การประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ
ความคิดในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทั่วไปอาจจะย้อนหลังไปได้ถึง อดัม สมิธ (Adam Smith, 1723-1790) ที่กล่าวถึงความมั่งคั่งของประเทศ (Wealth of Nation) ว่ามาจากการแบ่งงาน ทำให้เกิดความชำนาญเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแต่ละหน่วยการผลิต และเพื่อที่จะช่วยให้ทุกคนได้รับสินค้าบริการเพื่อการบริโภคอย่างเป็นธรรมและมีปริมาณโดยรวมเพิ่มมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือการแลกเปลี่ยนผ่านระบบตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แต่วิชาพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาของประเทศในยุคปี 1950 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ถูกเรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ เป็นยุทธศาสตร์ของสงครามเย็นระหว่างฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่มีแนวเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นนำโดยสหภาพ โซเวียดที่ถือว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น โดยทฤษฎีคือ การสะสมทุนโดยผ่านการขูดรีดแรงงานส่วนเกินจนเกิดปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม ทางแก้ที่ต้นเหตุจึงจำเป็นต้องทำลายระบบทุนนิยมให้ราบคาบ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของประเทศฝ่ายเสรีนิยมและใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจำเป็นต้องหาสมัครพรรคพวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เรียกว่าด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความเสี่ยงต่อการยอมรับคำอธิบายปัญหาการด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแบบของลัทธิคอมมิวนิสต์ ให้หันมาพัฒนาตามแนวทางของลัทธิทุนนิยมในฐานะที่เป็นเครื่องมือป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบกับการฟื้นตัวของประเทศยุโรปภายหลังถูกทำลายในสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการอัดฉีดทุนเป็นจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่าวิธีการดังกล่าวน่าจะนำไปใช้ได้กับประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาได้ด้วย จึงเกิดการเสนอเป็นทฤษฎีพัฒนาเศรษฐกิจที่อธิบายว่าประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนเงินออมซึ่งนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนทุน ถ้าหากประเทศเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนในด้านทุนและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตอย่างดีพอ ประเทศก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ในความหมายที่ว่าประเทศจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูง ซึ่งถึงแม้ในระยะแรกผลพวงจากการพัฒนาดังกล่าวจะตกอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศที่เป็นเจ้าของวิสาหกิจขนาดใหญ่และนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในที่สุดแล้วผลพวงจากการพัฒนาดังกล่าวอาจจะเปรียบได้เหมือนน้ำที่จะไหลซึมไปสู่ชนชั้นล่างในที่สุด ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโดยถ้วนหน้า ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่รับเอาความคิดเช่นนี้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศและได้มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1961 พร้อมกับได้มีแนวทางที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างชัดเจนก่อนหน้านั้นแล้ว แต่หลังจากการพัฒนาในลักษณะ ดังกล่าวผ่านไป 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงกลางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปกติจะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชินีออกเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท ที่ห่างไกลอยู่เป็นประจำ ได้สังเกตว่าถึงแม้ประเทศจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเห็นได้ชัดจากการที่เมืองอย่างเช่นกรุงเทพมหานครมีความเจริญทางวัตถุเพิ่มมากขึ้น มีความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทกลับเพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าคนในชนบทส่วนหนึ่งจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเพิ่มขึ้น แต่ช่องว่างทางเศรษฐกิจในระหว่างคนในชนบทด้วยกันเองก็กลับเพิ่มมากขึ้น ทฤษฎีพัฒนาเศรษฐกิจที่อธิบายว่าในที่สุดผลจากการพัฒนาจะไหลลงไปสู่ชนชั้นล่างหรือประชาการในชนบทในที่สุด เป็นภาพที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในขณะนั้นหรืออาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ภาพที่ปรากฏเป็นจริงก็คือเมื่อถนนหนทางหรือความเจริญในรูปแบบอื่นแผ่ขยายไปถึงที่ใด ข้าราชการระดับสูงและนายทุนจากในเมืองก็เข้าไปมีอิทธิพลครอบครองพื้นที่แหล่านั้น ส่วนผู้ที่ยากจนก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ บุกเบิกเพื่อหาพื้นที่ทำกินใหม่ในบริเวณป่าที่มิได้มีใครจับจองแสดงเป็นเจ้าของ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในเมือง ความล่มสลายของครอบครัวในชนบทเริ่มปรากฏเป็นภาพที่เด่นชัดมากขึ้น ทรัพยากรป่าไม้ซึ่งมีผลเชื่อมโยงไปถึงทรัพยากรดินและน้ำมีคุณภาพลดลงอย่างรวดเร็ว ลักษณะดังกล่าว คือ ที่มาของเศรษฐกิจพอเพียงในปี 1974 ในฐานะที่เป็นวาทะกรรมต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางทุนนิยมที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง โดยมิได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดตามมาอย่างรอบด้าน ดังปรากฏในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1974 ที่ได้อ้างไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การพัฒนาประเทศจะต้องทำตามลำดับขั้นตอนเพื่อความพอกินพอใช้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศก่อน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่ควรจะเน้นการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงเสียก่อน หรือถ้าอธิบายเป็นภาษาวิชาการของการพัฒนาเศรษฐกิจก็จะต้องอธิบายว่า ควรจะให้การกระจายรายได้นำการพัฒนาไม่ใช่ใช้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยนำการพัฒนา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงมีสถานภาพเป็นวาทกรรมที่ต่อต้านการพัฒนากระแสหลักมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้ยังได้ทรงพระราชทานเพิ่มเติมแก่ผู้ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 1974 มีข้อความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า “คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย จะว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่อย่างพอมีพอกิน ขอให้ทุกคนปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองสุดยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้เราก็จะยอดยิ่งยวดได้” ประสบการณ์การพัฒนาของไทยกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าแนวทางการพัฒนาดังกล่าวไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลไทยในยุคนั้น พระราชดำรัสดังกล่าวจึงมิได้มีโอกาสแทรกเข้าไปในแนวทางพัฒนากระแสหลัก จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจสองครั้ง ครั้งแรกระหว่างปี 1980-1985 อันเป็นผลจากการที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันอย่างรวดเร็วเป็นครั้งที่สอง ประกอบกับภาวะความไม่สงบภายในประเทศที่เกือบจะปะทุเป็นสงครามกลางเมืองก่อนหน้านั้น และวิกฤติครั้งที่สองตั้งแต่ปี 1997-2002 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทดลองปฏิบัติในโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ และโครงการตามกระแสพระราชดำริที่พระองค์มีโอกาสดูแลอย่างใกล้ชิดจนเป็นผลที่ปฏิบัติได้จริง ประเด็นที่ควรจะพิจารณาในเชิงทฤษฎีก็คือถ้าหากรัฐบาลไทยได้ประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นแนวทางส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยจะพัฒนามาถึงจุดที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปเมื่อปลายแผนที่ 7 (1996) ว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” หรือไม่ เห็นได้ชัดเจนว่าการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องเป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในคำอธิบายในบทความแรกในส่วนของทฤษฎีใหม่ ก็คือได้แบ่งขั้นตอนการพัฒนาเป็นสามขั้น (นั่นก็คือสามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่) โดยขั้นตอนแรกจะต้องเน้นความสามารถในการพึ่งตัวเองให้ได้เป็นหลักก่อน ความหมายของการพึ่งตนเองนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องทำอะไรเองทั้งหมด แต่พยายามผลิตเพื่อการพึ่งตนเองส่วนหนึ่ง ซึ่งเคยพระราชทานไว้ว่าประมาณหนึ่งในสี่ของกิจกรรมทั้งหมดก็น่าจะเป็นพื้นฐานที่สร้างความมั่นคงทั้งหมดได้ ทั้งยังทรงมีความเห็นว่าการพึ่งตนเองทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นไปไม่ได้ แต่การพึ่งตลาดทั้งหมดหรือที่ทรงเรียกว่า (Trade Economy) ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้ผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจทั้งสองครั้งที่ผ่านมา คือ ครั้งแรกระหว่างปี 1980-1985 เป็นตัวอย่างที่ประเทศเน้นการพึ่งการส่งออกสินค้าการเกษตรเป็นหลัก เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีสูงขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไม่เพิ่มขึ้น มีผลให้การส่งออกมีปัญหาทำให้ประเทศมีปัญหาเช่นกัน ส่วนวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่สอง (1997-2002) นั้น ประเทศได้หันไปพึ่งสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นและเมื่อต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ก็ทำให้การส่งออกมีปัญหาอย่างชัดเจนในตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา พระองค์มิได้ทรงห้ามไม่ให้มีการค้าขาย แต่ควรจะให้การค้าขายส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในระดับอำเภอ ซึ่งใช้พลังงานเพื่อการขนส่งไม่มากนัก ซึ่งก็คือการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง และถ้าหากเข้มแข็งสามารถยืนอยู่บนขาตนเองได้หมายความว่าประเทศสามารถผลิตสินค้าและบริการที่สามารถสนองความจำเป็นเบื้องต้นของทุกคนภายในประเทศได้ ถ้าจะคิดไปค้าขายแข่งขันกับต่างประเทศก็ยอมทำได้อะไรถึงแม้จะประสบปัญหาที่ขายไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศก็ไม่มีผลกระทบมากนักเพราะทุกคนอยู่ได้อย่างพอมีพอกินแล้ว แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจพอเพียงก็มิได้หมายถึงการลงทุนขนาดเล็กเท่านั้น การลงทุนในกิจการขนาดใหญ่อย่างเช่น กรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาต้นทุนทางสังคมและประโยชน์ที่สังคมจะได้รับเป็นสำคัญ ทรงชี้ให้เห็นว่าก่อนมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงตอนเหนือของกรุงเทพฯ จะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี เกิดความเสียหายนับเป็นมูลค่าหลายพันล้านทุกปี แต่เมื่อมีเขื่อนแล้วบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนก็สามารถที่จะมีระบบชลประทานที่ดีกว่าเดิม มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างถาวร ผลประโยชน์เกิดจึงขึ้นกับส่วนรวมอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับต้นทุนทางสังคมทั้งหมด จึงอาจจะกล่าวได้ว่าถึงแม้จะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่แต่ถ้าหากใช้เทคโนโลยีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกมากนัก และมีผลประโยชน์ต่อสังคมสูงก็ถือได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้าได้ ดังนั้นจากข้อเสนอของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาตามลำดับขั้น ประกอบกับการลงทุนที่จะต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนต่อสังคมเป็นหลัก โดยใช้หลักทางสายกลางและความรู้คู่คุณธรรมตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นได้ว่าถ้าหากรัฐบาลใดเข้าใจการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วนำไปประยุกต์ใช้อย่างน้อยในชนบท เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในภาคชนบท สงครามประชาชนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นแกนนำแล้วเกิดทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 1976 เป็นต้นมา จนกลายเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1982 จึงได้เริ่มสงบลง นับเป็นความสูญเสียแก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง จะเห็นได้ว่าความรุนแรงดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมระหว่างชนบทกับเมืองเป็นหลัก ถ้าหากช่องว่างดังกล่าวถูกทำให้แคบลงด้วยการพัฒนาชนบทตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ความสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าวจะไม่รุนแรงมากนักสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในกรณีที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาในภายหลังทำให้ความขัดแย้งที่ผ่านมาลดลงได้มาก ในขณะเดียวกันถึงแม้วิกฤติเศรษฐกิจระหว่างมี 1980-1985 จะเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับขณะนั้นชนบทก็ยังมีทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า อยู่พอสมควร ปัญหาในขณะนั้นจึงมีเพียงประการเดียวคือการกระจายผลผลิตที่มีความเป็นธรรมและทั่วถึงและถ้าหากเป็นเช่นนั้นความเสียหายก็ยิ่งจะลดลง ส่วนวิกฤติการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ตั้งแต่ปี 1997-2002 เป็นวิกฤติที่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้อย่างชัดเจนโดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา และได้เตือนอย่างตรงประเด็นที่สุดในปี 1996 ที่ให้ระวังถึงความโลภแต่ก็สายเกินไป ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดว่าศัตรูของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือความโลภที่มีพื้นฐานอยู่ในจิตใจของมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงพอ โดยที่ความโลภดังกล่าวถูกกระตุ้นให้คุโชนอยู่ตลอดเวลาด้วยตรรกะของลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยม และบริโภคนิยม ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ในระดับจิตที่มิได้รับการพัฒนาให้สูงพอ ด้วยเหตุนี้การต่อสู้ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจในสองแนวทางก็ยังคงดำเนินต่อไป โอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจพอเพียงมีโอกาสเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนากระแสหลักหรืออย่างน้อยก็เป็นกระแสที่เท่าเทียมกันกับการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยม จึงอยู่ที่เงื่อนไขที่ว่าคนไทยจะซึมซับบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในช่วงต่างๆ อย่างไร และมีกระบวนการเรียนรู้ที่จะสามารถยกระดับการพัฒนาจิตของคนไทยได้อย่างไร เนื่องในวโรกาสการเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 60 พรรษาในปีนี้ ถือได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ครองราชย์ยาวนานที่สุดเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นพลังตรงกันข้ามกับกระแสการเมืองประชานิยมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาทุกชนิดจนมีคนจำนวนมากเกิดอาการเสพติด ในขณะที่มีผู้คนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเห็นพิษภัยของการเมืองและเศรษฐกิจแนวประชานิยม อันเป็นผลที่เกิดตามมาของลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยมและบริโภคนิยม จึงมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2006 โอกาสที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเป็นทิศทางสำคัญส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรกแก่สาธารณชนในปี 1974 นับได้ว่าเป็นเวลาทั้งหมด 32 ปี นับเป็นการต่อสู้เพื่อพัฒนาความคิด ปัญญาและการพัฒนาจิตในที่สุด ที่ค่อนข้างยาวนาน ความจนกับสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข มักจะมีคำถามจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอยู่เสมอว่าในเมื่อเศรษฐกิจพอเพียงเน้นความพอเพียงเป็นสำคัญ ในขณะที่ทุนนิยมเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้เป็นสำคัญ จึงเป็นที่น่าสังสัยว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริงหรือ? คำถามเช่นนี้ควรจะได้รับการตั้งประเด็นกลับไปว่า ถ้าการพัฒนาแนวทุนนิยมสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ในเมื่อประเทศไทยได้พัฒนามาในแนวนี้เป็นเวลา 45 ปีแล้ว ที่ช่วยให้รายได้ของประชาชนโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นจนทำให้เข้าใจว่าความจนได้ลดลงไปแล้ว แต่ปัญหาสังคมที่เป็นภาพสะท้อนของความยากจนอีกประเภทหนึ่งกลับเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในแนวทางทุนนิยม ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นตำหรับของการพัฒนาในแนวทางนี้ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาในแนวทางทุนนิยมดังกล่าวมายาวนานกว่าประเทศไทยมาก อีกทั้งยังมีอำนาจเศรษฐกิจการเมืองและการทหารเต็มอัตรา ก็ยังมีปัญหาเช่นเดียวกัน ในการพิจารณาปัญหานี้ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของความยากจนให้ตรงกัน มิฉะนั้นอาจจะไม่สามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับคำว่าความสุขในพุทธธรรม ที่มีความหมายแตกต่างจากความพึงพอใจเกือบคนละขั้ว ในขณะที่ความสุขในพุทธธรรมคือสภาวะที่ความทุกข์ลดลง แต่ความพึงพอใจนั้นคือการกระตุ้นกิเลส ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องเริ่มจากความเข้าใจความหมายของคำว่า “ความจน” ให้ตรงกันเสียก่อน ความยากจนนั้น โดยทั่วไปหมายถึง ภาวะความทุกข์ยาก แร้นแค้น การมีชีวิตยู่ด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นปัจจัยประกอบสำคัญในการดำรงชีพ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่ยู่อาศัย และยารักษาโรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยากจนจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงจะพยายามหลีกเลี่ยง ถ้ากล่าวแต่เพียงเท่านี้ เชื่อว่า ทุกคนคงจะมีความเห็นร่วมกันว่าความยากจนเกิดขึ้นที่ไหน ควรที่จะหาทางระงับให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว เพื่อที่การดำรงชีวิตของมนุษย์จะได้ปราศจากซึ่งความทุกข์ ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ถ้าจะแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้ผล จะต้องทราบว่าอะไรคือสาเหตุของความยากจน นักเศรษฐศาสตร์มักจะอธิบายว่าความยากจน มีสาเหตุจากการที่คนไม่มีเงินหรือไม่มีรายได้พอเพียง ถ้าจะให้พ้นจากความจนก็จำเป็นต้องทำให้คนเหล่านั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาทั้งหมดก็จะสามารถแก้ไขได้ แต่ปัญหามิได้หมดไปเพียงเท่านั้น เพราะมีคำถามต่อไปอีกว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่มีเงินหรือไม่มีรายได้ และจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งก็จะได้รับคำตอบในเชิงตรรกะแบบตรงไปตรงมาว่าการที่คนมีรายได้น้อยก็เพราะมีผลิตภาพหรือ productivity ต่ำ ถ้าจะให้มีรายได้สูงก็จะต้องเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น สาเหตุของการมีผลิตภาพต่ำนั้น เกิดจากคนไม่มีการศึกษามากพอ ดังนั้น ถ้าจะให้ผลิตภาพสูงขึ้นก็จะต้องให้การศึกษามากขึ้น คำอธิบายดังกล่าวทำให้สามารถโน้มน้าวในทางยอมรับได้ง่ายแต่ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผลอย่างแท้จริงอาจมีประเด็นที่จะต้องพิจารณามากกว่าข้อเสนอเชิงตรรกะเช่นนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการศึกษาเองก็มีต้นทุนที่สูง ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัดการศึกษานั้นๆ อีกทั้งยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าการศึกษาในรูปแบบใดจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายเพิ่มเติมโดยนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่นกันว่า แท้ที่จริงแล้วความยากจนมิได้มีประเภทเดียว แต่มีสองประเภท คือ ความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) หรือการขาดแคลนปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กับความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty) คือ ความยากจนโดยเปรียบเทียบ นั่นก็คือ ความจริงแล้วทุกคนมีปัจจัยสี่เพียงพอที่จะประคองชีวิตให้อยู่ได้ แต่เนื่องจากมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างผู้ที่มีมากกว่า เมื่อเทียบกับ ผู้ที่ยากจนเหล่านั้น จึงมีความพยายามที่คนจนจะต้องตะเกียกตะกายให้มีรายได้และทรัพย์สินเงินทองเพิ่มมากขึ้นบ้าง แต่ปัญหาก็คือคนที่มีมากอยู่แล้วมิได้หยุดยั้งความมั่งมีของตนแต่เพียงเท่านั้น เพราะความมั่งมีสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจได้ และอำนาจก็สามารถเปลี่ยนแปลงมาเป็นเงินให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้ที่มีอยู่แล้วจึงแสวงหาเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดเป็นกระบวนการไล่กวด (catching up) ที่ไม่มีวันจะจบสิ้น ยิ่งมีการไล่กวดกันมากขึ้น โดยผู้ที่มีมากแล้วยิ่งไขว่คว้าหาเพิ่มมากขึ้น คนที่มีไม่พอก็จะพยายามที่จะไขว่คว้าหาเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้ไม่ถูกทิ้งห่างมากนัก ผู้แพ้ในที่สุดของกระบวนการไล่กวดเช่นนั้นก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากการรุกรานของมนุษย์ เพื่อที่จะเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเงินหรือรายได้ คำอธิบายในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการนำปัญหาความยากจนมาเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยความยากจนที่สำคัญมากในที่นี้ก็คือความยากจนสัมพัทธ์และความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายในอัตราเร่งขึ้นด้วย ยังมีคำอธิบายความยากจนในความหมายอื่นๆ อีกเช่น มีการอธิบายว่า ความยากจน คือ ความขาดแคลน(deprivation) หรือการเข้าไม่ถึง (inaccessibility) บริการและสินค้าที่จำเป็นทั้งๆ ที่อาจจะมีเงินก็ได้ แต่หากเป็นเพราะ เพศ เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ หรือ ความห่างไกล จากสินค้าและบริการ หรือเป็นเพราะขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม หรือถูกกีดกันทางกฎหมาย เช่นกลุ่มบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกระบุว่าเป็นป่าอนุรักษ์ หรือเป็นผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น ขณะเดียวกันถ้าถามคำถามกับชาวชนบทที่ดำรงชีพจากฐานทรัพยากรธรรมชิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งถ้าพิจารณาจากมาตรฐานของบุคคลภายนอกอาจจะตัดสินว่าพวกเขามีชีวิตอยู่อย่างยากจน แต่คำตอบที่ได้รับจากบุคคลเหล่านี้มักจะสะท้อนว่าตราบใดที่พวกเขามีความมั่นคงในฐานทรัพยากรพวกเขาจะไม่ยากจน คำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายที่น่าสนใจยิ่งและคงไม่จำกัดเฉพาะ ชาวชนบท คนจนในเมืองก็อาจจะมีคำตอบที่คล้ายกันนี้ ถึงแม้จะมีคำตอบที่ต่างจากนี้ แต่ความหมายเหมือนกันก็คือ ถ้าหากเขาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ (หรือมีความมั่นคงในฐานทรัพยากรในรูปแบบของปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ) เขาก็จะไม่ยากจน ลักษณะเช่นนี้ สื่อความหมายต่อไปถึงคำที่มีความหมายสำคัญสองคำ นั่นคือความมั่นคงและฐานทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เพราะถ้าหากมนุษย์มีความเข้าใจพื้นฐานของการมีชีวิต คือ การแสวงหาความสุขที่ไม่จำเป็นจะต้องได้มาจากการบริโภคเสมอไป การมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตซึ่งส่วนที่สำคัญมาจากความมั่นคงในการใช้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืนหรือเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ก็ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาวัตถุและบริการเพื่อการบริโภคจนเกินความจำเป็น ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าไม่ยากจนพร้อมกันด้วย เมื่อไม่ยากจนก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหามากจนเกินขอบเขต และเมื่อไม่จำเป็นต้อง แสวงหามากจนเกินขอบเขต การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีความจำเป็น มากนัก ดังนั้นผู้ที่มีความมั่นคงในทุกด้านอาจจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและอดออม (frugality) และไม่จำเป็นต้องห่วงว่าตนเองจะไม่มีอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องรีบสะสมโดยทำลายทรัพยากร เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องรบกวนธรรมชาติมากเกินไป คนภายนอกที่เน้นวัตถุ อาจจะเห็นว่าคนเหล่านี้น่าสงสารหรือยากจน แต่เขาเองไม่รู้สึกว่าเขายากจนเพราะเขามีความมั่นคงในชีวิต ประเด็นนี้เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาให้แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอย่างอดออมมิใช่ ผู้ที่ยากจนเสมอไป ดังนั้นการเอารายได้มาเป็นเครื่องมือวัดความยากจนทำให้พลาดได้ง่าย ความยากจนในความหมายที่แท้จริงก็คือความไม่มั่นคงด้านต่างๆ ในชีวิต เป็นต้นว่า ความไม่มั่นคงในฐานทรัพยากร ความไม่มั่นคงอันเกิดจากการมีปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งถ้าหากให้คำนิยามของความยากจนในลักษณะนี้ ผู้ที่มีฐานะทางการเงินและผู้มีรายได้สูงถ้าหากไม่มีความมั่นคงทางจิตใจก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ยากจน โดยนัยดังกล่าวเมื่อความยากจนคือความไม่มั่นคง จึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าความทุกข์หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า pain ในความหมายที่กว้างที่ครอบคลุมความหมายความไม่มั่นคงทางจิตใจ ส่วนสาเหตุของความไม่มั่นคงในฐานทรัพยากรหรือความไม่มั่นคงเนื่องจากเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่ไม่มี คุณภาพ หรือความไม่มั่นคงทางจิตใจ ล้วนแต่มีสาเหตุที่จะนำมาอภิปรายได้มากมาย ส่วนใหญ่อาจจะเกิดจากการเข้าไม่ถึงโอกาสที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาตนเองได้ อีกส่วนหนึ่งอาจจะถูกปิดกั้นโดยกฏหมายตลอดจนสภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ดำรงอยู่ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ ปัญหาของความยากจนนั้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางปัญญาของแต่ละบุคคลกับโครงสร้างที่ครอบงำบุคคลเหล่านั้น สำหรับผู้ที่มีสติปัญญาดีถึงแม้จะถูกครอบงำด้วยโครงสร้างอันเป็นอุปสรรคที่แข็งแกร่ง ก็อาจจะฝ่าฟันปัญหาดังกล่าวได้ด้วยความรู้ความสามารถของตนเอง แต่ถ้าถึงแม้จะมีสติปัญญาในระดับหนึ่งแต่ถ้าโครงสร้างมีความแข็งแกร่งมากก็ยากที่จะฝ่าฟันไปได้ เช่นกรณีของอินเดียที่ทำให้ชนชั้นทางสังคมกลายเป็นสถาบันทางสังคมผู้ที่อยู่ในวรรณะต่ำเช่น ศูทร และจัณฑาร ถึงแม้จะมีสติปัญญาค่อนข้างสูงก็ยากที่จะฝ่าฟันกำแพงสถาบันของชนชั้นทางสังคมได้ แต่สำหรับผู้ที่ด้อยสติปัญญาถึงแม้โครงสร้างจะไม่ได้เป็นอุปสรรคที่สำคัญก็ไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถส่วนบุคคลกับโครงสร้างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะที่เป็นพลวัตร จึงเป็นการยากที่จะชี้ให้ชัดในลักษณะที่เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปว่าปัญหาความยากจนของแต่ละคนนั้นอยู่ที่ใด ซึ่งทางแก้ที่จะให้ได้ผลโดยตรงจะต้องเป็นกรณีเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้นเพื่อที่จะให้ได้เป็นข้อเสนอที่สามารถประยุกต์ใช้ในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องพิจารณาเฉพาะในกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการมีปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ โดยมีข้อสมมติฐานเพิ่มเติมว่าผู้ที่มีปัญหามีสติปัญญาในระดับปานกลาง อีกทั้งโครงสร้างก็มิได้เป็นปัญหาสำคัญมากนัก ลักษณะเช่นนี้จึงสามารถที่จะจัดทำข้อเสนอที่เป็นการทั่วไปได้ ปัญหาความยากจนกับเศรษฐกิจกระแสหลัก วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจกันในความหมายของคนทั่วไปก็คือวิชาที่ว่าด้วยการผลิตที่เน้นประสิทธิภาพในการผลิตที่จะมีผลต่อการเพิ่มรายได้ทั้งที่เป็นรายได้ของปัจเจกบุคคล และรายได้ประชาชาติหรือรายได้โดยรวมของประเทศ ในเมื่ออธิบายว่าปัญหาความยากจนเป็นปัญหาของผู้ที่มีรายได้น้อยมีผลิตภาพต่ำ จึงทำให้เกิดมีความเข้าใจโดยทั่วไปว่าวิชาเศรษฐศาสตร์น่าที่จะเป็นวิชาที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการพัฒนาในแนวทางทุนนิยม ถึงแม้จะมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงมากอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมส่งเสริมความโลภและกระตุ้นความโลภให้ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญนั้นเกิดจากปัญหาความยากจนส่วนใหญ่ที่ยังคงดำรงอยู่ในโลกนี้ในเกือบทุกประเทศมิใช่เป็นความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ทั้งนี้เนื่องจากความยากจนสัมบูรณ์สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มรายได้และความสามารถในการผลิต แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นเป็นปัญหาความยากจนสัมพัทธ์ (relative poverty) อันเกิดจากช่องว่างระหว่างผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่เหนือกว่า กับผู้ที่ด้อยอำนาจเหล่านั้นหรืออาจจะเรียกว่า ผู้ที่ยากจนกว่า เนื่องจากในกระบวนการพัฒนาที่มีความโลภเป็นแก่นกลางนั้น ผู้ที่มีความได้เปรียบอยู่แล้วก็จะมีส่วนกำหนดโครงสร้างที่รักษาความได้เปรียบของฝ่ายตนให้ยังคงดำรงอยู่ สร้างความเสียเปรียบให้กับผู้ที่อ่อนด้อยโอกาสมากกว่า แต่ขณะเดียวกันวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันมากในทางวัตถุ ทำให้ผู้ที่ยากจนหรือด้อยโอกาสมีจินตนาการว่าถ้าหากตนเองมีโอกาสเช่นว่านั้นก็จะทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้นได้ด้วย จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์การไล่กวด (catching up) อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่เนื่องจากความแตกต่างในอำนาจทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้ยิ่งไล่กวดก็ยิ่งถูกทิ้งห่าง หรือเกิดช่องว่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความยากจนสัมพัทธ์ยังคงดำรงอยู่ แต่ในกระบวนการที่พยายามทิ้งห่างและไล่กวดดังกล่าว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้ในอัตราที่เร่งรีบมากขึ้น ดังนั้นผู้แพ้อย่างแท้จริงในที่สุดจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่โลกทั้งโลกต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันจากโครงสร้างที่สร้างความเสียเปรียบอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนสัมพัทธ์ได้แล้ว ในบางกรณีอาจจะสร้างกลุ่มผู้ยากจนสัมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเ
หมายเลขบันทึก: 39731เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  สวัสดีปีใหม่ 2551 ค่ะอาจารย์ ชออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยดลบันดาลให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดปีและตลอดไปนะคะ

Dear Samniang,

 

Happy new year to you too. How progress is your work now.

 

apichai

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท