ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

วิสัยทัศน์การบริหารองค์กร


การบริหารองค์กร กศน.อย่างมีประสิทธิภาพ

กรอบแนวคิดในการบริหารองค์กร

นายศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

นักบริหาร กศน.ชั้นสูง (บบส.กศน. รุ่นที่ 1)

ผู้อำนวยการ (วิทยฐานะเชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

**************************

จากเจตนารมณ์และสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 เพื่อให้สามารถพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากกลไกและการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและเป้าหมายดังกล่าว สมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่อง มีการบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตามศักยภาพ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา อันจะมีผลในการพัฒนากำลังคนและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

            แต่อย่างไรก็ดี จากสภาพปัจจุบันหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. ประสบกับภาวการณ์ขาดแคลนอัตรากำลังสำหรับมาบริหารและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551  ข้าพเจ้า จึงมีกรอบแนวคิดในการบริหารองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องการบริหารจัดการและการดำเนินการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นที่พึงพอใจของสังคม และสามารถสนองตอบต่อกลุ่มเป้าหมาย ของ กศน.ได้ โดยมี วิสัยทัศน์ คือ  “ประสานงานเยี่ยม  เปี่ยมวิชาการ  ใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร”  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

            1.  ประสานงานเยี่ยม  เนื่องจากหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน. ประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง อัตราครู กศน.  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหาร และบุคลากรต้องดำเนินการประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  ซึ่งหลายหน่วยงานและองค์กรมีภารกิจคล้ายคลึงกับ กศน. เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามาคมและมูลนิธิต่าง ๆ เป็นต้น  โดยหน่วยงานและองค์ดังกล่าวนี้มีทรัพยากรทางการบริหารมากมาย ทั้งงบประมาณ และบุคลากร  และหากมีการบูรณาการแผนปฏิบัติการ่วมกันแล้วก็จะทำให้การบริหารและดำเนินการ จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น   

2.  เปี่ยมวิชาการ  ดังได้กล่าวแล้วว่าหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน. ประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคน  จึงจำเป็นต้องใช้หลักวิชาการมาใช้เป็นกรอบในการบริหารและปฏิบัติการ  ดังนั้น "วิชาการ" จึงหมายรวมถึง "องค์ความรู้" โดยรวมของแต่ละสาขาวิชา ที่เป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง เชี่ยวชาญ และต้องมีความเข้าใจทั้งระบบ  สิ่งสำคัญของงานวิชาการของ กศน.ก็คือ องค์ความรู้ที่บุคลากรของ กศน.ได้สั่งสมกันมาเกือบ 3 ทศวรรษ ซึ่งหากมีการจัดการองค์ความรู้เป็นอย่างดี และนำมาจัดระบบข้อมูลสารสนเทศแล้ว ก็จะทำให้การบริหารและการปฏิบัติงานมีความสะดวก รวดเร็ว สามารถทุ่นเวลาเรื่องระบบและแนวความคิดที่จะนำไปใช้ในการบริหารและการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

            3.  ใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร  เป็นหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ประกอบด้วยหลักพื้นฐาน 6 ประการ คือ 1) หลักนิติธรรม หมายถึง การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ  ไม่ใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตนบุคคล คำนึงถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรม รวมทั้งต้องบริหารและปฏิบัติอย่างมีความรัดกุมและรวดเร็วด้วย 2) หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้อง ดีงาม การส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ วินัย และความสุจริต 3) หลักความโปร่งใส หมายถึง การดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย และมีกระบวนการให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของการบริหารและการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน 4) หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การให้โอกาสให้บุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการบริหารจัดการเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และหรือ คณะทำงานโดยให้ข้อมูล ความคิดเห็น  คำปรึกษา แนะนำ ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ  ในหลักการข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารและการปฏิบัติงาน กศน. 5) หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนัก   ในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การให้ความสำคัญกับปัญหาการบริหารจัดการ  ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากกระทำของตนเอง 6) หลักความคุ้มค่า หมายถึง การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม รวมทั้งรณรงค์ให้บุคลากรมีความประหยัด ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

สรุปได้ว่า  ในบทบาทของการบริหารจัดการองค์กร ผู้บริหารทั้งหน่วยงานและ   สถานศึกษาของ กศน. ต้องมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรซึ่งจะต้องทำหน้าที่ทั้งการบริหารและการปฏิบัติงานไปพร้อมกันในบางครั้ง ได้แก่ การอำนวยการ  การควบคุม  การวางแผน การจัดองค์กร การแต่งตั้งบุคลากร และการประเมินผล  โดยผู้บริหารจะต้องมีการมองการณ์ไกล รู้จักปรับกระบวนทัศน์การทำงาน สู่วัฒนธรรมการทำงานแบบมีค่านิยมสร้างสรรค์ รวมทั้งหากใช้วิสัยทัศน์การบริหารองค์กรที่ว่า  “ประสานงานเยี่ยม  เปี่ยมวิชาการ      ใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร”  ในการบริหารจัดการหน่วยงานและ       สถานศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน. ที่กำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังอยู่ในปัจจุบัน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และจะทำให้การบริหารและการปฏิบัติงาน กศน.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นที่     พึงพอใจของสังคม ผู้รับบริการ และกลุ่มเป้าหมาย กศน. ในที่สุด.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395902เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนคุณครูครับ

ชอบคำขวัญครับ

ประสานงานเยี่ยม เปี่ยมวิชาการ ใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร

ขอบคุณครับอาจารย์โสภณ ที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท