วิเคราะห์มิลินทปัญหา: ปรินิพพานปัญหา ถามเรื่องปรินิพพาน (ตอนจบ)


สำนวนนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนจะเป็นสำนวนประเภทอธิบายความมากกว่าการแปลความ ท่านอธิบายกายิกทุกข์ ว่าเป็นผล หรือเป็นเชื้อสายมาจากปัจจัย คือ กิเลสแต่ชาติก่อน ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายในอรรถกถาอิติวุตตกะว่า กรรมอันเป็นเหตุในภพก่อนของภิกษุผู้อรหันต์นั้น ยังไม่สิ้นไปเพียงใด อินทรีย์ ๕ มีจักษุเป็นต้น ก็ยังตั้งอยู่เพียงนั้นนั่นแล เพราะความที่อินทรีย์เหล่านั้นยังไม่ดับ ด้วยสามารถแห่งการดับโดยไม่เกิดขึ้นได้ คือ ย่อมประสบ ได้แก่ ย่อมได้อารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่น่าปรารถนาและที่ไม่น่าปรารถนา ย่อมได้สุขและทุกข์อันเป็นวิบาก ด้วยทวารเหล่านั้น

๕.สำนวนฉบับสรุปความ สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส 

 

ปรินิพพานปัญหา[๑]

พระเจ้ามิลินท      :  คนที่ไม่เกิดอีกในภาพหน้า จะมีทุกข์บ้างหรือไม่

พระนาคเสน        :  มีบ้างก็มี  ไม่มีก็มี  คือท่านที่เป็นพระอรหันต์แต่ยังไม่ปรินิพพานนั้น ย่อมมีกายิกทุกข์  คือ ทุกข์ประจำกาย  เช่น เรื่องเบา เรื่องหนัก  เป็นต้น  แต่ไม่มีเจตสิกทุกข์ คือ ทุกข์ทางจิต  อันเกิดจากกิเลส  กายิกทุกข์  (และเจตสิกทุกข์)  ของท่านนั้นเป็นผล  หรือเป็นเชื้อสายมาจากปัจจัย  คือ กิเลสแต่ชาติก่อน  มาในชาตินี้ก่อนเป็นพระอรหันต์  ท่านยังมีทั้งสองทุกข์  เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เหลือทางเดียวคือกายิกทุกข์  เมื่อถึงกาลเวลาอันสมควร ท่านก็ปรินิพพาน  กายิกทุกข์ก็ดับไปด้วย  การนิพพานนั้นมีสอง คือ ขันธนิพพาน  ดับขันธ์ห้า  กับกิเลสนิพพาน  ดับกิเลส  (ยังมีอีกสองคืออุปาทิเสส-อนุปาทิเสสปรินิพพาน)  พระอรหันต์ผู้ถึงกิเลสนิพพานแต่เมื่อยังไม่ดับ (ตาย) ท่านก็ยังมีขันธ์  เมื่อมีขันธ์ก็ต้องมีกายิกทุกข์  เมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว  ท่านก็ถึงขันธนิพพาน  ดังนั้น  แม้ท่านมีกายิกทุกข์อันเป็นเรื่องประจำตามธรรมชาติของขันธ์  อันเป็นเหตุให้คนที่ไม่รู้เรื่องนิพพานสองอย่าง เข้าใจว่าเมื่อมีทุกข์อยู่ย่อมไปนิพพานไม่ได้และเกิดสงสัยว่าพระอรหันต์ทำไมไปนิพพานได้ ทั้งๆ ที่มีทุกข์ทางกาย  คือ กายิกทุกข์

 

                   ข้อวิจารณ์

สำนวนนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนจะเป็นสำนวนประเภทอธิบายความมากกว่าการแปลความ   ท่านอธิบายกายิกทุกข์  ว่าเป็นผล  หรือเป็นเชื้อสายมาจากปัจจัย  คือ กิเลสแต่ชาติก่อน  ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายในอรรถกถาอิติวุตตกะว่า   กรรมอันเป็นเหตุในภพก่อนของภิกษุผู้อรหันต์นั้น  ยังไม่สิ้นไปเพียงใด  อินทรีย์  ๕   มีจักษุเป็นต้น   ก็ยังตั้งอยู่เพียงนั้นนั่นแล เพราะความที่อินทรีย์เหล่านั้นยังไม่ดับ  ด้วยสามารถแห่งการดับโดยไม่เกิดขึ้นได้     คือ   ย่อมประสบ  ได้แก่  ย่อมได้อารมณ์มีรูปเป็นต้น   ที่น่าปรารถนาและที่ไม่น่าปรารถนา  ย่อมได้สุขและทุกข์อันเป็นวิบาก  ด้วยทวารเหล่านั้น[๒]

นอกจากนี้ยังท่านยังใช้คำว่า  กิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพาน ในสำนวนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการอันเด่นชัดที่ทำให้ความหมายของนิพพาน ๒ เน้นมาที่การกระทำหรือเหตุการณ์มากขึ้น การบัญญัติคำว่า กิเลสปรินิพพาน และขันธปรินิพพาน ขึ้นใช้ และกำหนดให้กิเลสปรินิพพานเป็นความหมายของสอุปาทิเสสนิพพาน  พร้อมกับให้ขันธปรินิพพานเป็นความหมายของอนุปาทิเสสปรินิพพาน พึงเข้าใจว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ท่านมุ่งภาวะ ดังข้อความว่า “พระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ในสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ จักยังพระอัตภาพให้เป็นไป เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย คือจักทรงอยู่ด้วยทิฏฐธรรมสุขวิหาร     จนกว่าจะทรงบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” [๓]

             ในตอนท้ายของสำนวนแปล  ท่านยังได้ตระหนักถึงปัญหาความเข้าใจคาดเคลื่อนของนิพพาน   ด้วยสำนวนที่ว่า  “อันเป็นเหตุให้คนที่ไม่รู้เรื่องนิพพานสองอย่าง เข้าใจว่าเมื่อมีทุกข์อยู่ย่อมไปนิพพานไม่ได้และเกิดสงสัยว่าพระอรหันต์ทำไมไปนิพพานได้ ทั้งๆ ที่มีทุกข์ทางกาย  คือ กายิกทุกข์”  ซึ่งปัญหาดังกล่าวปรากฎอยู่ในสำนวนแปลอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปแล้วท่านนำมาสรุปไว้ในสำนวนนี้

 

นิพพานในพุทธศาสนาเถรวาท

 

ความหมายนิพพานตามรูปศัพท์

นิพฺพานํ  พระนิพพาน , การดับ      วิเคราะห์ได้ว่า   

๑.   วานสงฺขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตตฺตา นิพฺพานํ   สภาวธรรมที่ออกพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ (นิ + วาน, แปลง วฺ เป็น พฺ,  ซ้อน พฺ)

๒.  นิพฺพาติ  เอเตน ราคคฺคิอาทิโกติ นิพฺพานํ   สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น (นิ บทหน้า วา ธาตุในความหมายว่าดับ, สงบ ยุ ปัจจัย ,  ซ้อน วฺ, ลบที่สุดธาตุ, แปลง วฺว เป็น พฺพ, ยุ เป็น อน,  ทีฆะสระหน้า)

๓.  นตฺถิ เอตฺถ วานํ, น วา เอตสฺมึ อธิคเต ปุคฺคลสฺส วานนฺติ นิพฺพานํ    สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา  หรือสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา (น +  วาน,  แปลง อ เป็น อิ,  แปลง วฺ เป็น พฺ,  ซ้อน พฺ)[๔] 

 

 ความหมายและลักษณะตามสภาวะของนิพพาน

๑. ความสิ้นกิเลสและความสิ้นทุกข์   

ปรากฏในอัคคัปปสาทสูตรว่า “ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด วิราคะ (ความคลายกำหนัด) คือความสร่างเมา ความดับความกระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น”[๕]  ในทุติยอัญญตรภิกขุสูตร  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุ คำว่า “ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ” นี้เป็นชื่อของนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ” [๖] ซึ่งพระสารีบุตรก็อธิบายนิพพานในความหมายนี้เช่นกันในนิพพานปัญหาสูตรโดยกล่าวไว้ว่า “ผู้มีอายุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะนี้เรียกว่า นิพพาน” [๗]

๒. ความดับขันธ์และภพ

ปรากฏในปฐมทัพพสูตรว่า   “ร่างกายได้แตกดับไปแล้ว    เวทนาทั้งหมดดับสนิทแล้วสัญญาก็ดับลง สังขารทั้งหลายก็สงบระงับ วิญญาณก็ถึงความดับสูญ”[๘]   ในนิพพานธาตุสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงนิพพานในฐานะความสิ้นตัณหาและความดับภพไว้ว่า “นิพพานธาตุประการหนึ่งเป็นสภาวะมีให้เห็นในอัตภาพนี้ ชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาที่นำไปสู่ภพ ส่วนนิพพานธาตุอีกประการหนึ่งเป็นสภาวะมีในภายภาคหน้า ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งปวงทั้งหลายโดยสิ้นเชิง” [๙] 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในปริวีมังสนสูตรว่า “ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุด...รู้ชัดว่า “หลังจากตายแล้ว การเสวยอารมณ์ทั้งหมด ไม่น่าเพลิดเพลินจักเย็น จักเหลืออยู่เพียงสรีรธาตุในโลกนี้เท่านั้น” [๑๐]

๓. ความเป็นบรมสุข

ปรากฏในอัญญตรอุปาสกวัตถุว่า  “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้วย่อมทำนิพพานให้แจ้ง   เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”[๑๑]

ลักษณะ “สุขัง” หรือการมีความสุขของนิพพานเป็นคนละอย่างกับสุขของอัตตา  เพราะสุขที่อัตตามีนั้นเป็นสุขประเภท “สุขเวทนา”  เพราะมโนทัศน์ของ “สุข” ในนิพพานต่างจาก “สุข” ในปรัชญาสำนักอื่น  ซึ่งเป็นสุขชนิดที่ต้องมีการเสพเสวย  สุขของนิพพานคือการไม่มีทุกข์อย่างสิ้นเชิง  เพราะดับเวทนาและสัญญาหรือดับขันธ์  ไม่ใช่การมีตัวตนไปเสพอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนั้นการบอกว่า นิพพานมีลักษณะสุขังที่ตรงข้ามกับทุกขังจึงน่าจะเป็นอัตตาจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะสุขังที่ว่านั้นไม่ได้หมายถึงความสุขอย่างที่เชื่อว่าอัตตามี และไม่ใช่สุขเวทนาที่ตรงข้ามกับทุกขเวทนาที่เป็นความหมายหนึ่งของทุกขังในไตรลักษณ์[๑๒]

๔. ภาวะที่มีความสงบและไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ 

อายตนะที่ไม่มีธาตุ ๔ และอรูปฌาน ๔ หมายถึง จิตหรือสภาวะทางจิตที่ปรากฎแก่พระอรหันต์มากกว่า  เพราะนอกจากจิตที่ดับสนิทหลังปรินิพพานจะไม่มีธาตุ ๔  และอรูปธาตุ ๔ แล้ว  แม้แต่ในขณะมีชีวิตอยู่ ธาตุ ๔ และอรูปฌาน ๔ เหล่านี้ก็ “ไม่มีอยู่” ใน “ความคิด” ของพระอรหันต์ได้โดยการไม่สำคัญหรือยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระอานนท์ที่ทูลถามว่าภิกษุสามารถได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุ ๔ ว่าเป็นธาตุ ๔ และในอรูปฌาน ๔ ได้อย่างไร พุทธพจน์ดังกล่าวมีอยู่ว่า

พุทธพจน์ในปฐมสมาธิสูตรว่า  “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า “ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความ สละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน ภิกษุทั้งหลาย มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ใน ธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่า เป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”[๑๓] พระพุทธพจน์นี้แสดงว่า ขณะเจริญสมาธิ ผู้เข้าสมาธิยังมีสัญญา แต่สัญญานี้มีแต่นิพพานคือภาวะที่สงบไม่มีกิเลส และความคิดปรุงแต่งหรือสัญญาชนิดอื่นปนอยู่ด้วย 

๕. ภาวะที่เที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง

พระพุทธเจ้าตรัสกับเหมกะมาณพว่า  “เหมกะ  นิพพานบทอันไม่แปรผัน         เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น  ได้  ยิน   ได้รับรู้และได้รู้ในโลกนี้”[๑๔] นิพพานบทหรือทางนิพพานอันไม่แปรผันนี้พระสารีบุตรอธิบายไว้ในเหมกมาณวปัญหานิทเทสว่า “คำว่า อันไม่แปรผัน ได้แก่ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา”[๑๕]

๖. ภาวะที่เป็นอมตะ

ในรตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ”บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าเป็นผู้ประกอบตนไว้ดี  มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย  บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตผล หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า”[๑๖]

๗. ภาวะหลังการตายของพระอรหันต์

ในพรหมชาลสูตร “  เทวดาและมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลังจากกายแตกสลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว  เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก”[๑๗]  จะเห็นว่าสิ่งที่เทวดาและมนุษย์มองไม่เห็นหลังตถาคตตายก็คือ “กาย” อันได้แก่ร่างกายหรือรูปขันธ์ เพราะกายที่กล่าวถึงในพุทธพจน์นี้แตกสลายได้   พุทธพจน์นี้แสดงว่า หลังปรินิพพานกายของพระอรหันต์จะแตกดับและไม่เกิดกายใหม่ขึ้นอีก จึงไม่มีใครเห็นกายของตถาคตอีกเพราะกายเก่าก็แตกสลายเปื่อยเน่าไป กายใหม่ก็ไม่เกิดอีก

ในอลคัททูปมสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่า “พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่”  แต่พระองค์ทรงปฏิเสธและตรัสว่า “ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้ เราบัญญัติทุกข์และความดับทุกข์” จากนั้นทรงชี้ให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ไม่ใช่ของเรา  ควรละขันธ์ ๕การละขันธ์ ๕ จักเป็นประโยชน์แก่พวกเรา

“เปรียบเหมือนบุรุษยกหม้อที่ร้อนออกจากเตาเผาหม้อ  วางบนพื้นที่เรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงหายไป  เหลืออยู่เพียงกระเบื้องหม้อเท่านั้น  อุปมานี้ฉันใด  อุปไมยก็ฉันนั้นภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุด  ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุดอยู่” เมื่อเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็นที่สุด  ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยเวท นาที่มีชีวิตเป็นที่สุด”  รู้ชัดว่า “หลังจากตายแล้ว  การเสวยอารมณ์ทั้งหมด ไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็น  จักเหลือเพียงสรีรธาตุในโลกนี้เท่านั้น” [๑๘]

พุทธพจน์นี้แสดงว่า เมื่อดับขันธปรินิพพาน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จะ “เย็น” คือ “ดับสนิท”  ไม่ปรากฎขึ้นมาเสวยอารมณ์ใด ๆ อีก เหลืออยู่แต่สรีรธาตุคือรูปหรือธาตุ ๔ อยู่ในโลกนี้  กล่าวอีกอย่างคือเหลือแต่ร่างกายที่เราเรียกว่า “ศพ” ที่เปื่อยสลายกลายเป็นธุลีดินในที่สุด  เหมือนหม้อดินที่ถูกยกจากเตาเผามาตั้งไว้บนพื้น  ความร้อนที่เปรียบเหมือนเวทนาและวิญญาณก็จะ “เย็น” หรือ “ดับ” ไป เหลือแต่ตัวหม้อที่เปรียบเหมือนสรีรธาตุ  พระพุทธเจ้ายังชี้ให้เห็นว่า  เมื่อสังขาร (ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร) ดับแล้ว วิญญาณก็ไม่พึงปรากฎ ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง[๑๙]

 

สรุป

ลักษณะของเนื้อหาในมิลินทปัญหา ข้อ ๔   วรรคที่ ๒  จัดเป็นวิมติเฉทปัญหา  คือถามเพื่อตัดความสงสัย   ลักษณะปัญหาในวรรค ๒ ทั้งหมด เป็นการถามแบบไม่จำกัดเรื่อง   โดยจุดมุ่งหมายหลักในการถามนั้นท่านมุ่งคำอธิบายความแตกต่างระหว่างนิพพาน ๒[๒๐]    คือความแตกต่างระหว่างสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ    สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ นิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์   อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ นิพพานไม่มีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์    แม้นิพพานจะเป็นสุข  และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข  แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุขไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดใจเพลิดเพลินด้วย  เมื่อรับรู้อารมณ์ต่างๆ จากภายนอก ทางตา ทางหู  ทางจมูก เป็นต้น  พระอรหันต์ยังคงเสวยเวทนาที่เนื่องด้วยอารมณ์เหล่านั้น ทั้งที่เป็นสุขเป็นทุกข์  และไม่สุขไม่ทุกข์ เช่นเดียวกับคนทั่วไป  แต่มีข้อพิเศษตรงที่ท่านเสวยเวทนาอย่างไม่มีกิเลสร้อยรัด  ไม่ติดเพลินหรือข้องขัดอยู่กับเวทนานั้น  เวทนานั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา เป็นการเสวยเวทนาชั้นเดียว เรียกสั้นๆ ว่า เสวยแต่เวทนาทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต ไม่ทำให้เกิดความเร่าร้อนกระวนกระวายภายใน  เรียกว่าเวทนานั้นเป็นของเย็นแล้ว  การเสวยเวทนาของท่านเป็นการเสวยชนิดที่ไม่มีอนุสัยตกค้าง  ต่างจากปุถุชนที่เมื่อเสวยสุขก็จะมีราคานุสัยตกค้าง  เสวยทุกข์ก็มีปฏิฆานุสัยตกค้าง  เสวยอารมณ์เฉยๆ ก็มีอวิชชานุสัยตกค้าง คำสำคัญที่แสดงภาวะทางจิตของผู้บรรลุนิพพานคือคำว่า อาโรคยะ แปลว่า ความไม่มีโรค  ในที่นี้มุ่งเอาความไม่มีโรคทางจิต ดังพุทธพจน์ที่ตรัสสอนคฤหบดีผู้เฒ่าคนหนึ่งว่า “ท่านพึงศึกษาดังนี้ว่า : ถึงแม้ร่างกายของเราจะเจ็บป่วยออดแอด แต่จิตของเราจักไม่ออดแอดไปด้วย[๒๑] 

บรรณานุกรม

๑.                 เอกสารชั้นปฐมภูมิ (Primary Sources)

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  พ.ศ.๒๕๓๙ .  กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๓๙.

 

๒.                 เอกสารชั้นทุติยภูมิ (Secondary Sources)

ปัญญา สละทองตรง. มิลินทปัญหา เล่ม ๑. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๓.

ปัญญา สละทองตรง. มิลินทปัญหา เล่ม ๒. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๔.

พระธรรมกิตติวงศ์, ศัพท์วิเคราะห์.  กรุงเทพมหานคร :  เลี่ยงเซียง.  ๒๕๕๐

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) , พุทธธรรม.  กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๖.  

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ . พระพุทธศาสนามหายานในอินเดีย พัฒนาการและสารัตถธรรม .กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๘. 

พระสิริมังคลาจารย์ . มังคลัตถทีปนี . ฉบับ CD-ROM ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ยิ้ม ปัณฑยางกูร (ผู้แปล). ปัญหาพระยามิลินท์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๖

วัชระ  งามจิตรเจริญ. นิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาท : อัตตาหรืออนัตตา. วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขา ปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๔๔.

_________, พุทธศาสนาเถรวาท, ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เอกสารสำเนาเย็บเล่ม, น. ๑๐๑ – ๑๐๒

สมเด็จพระญาณวโรดม. มิลินทปัญหา. พิมพ์ในวโรกาสสถาปนาสมณศักดิ์ ๒๕๔๖

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)  แปลและเรียบเรียง.  คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา. กรุงเทพมหานคร :  ธนาเพรส จำกัด. ๒๕๔๘.

 

 


[๑] มิลินทปัญหา  สำนวนแปลฉบับสรุปความ คณะศิษยานุศิษย์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานสมโภชสุพรรณบัฏสมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส   ๕  ธันวาคม ๒๕๔๖  หน้า ๒๓ - ๒๔

[๒] พระสิริมังคลาจารย์ . มังคลัตถทีปนี 

[๓]  พระธรรมปิฎก ,  พุทธธรรม  (เชิงอรรถ)  หน้า ๒๗๑

[๔] พระธรรมกิตติวงศ์, ศัพท์วิเคราะห์.  กรุงเทพมหานคร :  เลี่ยงเซียง.  ๒๕๕๐ . หน้า ๓๖๑

[๕] ขุ.อิติ. ๒๕/๙๐/๔๖๑

[๖]  สํ.ม. ๑๙/๗/๑๐

[๗]  สํ. สฬา. ๑๘/๓๑๔/๓๓๕

[๘]  ขุ. อุ. ๒๕/๗๙/๓๔๒

[๙]  ขุ. อิติ. ๒๕/๔๔/๓๙๔

[๑๐]  สํ. นิ. ๑๖/๕๑/๑๐๒

[๑๑]  ขุ. ธ. ๒๕/๒๐๓/๙๕

[๑๒] วัชระ  งามจิตรเจริญ. นิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาท : อัตตาหรืออนัตตา . วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขา ปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๔๔. หน้า ๒๐

[๑๓] อํ.ทสก.๒๔/๖/๑๐

[๑๔] ขุ.จูฬ. ๓๐/๑๑๑/๒๕

[๑๕] ขุ.จูฬ. ๓๐/๕๕/๒๒๓

[๑๖] ขุ. ธ. ๒๕/๗/๑๑

[๑๗] ที.สี. ๙/๑๔๗/๔๖

[๑๘] สํ. นิ. ๑๖/๕๑/๑๐๒

[๑๙] ม.มู. ๑๒/๒๔๖-๒๔๗/๒๖๓-๒๖๕

[๒๐] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก .  พุทธธรรม  .  กรุงเทพมหานคร :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๖  หน้า ๒๖๑ - ๒๗๒

[๒๑] พระธรรมปิฎก .  พุทธธรรม  .  กรุงเทพมหานคร :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๖  หน้า ๒๔๘

หมายเลขบันทึก: 396260เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบความเป็นมาของมิลินทปัญหาวรรคที่ 3 กับ 4 ค่ะพอจะสรุปได้ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท