การบริหารโรงเรียนเชิงกลยุทธ์


ความนำ

        

            ปัจจุบันการบริหารโรงเรียนมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขาดแคลนด้านทรัพยากรและปัญหาด้านสังคม

ผู้บริหารส่วนใหญ่ คิดได้แต่ทำไม่ได้ หรือ คิดได้ทำได้ แต่ก็เหนื่อยยาก และ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามที่คิด คิดทำอย่างมีคุณภาพสูง สำเร็จสูง แต่ผลที่ได้ไม่ตรงกับที่คิด เรียกว่า สำเร็จแต่ยังขาดประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่ดี ที่เป็นผู้บริหารมืออาชีพจึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องคิดค้นและสร้างสรรค์วิธีการบริหารที่มีทิศทางชัดเจน มีกรอบของการปฎิบัติที่สามารถทำได้จริงและเหมาะสมกับระยะเวลา ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ คือ การบริหารโรงเรียนเชิงกลยุทธ์ นั่นเอง

 

การบริหารเชิงกลยุทธ์  เป็นการบริหารจัดการที่มีการวางแผนโดยมุ่งพิจารณากำหนดทิศทาง ระยะเวลา วิธีการปฏิบัติที่มีความชัดเจนในเชิงรุกหรือเชิงป้องกันปัญหาที่มุ่งเน้นสัมฤทธิ์ผลและการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่มีทิศทางชัดเจน โดยมีขอบเขตดังนี้

1. การบริหารเชิงกลยุทธ์ เป็นการมองกว้าง โดยสามารถมองเห็นความสัมพันธ์กันระหว่างสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก เชื่อมโยงในการทำงานสู่ความสำเร็จ

2. การบริหารเชิงกลยุทธ์ เป็นการมองไกลและมองลึกในการคาดคะเนอนาคตข้างหน้าระยะสั้นและระยะยาวให้เห็นได้อย่างชัดเจน

3. การบริหารเชิงกลยุทธ์ เป็นการพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ในการวิเคราะห์ทางเลือกวิธีการทำงานให้สำเร็จอย่างชาญฉลาด กล้าแข่งขัน แสวงหาความก้าวหน้ารู้เท่าทันสถานการณ์

 

 

 

 

 

 

กระบวนการบริหารหรือทำงานเชิงกลยุทธ์ สามารถดำเนินการได้ดังนี้

 

กระบวนการบริหารหรือทำงานเชิงกลยุทธ์

 

การวิเคราะห์สภาพงาน ปัจจัย 4  สภาพแวดล้อม ทรัพยากร ค่านิยมของคณะคณะทำงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม

 

กำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนา

 

กำหนดกลยุทธ์วิธีการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ท้าทายอย่างชัดเจน

 

กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จเพื่อการประมวลผลและนำสู่การปฏิบัติตามกลยุทธ์

 

ผู้บริหารโรงเรียนในการบริหารเชิงกลยุทธ์

            ผู้บริหารโรงเรียนในการบริหารเชิงกลยุทธ์ ควรจะมีคุณลักษณะ

1. เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ทันต่อกระแสแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาเป็นกลยุทธ์ในการทำงาน

2. เป็นนักคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ทันยุคทันสมัย ใหม่และแปลก ใช้ความคิดเป็นผู้จัดทำกลยุทธ์

3. เป็นนักออกแบบ จัดโครงสร้างระบบงาน ออกแบบวิธีการปฏิบัติงานที่ปรับเปลี่ยนเพื่อบรรลุความสำเร็จของงาน

4. เป็นผู้นำหรือผู้สร้างทีมงานหรือเป็นผู้ที่แสวงหาคนเก่ง สร้างทีมหลากหลาย เพื่อการทำงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

5. เป็นนักจัดสรรทรัพยากร สนับสนุนการทำงาน รู้จักใช้และควบคุมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงและประหยัดสุด

6. เป็นนักประชาสัมพันธ์ เป็นผู้นำชุมชนสัมพันธ์ ประสานสัมพันธ์รอบด้าน

7. เป็นนักบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานที่มีเครือข่ายกว้างไกล

          

             นอกจากคุณลักษณะที่สำคัญ ดังกล่าวแล้ว  ผู้บริหารโรงเรียนควรสร้างลักษณะนิสัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จตามกลยุทธ์   ได้แก่  อุปนิสัย

1. มีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ และกล้ารับผิดชอบ  

2. มีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ ชอบที่จะกำหนดเป้าหมาย   

3. ชอบทำเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่สำคัญท้าทาย       

4.  มีนิสัยชอบคิดที่จะเอาชนะปัญหา ความขัดแย้งร่วมกัน   

5.  มีนิสัยที่ชอบเข้าใจผู้อื่นก่อนแล้วทำให้ผู้อื่นเข้าใจเรา มีความชัดเจนในการติดต่อสื่อสารให้มากยิ่งขึ้น   

6.  มีอุปนิสัยชอบสร้างผนึกพลังประสานความแตกต่างเพื่อนำมาเป็นส่วนได้เปรียบในทางเลือกใหม่  

7. มีนิสัยมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้มีความเฉียบคมอยู่เสมอ และพัฒนานิสัยที่ก่อให้เกิดผลที่ประสบความสำเร็จสู่ความเป็นนักบริหารที่มีกลยุทธ์แบบมืออาชีพ  และ

8. มีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ทีมงาน

 

จะเป็นมืออาชีพต้องมีกลยุทธ์

 กลยุทธ์ในการบริหารไม่มีรูปแบบหรือสูตรสำเร็จที่ตายตัว รูปแบบ(Model) หรือสไตล์(Style) การบริหารก็ขึ้นอยู่กับบริบทรอบข้าง ความมุ่งมั่นตั้งใจ ปฏิภาณไหวพริบ ความใส่ใจและช่างสังเกต ตลอดจนการรู้จักเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวผู้บริหารเอง

วิธีการหนึ่งที่ผู้บริหารผู้ประสบความสำเร็จได้นอกเหนือจากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงเพื่อคุณภาพของงานแล้ว คือวิธีการเรียนรู้รูปแบบวิธีการบริหารจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จแล้วหลากหลายวิธีและหลอมรวมประยุกต์เป็นการบริหารของตน ทำบ่อย ๆ มาก ๆ จนกลายเป็นรูปแบบของงาน แบบอย่างที่น่าสนใจ ดังเช่น

 

รูปแบบนักบริหารเชิงกลยุทธ์

ธงชัย สันติวงษ์ ได้นำเสนอแนวคิดของแมคโคบี้ (Machael Maccoby) ที่ได้วิเคราะห์ผู้บริหารภายใต้ความสัมพันธ์ของสองแกนผสมผสานกัน คือ แรงจูงใจเพื่อความสำเร็จกับแรงจูงใจเพื่ออำนาจ ดังแผนภูมิต่อไปนี้

 

 

แผนภูมิแสดงตัวอย่างรูปแบบหรือสไตล์การบริหารเชิงกลยุทธ์

 

ผู้ใช้วิชา  + -

ผู้ทรงคุณธรรม(พ่อคนดี) - -

ยอดนักต่อสู้ + -

มากเล่ห์เพทุบาย + +

ผู้จัดการทีม

สำเร็จสูง.

สำเร็จต่ำ

 

 

             นักบริหารเชิงกลยุทธ์จะมีวิธีการที่เป็นกลยุทธ์  5  วิธี ดังนี้

1. แบบพ่อคนดี ผู้บริหารเป็นคนดีเป็นการบริหารเชิงกลยุทธ์แบบไม่อยากเสี่ยง ไม่สนใจผลสำเร็จในหน้าที่การงานสูงนักและไม่ใยดีใฝ่หาอำนาจใส่ตัวด้วย แต่เป็นการทำงานแบบขอให้อยู่รอดปลอดภัยเท่านั้น

2. แบบผู้มีวิชา เป็นผู้บริหารที่สนใจความสำเร็จจากการทำงานสูงแต่ไม่ค่อยสนใจใฝ่หาอำนาจมากนัก มุ่งเหตุผลวิเคราะห์ทางวิชาการ ผลที่ออกมาจึงเป็นรายงานและแผนงาน

3. แบบนักต่อสู้ เป็นผู้บริหารที่เอาจริงเอาจัง ต้องการเป็นผู้พิชิต ตั้งเป้าหมายไว้สูง ติดตาม ควบคุมและกดดันให้ผู้ทำงานทั้งหลายต้องตัดสินใจ หมายถึง มุ่งผลสำเร็จและใช้วิธีการต่อสู้แบบเผชิญหน้า

4. แบบผู้จัดการทีม หรือนักประสานความร่วมมือ เป็นผู้ประสานประโยชน์ คำนึงถึงความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ สามารถสร้างทีมที่ดีขึ้นมาสำเร็จและได้รับอำนาจพอสมควร

5. แบบมากเล่ห์เพทุบาย เป็นผู้บริหารที่มองงานเป็นสิ่งท้าทายปกติ ต้องการทำงานทั้งให้สำเร็จและได้มาซึ่งอำนาจสูงทั้งสองอย่าง มักถือว่าคนเป็นเบี้ยบนกระดานหมาก เข้าในเกมในองค์กร มักมองการณ์ไกลและมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งแมคโคบี้ (Maccoby) เชื่อว่าเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

            นักบริหารมืออาชีพต้องมีกลยุทธ์การทำงานที่หลากหลายเพื่อความสำเร็จและเพื่อความมีอำนาจ ต้องหลอมรวมแนวคิดการบริหารทั้ง 5 แบบเข้าด้วยกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ผู้บริหารต้องเป็นทั้งนักบุญคือพ่อคนดี ต้องเป็นนักวิชาการคือผู้มีวิชา เป็นนักต่อสู้ เป็นผู้จัดการทีม เป็นโค้ช และต้องมีเล่ห์กลหรือมีกุศโลบายหลากหลายเพื่อความสำเร็จของงาน รวม ๆ แล้วสร้างให้เป็นรูปแบบการบริหารประจำตัว ใช้เป็นวิธีการบริหาร คิดมากๆ คิดให้หลากหลาย จนสามารถปรับเป็น วิธีการสุดยอดหรือวิธีปฏิบัติการบริหารที่เป็นเลิศ (Best Practice) สร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการบริหาร ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

           

นักบริหารต้องสร้างนวัตกรรมทางการบริหาร

            ผู้บริหารคือคนธรรมดาแต่เป็นผู้ที่ทำให้คนธรรมดาทำงานเหนือคนธรรมดา เป็นผู้จุดประกายสร้างพลังให้คนอื่นทำงาน เพราะผู้บริหารคือคนที่ทำงานให้สำเร็จโดยคนอื่นเป็นผู้ทำ นักบริหารที่บริหารเชิงรุก มีกลยุทธ์มักจะทำอย่างนี้

            1. เดินไปดูบ่อย ๆ ดูขณะที่ทุกคนกำลังทำ ดูจริงทำให้พบปัญหาและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติว่าเป็นผู้บริหารที่เอาใจใส่

            2. รับฟังความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติแสดงถึงเปิดโอกาสให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ

            3. แสดงความมุ่งมั่นบ่อย ๆ ให้ผู้ปฏิบัติเห็นว่าเอาจริง

            4. เป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้จนเป็นแบบอย่าง

            5. ทำงานเป็นระบบครบวงจร เช่น วงจร PDCA ระบบ System Approach

6. การบริหารต้องเปลี่ยนต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ บางครั้งต้องรวมศูนย์ บางครั้ง 

ก็กระจายอำนาจและต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ

            การเดินดูบ่อย ๆ เป็นวิธีการกระตุ้น ติดตาม ดูแลโดยการเดินตามไปดูและให้ขวัญกำลังใจคนที่กำลังทำงาน เพื่อพบปัญหาก็เร่งแก้ไขเสนอแนะด้วยความเอาใจใส่ นี่ก็เป็นวิธีการเชิงรุกเป็นกลยุทธ์เช่นกัน การนำกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผู้บริหารต้องคิดสร้างสรรค์ เป็นทางเลือกให้ผู้บริหารใช้บริหารพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องคิดกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมทางการบริหาร สร้างรูปแบบหรือโมเดล (Model) การบริหารเป็นของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 400020เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเคยเขียนบทความเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อประสิทธิภาพในอนาคต

ตีพิมพ์ในวารสารข้าราชการครู ดูเหมือนจะมีกลยุทธ์ทั้ง 5 ที่ท่านกล่าวถึงด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท