การจัดการความรู้ มุมมองจากปรัชญา (1)


การจัดการความรู้ มุมมองจากปรัชญา (1)
การจัดการความรู้ มุมมองจากปรัชญา
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ :
ผลงานชิ้นนี้แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง
FROM PHILOSOPHY TO KNOWLEDGE
MANAGEMENT AND BACK AGAIN
Jeremy Aarons
Dr. Jeremy Aarons, School of Information Management and Systems, Monash University,
26 Sir John Monash Drive, Caulfield East, Victoria 3145, Australia.
Email: [email protected]
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 28 หน้ากระดาษ A4)

 

ความนำ
1. จากปรัชญาถึงการจัดการความรู้
FROM PHILOSOPHY TO KNOWLEDGE MANAGEMENT

แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านบทนำเกี่ยวกับเรื่อง"การจัดการความรู้"(KM) โดยไม่กล่าวถึงปรัชญาเอาไว้บ้าง อันที่จริง เรื่องราวเกี่ยวกับ KM ตามตัวอักษรแล้ว ได้ถูกทำให้เกิดความฉงนโดยการอ้างอิงถึงบรรดานักปรัชญาและผลงานทางด้านปรัชญาต่างๆ กระนั้นก็ตาม เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ทั้งๆที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาอย่างเหนียวแน่น แต่มันแทบจะไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงกันในรายละเอียด ซึ่งได้รับการทำขึ้นมาระหว่าง"ทฤษฎีทางความรู้ในฐานะที่เป็นปรัชญา" กับ "ปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความรู้"เลย

ในบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าจะทำการสำรวจถึงความสัมพันธ์กันระหว่าง"ปรัชญา"กับ"การจัดการความรู้" โดยจะมองไปที่ทฤษฎีทางปรัชญาซึ่งได้สนับสนุนต่อพัฒนาการของ KM และยิ่งถ้าเผื่อว่าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับปรัชญาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถนำมันไปประยุกต์ใช้กับโครงการต่างๆเกี่ยวกับ KM ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ในการทำเช่นนั้น แม้ว่าความสนใจจะมีให้กับเรื่องราวเกี่ยวกับ KM แต่ข้าพเจ้าจะชี้ไปถึงพื้นที่ทางปรัชญาบางพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องเล็กๆน้อยๆกับ KM, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนทนากันทางปรัชญาที่โดยขนบจารีตแล้ว เกี่ยวกับเรื่องญานวิทยา(ทฤษฎีความรู้) แต่อย่างไรก็ตาม มันค่อนข้างมีข้อจำกัดในประโยชน์ของมันเมื่อมาเกี่ยวข้องกับเรื่อง KM, เนื่องจากว่าญานวิทยาได้โฟกัสลงบนผลิตผลทางความรู้ของปัจเจกหรือความรู้ที่เป็นส่วนตัว มากกว่าการแบ่งปันและใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความรู้ในบริบทร่วมกันของ KM

ถัดมา ข้าพเจ้าจะจำแนกแยกแยะวิธีการบางอย่าง ซึ่งปรัชญาสามารถถูกนำไปเกี่ยวโยงและสอดคล้องกับ KM, และจะมีการเน้นถึงพื้นที่ต่างๆเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญา ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหวังหรืออนาคตมากที่สุด ในการใช้ประโยชน์ทางด้านการปฏิบัติกับเรื่องของ KM

ข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าคือว่า ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเชิงทฤษฎีที่มีความหวังหรืออนาคตอันนั้นสำหรับ KM มาจากผลงานเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งในส่วนของปรัชญาวิทยาศาสตร์และในส่วนของของญานวิทยาทางสังคม(social epistemology)นั่นเอง

ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ข้าพเจ้าต้องพูดถึงคำเตือนที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พูดถึงในบทความชิ้นนี้ นั่นคือ ภูมิหลังของข้าพเจ้านั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นผู้ให้ความสนใจในเรื่องของปรัชญา และข้าพเจ้าเป็นคนที่ค่อนข้างใหม่ในสาขาวิชา"การจัดการความรู้" (knowledge management) ด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีการศึกษาเรื่องของ KM ส่วนใหญ่จากทัศนียภาพของนักปรัชญาคนหนึ่ง โดยพยายามพุ่งเป้าไปที่การตีความสิ่งที่ KM เป็น, และมุ่งที่จะประเมินว่า KM ได้อิงอาศัยต่อการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเชิงปรัชญาที่หลายหลากอย่างไร

เนื่องจาก การสนทนาของข้าพเจ้าเป็นจำนวนมากได้มีการโฟกัสลงไปที่ตำรับตำราเบื้องต้นต่างๆเกี่ยวกับการจัดการความรู้ และไม่ได้มีรายละเอียดมากมายนัก รวมถึงงานพิมพ์ต่างๆที่ไม่เฉพาะเจาะจง ด้วยเหตุนี้ การโฟกัสของข้าพเจ้าหลักๆจึงมาจากตำรับตำราที่นักศึกษาใช้ เช่นเดียวกับผลงานคำอธิบายทั้งหลายที่นำเสนอออกมาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับรากฐานในเชิงทฤษฎีของ KM. เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ ควรที่จะมากพอสำหรับวัตถุประสงค์ข้างต้น เพราะว่าผลงานต่างๆดังที่กล่าว ประสงค์ที่จะนำเสนอถึงพื้นฐานที่เป็นรากเหง้าสำหรับ KM อันเป็นเค้าโครงทฤษฎีหรือหลักการที่จำเป็นของ KM นั่นเอง

วิธีการศึกษาเรื่องของ KM ในหนทางนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนบางประการ เช่นเดียวกับที่มันอาจไม่เป็นประโยชน์มากมายนักเช่นกัน ในส่วนของประโยชน์หรือข้อได้เปรียบหลักคือว่า ข้าพเจ้ากำลังศึกษาเรื่องราวของ KM ด้วยจิตใจที่สดสะอาดและด้วยท่าทีในเชิงวิพากษ์ โดยไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับแนวคิดที่มีมาก่อน ซึ่งคนอื่นๆต่างมีประสบการณ์ที่ช่ำชองและมากกว่าในสาขาวิชานี้ ดังที่พวกเขาครอบครองอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ามาสู่ผลงานนี้ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาคนหนึ่ง หมายความว่า ข้าพเจ้าได้วางตำแหน่งเอาไว้อย่างดี โดยเฉพาะในการที่จะทำการประเมินเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนิยามความหมายต่างๆและการศึกษาในเรื่อง KM, และความถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งความเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาที่หลากหลายซึ่งได้รับการพูดถึง

ส่วนข้อเสียเปรียบต่างๆคือว่า ความเข้าใจของตัวข้าพเจ้าเองเกี่ยวกับขอบเขต และรายละเอียดของผลงานที่กระทำขึ้นมาภายใต้ป้ายฉลาก"การจัดการความรู้" ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัด และความลี้ลับบางอย่างนั้น รวมถึงความเกี่ยวข้องทั้งหลายในเรื่องดังกล่าว อาจทำให้ข้าพเจ้าละเลยรายละเอียดบางประการไปโดยไม่ทันสังเกต ด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามคงไว้ซึ่งคำเตือนต่างๆที่ตรงไปตรงมาในสิ่งที่ข้าพเจ้าพูด และพยายามที่จะโฟกัสมากเป็นพิเศษ ลงไปที่การใช้ทฤษฎีทางปรัชญาในเรื่องของ KM มากกว่าเรื่อง"การจัดการความรู้"โดยตัวของมันเอง

สำหรับความเข้าใจของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องของ KM มาจากสองแหล่งด้วยกันคือ

แหล่งแรก มาจากตำราต่างๆอย่างหลากหลาย, รวมกระทั่งถึง website มากมาย และเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการสนทนากันถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้นำเสนอแนวความคิดต่างๆที่เป็นรากฐานของ KM ต่อผู้รับรู้ทั่วๆไปส่วนใหญ่

แหล่งที่สอง มาจากโครงการต่างๆเกี่ยวกับเรื่อง KM โดยเฉพาะที่ได้รับการดำเนินการภายใต้โปรแกรมการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ KM ที่ Monash University, School of Information Management & Systems. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้รับอิทธิพลอย่างมากที่สุดจากโครงการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ[the Meteorological Forecasting project](Linger and Burstein, 2000)

แหล่งข้อมูลทั้งสองแหล่งได้ให้ภาพของ KM ในหนทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตำรับตำราต่างๆและคำอธิบายทั้งหลาย มีแนวโน้มที่เน้นถึง KM ในฐานะที่เป็นวาทกรรมของการปรับตัวทางธุรกิจ และมันได้รับการสร้างภาพขึ้นมา และสนทนากันถึงเรื่องราวนั้นในเนื้อหาเกี่ยวกับ KM เป็นส่วนใหญ่. ด้วยเหตุนี้ KM จึงถูกนิยามในฐานะที่เป็นกระบวนการอันหนึ่งซึ่งบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ได้ให้คุณค่าแก่ทรัพยากรต่างๆทางด้านความรู้ และแสวงหาวิธีการเพื่อที่จะมาจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กิจกรรมกระแสหลักต่างๆของบริษัท (Gordon and Smith, 1998)

ในทำนองเดียวกัน "KM ก็เป็นกระบวนการอันหนึ่ง ซึ่งองค์กรต่างๆได้สร้างคุณค่าขึ้นมาจากคุณสมบัติทางด้านพื้นฐานความรู้และสติปัญญา(intellectual and knowledge-based assets)" ตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับ KM ได้พัฒนาขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมขององค์กรทั้งหลาย, และส่วนใหญ่ของผลงานถูกทำขึ้นภายใต้ป้ายฉลากของ KM นั้น ได้รับการขับเคลื่อนโดยการจัดการที่ผูกพันอยู่ในบริบททางด้านธุรกิจ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวไม่ได้รู้สึกประหลาดใจต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด

และยังไม่รู้สึกประหลาดใจด้วยว่า คำถามต่างๆในเชิงทฤษฎีส่วนใหญ่เกี่ยวกับธรรมชาติของ KM หรือผลงานของ KM มีแนวโน้มที่จะได้รับการมองในฐานะที่เป็นสิ่งที่อยู่รอบนอก วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของ KM ไม่เกี่ยวข้องกับคำถามทางด้านแนวความคิดในระดับลึกใดๆ แต่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นๆของการขับดันและการสร้างเสริมความเจริญเติบโตของบริษัท ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงอย่างชัดเจนในการสนทนาต่างๆของบทนำเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่อง KM แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น website สำหรับ CIO magazine CIO.com ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า "วิธีการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์อันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของ KM สามารถยังผลให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพ, ก่อให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้น และเพิ่มรายได้อย่างเป็นจริงเป็นจังให้กับภาคส่วนทางด้านธุรกิจ"

ในทางตรงข้ามกับอันนี้ โครงการ KM ต่างๆภายใต้โปรแกรมการวิจัยเกี่ยวกับ KM (the KM Research Program) ไม่ได้วางจุดเน้นลงบนเป้าหมายต่างๆของการปรับตัวทางด้านธุรกิจอย่างเดียวในเรื่องของความเจริญเติบโตของบริษัทและการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น แต่ได้ไปเน้นที่เป้าหมายต่างๆขององค์กรที่กว้างกว่าแทน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ โครงการ KM เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ

จุดมุ่งหมายของโครงการดังกล่าว ต้องการที่จะพัฒนาระบบ KM ที่จะไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับการนำเสนอคำพยากรณ์ที่แม่นยำ มันบรรลุผลสัมฤทธิ์นี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการบูรณาการทักษะซึ่งเป็นทรัพยากรทางความรู้ของนักพยากรณ์ เข้ากับ ระบบทางด้านเทคโนโลยีที่ได้สะสม ร่วมปัน และช่วยเหลือภารกิจที่ก่อเกิดผลผลิตของบรรดานักพยากรณ์ทั้งหลาย

ในที่นี้ ประสิทธิภาพของ KM ส่วนใหญ่ได้รับการเอาใจใส่โดยความสัมพันธ์กันระหว่าง การมีส่วนร่วมที่แตกต่างในกระบวนการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ - นั่นคือ กลุ่มนักพยากรณ์ที่เป็นมนุษย์, เทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้ช่วยเหลือการพยากรณ์ของพวกเขา, ระบบต่างๆที่พวกเขานำมาใช้เพื่อสะสมและเผยแพร่คำพยากรณ์, ผลิตผลนานาชนิดที่พวกเขาสร้างขึ้น, และบรรดาลูกค้าซึ่งเป็นผู้รับและเป็นผู้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบต่างๆของพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบบที่กว้างขวาง และไม่สามารถที่จะถูกเข้าใจหรือจัดการโดยปราศจากความเข้าใจอย่างละเอียดละออเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทุกๆส่วนของระบบข้างต้นนั่นเอง

สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เดิมทีนั้น KM ได้ถูกนำไปพัวพันกับความรู้ ดังที่มันได้รับการก่อเกิด, แบ่งปัน, สะสมขึ้นมา, และใช้ประโยชน์ภายในสภาพแวดล้อมที่ร่วมมือกัน. KM ยังถูกนำไปเกี่ยวโยงกับแง่มุมอื่นๆทั้งหมดของความรู้ ภายในกรอบหรือโครงร่างขององค์กรด้วย: นั่นคือ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของแต่ละปัจเจกบุคคลภายในองค์กร เช่นเดียวกับความรู้ในเชิงปฏิบัติของพวกเขา, ความรู้เงียบ(tacit knowledge - ความรู้โดยนัย หมายถึงความรู้ที่แต่ละคนมี แต่ไม่ได้ถ่ายทอด), และความรู้ทางด้านเทคโนโลยี

ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเรามองไปที่ทฤษฎีทางปรัชญาเพื่อจัดหาหรือตระเตรียมรากฐานอันหนึ่งสำหรับภารกิจต่างๆของ KM เราก็จะต้องค้นหาพื้นที่เหล่านั้นที่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงได้ เช่นเดียวกับการตระเตรียมความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในรูปแบบที่แตกต่างของความรู้ และความสัมพันธ์ต่างๆระหว่างความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ ทฤษฎีทางปรัชญาจักต้องช่วยเราให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการที่อยู่ข้างใต้ด้วย ซึ่งมันสอดรับตรงประเด็นสำหรับเรื่อง KM

สำหรับช่วงตอนจบของบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าจะสำรวจถึงพื้นที่บางพื้นที่ของปรัชญาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้ให้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงจุดนั้น ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อสำรวจถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับปรัชญาในเรื่องราวของ KM

2. KM กับการอิงอาศัยเรื่องของปรัชญา
KM AND THE APPEALS TO PHILOSOPHY

ความสัมพันธ์ระหว่างรากฐานเกี่ยวกับ"การจัดการความรู้" กับ "ทฤษฎีทางปรัชญา"เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกันโดยตรงอันหนึ่ง ผลงานต่างๆที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญมากที่สุดในเรื่องของ KM ได้อิงอาศัยอย่างชัดเจนต่อบรรดานักปรัชญาและทฤษฎีต่างๆทางปรัชญาจำนวนหนึ่ง

จากการอ่านผลงานทั้งหลายเกี่ยวกับการสัมนา ส่วนหนึ่งของทฤษฎีบุกเบิกหรือนวัตกรรมในเรื่อง KM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sveiby, Nonaka และ Takeuchi, เป็นที่ชัดเจนว่า การประยุกต์ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทางปรัชญา ได้วางรากฐานสำหรับผลงานในช่วงบุกเบิกของพวกเขาเป็นจำนวนมากในเรื่องการจัดการความรู้

K. E. Sveiby (1994, 1997, 2001) ได้กล่าวถึงผลงานจำนวนมากของบรรดานักปรัชญาในการพูดคุยของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่ Sveiby ได้อาศัยผลงานของทั้ง Polanyi และ Wittgenstein โดยตรงในการอธิบายของเขา และการสืบค้นในเรื่องรากฐานเกี่ยวกับการจัดการความรู้

ไอเดียของ Polanyi เกี่ยวกับความรู้เงียบ(tacit knowledge)มีใจกลางอยู่ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับ KM ของ Sveiby ด้วย - สำหรับ Sveiby โครงการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่เป็น"ความรู้เงียบ"ของเราคือจุดมุ่งหมายหลักของ KM. Sveiby ยังกล่าวถึงวิธีการศึกษาของ Wittgenstein ในเรื่องความหมายและความรู้ ซึ่งเขามองว่า มันสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิธีการของ Polanyi แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับว่า ไอเดียหรือความคิดต่างๆเหล่านี้ว่า มันสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทัศนะของเขาในเรื่อง KM อย่างไร

Nonaka (1994), Nonaka and Takeuchi (1995) ได้พูดถึงทิวแถวที่กว้างขวางอันหนึ่งของบรรดานักปรัชญา และลำดับการของทัศนียภาพทางปรัชญาที่แตกต่างในงานที่ทรงอิทธิพลของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่อง KM. บทที่ 2 ของ Nonaka and Takeuchi (1995) ได้รวมเอาการสนทนาที่ขยายกว้างออกไปอันหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางปรัชญา นับจาก Plato และ Aristotle ตลอดจนกระทั่งถึง Descartes และ Locke; Kant, Hegel และ Marx; Husserl, Heidigger, Sartre, Merleau-Ponty, Wittgenstein, James และ Dewey

พวกเขายังได้มีการพูดถึง Herbert Simon, Gregory Bateson ด้วย และยังให้ความสนใจเป็นการเฉพาะต่อไอเดียของ Polanyi เกี่ยวกับความรู้เงียบด้วยเช่นกัน พวกเขายังพูดถึงผลงานทางปรัชญาอีกจำนวนหนึ่งอย่างสั้นๆ อย่างเช่น แบบจำลองทางสติปัญญาต่างๆ ของ Johnson-Laird (1983), รวมทั้งเรื่องความรู้และการไหลของข้อมูลของ Fred Dretske (1981) เช่นเดียวกับทฤษฎีข้อมูลของ Shannon

ที่น่าสนใจคือว่า Nonaka และ Takeuchi ยอมรับข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาสร้างประเด็นขึ้นมาว่า วิธีการศึกษาทางปรัชญาได้ถูกจำกัดมาแต่แรก เมื่อมันมาถึงการอธิบายเรื่องการสร้างความรู้ขององค์กรขึ้นมา - พวกเขาอ้างว่ามันขาดเสียซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ

ยังมีบุคคลทางปรัชญาที่สำคัญคนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในเรื่องของ KM. อันนี้เป็นการเพิ่มเติมจากคนที่เราได้พูดถึงกันไปแล้ว ซึ่งมีรายชื่อผลงานต่างๆของบรรดานักคิดเหล่านี้ที่ได้มาช่วยเหลือสนับสนุน, แม้ว่าจะไม่ได้โดยตรงก็ตาม, ต่อความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการความรู้ เช่น

- Gilbert Ryle (1940-50s): The distinction between knowing that and knowing how.
- Michael Polanyi (1966): Tacit knowledge
- Ludwig Wittgenstein (1920s): Meaning is use
- Michel Foucault (1970s): Knowledge is power
- Thomas Kuhn (1970s): Paradigms
- Karl Popper (1960s): Three worlds
- Jean-Francois Lyotard (1984): The Postmodern Condition - data, information,knowledge.
- Jurgen Habermas (1984): The Theory of Communicate Action, Volume One: Reason and the Rationalization of Society
- Charles Saunders Peirce (1839-1914) and other American the pragmatists(James, Dewey, Rorty)

อย่างชัดแจ้ง สาขาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง KM ได้เป็นหนี้บุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อไอเดียหรือความคิดต่างๆของบรรดานักปรัชญาเป็นจำนวนมากเหล่านี้: นับจากการนิยามความหมาย, การทำให้เป็นหมวดหมู่, การแยกแยะเกี่ยวกับศัพท์คำว่า"ความรู้" ซึ่งได้รับมาโดยตรงจากผลงานของนักปรัชญามากมาย แน่นอน ทฤษฎีต่างๆทางปรัชญานั้น ดูเหมือนจะเป็นแกนกลางซึ่งเป็นรากฐานต่างๆของ KM - แต่ในหนทางใดล่ะที่พวกมันมีนัยสำคัญ และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

แม้ว่าความกว้างขวางอันนี้ จะอิงอาศัยฐานรากทางปรัชญาและนักปรัชญาทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความเชื่อมโยงกันจริงๆระหว่าง"ทฤษฎีทางปรัชญา" กับ "รายละเอียดในทางปฏิบัติของ KM" นั้น ค่อนข้างจะอ่อนแอมาก ปัญหาคือมันไม่ชัดเจนนักที่ว่า ความคิดทางปรัชญาต่างๆ จริงๆแล้ว ได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างไรต่อความเข้าใจในเชิงทฤษฎี และเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงกับเรื่องของ KM

ยกตัวอย่างเช่น ในงานของ Nonaka and Takeuchi (1995) แม้ว่าจะได้มีการพูดถึงกันมากมายเกี่ยวกับบรรดานักปรัชญาและปรัชญาในช่วงบทต้นๆก็ตาม แต่เมื่อพวกเขาเคลื่อนต่อไปข้างหน้า สู่การสนทนาถึงรายละเอียดในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของ KM ดูเหมือนว่าพวกเขาจะทำการเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงความคิดต่างๆทางปรัชญา ซึ่งพวกเขาได้พูดถึงมาก่อนหน้านั้นน้อยมาก หรือแทบไม่ได้เชื่อมโยงถึงมันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันอิงอาศัยไอเดียต่างๆทางปรัชญาที่ชัดเจนน้อยมาก

ในการสนทนาเชิงปฏิบัติของพวกเขาเกี่ยวกับ การที่ใครคนหนึ่งจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับโครงการในการจัดการความรู้ เกือบจะพูดได้เลยว่า การสนทนากันทางปรัชญาซึ่งได้รับการนำเสนอออกมามากมาย ในความสนใจนี้เป็นเพียงเรื่องปลีกย่อยหรือเรื่องที่อยู่รอบนอก มากกว่าที่จะเป็นการตระเตรียมความเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งในการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องของ KM

ดังนั้นมันจึงไม่ชัดเจนว่า ไอเดียความคิดต่างๆทางปรัชญาได้ตระเตรียมอะไรที่มากกว่าเป็นบริบทหนึ่งในบทนำสำหรับการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องของ KM ของพวกเขาเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันไม่เป็นการชัดเจนว่า การอิงอาศัยใดๆของพวกเขาเกี่ยวกับพื้นฐานทางปรัชญา ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นกรอบโครงร่าง KM ของพวกเขา

ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าหรือประโยชน์ในการที่จะมองเข้าไปในรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันที่แท้จริงระหว่าง"ปรัชญา"กับ"KM" - กล่าวคือ พยายามจ้องดูว่า แต่ละสาขาวิชาได้ให้นิยามความหมาย KM กันอย่างไร(how) ทำไม(why)แนวความคิดดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญสำหรับแต่ละสาขาวิชา และอะไร(what)ที่แต่ละสาขาวิชาได้พูดถึงแนวความคิดนี้ เป็นต้น

ในที่นี้สมควรที่จะเน้นว่า การสนทนาของข้าพเจ้าจะโฟกัสลงไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของ KM กับ เรื่องของปรัชญาเป็นปฐม ดังที่มันได้รับการปฏิบัติกันภายในขนบประเพณีของการวิเคราะห์แบบตะวันตก(Western Analytic tradition) ด้วยเหตุนี้คำว่า"บรรดานักปรัชญา"ซึ่งข้าพเจ้าอ้างถึง ณ ที่นี้ ก็คือบุคคลเหล่านั้นที่ทำงานอยู่ภายใต้ขนบจารีตการวิเคราะห์แบบตะวันตกเกี่ยวกับปรัชญา และเมื่อไรก็ตามที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า"ปรัชญา" โดยทั่วไปแล้วข้าพเจ้ากำลังอ้างถึงขนบประเพณีดังกล่าวนั่นเอง

ขนบจารีตนี้ได้ย้อนรอยกลับไปยังบรรดานักปรัชญากรีกโบราณ และได้ส่งทอดอิทธิพลอย่างลึกซึ้งให้กับเหล่านักปรัชญาทั้งหลาย อย่างเช่น Descartes; บรรดานักประสบการณ์นิยม เช่น Hume และ Locke และนักอุดมคตินิยมชาวเยอรมัน Kant; บรรดานักปรัชญาราวต้นคริสตศตวรรษที่ 20 อย่างเช่น Frege, Russell, และ Wittgenstein; และนักปรัชญาอเมริกันสมัยใหม่ อย่าง Quine, Davidson, Kripke, และ Rawls

ขนบจารีตอันนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่มักได้รับการเรียกขานบ่อยๆว่า จารีตทางปรัชญาแบบ"ภาคพื้นทวีป"(continental tradition in philosophy) ที่เลื่อนไหลผ่านผลงานของบรรดานักคิด อย่างเช่น Neitzche, Hegel, Heidigger, Husserl, Derrida และ Levinas. อันนี้มีรากเดียวกันกับขนบจารีตแบบวิเคราะห์(analytic tradition) แต่ได้แยกตัวออกมาอย่างแหลมคมในเทอมต่างๆ ทั้งในส่วนของวิธีการและชนิดของคำถามต่างๆที่มันพยายามตอบ

บางคนได้ให้อัตลักษณ์ถึงความแตกต่างดังนี้คือ:
ขนบจารีตแบบวิเคราะห์(analytic tradition) เป็นงานที่แหลมคม แคบแต่ลึกซึ้ง มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ข้อถกเถียงเกิดความชัดเจนและมีความถูกต้องแม่นยำ
ในขณะที่ขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป(continental tradition) เป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ลึกซึ้ง ค่อนข้างเอาใจใส่กับประเด็นปัญหาทางการเมือง วัฒนธรรม และรวมถึงสถานการณ์ของมนุษย์มากกว่าโดยทั่วๆไป

เหตุผลของข้าพเจ้าในการโฟกัสลงไปที่ขนบจารีตการวิเคราะห์แบบตะวันตก มากกว่าขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีปมีอยู่สองประการ คือ

ประการแรก ส่วนใหญ่ของเรื่อง KM ที่จริงแล้ว ได้อิงอาศัยขนบจารีตอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ใช้เรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ของ Cartesian (มีรากมาจาก Desartes) และบรรดาผู้รับช่วงสืบทอดในหนทางดังกล่าว ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาเหล่านี้จึงชัดเจนว่าคู่ควรกับการวิเคราะห์

ประการที่สอง และเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ขนบจารีตแบบวิเคราะห์สามารถนำเสนอความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสำคัญให้กับเรื่องของ KM ได้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับวิธีการศึกษาบางอย่างที่เห็นด้วยหรือรับรองในขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป ซึ่งน่าสนใจที่ว่า ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในทางปรัชญา ซึ่งเป็นประโยชน์มากที่สุดบางอย่างสำหรับเรื่องของ KM มาจากขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป เนื่องจากวิธีการศึกษานั้น มีแนวโน้มที่จะกวาดตามองอย่างกว้างๆไปที่ความเกี่ยวโยงกับเรื่องสังคม การเมือง และความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติที่รายรอบแนวความคิดดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกว่า วิธีการศึกษาแบบภาคพื้นทวีปสามารถมีแนวโน้มที่เกี่ยวโยงกับคำถามต่างๆซึ่งค่อนข้างกว้างมากเกินไปสำหรับความเกี่ยวพันกับเรื่อง KM และในการกระทำเช่นนั้น ก็ได้สูญเสียความเชื่อมโยงที่สำคัญไประหว่าง"ความรู้"และ"ความจริง"

ในข้อพิจารณาดังกล่าว ช่วงตอนท้ายของส่วนนี้ข้าพเจ้าจะอภิปรายถึงวิธีการศึกษาเชิงวิเคราะห์ต่อคำถามทั้งหลายข้างต้น ซึ่งสามารถที่จะนำเสนอ KM ด้วยแนวทางที่สำคัญบางอย่าง

สิ่งหนึ่งซึ่งได้เข้ามาจู่โจมนักปรัชญาแนววิเคราะห์ เมื่อพวกเขาได้เผชิญหน้ากับเรื่องของ KM เป็นครั้งแรกก็คือ วิธีการที่ศัพท์คำว่า"ความรู้"(knowledge)ถูกใช้นั่นเอง เมื่อบรรดานักปรัชญาทั้งหลายพูดคุยเกี่ยวกับ"ความรู้" พวกเขามีแนวโน้มที่จะหมายถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งแตกต่างไปเลยทีเดียวกับการที่นักเขียนเรื่อง KM อ้างอิงถึง"ความรู้"

โดยแบบแผนแล้ว บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้ให้นิยามความหมาย"ความรู้" ในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนตัวอันหนึ่งโดยแก่น ซึ่งผูกพันกับข้อเท็จจริงที่เป็นจริงต่างๆ(true facts)เกี่ยวกับโลก: ความรู้เป็นความจริงของปัจเจก(an individual's true), และเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล(justify belief) ความรู้ที่พัวพันมากไปกว่าความเชื่อในข้อเท็จจริงที่แน่นอนอันหนึ่งเกี่ยวกับโลกของใครบางคนคือ : รู้บางสิ่งอย่างแท้จริงซึ่งคุณจะต้องเชื่อมัน, คุณจะต้องมีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีในการเชื่อว่ามันเป็นความจริง และมันจะต้องเป็นจริงด้วย

ด้วยเหตุนี้ วิธีการศึกษาตามขนบจารีตในเรื่องญานวิทยา(epistemology) - ทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ - แรกเริ่มได้ถูกนำไปเกี่ยวพันกับ "ความรู้คืออะไร และมันสามารถได้รับการพิสูจน์อย่างไร มากกว่าไปสนใจว่าความรู้ได้ถูกสร้างขึ้นและถูกใช้กันอย่างไร?" วิธีการศึกษาอันนี้ที่จะนิยามความรู้ มันตรงข้ามอย่างชัดเจนกับการนิยามความหมายที่นำเสนอเป็นแบบแผนอยู่ในเรื่องราวของ KM ยกตัวอย่างเช่น

ในตำราเบื้องต้นเกี่ยวกับ"การจัดการความรู้"(knowledge management) Rumizen ได้ให้นิยามความหมายความรู้ในฐานะที่เป็น "ข้อมูล ในบริบทของการผลิตความเข้าใจที่สามารถทำการได้"(2002:6, 288) ในทำนองเดียวกัน Davenport & Prusak ได้ให้นิยามความรู้ว่า:

"ความรู้คือส่วนผสมที่เลื่อนไหลของประสบการณ์ที่ได้รับการวางโครงร่าง, เป็นคุณค่าต่างๆ, ข้อมูลในเชิงบริบท, และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่ชำนาญการ ซึ่งได้นำเสนอกรอบหรือโครงร่างอันหนึ่งขึ้นมา เพื่อการประเมินและการวบรวมประสบการณ์และข้อมูลใหม่ๆ. มันให้กำเนิดและถูกประยุกต์ใช้ในใจของบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ในองค์กรต่างๆ บ่อยครั้งมันได้รับการฝังตรึงไม่เพียงอยู่ในเอกสารต่างๆหรือในคลังความรู้เท่านั้น แต่ยังอยู่ในงานประจำ, กระบวนการ, การปฏิบัติ และบรรทัดฐานขององค์กรด้วย"(1998: 5)

นิยามความหมายที่เป็นทางการนี้เกี่ยวกับความรู้เป็นสิ่งที่โต้เถียงกันมากทีเดียว และเป็นหัวข้อหนึ่งของการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกระฉับกระเฉงตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักปรัชญาทั้งหลายมีแนวโน้มในการเห็นด้วยว่า นิยามความหมายอันนี้มันถูกต้องเพียงหยาบๆ และการโต้เถียงส่วนใหญ่เป็นเรื่องรายละเอียดที่ลึกลงไปต่างๆเกี่ยวกับวิธีการนี้

นิยามความหมายข้างต้น ไม่ได้มองว่า"ความรู้เป็นเรื่องความจริงส่วนตัวโดยสาระ, หรือเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล", แต่กลับมีความนึกคิดอันหนึ่งเกี่ยวกับ "ความรู้ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในเชิงปฏิบัติอันหนึ่ง สำหรับประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับการวางกรอบแทน เป็นการแบ่งปันความเข้าใจต่างๆและการช่วยเหลือ เกี่ยวกับภารกิจทั้งหลายในทางปฏิบัติ"

กล่าวให้ชัดก็คือ สำหรับ KM "ความรู้" คือบางสิ่งบางอย่างซึ่งแตกต่างไปจากความเข้าใจของปัจเจกชนเท่านั้น ในข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับโลก - มันกลับกลายเป็นเครื่องมือในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงอันหนึ่ง สำหรับการจัดการอย่างชำนิชำนาญหรือควบคุมโลก. ในความหมายนี้มันคือสิ่งที่ Iivari เสนอเอาไว้เป็น"ข้อสรุป 4 ข้อเกี่ยวกับความรู้"ดังต่อไปนี้คือ:

- ความรู้เป็นเรื่องของชุมชน (Knowledge is communal)
- ความรู้เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ (Knowledge is activity-specific)
- ความรู้เป็นสิ่งที่ได้รับการเผยแพร่ (Knowledge is distributed)
- ความรู้เป็นประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม (Knowledge is cultural-historical)

(Iivari 2000: 261)

จากมุมมองหรือทัศนียภาพของญานวิทยาตามขนบจารีต วิธีการให้นิยามความหมายความรู้ลักษณะนี้ ฟังดูแล้วรู้สึกแปลกๆแน่ การศึกษาข้อสรุปเหล่านี้ในฐานะนักปรัชญาวิเคราะห์คนหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่างแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้นี้ กับ แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ดังที่บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้นิยามมันขึ้นมาเป็นแบบแผน ถ้าเผื่อว่าความรู้ โดยแก่นหรือสาระแล้วเป็นเรื่องส่วนตัว ทำอย่างไรมันถึงสามารถเป็นของชุมชนหรือถูกเผยแพร่ได้?

ความแตกต่างกันข้างต้น สามารถได้รับการอธิบายได้ดีที่สุดโดยการทำความเข้าใจถึงวิธีการที่แตกต่าง ซึ่งทั้งสองสาขาวิชาได้ศึกษาถึงปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับการนิยามความรู้ และการทำความเข้าใจว่า ทำไมสาขาวิชาเหล่านี้จึงสนใจในแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ในประการแรก

ในทางตรงข้าม KM ไม่ค่อยสนใจที่จะโฟกัสลงไปที่ความรู้ที่มีเหตุผลพิสูจน์ได้มากนัก แต่มันกลับสนใจในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความรู้แทน ทั้งนี้เพื่อที่จะไปเกี่ยวกับข้องกับภารกิจในเชิงปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งพัวพันอยู่กับกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของความรู้(knowledge-based activity)

ตามลำดับ สาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวกับ"ปรัชญา"และ"KM" ได้ศึกษาคำถามเกี่ยวกับการนิยามความรู้ในหนทางที่แตกต่างกันมาแต่ต้น ความแตกต่างหลักๆของพวกมัน วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดานักปรัชญาทั้งหลาย เดิมทีเดียว ให้ความเอาใจใส่กับปัญหาเกี่ยวกับวิมตินิยม(scepticism - มีความสงสัย หรือกังขาคติ เป็นที่ตั้ง), ในทางตรงข้าม KM กลับจ้องมองไปที่ความรู้ในเทอมต่างๆของการปฏิบัติได้ต่างๆ

อันนี้คือความแตกต่างกันขั้นพื้นฐาน และมันได้น้อมนำไปสู่แนวความคิดที่ต่างกันเกี่ยวกับการให้นิยามความหมาย และความสำคัญของความรู้

แง่มุมส่วนตัวเกี่ยวกับความรู้ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นมาจากวิธีการที่บรรดานักปรัชญาทั้งหลาย ได้ศึกษาถึงคำถามเกี่ยวกับสิ่งซึ่งได้ก่อร่างสร้างความรู้ที่แท้จริงขึ้นมา ข้อถกเถียงต่างๆร่วมสมัยในทางญานวิทยา โดยสาระแล้ว ได้ย้อนรอยกลับไปสู่ผลงานของ Rene Descartes และวิธีการของเขาเกี่ยวกับความสงสัย

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญา_km
หมายเลขบันทึก: 39681เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท