วิชาการสายรับใช้สังคมไทย ๑๐. แนวคิดของ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์


 

          รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ส่งบทความมาให้   เขียนเมื่อปีที่แล้ว   แต่มาตรงกับเรื่องการตีพิมพ์แบบ open access   และตรงกับการยอมรับนับถือผลงานวิชาการที่มีผลกระทบต่อบ้านเมืองหรือสังคม ตรงกับแนวคิดวิชาการสายรับใช้สังคมไทย   ผมจึงขออนุญาตเอามาลงไว้   เพื่อให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องการสร้างระบบผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทยไม่ใช่ของใหม่   มีคนคิดตลอดมา เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสทำให้เป็นระบบและเกิดขึ้นจริง

          ข้อเขียนนี้ เชื่อมโยงไปถึงวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ   ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการสร้างระบบวิชาการสายรับใช้สังคมไทย     
 

 

สาร  biodata ฉบับที่ 99
กติกาเพื่ออะไร (2)

 

เรียน สมาชิก biodata ทุกท่าน


          สาร biodata ฉบับนี้ขอต่อเรื่องกติกาการสร้างความรู้ในระบบอุดมศึกษาอีกสักตอน  เพราะเขียนแล้ว “ติดลม” 

          ฉบับที่แล้วมีสมาชิกให้ความเห็นเข้ามามากว่าที่เขียนนั้นอาจจะเพียงมุมมองเดียว  ซึ่งขอชี้แจงให้ทราบทั่วกันว่า   “สาร biodata” ฉบับที่แล้วเสนอเฉพาะประเด็นที่สมาชิกท่านหนึ่งจุดประกายขึ้นมาเท่านั้นเอง  คือเรื่องการวิจัยแบบบูรณาการและการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งขัดแย้งกับการเอาผลงานไปใช้ประโยชน์สาธารณะ   ดังนั้น  การ debate ในมุมมองอื่นขออนุญาตเอาไว้คราวหน้า  “สาร biodata” ฉบับที่แล้วกล่าวถึงปัญหาเชิงระบบและกติกา   ฉบับนี้ขอต่อเรื่องกติกาอีกสักตอนว่า

          ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจธรรมชาติว่า  มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจินตนาการ  มีความสามารถในการคาดการณ์  มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่กับกติกา  และแสวงหาประโยชน์จากกติกา  (เห็นได้ชัดจากการมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาการเมือง  ที่นักการเมืองต่างใช้รัฐธรรมนูญหรือระเบียบการประชุมสภาฯ ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง  แม้กระทั่งแบบสีข้างเข้าถู)  เมื่อมนุษย์ปรับตัวได้ตามกติกาแล้วก็เกิดความเคยชิน  และถือว่าเป็นวิถีปกติที่เป็นธรรมชาติ  (ทั้งๆ ที่มี change resistance เมื่อออกกติกาใหม่ๆ)  ดังนั้น กติกาในระบบวิจัย (ที่ทำให้เป็นธรรมชาติ) จึงสำคัญมากในการกำกับการทำวิจัย (ที่คำว่า “กำกับ” มักจะฝืนธรรมชาติ)

          วันนี้จึงขอพูดเรื่องกติกาที่ให้อาจารย์ทำวิจัย
 

          กติกานี้คือมีผลตอบแทนในการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ  กติกาให้คนทำวิจัยมีง่ายๆ แค่นี้เอง  (นักวิจัยบางท่านทำเพราะความรัก  โดยไม่สนใจประโยชน์จากกติกาก็มีครับ  ไม่ได้เหมารวม)  ซึ่งได้พูดไปแล้วในฉบับก่อน   ในระบบยังกติกา “กลไกตรวจรับผลงาน” มาเป็น player ที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นเรื่องพูดกันให้ชัด

          ฉบับนี้เรามาพิจารณาถึง “กลไก” การ “ตรวจรับผลงาน” กันบ้าง  เพราะกลไกเหล่านี้ก็เหมือนกรรมการบนเวทีมวย  ที่นักมวยต้องเชื่อฟัง

          เริ่มในสมัยแรกนั้น  เขาไม่รู้จะตรวจคุณภาพอย่างไรดี  จึงกำหนดให้มีคณะผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการตรวจรับผลงาน  เพราะงานส่วนมากคือหนังสือ ตำรา  ที่แบบชนิดใครใคร่พิมพ์ก็พิมพ์กัน (การพิมพ์ตำราน่าจะเกิดในช่วงปี 2520  ตอนนั้นมีปัจจัยเร่งจากการพยายามให้มีตำราวิทยาศาสตร์เป็นภาษาไทย  พวกพจนานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์ก็เริ่มเกิดในช่วงนั้น)    ต่อมามีระบบการส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ  เริ่มจากวารสารในประเทศก่อน  จึงเกิดวารสารระดับคณะวิชาจำนวนมาก (ส่วนมากล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว)   แล้วยกระดับมาเป็นการตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติ (โดยเฉพาะเมื่อการจัดอันดับทำได้ง่ายขึ้น  เพราะระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มเข้าถึงง่าย  มีระบบตรวจหา citation ที่เข้าถึงง่าย   สิ่งเหล่านี้มากับ www  ซึ่งผมจำได้ว่าเริ่มมีประมาณปี 2530) 

          ทั้งๆ ที่การตีพิมพ์งานวิชาการในวารสารมีมาเป็นร้อยปีแล้ว (สมัยเซอร์นิวตันก็มีวารสารแล้ว)  ทั้งๆ ที่วารสารต่างประเทศเขาคุมคุณภาพด้วยการ review โดยบรรดา “ผู้รู้ทั่วโลก” ที่เขามีฐานข้อมูลติดต่อกันอยู่   แต่เมืองไทยยัง “ตรวจรับผลงาน” แบบเดิม  คือยังคงมีกรรมการในประเทศอีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งแสดงว่ากติกาเราไม่ได้ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง  ไม่รู้จักใช้ระบบคุณภาพที่เหนือกว่ามา accredit งาน   จะว่าไปแล้วมันเหมือนเอางานที่มหาเปรียญตรวจแล้วมาให้เฌรน้อยตรวจอีกหนว่าถูกต้องไหม 

          ถ้าจะถามว่าถ้าอย่างนั้นการตรวจรับผลงานในประเทศควรพิจารณาประเด็นอะไร  ผมก็ขอตอบว่าให้พิจารณาที่การเกิดประโยชน์ (ทราบว่าปัจจุบันบางแห่งก็ทำอยู่แต่ให้น้ำหนักน้อยมาก)  เพราะนี่จะเป็นการช่วยเร่งการทำวิจัยแบบบูรณาการ  ในขณะที่การตีพิมพ์มีคนกลางรับรองคุณภาพ  แต่การเกิดประโยชน์ไม่มีหลักฐานจะแจ้งอย่างการตีพิมพ์  ความยากจึงอยู่ที่การประเมินการเกิดประโยชน์   อาจจะเป็นเพราะเหตุผลนี้เราจึงไม่เปลี่ยนกติกา

          ขอเข้าเรื่องการทำวิจัยแบบบูรณาการ ที่สมาชิกบอกเล่าความอึดอัดมาว่า   ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ว่าโลกสมัยนี้ต้องการความรู้แบบบูรณาการ  ต้องสนับสนุนการทำงานเป็นทีมหลายสาขาวิชา (สกอ. เน้นเรื่องนี้เอง)   แต่กติกาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการยังไม่เปลี่ยน  คือยังคงให้น้ำหนักให้ความสำคัญที่ “ความลึก” เป็นอย่างมาก  

          เพื่อให้เข้าใจเรื่องกติกาต้องเปลี่ยน   ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นว่า  แม้แต่การตีพิมพ์ก็เปลี่ยนกติกาไปแล้ว  เพราะวารสารเขาต้องแข่งขันกัน (หาเงิน)   เขาจึงเอาจริตของนักวิจัยมาสร้างตลาด (อย่าลืมว่าจริตเหล่านี้ถูกกำกับด้วยกติกาความก้าวหน้าในวิชาชีพอีกทอดหนึ่ง)

          เดิมเราส่งไปตีพิมพ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย   เรายอมมอบลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์   เราได้ประโยชน์ที่ได้ตีพิมพ์โดยมีระบบการันตีคุณภาพ (peered review)   ส่วนสำนักพิมพ์ก็มีรายได้จากการขายความรู้ที่เราผลิตนั้น   มันเป็นการอยู่ในระบบที่พึ่งพิงกัน  ที่ “สมยอม” เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เป็นการสมยอมที่เราเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยในคุณภาพ

          มาบัดนี้เขาจับแนวทางตลาดใหม่ได้ว่า   ที่นักวิจัยต้องการคือ  อยากให้งานของตนถูก cite มากๆ  เพราะกติกาคุณภาพเริ่มมาดูที่การ cite (ซึ่งโยงถึง impact factor ของวารสาร  ที่พวกเราชอบพูดถึงกันนัก)   ดังนั้น  ด้วยเทคโนโลยี IT ที่ก้าวหน้าขึ้น  เข้าถึงง่ายขึ้น   จึงมีวารสารแบบ Open Access  คือให้คนอ่านเข้าถึงได้ฟรี   โดยการสลับ player ในระบบตลาดเสียใหม่  คือสลับ demand กับ supply   วารสารพวกนี้หันมาเก็บสตางค์จากคนตีพิมพ์  แต่ให้คนอื่นอ่านฟรี   การสลับ player ในระบบตลาดนี้น่าจะมีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพกับ citation  หาก OA Journal ไม่ควบคุมคุณภาพอย่างจริงจัง  (เพราะคนส่งพิมพ์ก็ยินดีจ่ายแลกกับผลตอบแทน)  ผู้สนใจทราบการวิเคราะห์เรื่องการถูก cite เปรียบเทียบกับ non-OA Journal สามารถหาอ่านได้จาก  http://biology.plosjournals.org/perlserv/?request=get-document&doi=10.1371%2Fjournal.pbio.0040157&ct=1   ตอนนี้มีการรุกหาลูกค้าใหม่ๆ (สมาชิก biodata คงได้รับคำชักชวนบ้างแล้ว)  เช่นที่ผมได้รับจาก http://www.bentham.org/open/JrnlsBySub.htm  มีสารพัดสาขาวิชา  โดยพยายามอธิบายข้อดีชักจูงลูกค้าว่า

 

WHY PUBLISH IN OPEN ACCESS JOURNALS?

Your article will obtain more citations.  (สิ่งล่อแรกคือ citation กันเลย)


You own the copyright to your article. (เพราะเป็นฝ่ายจ่ายเงิน)

Your article will be peer-reviewed and published very fast.


All interested readers can read, download, and/or print open access articles at no cost!


Your article can be read by potentially millions of readers, which is incomparable to publishing in a traditional subscription journal.  (ข่มคู่แข่งในระบบเดิมอีกต่างหาก  เพื่อแย่งลูกค้า)


Open Access journals are FREE to view!


Open access journals are freely available via the Internet for immediate worldwide open access to the full text of articles serving the best interests of the international research community. There are no subscription fees for open access journals. The modest open access publication costs are usually covered by the author's institution or research funds. (ชี้ช่องจ่ายให้เสร็จสรรพ)
 

          นอกจาก OA Journal แล้ว  พวก web ต่างๆ ที่อาศัยการทำตลาดจาก “จริตการถูก cite” ก็มีมากมาย  ที่รู้จักกันดีคือ  www.getcited.org  ที่เราสมัครสมาชิกแล้วเอา paper ของเราไปฝากไว้   สมาชิกคนอื่นเข้ามาอ่านและเอาไป cite ได้  อาจจะมีบ้างที่สมรู้ร่วมคิดกัน “ผลักกันเกาหลัง”  ขณะนี้ web นี้มีคนเอา paper ไปฝาก (อาจจะให้คนช่วยกันเกาหลัง) กว่า 3 ล้าน paper แล้ว  

          จะเห็นว่าในโลกนี้เกิดกติกาต่างๆ มากมายที่กำกับการทำงานวิจัยของเรา  โดยอาศัยจริตของเราเป็นตัว drive การตลาดนั่นเอง   ดังนั้น  การจะยอมรับหรือ adopt กติกาใดๆ  จึงต้องคิดให้ดี   เพราะมีผลต่อทัศนคติการทำวิจัย  และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้วย

          ดังได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า  นักวิจัยมีจริตการทำวิจัยตามที่กติกากำกับ   หมายความว่า  หากต้องการให้งานวิจัยเกิดผลเป็นการพัฒนาประเทศ   เราต้องสร้างกติกาให้ถูกต้องก่อน  เช่น วัดความสำเร็จของงานวิจัยที่การถูกนำไปใช้  และประเมินจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

          หลายท่านคงถามในใจว่าจะทำอย่างไร  รอคำตอบสัปดาห์หน้าครับ

ข่าวดีประจำฉบับ
ข้อมูล biodata ล่าสุด

 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
18  มิถุนายน 2552

 

 

          ข้างบนนั้นคือแนวความคิด   สำหรับให้ผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมไทย   ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคมไทย เอามาพิจารณา ประกอบกับแนวความคิดอื่นๆ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ส.ค. ๕๓
      
         

 

หมายเลขบันทึก: 395170เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท