ประชาธิปไตย & คุณธรรม


ผู้นำที่ดีนอกจากจะต้องมีคุณธรรมและศีลธรรมแล้ว สิ่งที่สำคัญในการบริหารประเทศในแบบวัฒนธรรมไทยนั้นนอกจากจะต้องใช้คุณธรรมนำทางเพื่อทำให้ทุกคนบรรลุความศานติสุขร่วมกันในมิติด้านต่าง ๆ ทางสังคมแล้ว ผู้นำต้องตระหนักและพึงระลึกไว้เสมอ คือ ต้องรักษาและธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

            “การเป็นรัฐบาลหรือการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” โดยอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แห่งสหรัฐอเมริกา นับได้ว่าเป็นคำนิยามระบอบประชาธิปไตยที่ได้กลายเป็นคำนิยามยอดนิยมและเป็นที่ยอมรับมากที่สุด กะทัดรัด เข้าใจง่าย

                    -  เป็นของประชาชน สื่อความหมายถึงอำนาจอธิปไตยในแผ่นดินล้วนเป็นของประชาชนทุกคน ทั้งบุคคลในปัจจุบันและที่จะเกิดมาในอนาคต ตลอดจนรวมถึงความรับผิดชอบร่วมเพื่อดูแลปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม

                   -  โดยประชาชน การบริหารจัดการผลประโยชน์ทั้งหลายของส่วนรวมโดยประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยตรงได้ทุกคน จึงต้องมี ตัวแทน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว

                  - เพื่อประชาชน เป็นหลักประกันว่า การบริหารจัดการโดยประชาชนจะต้องมีเป้าหมายที่ให้ผลประโยชน์เป็นไปเพื่อประชาชนโดยส่วนรวม ตกถึงมือประชาชนโดยเสมอภาคเท่าเทียมกันและเป็นธรรมทุกคน

        

           บริบทดังกล่าวถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของเป้าหมายทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นของประชาชน และประชาชนได้มอบอำนาจอธิปไตยของตนให้ผู้แทนผ่านกระบวนการและวิธีการที่เรียกว่า “การเลือกตั้ง”  (Election) เพื่อให้ตัวแทนดังกล่าวเข้าไปบริหารจัดการประเทศเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตทุกด้านของคนในสังคมให้สูงขึ้น การที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่มอบอำนาจอธิปไตยของตนให้ มิใช่ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการมอบสิทธิ์โดยผูกขาดให้ผู้แทนไปใช้อำนาจโดยใจชอบ และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ดังนั้นเมื่อใดที่ผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวนั้น มีความคิดที่จะผูกขาดการใช้อำนาจไปในทางบริหารจัดการประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้งแล้ว จึงถูกต่อต้านจากประชาชนผู้มอบอำนาจให้ดังกล่าวนั้น ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะถูกพัฒนามาตามยุคสมัย เพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้แทนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ ในขณะเดียวกันผู้แทนที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนก็มีพัฒนาการทางด้านการใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องอย่างแยบยลนัก ทั้งวางกับดักในระบบการตรวจสอบของรัฐสภาให้เป็นอัมพาตใช้ขับเคลื่อนไม่ได้ รวมทั้งวางกับดักในการให้ประชาชนเสพติดประชานิยมปนเปื้อนที่เจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบมีผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องแอบแฝง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน จนเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในทางความคิดที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าตัวเองมีความชอบธรรมเพราะมาตามระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ต่อต้านก็มองว่าอำนาจที่ได้มานั้น (มีการซื้อเสียง) และใช้ไป (การบริหารจัดการประเทศ โดยเอื้อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) ไม่ชอบธรรมขาดซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม จุดชนวนกลายเป็นวิวาทะจากทั้งสองฝ่ายที่ฝ่ายหนึ่งอ้างความเป็นประชาธิปไตย และฝ่ายหนึ่งอ้างเรื่องคุณธรรม เสมือนหนึ่งว่าทั้งประชาธิปไตยและคุณธรรมยืนอยู่คนละขั้วแยกออกจากกันต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วประชาธิปไตยกับคุณธรรมเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนและหล่อหลอมให้เกิด “การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” อย่างแท้จริงในสังคม แต่สิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยและคุณธรรมแยกออกจากกันในสังคมยุคปัจจุบันนั้นเกิดจากการที่สังคมติดกับดักในเรื่อง “ปกติ”

               -  ผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยได้สร้างความเคยชินในเรื่อง การได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยผ่านการ ซื้อเสียง จนทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ทุกพรรค อยู่ที่จำนวนว่าจะมากหรือน้อยก็เท่านั้นเอง

 

               -  ผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยได้สร้างความเคยชินในเรื่องการใช้ไปซึ่งอำนาจอธิปไตยผ่านช่องทางในการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จนทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่มีอยู่ทุกรัฐบาล อยู่ที่จำนวนว่าจะมากหรือน้อยก็เท่านั้นเอง

เป็นต้น

 

            ซึ่งกระบวนการได้มาและใช้ไปของอำนาจอธิปไตยโดยผู้แทนดังกล่าวได้สร้างกับดักให้คนในสังคมมองว่า การซื้อเสียง และ การกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เป็นเรื่องปกติ จนหยั่งลึกเข้าไปในระบอบประชาธิปไตย เปรียบเสมือน หลักการของระบอบประชาธิปไตยมีส่วนผสมที่เป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญคือ ความเสมอภาค (Egalitaranism) ความเป็นอิสระเสรี (Libertarianism) เหตุผลนิยม (Rationalism) และ ศีลธรรมนิยม (Moralism) เป็นต้น เมื่อมีสารปนเปื้อน (การซื้อเสียง และการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) ซึ่งถูกวางกับดักให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมจนชาชินฝังรากลึกเข้าไปในส่วนผสมของหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว ส่วนผสมใหม่ของหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงมีความเข้มข้นของคุณธรรมและจริยธรรมลดน้อยลง ซึ่งถ้าหากว่าสารปนเปื้อนดังกล่าวยังคงแทรกซึมปนเปื้อนลงไปเรื่อย ๆ และมากขึ้นเฉกเช่นในปัจจุบัน ก็จะสังเกตได้ว่าส่วนผสมหลักเดิมที่สำคัญคือ ศีลธรรมและคุณธรรม ก็จะเจือจางลงจนในที่สุด ประชาธิปไตยปนเปื้อนรูปแบบใหม่ก็จะผลักดันให้ส่วนผสมของ “ศีลธรรมและคุณธรรม” หลุดวงโคจรออกไป ทำให้คนในสังคมบางส่วนที่ถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำ พยายามที่จะแยกประชาธิปไตยออกจากคุณธรรม เพราะติดกับดักที่ว่า  

 

“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ฝังรากลึกทางสังคมที่ยอมรับว่าการได้มา (ซื้อเสียง) และการใช้ไป (กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) ในอำนาจของผู้แทนเป็นเรื่องปกติในสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ยาก ดังนั้น ศีลธรรมและคุณธรรมจึงต้องปรับตัวเองเพื่อไปรองรับกับสิ่งที่เรียกว่าปกติเหล่านี้อย่างนั้นหรือ?”

     

          ผู้แทนที่ได้มาและใช้อำนาจอธิปไตยในการบริหารจัดการประเทศหากละเลยองค์ประกอบของ “คุณธรรมและจริยธรรม” ที่พึงมีต่อสังคมโดยรวม และแยกประชาธิปไตยออกจากคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว จะพึงเรียกว่า เป็นรัฐบาลหรือการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” ได้อย่างนั้นหรือ?

 

         “ดู ๆ ไปแล้ว ชื่อระบบการเมือง นี้มันไม่ได้หมายถึงอุดมคติอะไรนัก แต่มัน หมายถึงวิธีการ เพราะว่าคนในโลกนี้มันอยู่กันในที่ต่าง ๆ กัน มันจึงทำอะไรเหมือนกันไม่ได้ จิตใจเหมือนกันไม่ได้ ระบบที่จะแก้ปัญหา มันก็เหมือนกันไม่ได้ แล้วในหมู่คนพวกหนึ่ง หรือในถิ่นหนึ่ง ในยุคหนึ่ง เหมาะสำหรับเผด็จการ มัน ก็ต้องเผด็จการ นั่นแหละคือถูกที่สุด แต่ว่ามันต้องประกอบไปด้วยธรรม, เราเป็น ราชาธิปไตย นั่นเหมาะที่สุด ถูกที่สุด แต่ต้องประกอบไปด้วยธรรม เป็นประชาธิปไตย ก็ได้ แต่ต้องประกอบไปด้วยธรรม , เป็นสังคมนิยม คือ ประชาธิปไตย ชนิดบังคับ ควบคุมมีระเบียบจัดก็ได้ และก็ยิ่งดี แต่มันต้องประกอบไปด้วยธรรม จึงพูดว่าการเมืองระบบไหนก็ได้ ถ้าประกอบไปด้วยธรรม แล้วจะแก้ปัญหาได้. 

             ฉะนั้นก็เลือกเอา ให้เหมาะแก่สถานการณ์ของตน ๆ ถ้าไม่ประกอบไปด้วยธรรมแล้ว ไม่มีระบบไหนใช้ได้เลย แล้ว ระบบประชาธิปไตยนี้ จะเลวร้ายที่สุดกว่าระบบไหนหมด ถ้าไม่ประกอบไปด้วยธรรม คือต่างคนต่างใช้กิเลสยื้อแย่งกันเท่านั้นเอง ระบบอื่นเขายังมีควบคุม ยังมีบังคับ ยังมีให้อยู่ในร่องในรอย นี้ประชาธิปไตยเปิดหมด แต่ถ้าประกอบไปด้วยธรรมแล้ว ระบบไหนก็ใช้ได้ ข้อนี้ไปคิดดูเอง, ไปมองดูเองก็จะเห็นได้ทุกคน”

 

            ข้อคิดบางส่วนจากหนังสือดี ๑๐๐ ปีพุทธทาส ในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ซึ่งท่านพุทธทาส ปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนมีนัยว่า ถ้าหากการเมืองมีองค์ประกอบของ ธรรม แล้วก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง หรือ พูดในทางกลับกันก็คือ เมื่อการเมืองมีองค์ประกอบของ ธรรม แล้วปัญหาก็จะไม่เกิด จากบทเรียนของอดีตในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา การเมืองมีปัญหาเพราะผู้นำและรัฐบาล ต่อมคุณธรรมและศีลธรรมบกพร่อง เหมือนกับผู้นำในอดีตบางท่านที่ชอบอ้างว่าตัวเองทำถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกอย่าง แต่ ไม่ยอมพูดถึงหลักคุณธรรมและศีลธรรม การที่ทำถูกต้องตามหลักกฎหมายไม่ใช่ว่าจะถูกหลักศีลธรรมและคุณธรรมเสมอไป แต่ถ้าหากว่า ทำถูกหลักศีลธรรมและคุณธรรมแล้วย่อมถูกหลักกฎหมายด้วยเสมอไป จากข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่ เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเครื่องมือ (กฎหมาย) ดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรมแล้วก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศและสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งบางครั้งเวลาที่จะตัดสินอะไรเราไม่ควรมองที่มิติของหลักกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวแต่เราควรมองลึกลงไปถึงหลักของคุณธรรมและศีลธรรมด้วย

 

              โดยเฉพาะผู้นำแล้วควรยึดมั่นในหลักของคุณธรรมและศีลธรรมให้มาก เพราะเครื่องมือ (คุณธรรมและศีลธรรม) ดังกล่าวเป็นตัวช่วยถ่วงดุลและกำกับการใช้อำนาจให้เป็นไปในทางที่ชอบธรรมโดยสุจริต ต่อมของคุณธรรมและศีลธรรมมันฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยโดยส่วนใหญ่มาช้านาน แต่ เป็นเพราะถูกครอบงำจากกิเลสต่าง ๆ ซึ่งแฝงตัวเข้ามาหลากหลายรูปแบบและจากหลายช่องทาง ทำให้ต่อมของคุณธรรมและศีลธรรมถูกทำลายลงไป และต่อมของความโลภก็เข้ามาทำงานแทนที่ ทำให้สังคมและประเทศชาติวุ่นวายและเกิดวิกฤติตามมา เฉกเช่นผู้นำบางคนในอดีตที่ผ่านมา ที่พยายามครอบงำองค์กรอิสระและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเอามาเป็นพรรคพวกของตัวเองในการตีตราประทับความชอบธรรม (ที่ไม่ชอบธรรม) ให้เพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจในการเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง

 

                ผู้นำที่ดีนอกจากจะต้องมีคุณธรรมและศีลธรรมแล้ว สิ่งที่สำคัญในการบริหารประเทศในแบบวัฒนธรรมไทยนั้นนอกจากจะต้องใช้คุณธรรมนำทางเพื่อทำให้ทุกคนบรรลุความศานติสุขร่วมกันในมิติด้านต่าง ๆ ทางสังคมแล้ว ผู้นำต้องตระหนักและพึงระลึกไว้เสมอ คือ ต้องรักษาและธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

หมายเลขบันทึก: 393998เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท