บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๓๔๗ ทรงผนวชตั้งแต่พระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงพระวิริยะอุตสาหะศึกษาพระปริยัติธรรม และพระไตรปิฎกทุกพระคัมภีร์ ทรงรอบรู้แตกฉานในพระพุทธศาสนา ด้วยทรงผนวชนานถึง ๒๗ พรรษา ทรงเป็นผู้นำทางศาสนาจัดระเบียบปฏิบัติ และตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่ เรียกว่า คณะธรรมยุติกนิกาย
               เมื่อครั้งเสด็จธุดงค์ไปยังเมืองนครปฐม ทรงพบพระปฐมเจดีย์ ถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ารกร้าง ภายหลังจึงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์โดยก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์เดิม นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงปราดเปรื่องหลายภาษา ทั้งภาษาละติน มคธ บาลี สันสกฤต อังกฤษ และฝรั่งเศส ทรงใช้ภาษาอังกฤษ ศึกษาความรู้แขนงอื่นๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ กฎหมาย การศาสนา จึงทรงเป็นกษัตริย์นักศึกษาตลอดพระชนมชีพของพระองค์
                ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงส่ง เซอร์ จอห์น เบาวริง เป็นราชฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทรงสนทนาด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลา เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ราชฑูตยิ่งนักถึงกับกราบทูลว่า พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกในบูรพาทิศที่ตรัสภาษาอังกฤษได้ ด้วยพระปรีชาสามารถที่ประจักษ์แก่ชาวตะวันตก พระนาม King Mongkut จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของชาวต่างประเทศทั่วไป
 เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไว้ล่วงหน้าถึง ๒ ปีได้ด้วยพระองค์เอง ครั้นพอถึงเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที ของวันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ฟ้ามืดเหมือนเวลาพลบค่ำ ปรากฎการณ์ก็อุบัติขึ้นจริง ตรงตามวัน เวลา และสถานที่ ทุกประการ โดยไม่ผิดพลาดแม้วินาทีเดียวอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง และตรงกับการคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ พระองค์ทรงคำนวณได้แม่นยำกว่า นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง 2 วินาที
  เป็นที่เข้าใจกันว่า คนไทยเรานั้น มักจะไม่ค่อยตระหนักว่า เมืองไทยของเราทุกวันนี้ มีทรัพยากรบุคคลในระดับต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งเด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ นักวิชาการ ครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่ทำงานวิจัย สร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ขึ้นใหม่ ชาวบ้านในชุมชนแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่ง ผู้ประกอบการชาวไทยก็สามารถผลิตสินค้าและบริการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
เมื่อนึกถึงภาพในอดีตกาล เมื่อครั้งยังเป็นสยามประเทศ ที่บรรพบุรุษของเราอุดมไปด้วยภูมิปัญญา และความมีคุณธรรม จนสามารถสร้างบ้านแปลงเมือง และสามารถนำพาประเทศชาติ ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยุ่งยากมาหลายครั้งจนสุดจะนับได้
ในยุคที่ชาวตะวันตก นิยมล่าเมืองขึ้นแถบตะวันออกนั้น สยามประเทศเรา เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางวัฒนธรรม แต่ก็มีช่องว่างทางวิทยาการ เมื่อเทียบกับชาวตะวันตกที่เข้ามาคบค้าหาผลประโยชน์ด้วย จนนำมาซึ่งความเสียเปรียบในลักษณะต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จึงต้องใช้ศิลปะชั้นสูงอย่างมาก เพื่อที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์และผืนแผ่นดินให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความผาสุก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธ ผู้ทรงอุดมไปด้วยพระปรีชาญาณแตกฉานในสหวิทยาการ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่มีพระราชประวัติที่น่าสนใจในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่ประจักษ์ แก่ชาวตะวันตกถึงความสามารถของ "Siamese" เป็นอย่างดี ดังที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ
อ้างอิง
http://siweb.dss.go.th/sci200/item3/main.htm

 

หมายเลขบันทึก: 393587เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประวัติศาสสตร์สำคัญสำหรับประเทศครับ

นำมาศึกษากันมากๆ ยิ่งดี เห็นด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท