียบ แบบแผน มีความงดงามมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนการแต่งกาย ด้านเครื่องดนตรีนั้นมีวงปี่พาทย์เป็นเครื่องทำทำนองบรรเลงร่วมกับเครื่องทำจังหวะเดิมซึ่งได้แก่โทน ฉิ่ง และกรับ โดยมีเพลงเกิดขึ้นใหม่ ๑๐ เพลง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำมาซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ เรียกชื่อรำโทนเสียใหม่ว่า “รำวงมาตรฐาน” (ชมรำวงงามแสงเดือน http://www.youtube.com/watch?v=9DI7QFwFILw )

ในขณะที่รำวงมาตรฐานเป็นรำวงของทางการ แต่รำโทนของชาวบ้านก็ยังคงอยู่ แต่การเรียกชื่อนิยมเรียกว่า “รำวง” มากขึ้น ๆ จนลืมชื่อรำโทนไปเลย วิวัฒนาการของรำวงคงใช้วงดนตรีไทยคือวงปี่พาทย์ทำทำนองเพลงก่อน แล้วพัฒนาเป็นวงดนตรีสากลในที่สุด

เพลงรำวงที่เป็นแบบลูกกรุง วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำโดยเอื้อ สุนทรสนาน เป็นวงที่สร้างผลงานเพลงรำวงไว้เป็นจำนวนมาก แต่หากพิจารณาเฉพาะเพลงรำวงที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมแล้วมีหลายเพลงด้วยกัน เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้

(๑) รำวงลออองค์ ทำนองเขมรลออองค์ ๓ ชั้น

เพลงเขมรลออองค์เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์จากเพลงเขมรเอวบาง ๒ ชั้น ของเก่า สำเร็จครบเป็นเพลงเถา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓
รำวงลออองค์
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน วินัย จุลละบุษปะ ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตวรรณ http://www.4shared.com/audio/ieKq7jOD/11__-__-_.htm
(ช) ตะลึงแลสวยจริงแม่บังอร ลำแขนแม่อ่อนเมื่อทอดกรฟ้อนรำ คืนนี้โชคดีที่เป็นคู่รำ งามแท้ท่ารำแสนจะฉ่ำชื่นใจ เราเจอกันคืนพระจันทร์ลอยเด่น คืนนี้เดือนเพ็ญเรามาเล่นรำไทย เออขอถามหน่อยเถอะแม่กลอยใจ นวลน้องนามใดขอจงได้เมตตา
(ญ) มาลวนลามถามนามเพื่ออะไร พอพบคู่ใหม่เธอก็คงระอา                                (ช) นามน้องพี่จำติดตรึงอุรา รำพร้อมแก้วตาน้องจงอย่าได้อาย
(ญ) ฟังคารมมานิยมปองใฝ่ นามฉันนามใดเธอจงได้ลองทาย นามนั้นฉันอยู่ไม่ห่างเรือนกาย ยามฉันเดินกรายแล้วผู้ชายชอบมอง
(ช)  ลออองค์ฉันงงยิ่งจริงนาง เธอสวยทุกอย่างโอ้แม่นางเนื้อทอง เออหนออะไรที่ชายชอบมอง พอเห็นต้องปองเหลียวแลมองติดใจ เออดวงตาเธอหวานจริงยามจ้อง ยามยิ้มชวนมองปรางก็ผ่องอำไพ
(ญ)  เออหนอท้อจิตด้วยผิดไปไกล ความสวยตรงไหนที่ชายชอบมอง
(ช)  เธองามจริงผิวงามยิ่งเกินใคร จึงขอทายใหม่ชื่อแม่นวลละออง นวลผิวยั่วใจให้ชายชอบมอง พอเห็นต้องปองเหลียวแลมองติดใจ
(ญ) งามตรงเดียวจริงหรือเธอจึงพร่ำ พอฉันฟังคำเลยแทบหมดอาลัย
(ช)  เธอสวยทั้งร่างทุกอย่างวิไล นามน้องนวลใยนั้นคงใช่ลออองค์

๒. รำวงรื่นเริงสำราญ ทำนองค้างคาวกินกล้วย

ค้างคาวกินกล้วยเป็นเพลงไทยอัตราจังหวะสองชั้น มีสามท่อน ทำนองเก่า ไม่ทราบนามผู้แต่ง ใช้ประกอบการแสดงละคร เป็นเพลงที่มีลีลาทำนองอัตราจังหวะกระชั้น รุกเร้า ชวนให้อารมณ์คึกคัก สนุกสนาน หรืออารมณ์ตลกขบขัน มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเพลงลิงกับเสือ เพลงนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อมีอัลบั้มเดี่ยวไวโอลินของนพ โสตถิพันธุ์ ออกเผยแพร่ (ฟังเพลงค้างคาวกินกล้วย ระนาดขุนอิน http://www.4shared.com/audio/elxV2q5l/__online.htm)

รำวงรื่นเริงสำราญ http://www.4shared.com/audio/Pk0frpmZ/_-_.htm

คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ      

(พร้อม) รื่นเริงสำราญสบาย ทั้งใจและกายสนุกสุขศานต์ หนุ่มสาวถึงคราวสราญ ทุกคนชื่นบานสำราญฤทัย
(ช)  คนดีของพี่ก็มา สวยดังดาราติดตาตรึงใจ เชิญรำแม่งามวิไล เสียแรงตั้งใจ คงได้ชื่นชม
(ญ)  โปรยปรายยิ้มชายมองมา เพ่งพิศติดตาใบหน้าคายคม เพลินใจเร้าในอารมณ์ น่ารักน่าชมงามสมจริงเอย

๓. รำวงชมสวรรค์ ทำนองฟ้อนเงี้ยว

ฟ้อนเงี้ยวเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวเงี้ยว (หรือไทยใหญ่) ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่าทางตอนเหนือของไทย เข้าใจว่าในอดีตเคยอยู่ในภาคเหนือของไทยด้วยแต่เดี๋ยวนี้เป็นไทยเต็มรูปไปแล้ว (ชมการแสดงฟ้อนเงี้ยวได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=YRAieSbgD1A)  

รำวงชมสวรรค์ http://www.4shared.com/audio/4aFAbmj-/330-.htm

คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง สมศักดิ์ เทพานนท์      

(ช) พี่อยู่กรุงมุ่งมาเมืองเหนือ ลอยล่องเรือเหาะเลาะลิ่วมาหา พี่มาเว้าชมสาวเจ้างามตา นาเจ้าแม่นาเหยียบเมฆาชมเมืองสวรรค์
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
(ญ) พี่มาเว้าข้าเจ้าชมจันทร์ ชมเมืองสวรรค์ใจน้องสั่นงันงก ขึ้นเรือบินไม่ถึงถิ่นเวียนวก ตกเจ้าพี่ตก ต้องช้ำอกระกำอุรา
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
(ช) พี่จับจองที่บนจันทรา ให้แก้วตาปลูกบ้านอยู่จำเพาะ แบ่งที่ขายเงินหาได้เหนาะเหนาะ เหมาะเจ้าแม่เหมาะ จะมาขี่เรือเหาะเลาะมาเลาะไป
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
(ญ) เมื่อมีเงินเพลิดเพลินจิตใจ ไม่พึ่งใครเราสองได้สุขสันต์ ปลูกบ้านเรือนมีลูกหลานเกลื่อนบนสวรรค์
ทันเจ้าพี่ทัน มีลูกซักพันทำงานช่วยเรา
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
(ช) พี่จะพาแก้วตาชมดาว ไปน้องเจ้าไปจานผีเราเร็วรวด ดื่มสุราให้ใจกล้าสักขวด ดวดเจ้าแม่ดวดจะขี่จรวดหวือไปหวือมา
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
(ญ) ดื่มเมรัยทำให้หน้าชา มีลายขึ้นมาทำหันหน้าเซซบ พี่คงใช้ลูกไม้ใหม่ครันครบ ตบเจ้าพี่ตบ ไม่ขอคบคนลวงหลอกเอย
(สร้อย) มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ่มตุ่ม มงแซะมงแซะ แซะมงตะลุ่มตุ้มมง
นอกจากเพลงนี้แล้ว ยังมีเพลงรำวงเส่เหลเมา ซึ่งดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเส่เหลเมา ซึ่งก็คือคือทำนองฟ้อนเงี้ยวอีกทำนองหนึ่ง ศรีสุดา รัชตวรรณ ร้องนำหมู่

๔. รำวงสร้อยแสงแดง ทำนองลาวจ้อย

ลาวจ้อยเป็นเพลงอัตราจังหวะ ๒ ชั้น สำเนียงลาว ไม่ทราบนามผู้แต่ง ใช้เป็นทำนองเพลงนำไปประกอบระบำไก่หมู่ในละครเรื่องพระลอ ที่เรียกว่า “ระบำไก่” ซึ่งมีบทร้องขึ้นว่า “สร้อยแสงแดงพระพราย ขนเขียวลายระยับ”  จึงมีผู้เรียกชื่อเพลงว่า เพลงสร้อยแสงแดง หรือเพลงลาวเซิ้ง บางแห่งก็เรียกว่าเพลงต่อไก่ (ฟังเพลงลาวจ้อย http://www.youtube.com/watch?v=hG0ydDT5qiI&feature=related 

รำวงสร้อยแสงแดง http://www.4shared.com/audio/cS2NmH8q/343-.htm

(หมู่ ญ) ชื่นหัวใจ หญิงชาย ต่างยิ้มพรายกรีดกรายร่ายรำ
(หมู่ ช) คู่ร้องเพลงบรรเลงเปล่งคำ เหล่าคู่รำก็รำกันไป
(พร้อม) จับคู่ให้สมคู่ หนุ่มสาวชื่นชูสมคู่ชื่นใจ ร้องรำสนุกสุขฤทัย ดั่งไปอยู่ในสวรรค์
(ช) สุขเสียงเพลงร้องไป เคลิบเคลิ้มใจดั่งในความฝัน
(ญ) ต่างเคล้าคลอพะนอคู่กัน ชื่นชีวันระเริงวิญญาณ์
(พร้อม) หนุ่มสาวก็รำร่าย ผู้หญิงผู้ชายพร้อมใจกันมา ทุกคนระรื่นชื่นอุรา ต่างพาคู่มาฟ้อนรำ

๕. รำวงเทวีศรีนวล ทำนองสีนวล

สีนวลเดิมเป็นเพลงหน้าพาทย์ สะกดแบบโบราณว่า “สีนวน”  เป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบความสนุกสนานร่าเริง ใช้แสดงโขน ละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทชดช้อย  ต่อมา สีนวลเป็นเพลงประกอบการรำ โดยมีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด  มีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลงและท่ารำ ความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรี เพลงที่จะบรรเลงออกตอนท้ายจะใช้อยู่หลายประเภท เช่น ออกด้วยเพลงเร็ว - ลา ออกด้วยวรเชษฐ์ เพลงเร็ว – ลา หรือออกด้วยเพลงอาหนู ๒ ชั้น เพลงเร็ว – ลา

ฟังเพลงสีนวล http://www.4shared.com/audio/NyiX0srR/11_-_.htm   

รำสีนวล http://www.youtube.com/watch?v=eFzlWQPnV8w

รำวงเทวีศรีนวล http://www.4shared.com/audio/gMCxh6HG/_15_-_05_-____.htm

คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ      

(ลูกคู่) เสียงเพลงครื้นเครงในอารมณ์ น่าชื่นน่าชมภิรมย์เริงรำ ต่างบรรเลงร้องเพลงลำนำ เชิญแม่ศรีรำ รำกันสุขเอย
(ช) เป็นบุญหนุนนำทำให้ เจอะดวงใจงามจริง ดังเทวีศรีนวลงามยิ่ง งามไปทุกสิ่งกว่าหญิงใด ขอรำหน่อยเถิดดวงใจ น้องเอยทรามวัยอย่าได้รังเกียจเลย
(ลูกคู่) ...
(ญ) หวั่นจิตคิดไปใจเศร้า ถ้อยคำกล่าวเชยชมชายจะปองหมายลองภิรมย์ นานไปแล้วตรมเพราะร้างรา
น้องไม่เชื่อเบื่อวาจา ร้องรำดีกว่าพูดจาไม่น่าฟัง
(ลูกคู่) ...
(ช) คำชายหัวใจคงแน่ ไม่แปรแต่ยืนนาน ปวงเทวาฟ้าดินเป็นพยาน ดวงใจรักนานมั่นฤดี น้องจงอย่าตัดไมตรี ศรีนวลปรานีพี่นี้สักหน่อยเอย
(ลูกคู่) ...
(ญ) คารมร้อยคำชมให้ หากดวงใจลุ่มหลง คงระกำช้ำดังเข็มบ่ง คำชายมิตรงดังหัวใจ รักเป็นเพื่อนก่อนเป็นไร เห็นใจเมื่อไหร่เมื่อนั้นเป็นสุขเอย
(ลูกคู่) ...
(ช) เทวีศรีนวลชวนชื่น ผู้คนตื่นตาชม อรชรฟ้อนรำขำคม ยวนชายภิรมย์ให้สมใจ สอนให้พี่บ้างเป็นไร
สอนเชิงรำไทยเอวไหวสะโพกโยน
(ลูกคู่) ...
(ญ) การรำฟ้อนงามต้องเกี่ยว ร่างดีเพรียวส่วนงาม ทรงเธอเป็นขุนช้างทรงทราม พุงงามสมคำที่เขาลือ
สวยอย่างพี่นี่นะหรือ สมเป็นกระบือเอาไว้ไปไถนา
(ลูกคู่) ...

๖. รำวงเกี่ยวข้าว ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นทำนองเพลงพื้นเมืองของภาคกลางของไทย เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว http://www.youtube.com/watch?v=HNGJ84d390A&feature=related

รำวงเกี่ยวข้าว http://www.4shared.com/audio/LAZMIO-g/11_-_.htm หรือเพลงรำวงเกี่ยวข้าวเนื้อร้องอีกแบบหนึ่ง  http://www.4shared.com/audio/LAZMIO-g/11_-_.htm

คำร้อง เอิบ ประไพเพลงผสม ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน      

(สร้อย) เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว อย่ามัวแลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
(ช) ร่วมใจเดียว ขอเชิญมาเกี่ยวข้าวกัน แม่ชื่นใจฉัน ดวงชีวันช่วยกันลงแรง เชิญมารวมร่วมใจ น้องอย่าได้ระแวงอย่ามัวคลางแคลง ขอแรงคนงามเกี่ยวตามชอบใจ
(สร้อย) เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว อย่ามัวแลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
(ญ) ได้ฟังเชิญ เสียงชายมาเกริ่นเชิญชวน จิตใจรัญจวน ฟังเชิญชวนปั่นป่วนฤทัย ชายมาวอนลงแรง นึกระแวงแคลงใจ พูดจาปราศรัย น้ำใจไม่จริงหลอกหญิงให้เพลิน
(สร้อย) เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว อย่ามัวแลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
(ช) แม่งามงอน น้องฟังดูก่อนเป็นไร ถ้อยคำปราศรัย ความจริงใจพี่ไม่ล่วงเกิน รักจริงจริงดวงใจ น้องอย่าได้ทำเมิน แกล้งทำห่างเหิน ขอเชิญคนดีปรานีเมตตา
(สร้อย) เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว อย่ามัวแลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย
(ญ) ชื่นใจจริง น้องยังเกรงกริ่งในใจ                                                              (ช) แม่งามทรามวัย จงวางใจเชื่อในวาจา
(ญ) ฟังคารมชมชื่น หวานระรื่นวิญญา
(ช) โอ้ ยอดชีวา น้องมายินดีกับพี่เถิดเอย
(สร้อย) เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว อย่ามัวแลเหลียว เดี๋ยวเคียวจะบาดก้อยเอย

๗. รำวงบรเทศ ทำนองต้นบรเทศหรือต้นวรเชษฐ์

เพลงต้นบรเทศหรือต้นวรเชษฐ์ เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นและชั้นเดียว เป็นทำนองเก่าสมัยอยุธยา อยู่ในเพลงประเภทสองไม้ และเพลงเร็วเรื่องเต่ากินผักบุ้ง (ฟังระนาดขุนอินเพลงต้นวรเชษฐ์ http://www.4shared.com/audio/w81VbkUF/__-.htm)

รำวงบรเทศ http://www.4shared.com/audio/GFdzz0ie/342-.htm

๘. รำวงขับกระบือ ทำนองเขมรไล่ควาย

เขมรไล่ควายเป็นเพลงสำเนียงเขมรซึ่งมีจังหวะคึกคักสนุกสนานหรือแสดงอารมณ์ขบขัน ม.ล.ต่วนศรี วรวรรณ แต่งทำนองเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครคณะหลวงนฤมิตร ซึ่งแสดงที่โรงละครปรีดาลัย http://www.4shared.com/audio/xh3__j3E/12-.htm

รำวงขับกระบือ

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

เพ็ญศรี พุ่มชูศรี - สุนทราภรณ์ - ชวลีย์ ช่วงวิทย์ - วินัย จุลละบุษปะ ขับร้องหมู่    

หมู่) เราเหล่าชาวนาไถนาด้วยควาย อยู่กับควายเรื่อยไป เหนื่อยยากตรากตรำน้อมนำชื่นใจ (ชื่นใจ)
ฮึ้ย ลากไปไถเข้าเจ้าเลี้ยงไทย (เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย) ไถเข้าไปไถไปเถิดเจ้า ไถเข้าเถิดหนา
ญ.1) พอข้าวตกกล้าผืนนาพร่างพราย ข้าวเรียงรายทั่วไป เหนื่อยมากยากเย็นเข็นควายเรื่อยไป (เรื่อยไป)  ฮึ้ย ลากไปไถเข้า เจ้าเลี้ยงไทย (ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย)
หมู่) ไถเข้าไปไถไปเถิดเจ้า ไถเข้าเถิดหนา ช.1) อันหนี้บุญคุณค้ำจุนมากมาย ต้องพึ่งควายเรื่อยไป
เหนื่อยยากพวกเรารักเจ้าสุดใจ (สุดใจ) ฮึ้ย ลากไปไถเข้า เจ้าเลี้ยงไทย (เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย)
หมู่) ไถเข้าไปไถไปเถิดเจ้า ไถเข้าเถิดหนา
ญ.2) จอมสัตว์อย่างเจ้าเขาว่าโง่งม แต่ข้าชมยิ่งใคร ข้ามีข้าวกินเพราะเจ้าร่วมใจ (ร่วมใจ) ไปลากไปไถเข้า เจ้าเลี้ยงไทย (ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย)
หมู่) ไถเข้าไปไถไปเถิดเจ้า ไถเข้าเถิดหนา
ช.2) พอรุ่งเรืองรองแสงทองส่องตา ออกทุ่งนาฉับไว เอาเจ้าเข้าไถ ไถนาเพื่อไทย (เพื่อไทย)
ฮึ้ย ลากไป ไถเข้า เจ้าเลี้ยงไทย (เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย เฮ่ย)
หมู่) ไถเข้าไปไถไปเถิดเจ้า ไถเข้าเถิดหนา

ในส่วนของเพลงลูกทุ่งก็มีเพลงรำวงเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานของเบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) นักเพลงจากจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๐ เพลงของเบญจมินทร์เกือบทั้งหมดจะเป็นเพลงจังหวะรำวง เช่นเพลง รำวงแจกหมาก รำวงฮาวาย เมขลาล่อแก้ว แมมโบ้จัมโบ้ อึกทึก มโนราห์ ๑-๒ สาลิกานกน้อย รำเต้ย อายจันทร์ สุดไม้สอย เพลงรำวงของเบญจมินทร์ได้รับความนิยมจากผู้ฟังทั่วประเทศ จนพฤหัส  บุญหลง ตั้งฉายาให้กับเบญจมินทร์ว่า “ราชาเพลงรำวง” สำหรับนักเพลงรุ่นหลังก็มีผลงานเพลงในจังหวะรำวงหลายคน เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ กุศล กมลสิงห์ เพลงลูกทุ่งรำวงยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงค่อยคลายความนิยมลงไป

ขอแนะนำเพลงรำวงทำนองไทยผลงานของเบญจมินทร์ ๒ เพลง

๑. รำเต้ย ทำนองเต้ยโขง

เต้ยเป็นทำนองเพลงหรือลายของแคน เป็นลายที่มีลีลาทำนองช้าใช้ดำเนินทำนองเพลงด้วยเสียงสูงระดับสูงต่ำสลับกันไป นิยมนำมาลำเกี้ยวโต้ตอบกัน โดยเต้ยโขงเป็นลายที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด

รำเต้ย http://www.4shared.com/audio/4Y9xsIKH/_-_.htm  หรือที่ http://www.baanmaha.com/community/thread30970.html

สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง แม้มีทองจะให้เจ้าแต่ง ครั้นเมื่อถึงยามแลง จะพาน้องแต่งตัวเดิน
เพลินก็จริงนะน้อง ไผมองก็ว่างามสม คิ้วต่อก็ยังแถมคอกลม หางตาแม่คม เหมือนจะบาดใจชาย
อยากฮู้ว่าบ้านอยู่ไส ผู้ใด๋เขาเป็นคู่ซ้อน แม้นยามนอนบ่มีไผกอด สองแขนของอ้ายสิสอด กอดไว้บ่ให้ไผมาตอม
หอมหลายคือแม่นแก้มนาง หอมต่างสาวอื่นอื่น ถ้าได้ตัวน้องมาประคองสักคืน เงินแสนเงินหมื่นก็บ่ได้ตื่นตามอง

๒. นกเรานกเขา ทำนองสีนวล (ทำนองเดียวกับรำวงเทวีศรีนวล) http://www.4shared.com/audio/4cPmTDey/_-_.htm

ส่วนเพลงรำวงทำนองไทยของนักร้องคนอื่นที่ขอแนะนำได้แก่

๑. เหรารำวง ทำนองคางคกปากสระ ของชาย เมืองสิงห์

คางคกปากสระเป็นเพลงอัตราจังหวะชั้นเดียวทำนองเก่า ใช้ประกอบการแสดงละคร เป็นเพลงที่มี ลีลา ทำนองและจังหวะกระชั้น รุกเร้า ชวนให้อารมณ์คึกคักสนุกสนาน เพลงนี้มีท่อนเดียว

เหรารำวง http://www.4shared.com/audio/GiVECFq0/_-__.htm

๒. สาละวันเตี้ยลง ทำนองเต้ยสาละวัน

เต้ยสาละวันเป็นเต้ยลายหนึ่งที่เป๋นที่รู้จักกันมากขึ้นจากเพลงสาละวันเตี้ยลงของไวพจน์ เพชรสุพรรณ http://www.4shared.com/audio/lMI7YCFm/09__-__.htm   

โอ่..โอ้.เอ๊ย..แล้วกันโอ๊ย เอ..นั่นแหละหน่าย.น้อยอ้อนแอ้น แม่นมิ่งสาวสวรรค์ สาละวันตาคม สง่าสมแท้น้อน้อง
เตี้ยลง สาละวันเตี้ยลง เตี้ยลง สาละวันเตี้ยลง เตี้ยลงก่อน สาละวันเอ๊ยเอย เตี้ยลงแล้ว ฟังพี่สิแอ่วเพลง
พลับพลึงกำลังช่อใหม่ ปลูกเอาไว้ อยู่ในแดนดง รูปหล่อ เขาออก มาโค้ง รำวง รำวง สาละวัน
สาละวัน ลุกขึ้น ลุกขึ้น ลุกขึ้น สาละวัน ลุกขึ้นก่อน สาละวันเอ๊ย
ลุกขึ้นแล้ว อ้ายขอเว้าสาว ถามบ้านเจ้า นั้นอยู่ที่ไหน ลูกสาวไผ ซ่างผู้งามปานแย้ม สองพวงแก้ม สีชมพูอ่องต่อง พี่ขอฝาก ฮักน้อง พอได้บ่ละนาง
สาละวัน เดินหน้า เดินหน้า เดินหน้า สาละวัน เดินหน้าหน่อย สาละวันเอ๊ย
เดินหน้าแล้ว ตาซ้อนเล็กน้อย เจ้าผู้สาวร่างน้อย ลอยหน้า ต่อไป รำใกล้ๆ ใจจะขาดรอนๆ อรซรเอวบาง ท่าทาง ดังหงส์ฟ้อน
สาละวันถอยหลัง ถอยหลัง ถอยหลัง สาละวัน ถอย หลังหน่อย สาละวันเอ๊ย
ถอยหลังแล้ว ขอเชิญ รำต่อ เซินแม่ เซินพ่อ มาม่วนนำกัน สาละวันนี้รำขึ้น รำลง ลุกขึ้นแล้ว ก็ถอยหน้าถอยหลัง ถ้าบ่ระวัง ซิเอวเคล็ด ดอกพ่อ

หรือที่บานเย็น รากแก่นร้องใช้ชื่อว่าสาละวันรำวง โดยดัดแปลงเนื้อร้องต่างกันไปบ้างแต่เร่งจังหวะเร็วขึ้น http://www.4shared.com/audio/pl_wB96u/08__-_.htm

วิพล นาคพันธ์

๓ ตุลาคม ๒๕๕๓

อ่านข่าวสารทั้งหมดของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

หมายเลขบันทึก: 400619เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้ดีมากครับ เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท