Dhamma in English (1)


ความในใจ


จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองมาตลอด (อยู่ในวัดมาตั้งแต่เด็ก เลยไม่ค่อยมีผู้ให้คำแนะนำ) จึงรู้สึกเข้าใจและเห็นใจสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ  ผู้เขียนเคยทอดลองเรียนด้วยตัวเองหลายแบบ แบบหนึ่งที่คิดว่าง่ายและเป็นเร็วคือการเรียนจากสิ่งที่เรารู้ดีไปหาสิ่งยังไม่รู้ คือ เรียนภาษาอังกฤษจากการอ่านหนังสือธรรมะหรือฟังธรรมะที่บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีมากมายในโลกออนไลน์  หรือบางครั้งก็ฟังรายงานข่าวประจำวันเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งเวบไซต์หลายแห่งให้บริการเกี่ยวกับรายงานข่าวภาษาอังกฤษสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เช่น VOA, BBC  อย่างไรก็ตาม หัวเรื่องที่ผู้เขียนตั้งไว้ว่า "ธรรมะในภาษาอังกฤษ" (Dhamma in English) นั้น จะนำหัวข้อธรรมหรือศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาอธิบายให้เห็นว่าวงการพระพุทธศาสนาโลกภาษาอังกฤษนั้นเขานิยมใช้กันอย่างไร

 

"Buddhism"

    หัวข้อแรกที่อยากนำเสนอคือ คำว่า "Buddhism" แปลว่า พระพุทธศาสนา  เป็นคำที่ฝรั่งบัญญัติขึ้นเพื่อเรียกพระพุทธศาสนา โดยอาศัยรากศัพท์บาลีสันสกฤตว่า "Buddha" (พุทฺธ) ซึ่งแปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน มาผสมผสานตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ คือ ผสมกับคว่า "-ism" ซึ่งหมายถึง ลัทธิ, ทฤษฎี, แนวคิด, คำสอน, จึงสำเร็จรูปเป็นคำว่า "Buddhism" แปลว่า พระพุทธศาสนา, ศาสนาพุทธ, หรือ ศาสนาของพระพุทธเจ้า  นอกจากนั้น รากคำเดียวกันนี้ยังถูกนำไปผสมผสานให้ทำหน้าที่อื่นๆ ในประโยคอีกด้วย ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้

     -Buddha แปลว่า พระพุทธเจ้า

     -Buddhism แปลว่า พระพุทธศาสนา  

     -Buddhist แปลว่า ชาวพุทธ หรือพุทธศาสนิกชน  คำนี้ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำอื่น แปลว่า เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น Buddhist books แปลว่าหนังสือทางพระพุทธศาสนา Buddhist teachings คำสอนทางพระพุทธศาสนา Buddhist Philosophy พุทธปรัชญา Buddhist Psychology จิตวิทยาแนวพุทธ Buddhist Economics เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ  เป็นต้น

     -Buddhology แปลว่า พุทธวิทยา, ศาสตร์หรือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (เป็นเรื่องทางวิชาการ ปัจจุบันคำนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้แล้ว)

     -Buddhistic แปลว่า เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คำนี้มีความหมายคล้ายกับคำว่า "Buddhist" คือเป็นคุณศัพท์เหมือนกัน  แต่จะมีความหมายเชิงวิชาการหรือการศึกษามากกว่า (คำนี้ก็ไม่ค่อยนิยมใช้แล้ว นักวิชาการรุ่นเก่าบางท่านนิยมใช้คำนี้)

       จากที่ยกมาจะเห็นว่า ภาษาฝรั่งชาติตะวันตกก็คล้ายๆ กับภาษาของเรา  เมื่อมีคำแปลกใหม่ๆ เข้ามาและได้รับความนิยมในประเทศของตน  ก็มักจะใช้วิธีปรับแต่งคำนั้นให้เข้ากับวัฒนธรรมของตน หรือไม่ก็บัญญัติคำขึ้นใหม่ให้มีความหมายตรงกับคำที่เข้ามาใหม่นั้น  หรือบางที่ก็ใช้ทับศัพท์คำนั้นไปเลย เช่น คำว่า "Ajahn" (อาจารย์) ตอนนี้ฮิตติดปากฝรั่งไปเลย จนไปปรากฏอยู่หนังสือพจนานุกรมหลายเล่มของฝรั่ง คำนี้เกิดจากอิทธิพลของพระฝรั่งที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา ที่นำไปพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในโลกตะวันตก  เมื่อฝรั่งได้ยินคำว่า "อาจารย์" จะนึกถึงอาจารย์กรรมฐานสายพระป่า มากกว่าที่จะนึกถึงอาจารย์ในโรงเรียนเหมือนบ้านเรา  หรือคำว่า "guru" บ้านเรานิยมออกเสียงเพี้ยนตามฝรั่งว่า "กูรู" แท้จริงแล้วก็เป็นคำที่เราใช้กันในภาษาไทยมาหลายร้อยปีแล้ว นั่นก็คือว่า "ครู" นั่นเอง ซึ่งคำนี้มาจากคำบาลีว่า "ครุ" (ครู) หรือคำสันสกฤตว่า "คุรุ" (ครู) คำนี้ได้รับความนิยมในประเทศตะวันตกเกิดจากอิทธิพลของพระพุทธศาสนาแบบทิเบต เดิมทีนิยมใช้เรียกพระที่เป็นครูอาจารย์หรือปรมาจารย์ทางศาสนา ต่อมาฝรั่งเอาคำนี้ไปใช้ในวงการอื่นๆ หมายถึงผู้เชี่ยวชาญหรือเก่งด้านนั้นๆ เช่น Golf Guru ผู้เชี่ยวชาญด้านกอล์ฟ  หรือ Business Guru ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ เป็นต้น  อีกคำหนึ่งคือ "Mandala" (เป็นคำบาลีสันสกฤต  ออกเสียงว่า มัน-ดะ-ละ) เราก็ใช้กันมานมนานแล้วว่า "มณฑล" แปลว่าศูนย์กลาง (Center) หรือ "ปริมณฑล" แปลว่ารอบศูนย์กลาง ก็ยังออกเสียงตามฝรั่งอีกว่า "มันดาล่า" (ฝรั่งออกเสียงบาลีสันสกฤตตามสำเนียงของเขา)

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งที่คำเหล่านี้เราใช้กันมาก่อนฝรั่งตั้งนมนานหลายร้อยปีแล้ว  แต่พอฝรั่งนำไปใช้และออกเสียงแบบเพี้ยนๆ ตามสำเนียงฝรั่ง  เราก็ไปรับเอาเสียงเพี้ยนๆ นี้กลับเข้ามาอีก  เป็นอันว่า ตอนนี้เรามีคำเดียวกันแต่ออกเสียงสองแบบคือ ครู กับ กูรู และมณฑล กับ มันดาล่า  เฮ้อ! My Buddha! พระพุทธเจ้าช่วย!......พบกันใหม่ Goodbye

Yours in the Dhamma

อ่านต่อคลิก http://gotoknow.org/blog/budhamcu/399278

[post-59-1203958794.jpg]

 [post-59-1203958740.jpg]

 

หมายเลขบันทึก: 399190เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ดีมากครับผม

  • ดีจังเลยครับ
  • ไปมหาจุฬาฯตั้งหลายครั้งง
  • ทำไมไม่ได้พบท่านเลยครับ
  • มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ

เจริญพร โยมขจิต ฝอยทอง

อาตมาตอนนี้ทำงานอยู่ที่มหาจุฬาฯ ท่าพระจันทร์ ชั้น ๓ ห้อง ๓๐๔ ถ้ามาที่นี้ก็อย่าลืมแวะได้นะ

เจริญพร

พระมหาประยูร โชติวโร

ท่านอาจารย์น่าจะพิมพ์เป็นหนังสือ และจำหน่ายรู้สึกว่าน่าสนใจดีครับผม

ขอบคุณมากครับอาจารย์เลขาฯ สันติ สำหรับคำแนะนำ ช่วยเข้ามาบ่อยๆ นะตรับ สถิติจะได้มากๆ (คนกันเอง)

ดีครับพระอาจารย์มหา..ศํพท์ธรรมะภาษาอังกฤษ สำหรับเด็ก ป.1-6 บ้างนะครับ

  • นมัสการท่าน
  • มหาจุฬาฯ ท่าพระจันทร์ ชั้น ๓ ห้อง ๓๐๔
  • นะครับ
  • ขอบคุณครับ

นมัสการเจ้าค่ะ

มาอ่านบทความย้อนหลัง

Oh , My Buddha

ฝรั่งตามหลังเราตั้งหลายเรื่อง

....................................

ขออนุญาตเสนอความคิดเจ้าค่ะ เรื่องการใส่คำสำคัญ มีคำค้นหรือคำสำคัญในกูเกิลที่ผู้ใช้อินเตอร์เนทในปัจจุบันนิยมพิมพ์เวลาค้นหาเรื่องราวในพุทธศาสนา เช่น การนับถือศาสนาพุทธ, การนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย, การเผยแพร่พระพุทธศาสนา, การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย,พุทธศาสนา เป็นต้น

หากพระคุณเจ้ามีคำเหล่านั้นในเนื้อเรื่อง หรือใส่คำเหล่านั้นในคำสำคัญโดยตรง เรื่องที่บันทึกก็มีโอกาสเผยแพร่สู่สาธารณะได้กว้างขวางขึ้นเจ้าค่ะ

อ่านที่พระคุณเจ้าเขียนแล้ว ทั้งได้ความรู้ ทั้งสนุก เจ้าค่ะ เชื่อว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก G2K ที่สนใจพุทธศาสนาเมื่อได้อ่านก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน

นมัสการลา

เจริญพรขอบคุณมากคุณโยมณัฐรดา นับว่าเป็นคำแนะนำมี่มีประโยชน์มาก อาตมาพยายามแทรกคำสำคัญที่เห็นว่ามีประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตอนนี้โลกพระพุทธศาสนากว้างไกลกว่าที่คิดมาก เมื่อก่อนเรามีข้อมูลพระพุทธศาสนาเฉพาะในภาษาไทย เราก็รู้จักผู้รู้ไม่กี่ท่านเท่าที่เขียนเป็นภาษาไทย ตอนนี้อาตมาคิดว่าปราชญ์ทางพระพุทธศาสนากระจายอยู่ทั่วโลก พรมแดนแห่งการเรียนรู้ขอบเราขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เราได้สัมผัสกับปราชญ์ชาวพุทธตะวันตกและตะวันออกมากมาย เราได้รู้ว่าท่านอธิบายและตีความคำสอนต่างๆ อย่างไร เหมือนกับที่เราคิดและเชื่อหรือไม่

อนุโมทนา

มาเข้าห้องเรียนภาษาอังกฤษ ค่ะ พระอาจารย์

เมื่อวาน(วันเสาร์) ก็ไปรอเรียนภาษาอ. คิดว่าอาจารย์มีมี้ ท่านจะมาสอน

ท่านคงติดธุระ นะคะ

อาจารย์มีมี้ น่ารักมากๆ ค่ะ

กราบพระอาจารย์ค่ะ

ชยาภรณ์(อ้วน)

เอาคุรุของธิเบตมาแต่งเติมค่ะ ด้วยความที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ

คุรุ ซึ่งก็คือครูในภาษาไทย คำนี้มีความหมายยิ่งใหญ่มหาศาล ดังคำพูดที่ว่าพ่อ แม่เป็นครูคนแรก เป็นการนำพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่เข้าเปรียบเทียบกับพระคุณของครู

แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงคำว่าครูหรือคุรุในโลกแห่งธรรม ความสุขอันไม่มีข้อแม้คือสุดยอดปรารถนาของสรรพสัตว์ในโลก ดังนั้นผู้ที่สอน ผู้ที่ส่งเสริม กระตุ้นเตือน โดยไม่หวังในสิ่งตอบแทนและไม่ลำเอียงเพื่อให้สรรพสัตว์เข้าสู่ความสุข จึงเป็นมหาคุรุอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าก็คือคุรุผู้นั้น คุรุพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่าบิดา มารดา แม้พระคุณของบิดามารดาจะยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนิดเรามา แต่ทุกสรรพสิ่งก็เกิดขึ้นตามตามแรงกรรมสัมพันธ์ ความสุขจากการมีทรัพย์สินมากมายที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ ไม่ได้ทำให้เราได้รับความสุขอันสมบูรณ์ ความสุขจากความรู้ความสามารถที่พ่อแม่ส่งเสริมให้เราร่ำเรียนมา ก็ไม่ได้ทำให้เราได้รับความสุขอันสมบูรณ์ และก็มีบุคคลจำนวนมากที่สิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งความหยิ่ง ยโส ทะนงตน ซึ่งเป็นต้นเหตุอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของทุกข์ มีพ่อแม่จำนวนน้อยมากที่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและเป็นทั้งคุรุที่บรรลุรู้ แจ้ง เป็นครูคนแรกที่สั่งสอนนำพาเราเข้าสู่ความสุขอันสมบูรณ์ ดังนั้นคุรุผู้เป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและคุรุนำสู่การรู้แจ้งเห็นจริงจึงเป็น สุดยอด ในสุดยอดแห่งคุรุ(ดังเช่นพระศายมุนีพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ราหุล และในทิเบตก็มี)

ในพุทธวัชรยานคุรุมี ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง สรณะในวัชรยานถือจตุรสรณะ คุรุ พุทธ ธรรม สังฆะ คุรุมาอันดับหนึ่ง มิใช่ชาวพุทธวัชรยานจะไม่ให้ความสำคัญแก่พระพุทธเจ้า ท่านยังคงเป็นมหาคุรุอยู่ แต่ท่านได้จากเราไปนานมากแล้ว แม้ท่านจะมอบคำสอนอันสุดยอดไว้ให้กับมวลมนุษย์โลก แต่ถ้าไม่มีผู้นำส่งต่อมาถึงตัวเรา เราก็คงไม่ได้รับคำสอนนั้น อีกทั้งคำสอนอันสูงส่งนั้นมิใช่ง่ายที่ผู้ได้รับจะเข้าใจ รู้ซึ้งจนได้รับประโยชน์จากมันอย่างสมบูรณ์ คุรุแต่ละลำดับได้ใช้ความมานะ อดทน พยายามหาหนทางให้สิ่งสุดแสนยากให้ง่ายขึ้นเพื่อมอบต่อให้แก่คนรุ่นหลังต่อๆ มา คุรุในพุทธวัชรยานจึงมีความหมายที่สำคัญสูงสุด ท่านเป็นทั้งตัวเชื่อมและเป็นทั้งตัวแทนในปัจจุบันแก่ศิษย์กับพระรัตนตรัย ในพุทธวัชรยานมีศีลสำคัญข้อหนึ่งคือศีลซามายา คุรุคือผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งศิษย์ที่จะล่วงละเมิดและสงสัยไม่ได้ ศิษย์จะไม่มีทางบรรลุความสำเร็จใดๆได้เลยถ้าล่วงละเมิดหรือสงสัยในคุรุ(การ รับศิษย์และการยอมรับให้เป็นคุรุเป็นเรื่องสำคัญมากในทิเบต คุรุและศิษย์ต้องใช้เวลาในการเฝ้าดู ศึกษากันและกันก่อนยอมรับอย่างน้อย5ปีขึ้นไป)การปฏิบัติตันตระในทุกสาย การปฏิบัติซกเชนห้าขั้นตอน ขั้นตอนแรกก็คือการปฏิบัติคุรุโยคะ ซึ่งก็คือการรวมจิตเป็นหนึ่งเดียวกับคุรุ ด้วยเหตุดังนี้คุรุจึงมีความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติวัชรยาน

ที่มา....ลืมไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ ไม่ได้เขียนเอง

แต่งเติมบล็กให้เป็นสหวิทยาการไปเลย แหะๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท