อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ - Islamization of knowledge (2)


ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างง่ายที่สุด ระหว่าง"องค์ความรู้อิสลามและแนวทางการพัฒนาแบบอิสลาม" กับ "องค์ความรู้แบบตะวันตกและแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตกหรือโลกวิถี (Secular)" ก็คือ องค์ความรู้อิสลามมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางและสูงสุด (God-Centered Knowledge)ในขณะที่องค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางความรู้ทั้งปวง (Human-Centered Knowledge)

ความหมายองค์ความรู้อิสลาม

สำหรับมุสลิมแล้วความรู้หรือองค์ความรู้อิสลาม ในนัยยะที่มุสลิมศรัทธาและถือปฏิบัติถูกถือว่าเป็นองค์ความรู้สากล ทั้งนี้เพราะมุสลิมทุกคนที่นับถืออิสลามถูกบังคับโดยศาสนาว่า ต้องเรียนรู้ทั้งหลักการศรัทธา ควบคู่กันกับหลักการปฏิบัติอันเดียวกัน แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม ดังที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.)ได้กล่าวใว้ว่า "การศึกษาหาความรู้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั้งหญิงและชาย" จะไม่มีมุสลิมคนใดถูกถือว่าเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ได้ ถ้าเขาเลือกปฏิบัติแต่ไม่ศรัทธาหรือเลือกศรัทธาแต่ไม่ปฏิบัติตาม

ดังนั้นองค์ความรู้อิสลามจึงเป็นองค์ความรู้แรกเริ่มสำหรับมุสลิมตั้งแต่แรกเกิด หรือตั้งแต่เขาน้อมรับตนเข้าอิสลาม การน้อมตนเข้ารับอิสลามมิได้เป็นการบังคับดังที่อัลกุรอานได้กล่าวใว้ว่า "ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา" (2: 256) แต่ตราบใดที่เขาน้อมรับอิสลามแล้วแสดงว่าเขาพร้อมที่จะนำเอาหลักการและความรู้อิสลามมาปฏิบัติตนในทุกท่วงท่าของชีวิต โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเป็นความปลาบปลื้มยินดีในการปฏิบัติตาม และการไม่ได้ปฏิบัติตามความรู้และหลักปฏิบัติของอิสลามจะทำให้เขารู้สึกละอายตนในการเป็นมุสลิมเป็นยิ่งนัก ดังนั้ทุกองค์ความรู้อิสลามมีหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการศรัทธาเสมอ

องค์ความรู้อิสลามจึงเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกบริบทของสังคม ดังทรรศนะของซัยยิดกุตุบ ที่จำกัดความความรู้ตามอิสลาม ซึ่งท่านมีความเห็นสอดคล้องกับอิบนิมัสอูดว่า "ความรู้คือบางสิ่งที่มากกว่าความเข้าใจ ความรู้คือความเข้าใจที่สมบูรณ์และการปฏิสัมพันธ์กับความเข้าใจในเบื้องลึกของจิตวิญญาณและสติสัมปชัญญะ ซึ่งติดตามมาด้วยการกระทำที่สอดคล้องลงรอยกัน"(23)

ดังนั้นการกระทำที่สอดคล้องกับความรู้จึงเป็นขั้นตอนที่สามที่สมบูรณ์ หลังจากขั้นตอนแรกที่จิตรับรู้เป็นความเข้าใจ มาสู่ขั้นตอนที่สองคือการยอมรับโดยจิตวิญญาณและสติสัมปชัญญะ สำหรับ ซัยยิดกุตุบ เขามองว่าความรู้ของมนุษย์ยังหมายความรวมถึง ความรู้ที่มนุษย์ไม่สามารถหยั่งถึงได้ในเชิงประจักษ์หรือสิ่งที่ประสาทสัมผัส(senses)ของมนุษย์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของมนุษย์เองเช่น ความรู้ในเรื่องพระเจ้า แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนักคิดตะวันตก เช่น อริสโตเติลที่มองว่า ความรู้คือสิ่งที่มีอยู่เป็นรูปธรรม(Objective Existence - สิ่งที่มีอยู่เป็นภววิสัย)

อันที่จริงความรู้ในทรรศนะอิสลามถูกแบ่งออกเป็น

หนึ่ง ความรู้ที่มาจากธรรมชาติหรือความรู้ที่ได้จากการแสวงหาโดยการใช้ประสาทสัมผัส(sensory knowledge)ของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า(acquired knowledge)

สอง ความรู้ที่มาจากการประทานของพระเจ้า(revealed knowledge) โดยผ่านศาสนทูตศาสดาผู้ประกาศโองการของพระเจ้า มีศาสดามากมายหลายองค์ที่ถูกส่งลงมาโดยพระเจ้า เพื่อประกาศโองการของพระองค์ผู้อภิบาล ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรู้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอและมีขีดความสามารถอันจำกัดไม่อาจรอบรู้ในทุกๆสิ่ง

ท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล)ก็เป็นหนึ่งในศาสดาเหล่านั้นแต่ท่านก็เป็นพระศาสดาองค์สุดท้ายที่มาพร้อมกับสาสน์อันสุดท้ายที่สมบูรณ์คือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อให้เป็นทั้งความรู้และการตักเตือนแก่มนุษยชาติ และสาสน์ดังกล่าวก็ได้รบการรับรองและปกป้อง มีโองการหนึ่งที่อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า "วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า"(5:3)

อีกโองการหนึ่งอัลลอฮ์ได้กล่าวถึงการปกป้องสาสน์ของพระองค์มีความว่า "แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัลกุรอาน)ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน" (15:9)


ทั้งสองโองการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีว่า สาสน์ของพระองค์ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่มีการบิดเบือนเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่อัลลอฮ์ทรงท้าทายให้มนุษย์ลองผลิตโองการขึ้นมาเองสักหนึ่งโองการหากมนุษย์มีความสามารถ

โดยทั่วไปความรู้ตามทรรศนะอิสลามจึงมีที่มาและปฐมเหตุสุดท้ายจากพระเจ้าทั้งสิ้น ทั้งความรู้ที่มนุษย์แสวงหาและความรู้ที่มาจากพระเจ้าโดยผ่านท่านศาสดา ดังนั้น การจำกัดความ "ความรู้" ในศาสนาอิสลามจึงไม่จำกัดเฉพาะ ความรู้ที่มนุษย์ขวนขวายเองเพียงอย่างเดียว และการค้นหา"ความจริง"(truth) ที่ได้มาจากความรู้จะต้องประกอบไปด้วยความรู้ที่แสวงหา(acquired knowledge)และความรู้ที่ถูกประทานลงมา(revealed knowledge)คือ อัลกุอานและซุนนะห์ของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ซ.ล.) การรับหรือปฏิเสธความรู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดจึงไม่ไช่องค์ความรู้อิสลามที่แท้จริง ดังเช่น การค้นหา "ความจริง" ขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่ปฏิเสธองค์ความรู้ใด ๆ ที่มีที่มาจากพระเจ้า

อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of Knowledge)

กลุ่มหรือขบวนการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นไปตามแบบฉบับอิสลาม ที่เรียกกันว่า อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ตามทรรศนะของนักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตกาลแล้ว แต่ขบวนการเหล่านี้ถูกทำให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในต้นคริสตศักราช 1920 ภายใต้การนำของนักวิชาการเอเชียใต้อย่างเช่น อาละมา มูฮัมหมัด อิกบาล (ค.ศ.1879-1938) ซัยยิด อบุล อะลาอ์ เมาดูดี (ค.ศ.1903-1979) และซัยยิด นากิบ อัล-อัตตาส (ค.ศ.1931-ปัจจุบัน) ซึ่งรวมไปถึงนักวิชาการชาวอเมริกันสัญชาติปาเลสไตน์ คือ ดร. อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี (ค.ศ.1921-1986)(24)

นักวิชาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี เป็นผู้ที่สามารถทำให้ขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกมุสลิม และในโลกตะวันตก ทั้งนี้เพราะความเป็นอัจฉริยะส่วนตนของท่านในการแสดงปาฐกถา การโต้แย้งองค์ความรู้ของท่าน และขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ให้เป็นที่แพร่หลาย

ในแวดวงวิชาการมุสลิมเองก็มีข้อโต้แย้งว่า ใครเป็นคนริเริ่มขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ หรือใครเป็นเจ้าของความคิดอันนี้ขึ้นมา บางท่านก็บอกว่า ซัยยิด นากิบ อัล-อัตตาส จากประเทศมาเลเซียเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดอันนี้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องใครเป็นผู้ริเริ่มก่อนหลังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือวิธีการในการสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ ให้เป็นไปตามแบบฉบับของอัลอิสลามของนักวิชาการแต่ละคนต่างหาก ที่เป็นประเด็นความสนใจให้กับปัญญาชนมุสลิม

ทั้งนี้เพราะนักวิชาการแต่ละคนต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็ตั้งข้อสงสัยกับขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ เช่น Sardar และ Nasr. โดยให้เหตุผลว่าอิสลามมิสามารถที่จะเปลี่ยนศาสตร์ตะวันตกให้เป็นอิสลามได้ เพราะธรรมชาติของศาสตร์ตะวันตกมีพื้นฐานทางความรู้ หรือญานวิทยา(Epistemology) แตกต่างไปจากอิสลามอย่างสิ้นเชิง(25) ดังนั้น การสังเคราะห์องค์ความรู้ตะวันตกเข้ากับอิสลามจะด้วยวิธีใด ก็ย่อมมีข้อผิดพลาดให้เห็นได้

ดังนั้น นักวิชาการบางกลุ่มจากมุสลิมเองก็เสนอแนวคิดการรื้อสร้างองค์ความรู้อิสลามเสียใหม่ เช่น Taha Jabir Alwani กล่าวคือ การตรวจสอบองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม แล้วก็สร้างองค์ความรู้อิสลามขึ้นมาใหม่โดยมิต้องไปปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอิสลามให้สอดคล้องกับของตะวันตก แต่จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้ของตะวันตกให้มาสอดคล้อมกับหลักการอิสลาม

ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนอิสลามานุวัตรองค์ความรู้อิสลาม เช่น ดร.อิสมาแอล ราจี อัลฟารุกี และอีกหลาย ๆ ท่าน ให้เหตุผลว่า มีความจำเป็นสำหรับโลกมุสลิมในปัจจุบันที่จะสร้างขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ ระหว่างองค์ความรู้อิสลามกับองค์ความรู้ตะวันตก โดยให้เหตุผลว่านี่คือความตกต่ำและความล้าหลังของโลกมุสลิมที่ตามไม่ทันโลกตะวันตก

นอกจากนี้ในโลกมุสลิมเองก็ยังแบ่งการศึกษาของตนเองเป็นสองฝักสองฝ่าย กล่าวคือ กลุ่มที่สนับสนุนการศึกษาระบบดั้งเดิม (Traditional Education) กับกลุ่มที่สนับสนุนการศึกษาแบบทางโลกอย่างตะวันตก (Secular Education) จึงทำให้ทั้งสองกลุ่มไม่สามารถจะประณีประนอมกันทางความคิด และแนวทางการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ในท้ายที่สุดผู้เสียผลประโยชน์ที่แท้จริงก็คือ เยาวชนมุสลิมที่กลายเป็นเครื่องมือในการถกเถียงให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไป ที่สำคัญ เยาวชนเหล่านี้กลับไม่ทราบถึงหลักปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงของอิสลาม เพราะคนในระดับผู้นำสร้างความสับสน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง

อันที่จริงแล้ว อิสลามเป็นศาสนาที่เดินทางสายกลาง(26) ไม่ได้ปฏิเสธความก้าวหน้าหรือเทคโนโลยีใด ๆ แต่ก็เน้นย้ำเรื่องคุณธรรมในสังคมตามแบบฉบับของอิสลามเอง ดังนั้นการแยกกันเดินระหว่างการศึกษาแบบดั้งเดิม (Religious Education) กับการศึกษาแบบสมัยใหม่ (Secular Education) จึงเป็นรอยร้าวทางสังคมของมุสลิมเอง ทั้งนี้เพราะพัฒนาการทางการศึกษาแบบแยกส่วนเช่นนี้ รังแต่นำมาซึ่งความสับสน ความคลุมเครือในหลักการของอิสลาม

ดังนั้นขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นภาระหนึ่งในความพยายามของนักวิชาการมุสลิม ที่พยายามจะผสมผสานองค์ความรู้ของตะวันตกให้เข้ากันกับหลักการอิสลาม แต่เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มของนักวิชาการในขบวนการอิสลามานุวัตรองค์ความรู้แล้ว ก็จะพบว่า ความพยายามที่จะทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นอิสลามนั้นจะเน้นหนักไปทางด้านสังคมศาสตร์ (27) ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยา รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ตื่นตัวกับขบวนการการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นอิสลามมากขึ้น และระแวดระวังสิ่งแปลกปลอมทางความคิด ค่านิยมของชาวตะวันตกที่มาพร้อมกับสาขาวิชาต่าง ๆ ที่สอนกันอยู่ในสาขาวิชาสังคมศาสตร์

ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการทั้งจากชาวตะวันตกและมุสลิมเองที่กล่าวว่า ขบวนการอิสลามานุวัตรเป็นแค่เพียงวาทกรรมโต้แย้งและปกป้องอิสลามเท่านั้นเอง (28) (Apologetic polemics) มิใช่วาทกรรมแห่งการพัฒนาแต่อย่างใด แน่นอนว่า การโต้แย้งดังกล่าวจะไม่จบสิ้นลงง่าย ๆ ตราบใดที่เป้าหมาย หลักการ และพื้นฐานทางความรู้ (Foundation of knowledge) ของมุสลิมและคนที่ไม่ใช่มุสลิมยังคงแตกต่างกันอยู่ อิสลามานุวัตรทางความรู้จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของโลกมุสลิมที่พยายามสร้างวาทกรรม และให้อำนาจแห่งวาทกรรมนี้เป็นตัวตัดสินความต้องการของประชาชาติมุสลิมเอง

จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การทำองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นอิสลามจึงเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากความตกต่ำของอาณาจักรของชาวเติร์กหรือ อาณาจักรออตโตมัน ซึ่งรุ่งเรือง ณ เวลานั้นได้กลายเป็นอดีตและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการตะวันตก รวมถึงนักวิชาการมุสลิมเองว่าเป็น "คนไข้ของยุโรป"( The Sick Man of Europe)(29)

และเนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน การแบ่งแยกและการก่อสงครามกันเองระหว่างมุสลิมก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขณะนั้นทั้งอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ฉวยโอกาสยุยงให้มุสลิมแตกแยกกันเอง โดยมีเชื้อชาติ ภาษา เผ่าพันธุ์ เป็นตัวกำหนดรูปแบบการปกครองตามแบบฉบับประเทศรัฐ(รัฐชาติ) (Nation-State) ซึ่งความจงรักภักดีสูงสุดจะถูกมอบให้กับรัฐ ประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่ ดังนั้นการปกครองรูปแบบใหม่นี้ จึงเข้ามาแทนที่ระบบดั้งเดิมของอิสลาม (Islamic Ummah) ซึ่งความเป็นประเทศรัฐมิได้ถูกกำหนดโดยเชื้อชาติ ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ และความจงรักภักดีสูงสุดก็มิได้มอบหมายให้กับรัฐ แต่จะมอบหมายให้กับพระผู้เป็นเจ้า และหลักปฏิบัติที่พระองค์ทรงประทานเป็นโองการซึ่งถูกรวบรวมเป็นเล่ม ที่มุสลิมเรียกว่า "พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน" ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดทางความคิดและการปฏิบัติตนของมุสลิมทั้งมวล

คัมภีร์อัลกุรอานถูกถือว่าเป็นคัมภีร์อันศักดิสิทธิ์ ทั้งนี้มิใช่เพื่อว่ามนุษย์จะได้กราบไหว้และสักการะคัมภีร์ แต่ความศักดิสิทธิของคัมภีร์อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่มีอยู่ในตัวบทของคัมภีร์ต่างหาก โดยมีแบบอย่างจากท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ ความศักดิสิทธิที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะปกป้อง และไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเปลี่ยนแปลงคัมภีร์ หรือสามารถลอกเลียนให้เหมือนได้แม้แต่เพียงสักหนึ่งโองการ ความท้าทายเหล่านี้ เป็นความจริงที่ปรากฏในศาสนาอิสลามมากกว่า 1400 ปี ดังนั้น คัมภีร์อัลกุรอานกับแนวทางของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือซุนนะห์ของท่าน(30) จึงเป็นเสมือนเบ้าหลอมที่สำคัญของมุสลิมทั้งมวล อัลกุรอานกับซุนนะห์ของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) จึงเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ของอิสลาม (Foundation of knowledge of Islam) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การศึกษาที่มาของความรู้ (Epistemology) ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้องค์กรของอิสลามมีแนวคิดและทิศทางการพัฒนาแตกต่างไปจากตะวันตก

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างง่ายที่สุด ระหว่าง"องค์ความรู้อิสลามและแนวทางการพัฒนาแบบอิสลาม" กับ "องค์ความรู้แบบตะวันตกและแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตกหรือโลกวิถี (Secular)" ก็คือ องค์ความรู้อิสลามมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางและสูงสุด (God-Centered Knowledge)ในขณะที่องค์ความรู้ตะวันตก หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางความรู้ทั้งปวง (Human-Centered Knowledge) เพราะมนุษย์อ้างว่าความรู้ตามหลักเหตุผลของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นเหตุผลสูงสุดในการยอมรับและความน่าเชื่อถือของความรู้นั้น ๆ และเป็นที่มาของลัทธิมนุษย์นิยม(Humanism) กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดเรื่องความรู้แบบโลกวิถี (Secular knowledge) จะต้องได้รับการพิสูจน์หลักฐานความถูกต้องและความน่าเชื่อถือจากมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงกลายเป็นพระเจ้าเสียเอง

ดังนั้น อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ จึงเป็นขบวนการที่พยายามจะขัดเกลาความรู้สมัยใหม่หรือความรู้แบบโลกวิถีให้อยู่ภายใต้กรอบและหลักการของอิสลาม โปรดอย่าเข้าใจผิดคิดว่าอิสลามปฏิเสธมาตรฐานการวัดความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของความรู้ที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้น เช่น โดยการทดลอง การสังเกต โดยการพิสูจน์ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่มีอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง และเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่สำคัญในอิสลามเช่นกัน

อิสลามไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้ที่มาจากประสาทสัมผัสของมนุษย์เอง แต่อิสลามพยายามจะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีข้อจำกัด แม้แต่ประสาทสัมผัสบางอย่างของมนุษย์เองก็ไม่สามารถปฏบัติงานได้ดีกว่าประสาทสัมผัสของสัตว์บางชนิด และประเด็นสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิเสธพระผู้สร้างหรือพระเจ้าโดยมนุษย์ ความแตกต่างตรงนี้เองที่สร้างความโดดเด่นขององค์ความรู้แบบอิสลาม ในขณะที่ชาวตะวันตกเองหรือนักคิดแบบวิถีโลกก็จะพูดว่านี่ถือเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีเหนือพระเจ้า เหนือธรรมชาติ อิทธิพลของพระเจ้า ถูกถือว่าเป็นความเชื่อของบุคคลไป มนุษย์เป็นอิสระแล้ว

ในฐานะนักวิชาการ ลองตอบคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ เพียงหนึ่งข้อว่า มนุษย์มีอิสรภาพจริงหรือ แม้แต่การที่ท่านจะตอบคำถามเหล่านี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าท่านไม่มีอิสระภาพเสียแล้ว เพราะท่านถูกผูกมัดให้ตอบหรือไม่ตอบคำถามนั้น ๆ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้จึงเป็นวาทกรรม (Discourse) ที่นักวิชาการมุสลิมก็ยังโต้แย้งกันเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน อย่างไรก็ดี วาทกรรมอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ถูกถือว่าเป็นการเพิ่มเติมเสริมแต่งองค์ความรู้อิสลามให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีวิวัฒนาการตามแบบฉบับของตนเอง และที่สำคัญที่สุด มันกลายเป็นหน้าที่ของมุสลิมผู้รู้ ที่จะต้องสานต่อและประดิษฐ์ประดอยองค์ความรู้เหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักการอิสลาม เพื่อตอบสนองความต้องการอันมีไม่จำกัดของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า "โลกานุวัตร" (Globalization) ดังนั้นขบวนการอิสลามมานุวัตรองค์ความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการดำรงอยู่ของความจริงแท้(al-Haq)ตามทรรศนะของอิสลาม รวมทั้งการดำรงอยู่ของศรัทธาชนมุสลิมต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #islamization
หมายเลขบันทึก: 39687เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท