การเขียนบทคัดย่อ


                                         
                     การเขียนบทคัดย่อ

 

        บทคัดย่อ (Abstract) หมายถึง ส่วนที่แสดงเนื้อหาสำคัญของเอกสารโดยย่อ โดยทั่วไปมักจะเขียนอยู่ต่อจากชื่อเรื่อง บทคัดย่อมักจะมีลักษณะดังนี้คือ

 1.    บทคัดย่อมาก่อนคำนำ และแยกให้ออกระหว่างคำนำกับบทคัดย่อ

 2.    ย่อทุกๆส่วนของสัมมนา (คำนำย่อ เนื้อเรื่องย่อ สรุปย่อ) โดยเขียนสิ่งที่ผู้อ่านควรได้ทราบจากงานของเราโดยควรเรียงลำดับเช่นเดียวกับในเนื้อหาสัมมนา

 3.    เมื่อผู้อ่านๆบทคัดย่อจบแล้ว ต้องมองภาพรวมของสัมมนาออก ส่วนรายละเอียดนั้น ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านได้ในบทความสัมมนา

 4.    บทคัดย่อไม่ควรยาวจนเกินไป (ไม่ควรเกิน 1/2 หน้ากระดาษ A4) เพราะอาจทำให้      เวลาในการอ่านส่วนอื่นๆลดลง ในบทคัดย่อไม่มีตาราง  รูปภาพ  หรือการอ้างอิงใดๆ 

 5.    ไม่มีส่วนของข้อมูลหรือแนวคิดอื่น ที่อยู่นอกเหนือจากในเนื้อหาบทความสัมมนา 

 

ประเภทของบทคัดย่อ: บทคัดย่อมี 2 ประเภท คือ

 1.    บทคัดย่อประเภทให้ข้อมูลความรู้ (Informative Abstract) เขียนเพื่อรายงานผลการศึกษา หรือบทสรุปที่ผู้ใช้ต้องการอย่างเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการอ่านเอกสารต้นฉบับ

 2. บทคัดย่อประเภทพรรณนา (Indicative of Descriptive Abstract) เขียน เพื่อชี้แนะข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดในเอกสาร โดยปราศจากรายงานถึงผลการศึกษา ค้นคว้า หรือสรุป เพื่อให้ผู้อ่านใช้ประกอบการตัดสินใจ ว่าจะต้องอ่านหรือศึกษาเอกสารต้นฉบับหรือไม่ โดยทั่วไปนิยมใช้เขียนเพื่อสรุปเอกสารที่นำเสนอ หรือทัศนคติที่กว้างขวาง เช่น เอกสารด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือบทวิจารณ์ เป็นต้น 

 การเขียนบทคัดย่อมีหลักสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

 1.  มีความสั้น กระทัดรัดและกระชับ (Concision)

 คือ เลือกเฉพาะสาระที่เป็นประเด็นใจความสำคัญของเอกสาร โดยใช้สำนวนที่กระทัดรัด มีความกระชับ หลีกเลี่ยงการใช้คำหรือประโยคที่มีความยาว หรือมีความซ้ำซ้อนความยาวของบทคัดย่อไม่มีกำหนดไว้ตายตัว ขึ้นอยู่กับชนิดของเอกสารและเนื้อหาสาระของเอกสารนั้น ๆ ว่า มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปบทคัดย่อจะมีเพียง 1 ย่อหน้า แต่สำหรับเอกสารงานวิจัยมีได้มากกว่า

 2. มีความถูกต้อง (Precision)

 คือ สามารถถ่ายทอดประเด็นสำคัญของเอกสารได้อย่างถูกต้อง ตามความหมายเดิมของเอกสารต้นฉบับ ไม่ควรมีการตีความหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ อันทำให้ผู้อ่านเข้าใจสาระของเอกสารต้นฉบับผิดไป

 3. มีความชัดเจน (Clarity)

 การ เรียบเรียงถ้อยคำเพื่อเสนอในบทคัดย่อจะต้องสื่อความหมายให้เข้าใจชัดเจน โดยใช้รูปประโยคที่สมบูรณ์ไม่ใช่เขียนกระท่อนกระแท่นเป็นคำ ๆ 

 การเขียนบทคัดย่องานวิจัย

        การเขียนบทคัดย่อของงานวิจัยเป็นการเขียนบทคัดย่อประเภทให้ความรู้ (Informative Abstract) ซึ่งควรเขียนต่อเนื่องกันไป และมีเนื้อหาที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

 1. จุดประสงค์ (Purpose or Objective)

เป็น การอธิบายให้ทราบถึงจุดมุ่งหมายในการศึกษานั้นว่ามุ่งในเรื่องใดบ้าง และหากจำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาสำคัญหรือการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลการ ศึกษาวิจัยอย่างใกล้ชิด ก็อาจกล่าวไว้โดยย่อ

 2. วิธีการ (Methodology)

เป็นการอธิบายขั้นตอน เทคนิค อุปกรณ์ เครื่องมือ สารเคมีที่สำคัญในการศึกษาวิจัยนั้นโดยย่อ

 3. ผลและบทสรุป (Result and Conclusions)

เป็น การกล่าวถึงผลการค้นคว้าทดลอง โดยการเขียนอย่างกระทัดรัด และให้ความรู้ ความเข้าใจมากที่สุด หากมีข้อกำหนดใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อความเที่ยงตรงของผลการวิจัย จะต้องชี้แจงไว้ด้วยส่วนบทสรุป โดยอธิบายความสำคัญของผลการค้นคว้าที่ดี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้เบื้องต้น นอกจากนี้อาจมีข้อเสนอแนะ การประเมินผล และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่สำคัญด้วย

หมายเลขบันทึก: 400018เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท