National Institute for Child and Family Development : แนวคิดพื้นฐานในการเตรียมการพัฒนากองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้


อันที่จริงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก ที่เราจะได้เห็นกองทุนสื่อภาคประชาสังคมเกิดขึ้นเป็นกองทุนแรกๆด้านการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมแบบมีส่วนร่วมของประชาสังคมในภาคใต้ของประเทศไทย น่าจะถือเป็นต้นแบบของกองทุนสื่อในประเทศไทย ถึงแม้กองทุนนี้จะเป็นการเริ่มต้นลงทุนโดยมูลนิธิจากต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่า อาจมีการร่วมลงทุนจากกองทุนสื่อของไทยที่มีอยู่แล้ว หรือ กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ได้

วันนี้เดินทางมากับคุณฐิตินบ โกมลนิมิ (พี่แจง) เพื่อมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเรียนรู้เพื่อตัดสินใจในการจัดตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้กับคณะทำงานเตรียมความพร้อมเพื่อจัดตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี

ตีโจทย์ของผู้ให้ทุน

    อ.มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน พูดถึงการตีความถึงเจตนารมณ์ของมูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ให้ความสนใจที่จะมาสนับสนุนการพัฒนาสื่อในชายแดนใต้ เดาว่า ทางมูลนิธิจากญี่ปุ่นเองคงอยากเห็นการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมทั้งระบบในภาคใต้แบบระยะยาว จึงเริ่มให้โจทย์ท้าทายโดยใช้กองทุนเป็นกลไกกลางในการทำงาน แต่ความท้าทายกว่านั้น เห็นจะเป็น การตีโจทย์ ๓ ข้อ ให้แตก คือ (๑) จะมีการบริหารจัดการกองทุนเฉพาะหน้าอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดทำระบบโครงสร้างเพื่อพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ (๒) จะมีการจัดทำโครงสร้างระยะยาวที่ยั่งยืนในการจัดระบบกองทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างไร และ (๓) จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนชายแดนใต้เพื่อเข้ามามีบทบาทกับกองทุนนี้อย่างแท้จริง อันเป็นการเตรียมความพร้อมของการใช้ประโยชน์จากกองทุนของคนในชายแดนใต้

เส้นทางของการขับเคลื่อนสู่การเตรียมกองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้

            ความน่าสนใจอย่างมากของการเตรียมความพร้อมในระยะแรก คือ “การบริหารจัดการกองทุนแบบเฉพาะหน้า” มีทางเลือก ๒ ทาง คือ การจัดตั้งโครงการเพื่อรับเงินจากมูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ ภายใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อบริหารจัดการเงินในกองทุนที่ได้รับมา แต่แนวทางนี้อาจมีปัญหาเรื่องระบบการบริหารจัดการ ซึ่งหากใช้ระบบการบริหารจัดการแบบมหาวิทยาลัยอาจเกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัว และ อาจติดขัดเรื่องค่าตอบแทนสถาบัน แต่ในแง่ของทรัพยากรพื้นที่ และความเป็นองค์กรวิชาการในพื้นที่ ถือเป็นข้อเด่นของการใช้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรรับเงินของกองทุน หรือ จะให้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch ซึ่งอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีรับเงินทุนนี้ ซึ่งศูนย์ฯนี้มีความอิสระ คล่องตัว และมีเครือข่ายคนทำงานที่เกาะตัวทำงานกันอยู่แล้ว ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่อาจจะประสบปัญหาเรื่องสถานะของผู้รับทุนเพราะเป็นเพียงกลุ่มบุคคลที่มารวมตัวกัน แต่อาจมี “ทางเลือก” ในการนำข้อเด่นแต่ละจุดมาในการจัดการ คือ

“จัดทำเป็นโครงการบริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แต่ให้มีการจัดทำระบบการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว ซึ่งอาจขอยกเว้น ลดหย่อนค่าตอบแทนสถาบันบางส่วน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนในการบริหารจัดการโครงการ โดยให้ ภายใต้ Deep South Watch เข้ามามีบทบาทในการจัดการโครงการ ในขณะเดียวกัน ให้โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งคือ การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาสื่อภาคใต้และมีการจัดการกองทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคม  โดยต้องเริ่มพัฒนาความรู้เกี่ยวกับ สถานะของกองทุน การบริหารจัดการ หลักเกณฑ์ในการได้รับการสนับสนุนจากกองทุน”

ในขณะที่การทำงานระยะที่สอง ก็คือ การพัฒนาระบบการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพ และ ใช้กลไกด้านกองทุนมาเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานในการขับเคลื่อน เข้าใจว่ามีนัยหมายถึง การจัดเตรียมองค์กรอิสระที่มีความคล่องตัวที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งอาจมีทางเลือกหลายแนวทาง ทั้งการจัดตั้งเป็นสมาคม มูลนิธิที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งความเป็นมูลนิธิอาจมีข้อได้เปรียบในแง่ของระบบภาษีที่บุคคลบริจาคเงินเข้ามูลนิธิสามารถนำเงินที่บริจาคใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษี  หรือ อาจจะจัดตั้งเป็นกองทุนภายในมหาวิทยาลัยเองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ในที่สุดอาจติดขัดเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่คล่องตัว

การทำงานที่ต้องต่อเนื่องก็คือ การสร้างจิตวิญญาณร่วมกันของคนในชายแดนใต้ โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับคนในชายแดนใต้ในการเห็นความสำคัญของกองทุน และ สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชายแดนใต้ในการร่วมออกแบบ “โครงสร้าง” ของกองทุน และหมายรวมถึง การกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนนี้ ซึ่งคงต้องออกแบบให้เกิดการทำงานกับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจของกองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่ควรจะเป็น

            ภารกิจหรือเป้าหมายของกองทุนน่าจะต้องเป็น กลไกหลักด้านการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ (เป็นวิสัยทัศน์ของกองทุน) ซึ่งหมายความว่า เบื้องต้น ความเห็นว่า กองทุนนี้น่าจะมีเป้าหมายหรือภารกิจใน ๕ ส่วน (๕ พันธกิจของกองทุน) คือ (๑) การพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมให้มีปริมาณมากขึ้น รูปแบบที่หลากหลาย คุณภาพที่ดีขึ้น  (๒) การพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ผลิตสื่อ ผู้รับสื่อให้มีวัฒนธรรมการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ความสามารถในการผลิตสื่อ รวมไปถึง ศักยภาพในการจัดทำโครงการพัฒนาสื่ออย่างสร้างสรรค์ (๓) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารเพื่อกระจายความเท่าเทียม (๔) สนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และ (๕) การสนับสนุนงานด้านวิจัยเพื่อการพัฒนา

โจทย์ท้าทาย ๔ ข้อที่น่าขบคิดเพื่อการพัฒนากองทุนฯที่ยั่งยืน

            อันที่จริงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก ที่เราจะได้เห็นกองทุนสื่อภาคประชาสังคมเกิดขึ้นเป็นกองทุนแรกๆด้านการพัฒนาสื่อในภาคใต้ของประเทศไทย น่าจะถือเป็นต้นแบบของกองทุนสื่อในประเทศไทย ถึงแม้กองทุนนี้จะเป็นการเริ่มต้นลงทุนโดยมูลนิธิจากต่างประเทศก็ตาม เพื่อให้เกิดการจัดทำโครงสร้างของกองทุนฯที่ตอบสนองต่อการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ นอกจากสถานะของกองทุนที่ต้องมีความชัดเจน และ การเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาสังคมแล้ว น่าจะต้องขบคิดในโจทย์ ๔ ข้อต่อมา คือ

(๑) ที่มาของเงินทุน และ การบริหารเงินทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งหมายถึง การบริหารเงินในกองทุนที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ที่ไม่ต้องรอการสนับสนุนจากองค์กรทุนเพียงอย่างเดียว เช่น การร่วมลงทุนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสนใจ การร่วมลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้กับกองทุน การรับการสนับสนุนจากเงินในกองทุนอื่น เช่น กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ หรือ กองทุนวิจัยเพื่อสาธารณะประโยชน์ ภายใต้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ ร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นต้น

(๒) องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุน ควรประกอบด้วยภาคส่วนใดบ้างเพื่อให้เกิดการตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายของกองทุนได้อย่างแท้จริง

(๓) การกระจายความเท่าเทียมให้กับภาคประชาสังคมในการได้รับการสนับสนุนจากกองทุน รวมถึง การลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุน หมายถึง ต้องแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเรื่องแบบพิธีการซึ่งเป็นอุปสรรคโดยอ้อมในการเข้าถึงแหล่งทุน

(๔) รูปแบบของการสนับสนุนการพัฒนาสื่อจากกองทุน ว่าจะมีรูปแบบในการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป มีด้วยกันหลายลักษณะ ทั้งการสนับสนุนด้วยเงิน เช่น การให้เปล่า ให้ยืม ให้กู้ยืม การร่วมลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของการสนับสนุนของกองทุนที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารกองทุน หรือ จะสนับสนุนด้วยความรู้ โอกาส เครื่องมือในการทำงาน แต่ต้องคำนึงถึงระบบของการสนับสนุนแบบครบวงจร หรือ จะมีรูปแบบของการสนับสนุนแบบเจรจาร่วมทุนกับองค์กรอื่นให้ ที่เรียกว่า Matching Fund ก็ได้

ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นกองทุนนี้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมออกแบบกองทุน ทั้ง สถานะของกองทุน โครงสร้างการบริหารจัดการ องค์ประกอบของกรรมการ รูปแบบของการสนับสนุน รวมไปถึง หลักเกณฑ์ในการขอรับการสนับสนุน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ หากสร้างความเป็นเจ้าของร่วมของคนในสังคมชายแดนใต้ในกองทุนนี้ เชื่อว่า กองทุนนี้จะมีความยั่งยืนแน่นอน 

กระบวนการทำอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกำหนดฝันร่วมกันของสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ของเครือข่ายที่จะเกิดขึ้น น่าจะต้องมีหลายอย่างประกอบกันทั้ง การร่วมสร้าง (๑)แผนที่ความคิดทั้งระบบในการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ (๒) วิธีการหลักเพื่อไปสู่ความฝัน ส่วนนี้เป็นเรื่องของพันธกิจ ซึ่งอาจนึกถึงภารกิจของกองทุน (๓) การทำแผนที่โครงการ กิจกรรม ของเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อที่จะดูว่ามีงานที่ทำอยู่แล้วและตอบโจทย์ความฝันและภารกิจหรือไม่ และจะทำอะไรต่อเพื่อให้ไปถึงความฝันร่วมกัน  (๔)  วิธีการเพื่อสร้างฝันให้เป็นจริงอย่างเป็นระบบและมีแผนการ ทั้ง ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว (๕) แนวทางในการบริหารจัดการของกองทุนที่ควรจะเป็นเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไว้ติดตามกันต่อหลังจากวันที่ ๒๑ - ๒๒ ตุลาคม ที่ทางเครือข่ายนี้จะจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติ คงได้เห็นองค์ประกอบทั้งหมดของการริเริ่มการบริหารจัดการกองทุนนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ชักชวนให้เครือข่าย Deep South Watch ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับ อนุกรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีท่านรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และ อนุกรรมการบูรณาการกฎหมายด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีครูหยุย เป็นประธาน ภายใต้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ที่กำลังขับเคลื่อนกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ท่านรองปลัดศรีวิกา จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลเรื่องของกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมถึง พี่หยุย จาก แผนงานยุทธศาสตร์สื่อเพื่อสุขภาวะเยาวชน และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อีกทั้ง มูลนิธิสยามกัมมาจล จะชวนลงพื้นที่ หรือ ให้คนพื้นที่มาหา ได้ทั้งสองทาง ไม่แน่อาจเกิดการร่วมทุนขนาดไม่น้อยในการพัฒนากองทุนสือ่ภาคประชาสังคมก็ได้

หมายเลขบันทึก: 400613เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท