หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เล่าบทเรียน SHA ที่อุดร ตอน ๓



 

        ส่วนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ได้เพิ่มงานเชิงรุกในแง่การสร้างเสริมสุขภาพ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบริการ ที่นอกจากจะยังรักษาคุณภาพอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังปรับปรุงระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบทและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งการเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ป่วยที่ยากลำบากด้วย

        งานเชิงรุกของโรงพยาบาล มีหลายด้าน  ที่น่าสนใจคือการทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ ศิลปะ และกีฬา ที่เรียกว่า “เพาะกล้า ตาโขนน้อย”

        “เพาะกล้าตาโขนน้อย” เป็นชื่อกองทุนที่จัดตั้งเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นงานสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญของโรงพยาบาล

        บรรดากิจกรรมที่กองทุนสนับสนุนดำเนินการ ได้แก่ โครงการหนังสือเล่มแรกของหนู (Book start), ตาโขนน้อยนักอ่าน, นักสืบสายน้ำ, ค่ายเยาวชนเรียนรู้ธรรมชาติ, เพาะกล้า..จิตรกรน้อย, เพาะกล้า..ดีเจเยาวชน, เพาะกล้า..นักวิทยาศาสตร์น้อย, เพาะกล้า..นักว่ายน้ำน้อย, เพาะกล้า..นักกีฬาฟุตซอล, เพาะกล้า..นักปิงปอง, เพาะกล้า..นักดนตรีน้อย และ เพาะกล้า..นักจักรยาน  ฯลฯ

        กิจกรรมเหล่านี้แม้มิได้ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ แต่ก็เป็นการค่อย ๆ ปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่จะติดตัวตลอดไป ไม่เพียงจะทำให้มีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์ และสร้างสังคมที่เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มพูนปัญญาให้เป็นปราการป้องกันตัวเองต่อการมอมเมาที่ทำลายสุขภาวะอีกด้วย

        งานเชิงรุกอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น คือ การทำงานกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลังจากที่ระบบการคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งสามารถค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่อาการยังอยู่ในระยะขั้นต้น ทีมงานโรงพยาบาลได้ทุ่มเทความตั้งใจเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ทั้งการดูแลให้บริการในโรงพยาบาล การออกไปสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิบัติตนถึงในบ้าน/ชุมชน ฯลฯ ความพยายามดังกล่าวทำให้การดูแลตัวเองของผู้ป่วยดีขึ้น โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดลงเป็นอันมาก


สอนการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยเรื้อรัง

        ด้วยเหตุที่ อ.ยุพราช เป็นอำเภอที่ห่างไกล ความสามารถในการรักษาของโรงพยาบาลจำกัดอยู่ในระดับเท่าที่เป็นอยู่ การรักษาโรคบางอย่างที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์เป็นการเฉพาะ ทางโรงพยาบาลเห็นความยากลำบากของชาวบ้านที่ต้องเดินทางออกจากพื้นที่เพื่อไปรับการรักษานอกพื้นที่ และรู้สึกเห็นต่อต่อความทุกข์ยากเหล่านั้น

        แม้ว่าโรงพยาบาลจะมีข้อจำกัดในการให้บริการ แต่โรงพยาบาลก็ไม่จำนนต่อข้อจำกัดนั้น โรงพยาบาลได้แสวงหาแนวทางที่จะช่วยชาวบ้านที่ยากลำบากเหล่านั้น ซึ่งก็สามารถก้าวพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นหลากหลายแนวทาง อาทิ การเข้ามาตรวจรักษาของจักษุแพทย์ ที่มาพร้อมเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคโดยเฉพาะเช่นเดียวกับแพทย์รักษาโรคหัวใจที่กำหนดมาตรวจให้บริการรักษาเป็นประจำทุกปี รวมไปถึงการผลิตขาเทียมให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ ฯลฯ

        ชาวบ้านที่ต้องตรวจรักษาโรคตา หัวใจ และใส่ขาเทียม จึงไม่ต้องออกไปพึ่งพาการรักษานอกพื้นที่ เนื่องจากโรงพยาบาลเอาการรักษาพยาบาลเหล่านี้เข้ามาถึงในพื้นที่


ห้องผลิตขาเทียมของโรงพยาบาล

        ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งในอำเภอด่านซ้ายคือ ไม่มีคลีนิคตรวจรักษาโรคตั้งอยู่ในพื้นที่ บุคลากรในโรงพยาบาลทั้งแพทย์และพยาบาล ไม่มีใครออกมาหารายได้ด้วยการเปิดคลีนิครักษาโรค แม้ว่าคราวหนึ่งจะมีแพทย์ท่านหนึ่งในโรงพยาบาล (ซึ่งย้ายออกไปแล้ว) ได้เปิดคลีนิคในอำเภอ แต่ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่พึงใจเข้าไปรับบริการจากทางโรงพยาบาลมากกว่า

หมายเลขบันทึก: 394005เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

การที่ไม่มีใครเปิดคลีนิค หรือเปิดแล้วอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนนิยมไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐมากกว่า เป็นการวัดประสิทธภาพการทำงานของและความเอาใจใส่ผู้ป่วยของบุคคลากรได้เป็นอย่างดีเลยนะคะ

เรียน ท่านหนานเกียรติ "หมอจิ๋ว ผอ.รพ.ด่านซ้าย เป็น ผู้นำที่น่านับถือ และ น่าเรียนรู้ ครับ"

ขอบคุณค่ะ..ขอชื่นชมงานเชิงรุก เพื่อความสุขของชุมชน..นับเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างยิ่ง..ขอให้กำลังใจนะคะ..

คุณหนานเกียรติ  ถอดบทเรียนมาได้ครบถ้วนกระบวนความ สำนวนสละสลวย  ทั้งยังสะท้อนให้เห็นมุมมองในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี

เพาะกล้าตาโขนน้อย ชื่อน่ารักจังเลยค่ะพี่หนาน

พี่หนานพิมพ์ผิดหรือป่าวค่ะ โรคหัวหรือโรคหัวใจ

  • ขอบคุณเรื่องราวดีดีที่คุณหนานเกียรตินำเสนอนะคะ...โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย  จ.เลย
  • รู้จักสมาชิกทีมโรงพยาบาลคนหนึ่ง...หมอวัฒน์  ห้องฟัน...ลุ่มลึกค่ะลุ่มลึก...ความคิด  การใช้ชีวิต  ความเป็นทีม  น่าเรียนรู้ว่าหล่อหลอมทีมนำ  จนถึงเป็นวัฒนธรรมองค์กร...ก้าวพ้นรั้วสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น

น่าสนใจค่ะ ยินดีที่ได้เห็น

การดำเนินงานดีๆของโรงพยาบาลรัฐ

สวัสดีครับ

  • แวะมาฟังเรื่องราวของ "อำเภอด่านซ้าย"  จากท่านอีกแล้วครับ
  • ขอบคุณมากๆที่นำมาแบ่งปัน

เรียนท่านIco64ที่นับถือ

  ว้าว ! บรรยากาศสวยจัง แต่ตอนนี้คุณยายขอพักการเดินทางไว้ก่อนค่ะ ยังหวาดๆกับการนั่งรถค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท