การสะท้อน "Feeling & Finding" ในกระบวนการ KM


. . . “รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านมา” . . . “ได้อะไรบ้างจากการเรียนรู้ในครั้งนี้?” . .
              การสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ถือว่าเป็นการจัดการความรู้อย่างหนึ่งเหมือนกัน วิธีการที่ง่ายๆ และใช้เวลาไม่มาก ก็คือให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อน “Feeling & Finding” กันทีละคน โดยอาจจะเริ่มต้น (รอบแรก) ด้วยการสะท้อน Feeling ก่อนว่า “รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านมา” ก่อนที่จะถามต่อ (ในรอบสอง)  เกี่ยวกับ Finding ว่า “ได้อะไรบ้างจากการเรียนรู้ในครั้งนี้?” แค่การสะท้อน “Feeling & Finding” นี้ ถ้าผู้เข้าร่วมมีทักษะในการฟังดีก็จะพบว่าได้อะไรหลายอย่างมากทีเดียว
            เพื่อที่จะให้เห็นพลังของการสะท้อน “Feeling & Finding” ผมจะขอพูดถึง KM Trip ที่ สคส. เพิ่งจัดให้ผู้บริหารทีวีไทยโดยพาไปโรงเรียนชาวนาที่ จ.สุพรรณบุรี หลังจากกลับมาที่โรงแรมในตัวจังหวัดก็ได้ตั้งวงสะท้อน Feeling & Finding กัน มีผู้เปรียบเปรยว่าการทำการเกษตรมีทั้ง “เกษตรเคมี” และ “เกษตรอินทรีย์” ในวงการสื่อเองก็เช่นกันมีทั้ง “สื่อเคมี” และ “สื่ออินทรีย์” การที่ทีวีไทยพยายามจะก้าวออกมาจากสื่อกระแสหลัก (mainstream) นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเห็นชาวนากลุ่มนี้ทำได้ (ปลูกข้าวอินทรีย์)  คนทีวีไทยก็น่าจะทำ “ทีวีอินทรีย์ (สื่ออินทรีย์)” ได้ด้วยเช่นกัน
            ผมชอบคำว่า “สื่ออินทรีย์” เพราะเบื่อเต็มทีกับ “สื่อเคมี” ที่มีอยู่มากมาย สื่อเคมีเป็นสื่อที่มี "สารพิษ" เจือปนมากมายทั้งที่เห็นได้ชัดเจนและที่ "หลบใน" ไม่ว่าจะเป็นการ “เจือปน” ผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ หรือ “เจือปน” โฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐก็ตาม . . ผมดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา “สื่อสาธารณะ” หรือ “สื่ออินทรีย์” ที่พูดคุยกันที่สุพรรณบุรีเมื่อวันศุกร์-เสาร์ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นสองวันที่ดีมากสำหรับผม . . ขอบคุณผู้บริหารทีวีไทยทุกท่านครับ

               

หมายเลขบันทึก: 393593เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • สวัสดีครับ
  • ทุกสิ่งมักเจือปนด้วยผลประโยชน์  โดยเฉพาะสื่อ
  • แปลกดีครับที่รัฐบาลมีสื่อ แต่ไม่ค่อยใช้ให้เกิดประโยชน์ ประเทืองปัญญา แก่ผู้คน ทั้งการให้ความรู้ การให้แง่คิด การเตือนสติ การรับรู้ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมืองในประเทศ  ที่ประเทศวุ่นวาย ส่วนหนึ่งเพราะ สื่อเคมีนี่แหล่ะครับ
อ.ครับ ขออนุญาต นำไปใช้ในวงสนทนานะครับ “Feeling & Finding

    จะทำให้ขอบข่ายการสนทนา ลื่นไหลไปได้ดีนะครับ  เพราะสอดคล้องกับ ฐานใจ  และ ฐานคิด เริ่มที่ฐานใจ  Feeling  ไปสู่ฐานคิด  Finding

     ก่อนเริ่มฐานใจ ฐานคิด  ก็เริ่มที่ฐานกายเสียหน่อย  อาจให้นวดเบาๆ  ให้เล่นเกมสนุกๆ เพื่อละลายน้ำแข็งแห่งอัตตา

ขอบคุณท่านรองฯ สำหรับคำแนะนำ เรื่องฐานกาย ที่ สคส. นิยมใช้ "Body Scan" ครับ

ตามมาเรียนรู้ จาก กูรู ครับ

ดีใจจริง ๆ ครับที่จะได้เห็น "สื่ออินทรีย์" เรามี "เกษตรอินทรีย์" มานานแล้ว ถ้ามีสื่ออินทรีย์ มาก ๆ ประเทศไทยคงไปได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

สวัสดีครับท่านอาจารย์

“Feeling & Finding” บางครั้งมองได้ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นได้ในวงสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ แต่บางครั้งเกิดการค้นพบที่ทรงคุณค่าได้เช่นเดียวกัน

ขอบคุณครับ

เรียนอาจารย์ครับ ที่ได้ทำอยู่ได้ใช้คำถามท้ายกระบวนการเรียนรู้ ใน3ประเด็น คือ 1.รู้สึกอย่างไร 2.ได้ความรู้ใหม่ๆอะไรบ้าง 3.ได้ข้อคิดมุมมองชีวิตอะไรหรือไม่จากกระบวนการร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ ... พบว่าจะเป็นช่วงที่มีคุณค่าสูงมากแทบจะทุกครั้ง และพบอีกว่าผู้ร่วมเวทีเป็นจำนวนมาก จะไม่รู้จักความรู้สึก จะกระโดดเข้าไปที่ได้อะไรด้วยความคิดและการตีความหรือต่อเติมความคิดเลย ผมต้องแก้ด้วยการ ว่าให้ดูที่ใจหรือบางทีก็ยกตัวอย่างนิดหน่อยเช่น เครียด อึดอัด อิ่มเอม (เจตนาเอาความรู้สึกลบนำ เพื่อให้เวทีรู้สึกมั่นใจที่จะสะท้อนตามความรู้สึกที่แท้จริง) พบว่าเมื่อกลุ่มดังกล่าวรู้จักความรู้สึก จะทำให้เขา จับความต่างได้ระหว่าง heart กับ head ซึ่งจะเป็นทุนที่ดีในการเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งการเรียนรู้นี้ ที่พบอีกมุมหนึ่งก็คือในประเด็นที่สอง จะมีผู้ร่วมเวทีบางท่านสามารถสะท้อนไปในเรื่องมุมมองที่เขา ผุดบังเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ ไม่ต้องรอให้ถึงประเด็นคำถามที่ 3 ตอนหลังผมก็ย่อมาเป็นเพียงรู้สึก อย่างไร และได้อะไร แต่ตอนรับข้อมูลกลับบน map ผมจะแยกเองว่าตรงใหนไปแปะกับเรื่องความรู้ตรงใหนเป็นคุณค่า หลักคิดมุมมอง เรียนแบ่งปันมาเพื่อยืนยันในเรื่อง “Feeling & Finding” ครับ ..ด้วยความเคารพและติดตามเรียนรู้กับท่านอาจารย์มาโดยตลอด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้นำ เครื่องมือ OUTCOME MAPPING โมเดลท่านอาจารย์ไปแนะนำที่ประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง เพื่อทบทวนและวางทิศทางการทำงาน คณะทำงานหลายท่านโดนมากเลยครับ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งในการลองทำ work shop ตอนจบถามคณะทำงานว่า ได้อะไร (ผมเลือกที่จะไม่ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคนที่คุ้นเคยและทำงานมาด้วยกันหลายปี) ท่านหนึ่ง ท่าทางอิน มากๆ บอกว่าดีจังเห็นทั้งกระดานเลย อีกท่านหนึ่งบอกว่าเห็นอริยสัจจ์ในภาพ OM นั้น กราบขอบคุณอาจารย์และเรียนให้อาจารย์ทราบเพื่อความปิติในบุญในสิ่งที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้ครับ

เป็น Comment ที่ดีมากเลยครับท่าน "ลุงอ๋อง" . . ช่วย "ต่อยอด" ทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น เพราะยกตัวอย่างของจริงประกอบ . . ดีใจที่ทราบว่ามีผู้ที่ "IN" กับเรื่อง Outcome Mapping ผมว่าเป็นเทคนิคการบริหารโครงการและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ "เจ๋ง" จริงๆ ครับ

ใช่เลยครับ ผมเคยนำแนวคิดนี้ไปลองใช้หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันสรุปแล้ว นั่งล้อมวงคุยกัน ได้ผลดีทีเดียวเลยครับ

(รายละเอียดดูที่ “กิจกรรมจิตอาสา “ขัดบ่อเต่า” กับงานปัจฉิมนิเทศหลักสูตรพี่เลี้ยงพนักงานขับรถไฟฟ้า”  : http://gotoknow.org/blog/attawutc/382005 )  

มาเรียนรู้ค่ะ และขออนุญาตนำไปเป็นแบบ อย่างในในวงสนทนาเบาหวานแบบอินทรีย์ ไม่เอาเบาหวานเคมีค่ะ เพราะเบาหวานเคมีมีแต่กินยา ๆๆจนร่างกายมันเบื่อ ดื้อยา สุดท้ายก็ฟอกไต ขอบพระคุณค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท