ความเข้าใจในข้อสมมติทางเศรษฐศาสตร์


           วิชาเศรษฐศาสตร์นอกจากจะมีศัพท์เฉพาะค่อนข้างมากแล้ว หากท่านผู้ศึกษาและผู้อ่านพึงสังเกตจะเห็นได้ว่าในวิชาเศรษฐศาสตร์จะมีข้อสมมติหรือสมมติฐานกำกับในทางทฤษฎีมากมายเต็มไปหมด ซึ่งทำให้ในหลาย ๆ ท่านอาจจะมีข้อเคลือบแคลงและสงสัยในประเด็นพื้นฐานดังต่อไปนี้

            

          ประเด็นที่หนึ่ง ทำไมต้องมีข้อสมมติ ? : เกี่ยวเนื่องจากเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาแขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์ ที่ว่าด้วยการศึกษาที่มีมิติของความสัมพันธ์ทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแลกเปลี่ยน การบริโภค รวมทั้งการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมของมนุษย์นั้นไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เพศ อายุ การศึกษา รสนิยม เป็นต้น ที่สำคัญไม่มีใครสามารถที่จะควบคุมเหตุปัจจัย (ตัวแปร) เหล่านั้นได้ (ไม่เหมือนกับการทดลองของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถควบคุมตัวแปรได้มากกว่า) พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปในลักษณะพลวัตร (dynamic) ด้วยการถูกบีบคั้น บังคับจากสภาวะแวดล้อมให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาไม่อยู่คงเดิม ดังนั้น ในการอธิบายทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่พึงมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อสมมติกำกับไว้

 

           ประเด็นที่สอง มีข้อสมมติมากมายแล้วจะนำไปใช้ได้จริงเหรอ ? : ในประเด็นดังกล่าวนี้เป็นคำถามที่มักประสลพบเจอบ่อยมากในทางเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการนำเอาทฤษฎีต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้บริหารจัดการทางเศรษฐกิจ แน่นอนที่สุดนี่ถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ไม่น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง หรือบางคนอาจจะมีทัศนะที่เข้มข้นจนเลยเถิดไปถึงขนาดกล่าวว่า เรียนไปก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ในประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนขออธิบายและทำความเข้าใจโดยการตั้งคำถามเพื่อไล่เรียงลำดับความสำคัญในประเด็นเหล่านี้ก่อนว่า เช่น

 

                   -  ในทางปฏิบัติเราสามารถที่จะทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ทุกคนที่พึงมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงที่ ได้หรือไม่ ?

                   - ในทางปฏิบัติเราสามารถที่จะควบคุมปัจจัยเหตุของคนทุกคนที่มีผลต่อการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เช่น รสนิยม การศึกษา จำนวนประชากร รายได้ ฤดูกาล เป็นต้น ได้หรือไม่ ?

 

          ซึ่งคำถามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและเหตุปัจจัยดังกล่าวที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่มีใครสามารถที่จะควบคุมได้ทั้ง เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนมีรสนิยมในการบริโภคสินค้าและบริการเหมือนกันได้หมด หรือ เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนมีรายได้เท่ากันทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะบังคับให้คงที่ได้ ความไม่แน่นอน จึงเกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าเรามีแนวทางในการวิเคราะห์โดยการตั้งเป็น ข้อสมมติ ขึ้นมาก็จะทำให้การวิเคราะห์มีความสมเหตุสมผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น เช่น

 

                  - เมื่อเราต้องการดูการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่มีผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง เราก็ สมมติ ให้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการบริโภคอื่น ๆ คงที่ไม่ว่าจะเป็น รสนิยมหรือราคาของสินค้าและบริการนั้น ๆ โดยกำหนดให้เฉพาะรายได้เปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเดียว หรือในทำนองเดียวกัน

                  - ถ้าเราจะดูพฤติกรรมการบริโภคเมื่อราคาของสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป เราก็ สมมติ ให้ปัจจัยเหตุที่มีผลกระทบต่อการบริโภคอื่น ๆ คงที่ไม่ว่าจะเป็น รายได้ รสนิยม ราคาสินค้าชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้เฉพาะราคาสินค้าและบริการนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเดียว

เป็นต้น

 

                   จะพึงสังเกตเพิ่มเติมได้ว่า : ในส่วนของเหตุปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวที่เป็นในลักษณะนามธรรมอย่างเช่น รสนิยม นั้น ไม่สามารถที่จะวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ดังนั้น ส่วนใหญ่ในทางเศรษฐศาสตร์จะสมมติหรือกำหนดให้มีค่าคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว รสนิยมในแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน รวมทั้งบางคนเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสหรือบางคนก็ตกกระแส เป็นต้น

 

                 ในการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้นั้นควรพึงตระหนักอยู่เสมอว่า ด้วยข้อจำกัดทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมเหตุปัจจัยในทางทางทฤษฎีได้ทั้งหมด เวลานำไปใช้จึงต้องมีการปรับหรือประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ในทางมหภาคกรณีของการนำหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น บางครั้งปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ต่างกันตรงที่กาล (เวลา) การแก้ไขปัญหาก็อาจจะแตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันและเกิดขึ้น ณ เวลาเดียวกัน แต่ต่างกันที่เทศะ (สถานที่) การแก้ไขปัญหาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปได้เหมือนกัน  

 

             ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการในการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้นั้น จะต้องมีความคิดที่ยืดหยุ่นและมีมุมมองในองค์รวมทั้งหมด เพราะการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์เป็นการวิเคราะห์แนวทางของพฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่ ทั้งหมด เฉกเช่นเดียวกับวิชาทางสังคมศาสตร์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ จิตวิทยา มนุษย์ศาสตร์ เป็นต้น ก็ล้วนแต่มีข้อจำกัดในการควบคุมเหตุปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหมดเช่นเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดคือ การนำหลักการของกระบวนการทางแนวคิด ทฤษฎีเหล่านี้ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396231เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อธิบายได้ดี เข้าใจง่ายมาก ๆ ขอบคุณมากๆ ค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท