ศักยภาพในการจดจำของมนุษย์ สร้างนกแก้วนกขุนทองให้เป็นพญาอินทรีย์ที่ยิ่งใหญ่


ผมเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ล้วนแต่มีเหตุผล มีที่มาที่ไปเสมอถ้าเราใฝ่ศึกษาให้รู้ถึงข้อเท็จจริง แต่ถ้าเราเชื่อแล้วลอกเลียนความเชื่อเหล่านั้นมาโดยไม่พยายามศึกษาให้รู้ถึงข้อเท็จจริงรากเหง้าในสิ่งเหล่านั้น เราก็คงทำไปจนเป็นความเคยชิน ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินสื่อออกมาทำนองว่าคุณครูชอบสอนให้เด็กๆท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทอง ซึ่งตอนนั้นผมก็ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จนวันหนึ่งมีโอกาสดีมากๆในชีวิตได้เข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์ วันนี้ผมจึงขอบูรณาการนำเสนอข้อเท็จจริงและชี้ให้ทุกท่านเห็นว่า มันมีความจำเป็นครับที่เราทุกคนต้องเป็น "นกแก้วนกขุนทองมาก่อนจะเป็นพญาอินทรีย์ที่ยิ่งใหญ่"

            แรงจูงใจในการเขียนบทความฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม ในหลักสูตร “เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพความจำ ๓๐๐%” [1]ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ท่านวิทยากรผู้สอนได้รับการถ่ายทอดมาจาก Mr. Ron White – World#๑ Memory Expert and USA Memory Champion ๒๐๐๙ เป็นแนวทางที่ชาวกรีกเริ่มฝึกใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๔๗๗ ปัจจุบันเรียกกันว่า Einstein memory step[2] หลักสูตรนี้ทำให้ผมนั้นเกิดความทึ่งในศักยภาพของมนุษย์และเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของผมเสมอมาว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ (พลังงานศักย์ของมนุษย์) ติดตัวมาโดยกำเนิด ผมเรียกตามภาษาที่ผมเข้าใจเองว่า “แรงแห่งกรรม” แต่ทุกวันนี้เราอาจจะไม่สามารถดึงเอาสิ่งที่เป็นพลังความสามารถตรงนี้ออกมาใช้ได้ทั้งหมด (มากบ้างน้อยบ้างตามระดับความสามารถและความแตกต่างของบุคคล) ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ เพราะตอนแรกความคาดหวังของผมก่อนเข้ารับการอบรมไม่ได้ตั้งไว้ถึง ๓๐๐% ตามที่หลักสูตรเขาบอกมาหรอกนะครับ (คิดอยู่ในใจว่าขอแค่๒๐% ก็พอแล้วละ) เนื่องจากลักษณะนิสัยถาวรของผมจะเป็นคนที่ไม่ถนัดเรื่องความจดจำยอมรับแบบตรงๆเลย แต่ผมก็เข้าใจนะครับว่าการจดจำจากการรับรู้เป็นกระบวนการเริ่มต้นที่มนุษย์นำสิ่งที่เร้าผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้ง ๕+๑ (ตา , หู , จมูก , ลิ้น , สัมผัส และ ใจ) เพียงแต่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าศักยภาพของมนุษย์ทุกคน สามารถพัฒนากระบวนการจดจำจากการรับรู้นี้ได้ดีขึ้นจริงๆยึกฝึกฝนยิ่งดีและดียิ่งๆขึ้นไปเรื่อยๆ (รับรู้แล้วนำมาต่อยอดสร้างองค์ความรู้ ฝึกฝน ฝึกมากได้มากอยู่ยาวนาน ยั่งยืนกับตัวเรา  แต่ถ้าไม่ใส่ใจต่อยอดองค์ความรู้ ไม่ฝึกฝนก็ได้เพียงแค่รับรู้ความรู้สึกดีๆว่าครั้งหนึ่งเราเคยอบรมหลักสูตรนี้แล้วก็จบกันไปเท่านั้นเอง)

            ตามที่เรียนให้ทุกท่านทราบในเบื้องต้นว่า ตัวผมไม่ได้ใส่ใจกับศักยภาพทางด้านนี้ในตัวเองมากนัก เนื่องจากผมไปมุ่งเน้นเรื่องการเรียนรู้ โดยการสร้างองค์ความรู้มากกว่าการจดจำ ทำให้บ้างครั้งผมก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่าความจำผมสั้น และจะเลือกจดจำเฉพาะข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ , สังเคราะห์องค์ความรู้ต่อไปมากกว่าการที่จะต้องไปท่องไปจำเหมือน “นกแก้ว นกขุนทอง” ตามที่นักวิชาการยุคปัจจุบันเขาวิพากษ์วิจารณ์กัน และ ณ วินาทีต่อจากนี้ไปเป็นจุดในการปรับเปลี่ยนกรอบแนวความคิดเดิมของผม อย่างน้อยการเข้าฝึกอบรมครั้งนี้ก็ทำให้ผมกลับมาเข้าใจแนวการสอนของคุณครูที่โรงเรียนสมัยตอนที่ผมเริ่มเข้าเรียนอนุบาล (ย้อนกลับไปประมาณ ๓๕ ปี) ว่าทำไมเด็กๆต้องเป็นนกแก้ว นกขุนทองกันก่อนที่จะเป็นพญาอินทรีย์ที่สง่างาม 

            กอ เอ๋ย กอไก่ , ขอไข่ อยู่ในเล้า , ขอขวด ของเรา , คอควาย เข้านา ...... เอ-แอนท มด , บี-เบิร์ด นก , ซีแคท แมว , ดีด็อก สุนัข .........ยังจำกันได้ไหมครับ ตอนนี้ลูกสาวผมอายุ ๔ ขวบ อยู่อนุบาล๑ ก็ยังท่องอยู่ได้ยินได้ฟังทีไรคิดถึงคุณครูจังเลย ก่อนหน้าที่ผมจะเข้าฝึกอบรมหลักสูตรนี้ก็ไม่เข้าใจนะครับว่าทำไมต้องท่อง? ท่องไปทำไม? มีประโยชน์อย่างไร? 

กระบวนการ ๕ ขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ( Five Steps to a Einstein  Memory)

            ท่านวิทยากรผู้สอนกล่าวกับผู้เข้าฝึกอบรมว่า หลักสูตรนี้จะไม่ค่อยได้พบเจอในบ้านเรามากนักมีคนเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ได้เรียนรู้หลักการนี้และประสบความสำเร็จ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้มาเพราะมันสามารถทำให้ผมต่อยอดแตกแขนงองค์ความรู้ที่ผมมีอยู่ได้มาก และมีทักษะในการจดจำเพิ่มขึ้นมาเป็นของสมนาคุณ หลักการนี้เป็นกระบวนการดังนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รายละเอียดมีดังนี้ครับ

            ๑. Focus  หมายถึง การรู้ตนเองว่าเรากำลังจะรับรู้อะไร กำหนดให้ชัดเจนด้วยจิตที่มีสมาธิ โดยปล่อยให้เป็นไปภายใต้สภาวะที่เป็นธรรมชาติ (อย่ากดดัน , บีบคั้น , คาดคั้นตัวเราเองอย่างเด็ดขาด) ก่อนการฝึกอบรมผมกดดันตัวเองมากจนเกินไป มีความรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรมชาติในการกระทำ ผลก็คือความเครียดที่เกิดขึ้นกับตนเอง

            ๒. Files หมายถึง สิ่งยึดเหนี่ยวที่เราคุ้นเคยกับชีวิตเรา(ภายนอก) ข้อมูลสิ่งที่จะจำนั้นมิได้หมายความถึงการใส่เข้าไปจนแออัดยัดเหยียด แน่นเต็มสมองของมนุษย์เรา แต่เราจะต้องอาศัยการใช้สภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคยในวิถีชีวิตของเรา ฝากสิ่งที่เราจะจำเอาไว้ (เป็นข้อเท็จจริงที่ผมเพิ่งจะได้รับรู้จริงๆก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรับรู้มาก่อน)และก็ได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์ผู้สอนว่า ในสมัยที่โลกเรายังไม่มีเทคโนโลยีในการเก็บ การบันทึกข้อมูลเรื่องราวความเป็นมา คนยุคนั้นเขาจดจำและเก็บข้อมูลที่สำคัญๆด้วยวิธีการเดียวกันนี้มาก่อน ฟังแล้วน่าทึ่งมากๆ

            ๓. Pictures หมายถึง การสร้างภาพ , สัญลักษณ์ ข้อมูลสิ่งที่เราต้องการจะจำ ใส่ไว้ใน File โดยแต่ละคนต้องใช้จินตนาการของตนเองเท่านั้น สร้างเป็นภาพ , สัญลักษณ์ของข้อมูลสิ่งที่เราจะจำและมองให้เห็นด้วยจิตที่มีสมาธิขณะนั้นให้ได้ (ตรงนี้จะแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะใช้วิธีการเดียวกันแต่จินตนาการของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ไข่” อาจจินตนาการภาพไปได้หลากหลาย เช่น ไข่นกกระทา , ไข่นกกระจอกเทศ , ไข่เป็ด , ไข่ไก่ , ไข่ห่าน , ไข่เต่า , ไข่ดาว , ไข่เจียว ,ไข่ตุ๋น .....ฯลฯ) ไม่มีใครผิดหรอกครับไม่ว่าจะจินตนาการอย่างไรของให้เราระลึกได้แล้วกันว่า สิ่งนี้คืออะไรในมโนทัศน์ของเรา เพราะไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวเราเอง

            ๔. Glue เป็นขั้นตอนที่สำคัญ กล่าวคือ เอา Pictures ที่เป็นมโนทัศน์โดยการวาดด้วยจินตนาการของเรามา “ทากาว” แปะยึดติดไว้ให้แน่นใน Files หลักการที่ท่านอาจารย์ผู้สอนแนะนำก็คือ “เราต้องติดด้วยความประทับใจ” ให้มากที่สุด (อย่าลืมว่ามันเป็นจินตนาการไม่มีใครเห็นภาพของเราหรอกนะครับ ดังนั้นมันจึงสามารถกระทำได้อย่างไร้ขอบเขตตามที่เราพึงปรารถนาเลยทีเดียว)

            ๕. Review หมายถึง การส่งผ่านข้อมูลสิ่งที่ต้องการจำเข้าสู่ส่วนความจำของสมองด้วยจิตที่เป็นสมาธิ พิจารณาทบทวนอย่างเป็นระบบโดยยึดหลักการว่าทุกครั้งที่รับรู้ข้อมูลใหม่ต้องทบทวนข้อมูลที่รับรู้มาก่อนหน้านั้นก่อนเสมอทุกครั้ง ท่านอาจารย์ผู้สอนมีข้อแนะนำว่า ข้อมูลที่เรานำมาทบทวนจะต้องเป็นข้อมูลที่รับรู้แล้วเป็นเชิงบวก ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่พึงปรารถนาก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเชิงบวกก่อน แล้วตัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทิ้งไป ไม่ควรนำเข้าไปให้เปลืองพื้นที่ในสมองส่วนการรับความจำ

            กระบวนการ ๕ ขั้นตอนฯเป็นเพียงหลักของเทคนิควิธีการนี้เท่านั้นครับผม อ่านจบแล้วยังไม่สามารถเห็นผลได้หรอกนะครับ (เนื่องด้วยความแตกต่างในการเรียนรู้) ที่สำคัญอย่างมากและท่านอาจารย์ผู้สอนเน้นกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมมากๆก็คือ หลักสูตรนี้เป็น Skill (ทักษะ) ถ้าจะให้ได้ผลเป็น ๓๐๐% , ๔๐๐% , ๕๐๐% ...... หรือเท่าใดก็ตามสุดแต่ใจเราปรารถนา ต้องฝึกฝนและฝึกฝน เท่านั้น ไม่มีใครช่วยเรา หรือเนรมิตให้เราเป็นไปได้ มาถึงตรงนี้คงพอจะทราบเหตุผลกันบ้างหรือยังครับว่า ทำไมเด็กๆยังต้องท่อง กอ เอ๋ย กอไก่ , ขอไข่ อยู่ในเล้า , ขอขวด ของเรา , คอควาย เข้านา ...... เอ-แอนท มด , บี-เบิร์ด นก , ซีแคท แมว , ดีด็อก สุนัข ......... ลองพิจารณาดูซิครับว่า สิ่งใดเป็น Files , สิ่งใดเป็น Pictures สุดท้ายผลที่ตามมาคืออะไร?

            ไม่ใช่เพราะวิธีการนี้หรือครับที่ทำให้ทุกวันนี้ท่านเป็นนักบริหาร เป็นนัธุรกิจที่มีชื่อเสียง เป็นผู้รู้ที่เสพวัฒนธรรมตะวันตกมาฝังหัวลูกหลานของเราเอง แล้ววิพากษ์วิจารณ์แนวทางภูมิปัญญาดั่งเดิมในวิถีไทยของเราว่าล้าสมัย ล้าหลัง จนไม่คิดจะใส่ใจในการยึดถือปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเลยครับเท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้ว่าสิ่งที่เราไปเลียนรู้เขามา (จริงๆแล้วต้องเรียนรู้) ทำให้เราไม่แตกฉานถึงแก่นแท้ที่มาขององค์ความรู้นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดก็ถ่ายทอดด้วยวิธีการที่สืบต่อกันมา ขาดการต่อยอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอในรูปแบบที่แปลกใหม่จึงทำให้ขาดความเอาใจใส่เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าแท้ของการท่องจำ ที่เป็นพื้นฐานของการก่อกำเนิดขีดความสามารถในความจำที่มีประสิทธิภาพของเด็กๆที่เป็นอนาคตของประเทศชาติให้เป็น นกแก้ว นกขุนทองที่น่ารัก ก่อนที่จะเติบโตมาเป็นพญาอินทรีย์ที่สง่างามโดยไม่ถูกขังอยู่ในกรง (ความสง่างามจะเกิดขึ้นโดยความเป็นธรรมชาติเท่านั้น ถึงแม้จะอยู่ในกรงทองก็ไม่มีความสง่างาม)

            สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณท่านวิทยากร อ.สมควร  ฉายศิลปรุ่งเรือง ผู้จัดการทั่วไป บจก.ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ ที่ให้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับกรอบแนวคิดของผมให้ชัดเจน ซึ่งผมถือว่าเป็นวิทยาทานที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในชีวิต ขอขอบคุณบุคลากรของแผนกทรัพยากรบุคคลทุกท่านที่เอื้ออำนวยความสะดวก พร้อมกับการต้อนรับที่อบอุ่นให้กับทีมผู้เข้ารับการฝึกอบรม ขอขอบคุณจากใจจริงครับ



[1] วิทยากรผู้สอน :  อาจารย์สมควร  ฉายศิลปรุ่งเรือง , ผู้จัดการทั่วไป บจก. ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ , ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

[2] ที่มา “เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพความจำของท่าน ๓๐๐% “ , เอกสารประกอบการฝึกอบรม . ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ : ๒

หมายเลขบันทึก: 396315เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนบทความได้ดีมากเลยค่ะ ขอชื่นชม พอเห็นแล้วเลยอดเข้่ามาคุยเพิ่มเติมไม่ได้ เนื่องจากทิพเป็นผู้จัดสัมมนาการพัฒนาสมองและความจำ ของ Ron White ซึ่งเป็นวิทยากรจากอเมริกาที่อ.สมควร ได้เรียนด้วย และคุณรอน ไวท์ จะกลับมาสอนในประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน หลักสูตร Bring the Mind of Einstein to Your Organization และ 12-13 พฤศจิกายน 2557 หลักสูตร Memory Certification Program - Train the Trainer ที่โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท สุขุมวิท 20 

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.aiminline.com/Ronwhite.html

หากคุณธนากรณ์หรือผู้ที่ผ่านมาเห็นข้อมูลสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม/ ติดต่อจองบัตรได้ที่ AIM Client Service: 02-513-0123, 086-810-4434 , 085-131-3835 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท