III : พันธนาการด้าน “เวลา”


“อย่าปล่อยให้มายาคติที่ว่า ไม่มีเวลา มาเป็นพันธนาการที่คอยเล่นงานและจองจำเราให้ตกอยู่ใน หลุมดำ อีกต่อไป”

3

เวลาคืออะไร หากไม่มีใครถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักมันดี 

ทว่าหากมีผู้ถามข้าพเจ้าถึง เวลา และต้องพยายามให้คำอธิบาย 

ข้าพเจ้ากลับไม่รู้จักมันอีกต่อไป

 เซนต์ออกุสติน (St. Augustine of Hippo : ค.ศ. ๓๕๔ – ๔๓๐)

ศาสตราจารย์ในวิชาสำนวนโวหาร (rhetoric) และสังฆราชแห่งนครฮิปโป

 

 

III : พันธนาการด้าน “เวลา”

 

          กับดัก “เวลา” เป็นแรงดึงฉุดรั้งที่สำคัญไม่ให้เราก้าวข้ามพ้นผ่านไปยังประตูของการฝึกกระบวนการทางความคิดที่เป็นตรรกะ

 

ด้วยวาทกรรมที่ว่า “ไม่มีเวลา” ทำให้

 

          เราหลงเสพติดอยู่กับความมักง่ายทางความคิดที่สั่งสมจากความเคยชินจนเป็นนิสัยและฝังรากลึกลงเป็นนิสัยถาวร ในการชอบหยิบยกเอาเฉพาะส่วน “ผลทางความคิด (ความคิดสำเร็จรูป)” ที่สมประโยชน์และเข้ากับทัศนคติของตัวเองนำไปใช้ โดยไม่ได้กลั่นกรองทางปัญญาในเหตุและผล ที่มาที่ไปอย่างรอบด้าน

 

“ไม่มีเวลา จึงเป็นเพียงมายาของคู่แฝดทางวาทกรรม  

ที่ครอบงำนำพามาซึ่งความมักง่ายทางความคิด

 

“ตัวการที่ขโมยเวลาที่สำคัญ คือ การผัดวันประกันพรุ่ง

 

              เวลา เป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตของคนเราที่คนส่วนใหญ่ในสังคมติดกับดักของเวลาในรูปแบบของการแปลงค่าออกมาเป็นมูลค่าทางตัวเงิน (ตามที่ตัวเองคาดหวัง) หากเห็นว่าการกระทำสิ่งใดแล้วสามารถแปลงค่าออกมาเป็นตัวเลขทางตัวเงินได้แล้วหละก็จะยอมเสียเวลาในตรงนั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย และบางครั้งยังเป็นการไปขโมยเวลาจากส่วนอื่น ๆ ของชีวิตที่คิดว่าไม่สามารถแปลงออกมาเป็นมูลค่าทางตัวเงินได้ ถึงแม้จะมีมูลค่าทางจิตใจก็ตามที โดยเชื่อว่าเวลาที่แปลงค่าออกมาเป็นตัวเงินได้นั่นแหละคือความจริงที่สัมผัสได้ นำพามาซึ่งความสุขโดยรวมในชีวิต

           นักธุรกิจหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะทำงานโดยให้ความสำคัญในความสัมพันธ์เรื่องเวลากับตัวเงินเป็นอย่างมาก หรือที่เรียกกันว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” โดยบางครั้งยังไปเบียดบัง (ขโมย) เวลาในส่วนอื่น เช่น เวลาของครอบครัว เวลาของการพักผ่อน เป็นต้น มาใช้เนื่องจากว่ามองไม่เห็นถึงความสำคัญและไม่สามารถแปลงค่าระหว่าง เวลาของครอบครัวและการพักผ่อนมาเป็นตัวเงินได้ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่มีการแข่งขันและการดิ้นรนเป็นปัจจัยมาสร้างความบังคับ บีบคั้นที่สำคัญ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อแปลงค่าออกมาเป็นตัวเงินให้ได้มากที่สุด ทำให้ไปเบียดเบียนเวลาอื่นทั้งเวลาที่ต้องให้กับครอบครัว เวลาของการพักผ่อน เป็นต้น นำเอามาใช้กับเวลาในการหาเงินเป็นหลัก 

          เวลาไม่สามารถวัดออกมาเป็นมูลค่าได้ชัดเจนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เวลาในที่นี้มีความหมายกินลึกลงไปที่ความสม่ำเสมอ และการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เราลองพิจารณาจากเหตุการณ์ต่อไปนี้ คือ

               - เรามีความรักและพอใจในงานที่เราทำ แต่ เมื่อเกิดปัญหาและมีอุปสรรคก็เกิดความท้อ โดยจะละทิ้งจากงานที่เรารักและพอใจนั้นเสีย แสดงว่า เราขาดซึ่งความวิริยะ (ความพากเพียรพยายาม) ซึ่งในประเด็นดังกล่าวอาจต้องใช้ เวลา ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคสั้น – ยาว แตกต่างกันไป

               - เรามีความรักและพอใจในงานที่เราทำอย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคก็ไม่ทำให้เราท้อ เราพยายามพากเพียรฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปจนได้ แต่ ถ้าหากว่าเราไม่สร้างจิตใจให้ฝักใฝ่แน่วแน่ในเนื้องานขณะที่เกิดปัญหาและอุปสรรคนั้น เราก็มีโอกาสที่จะท้อและถอยได้ในระยะยาว หากมีปัญหาและอุปสรรคลูกใหญ่โถมกระหน่ำมารุมเร้าอีก ซึ่งเราก็ต้องให้ เวลา ในการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง แน่วแน่ และมั่นคง

               - เรามีความรักและพอใจในงานที่เราทำอย่างเต็มเปี่ยม สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาที่พัดผ่านเข้ามาได้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และมีจิตใจที่แน่วแน่ เข้มแข็ง ฝักใฝ่ในงานที่ทำเป็นอย่างดีแล้ว แต่ หากว่าเราประมาทไม่ใช้ปัญญามาคอยคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ ปัญหาให้ละเอียดและหาทางป้องกัน ในไม่ช้าปัญหาที่เคยเกิดมาแล้วก็อาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้ ซึ่งเราก็ต้องให้ เวลา ในการเรียนรู้และใช้ปัญญาในการไตร่ตรองและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนในการป้องกันปัญหาไม่ให้ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

              จะสังเกตได้ไม่ว่าเราจะทำหรือปฏิบัติสิ่งใด ๆ จะต้องมี เวลา เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งรูปแบบของการวัดมูลค่าออกมาได้และไม่สามารถวัดมูลค่าออกมาได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับรูปแบบของเวลาที่ตัวเองคิดว่าสามารถวัดเป็นมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน (ในระยะสั้น) ได้มากกว่า รูปแบบของเวลาที่มีความหมายกินลึกลงไปที่ความสม่ำเสมอและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งอาจจะเห็นผลในระยะยาว) ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ เพราะ คนส่วนใหญ่ติดกับดักของมายาคติที่ว่า “ไม่มีเวลา”

            ปัญหาใหญ่อีกประการสำหรับเรื่อง “เวลา” คนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าไม่มีเวลา หรือ มีเวลาแต่ไม่มากพอ หากจะพูดหยาบ ๆ ก็จะได้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนมีเวลา ๒๔ ชั่วโมง ในหนึ่งวันเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร หากว่าเรารู้จักวางแผนและบริหารจัดการในเรื่องเวลา ของตัวเอง และที่สำคัญต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องสม่ำเสมอ เชื่อว่าทุกคนสามารถบริหารจัดสรรเวลาได้ทุกคน หากไม่เชื่อ เราลองหยิบกระดาษขึ้นมาพร้อมกับปากกาหรือดินสอ แล้วลองตั้งใจเขียนตารางชีวิตที่เราทำเป็นกิจวัตรในแต่ละวันดู แล้วค่อย ๆ ตัดรายการที่เราสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ (บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดโทษทางด้านร่างกายและจิตใจเสียด้วยซ้ำ) แล้วค่อย ๆ จัดสรรเวลาให้กับการดำเนินชีวิต โดยการฝึกใช้กระบวนการทางความคิดที่มีเหตุมีผลอย่างจริงจัง แล้วเราจะพบว่า “เวลา” ที่เราทุ่มเทให้กับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบนั้นคุ้มค่าจนมิอาจประเมินค่าได้

 

            คำว่า “ไม่มีเวลา” ในความเป็นจริงแล้วมีค่าเท่ากับ “ความบกพร่องของการบริหารจัดการเวลา” นั่นเอง เปรียบเสมือนกับในการดำเนินชีวิตนั้น “ไม่มีใครวางแผนให้ตัวเองล้มเหลว แต่คนที่ล้มเหลวคือคนที่ไม่ได้วางแผน” แก่นแท้ของการบริหารจัดการด้านเวลา ก็คือ การบริหารจัดการกิจกรรมของชีวิตตามลำดับความสำคัญ แน่นอนที่สุดในหลาย ๆ คนดูวุ่นวายกับกิจกรรมของชีวิตในแต่ละวันหรือที่พูดกันว่า “ทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต” แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะตั้งสติ วิเคราะห์ พิจารณาถึงลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ทำประจำวันนั้นอย่างจริงจังว่า มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เราทำไปอย่างไม่มีสาระสำคัญ เป็นเพียงการทำไปตามความเคยชิน (ถาวร) เท่านั้น

                 - เรามีเวลาไปเที่ยวสังสรรค์ ดื่ม – กิน กับเพื่อนฝูงอาทิตย์ละครั้ง แต่ มีเวลาไปออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรคกี่ครั้งต่ออาทิตย์ ต่อเดือน ... ?

                 - เรามีเวลาให้กับงานวันละ ๑๐ – ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน แต่ มีเวลาให้กับครอบครัวต่อวันกี่วินาที กี่นาที ... ?

                 - เรามีเวลาตรวจเช็คงานเพื่อสะสางให้เรียบร้อย หรือตรวจเช็คสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย แต่ เคยมีเวลาที่จะไปเข้าศูนย์ตรวจเช็คความชำรุดทรุดโทรมของร่างกายบ้างไหม ?

ฯลฯ

           เวลาของการออกกำลังกาย เวลาของการอยู่กับครอบครัวเพื่อเสริมสร้างความอบอุ่น เวลาในการไปตรวจเช็คความชำรุดทรุดโทรมของร่างกาย เป็นต้น หากพิจารณากันตามจริงแล้วมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกันก็เพราะว่า “คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน” แต่หากว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยมาบังคับ บีบคั้น เวลาของสิ่งเหล่านั้นก็จะมีความสำคัญขึ้นมาทันที เช่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีโรคติดต่อยอดฮิตคือ “ไข้หวัด ๒๐๐๙” ที่เล่นเอาคนทั้งโลกหวาดผวา และวิตกจริต ซึ่งหลักการป้องกันที่ดีที่สุดหาใช่วัคซีนอะไรต่าง ๆ ไม่ แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถผลิตขึ้นได้เองในการใช้ชีวิตประจำเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแกร่งทั้งการ ออกกำลังกาย  พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การรักษาความสะอาด เป็นต้น จะเห็นได้ตามข่าวสารที่ว่าหลายหน่วยงานหรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนต่าง ๆ หันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพโดยการให้พนักงานออกกำลังกายช่วงเช้า หรือช่วงบ่ายบ้าง วันละ ๑๕ – ๓๐ นาที ซึ่งทุกคนก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนของการออกกำลังกาย หรือหาก

             สมมติว่า : วันหนึ่งเราได้ไปตรวจเช็คร่างกายผลปรากฏว่า ร่างกายชำรุดทรุดโทรมเสียหายเป็นอย่างมาก (เพราะที่ผ่านมาไม่เคยให้เวลาไปตรวจเลย) แล้วหมอบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน เวลาของความสำคัญในครอบครัวก็จะมีความหมายขึ้นมาทันที ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเรามีเวลาตั้งมากมายแต่ก็ไม่เคยใส่ใจในรายละเอียด เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วน

            คุณค่าของเวลาอยู่ที่การใส่ใจในรายละเอียดกิจกรรมในแต่ละวันของชีวิตที่จำเป็นและสำคัญตามจริง เรามีเวลามากมายในการทำเรื่องที่ไม่ได้สาระให้กลายมาเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ไม่เคยให้เวลาสักนิดในการตั้งคำถามเกี่ยวกับเวลาเหล่านั้น  เพราะกลัวว่าจะรับความ (ไร้สาระ) จริงของกิจกรรมที่ทำเหล่านั้นไม่ได้ ในที่สุดก็ได้แต่หลอกตัวเองอยู่เรื่อยไปว่า “ไม่มีเวลา” ตลอด ...

 

             ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักคิดนักเขียนที่มีผลงานแพร่หลายเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศได้พูดถึง “ความสำคัญของเวลา” เพื่อกระตุกความคิดเอาไว้ว่า

          “เวลาและชีวิตไม่ ใช่เทปคาสเซตที่เมื่อหมดม้วนแล้วสามารถกรอกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ แต่เวลาและชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้หมดแล้วก็หมดไป เราแต่ละคนต่างมีชีวิตเพียงชีวิตเดียว การใช้ชีวิตของเราจึงควรเป็นไปอย่างมีสติ และระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อเมื่อบั้นปลายชีวิตมาถึง เราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจกับวันเวลาและชีวิตที่ผ่านมา แต่สามารถยิ้มอย่างภาคภูมิใจและบอกกับตัวเองได้ว่า เราได้ใช้เวลาในชีวิตที่ผ่านมาอย่างดีที่สุดแล้ว”
             

             เราไม่สามารถกดรีโมทหยุดเวลา (เหมือนเล่นเกม) แล้วนำไปฝากสะสมไว้เพื่อกินดอกเบี้ย (เวลา) ได้ ในการใช้เวลาก็เปรียบเสมือนการใช้ชีวิต หากใช้เวลาไปในทางที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร ก็จะสะท้อนออกมาถึงการใช้ชีวิตที่ ...         

               สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านได้ชื่อว่าเป็น “นักบริหารเวลาชั้นยอด” ยากที่จะหาใครเสมอเหมือน ท่านได้ใช้ประโยชน์กับเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุก ๆ วันตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิต โดยพระองค์ทรงแบ่งสาระความสำคัญของเวลาในแต่ละวัน คือ

                  - ในเวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาต  ทรงเที่ยวจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ผู้ประสงค์จะทำบุญทำกุศล อันเป็นการไปสงเคราะห์เพื่อให้เขาได้ทำบุญสมดังใจปรารถนา
                  - ในเวลาเย็น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่เข้ามาเฝ้า ซึ่งในแต่ละวันจะมีประชาชนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ทั้งใกล้ ไกลเป็นจำนวนมากเดินทางมาเฝ้าและรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์
                  - ในเวลาพลบค่ำ ทรงประทานโอวาทแก่พระสงฆ์สาวก  ภายหลังจากที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนผู้มาเฝ้าเสด็จแล้ว พระองค์จะทรงประทานโอวาทอบรมสั่งสอนพระสงฆ์สาวก ทรงเปิดโอกาสให้พระสาวกทูลถามข้อสงสัยในธรรมทั้งหลาย และทรงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะตอบประเด็นข้อสงสัยเหล่านั้นเพื่อให้พระสาวกคลายความสงสัยและเกิดความเข้าใจธรรมทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ
                 - ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลายที่เข้ามาเฝ้า เทวดาก็มีความสงสัยเช่นเดียวกับเหล่าพระสาวก เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้น จึงลงจากสวรรค์มาทูลถามเพื่อคลายความสงสัยในปัญหานั้นๆ  ซึ่งในแต่ละวันนั้น จะมีเทวดามาเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาเป็นจำนวนมาก
                 - ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจพิจารณาดูสัตว์โลกที่มีอุปนิสัยสามารถจะรู้ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงได้ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นแล้ว จักเสด็จไปโปรดในทันที โดยการออกไปรับบิณฑบาตและการแสดงธรรม


          การที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระจริยาวัตรเฉกเช่นนี้อยู่เป็นนิตย์นั้น แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สามารถบริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม จนทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของบุคคลผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเวลาที่ควรถือเอาเป็นแบบอย่าง  แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำตามพระองค์ได้ทุกอย่าง เพราะเกินวิสัยความสามารถที่มนุษย์ธรรมดาอย่างเราจะสามารถกระทำได้  แต่เราสามารถนำหลักการบริหารด้านเวลาของของพระองค์ดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการปรับใช้เพื่อดำเนินชีวิตในประจำวันของเราได้


              “เวลา” นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนหรือมหาเศรษฐีก็มีเวลาใน ๑ วัน เท่ากันคือ ๒๔ ชั่วโมง ไม่ขาดไม่เกินแม้แต่แค่เศษเสี้ยววินาที คนที่พร่ำบ่นว่า “ไม่มีเวลา” ควรหันกลับมาพิจารณาถึง “ลำดับความสำคัญ” ของกิจกรรมในชีวิตว่ามีสิ่งที่ผิดพลาดและต้องแก้ไขให้สมดุลกับเวลาในแต่ละวันทางด้านไหนบ้าง หากเอาแต่กล่าวอ้างเรื่องไม่มีเวลาอยู่ร่ำไป ก็ไม่ต่างไปจากเป็นการป่าวประกาศถึง “ความล้มเหลวของการบริหารด้านเวลา” ต่อหน้าคนอื่นด้วยความภูมิอกภูมิใจ (ที่เป็นคนล้มเหลว) ของตัวเองอยู่เรื่อยไป ...

 

 

เพิ่มเติม III : ขงเบ้งสอนเล่าปี่เกี่ยวกับเทคนิคการบริหารเวลา

ครั้งหนึ่ง เล่าปี่ ขอขงเบ้งให้แนะนำวิธีสร้างตนเป็นอภิมหาเศรษฐีแห่งดินแดน ขงเบ้ง ว่างานใหญ่เช่นนี้ต้องวางแผนและรู้จักบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

       เล่าปี่ กล่าวว่า "ข้าฯเห็นด้วยในหลักการแต่ทว่าข้าฯมีงานมากมายที่ต้องทำทุกวันจนเวียนเกล้าเวียนศีรษะ ไม่เคยมีเวลาพอที่จะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย"

       ขงเบ้ง บอกให้ลูกน้องไปเตรียมก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำจำนวนหนึ่ง พร้อมถังเหล็กใหญ่หนึ่งใบ

       เล่าปี่ถามด้วยความแปลกใจ "ท่านเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร?"

 ขงเบ้งยิ้มอย่างมีเลศนัย พร้อมกับตอบด้วยคำถามว่า "ท่านบริหารเวลาด้วยวิธีใด?"

       เล่าปี่ตอบว่า "ข้าฯเคยคิดว่า ข้าฯมีเทคนิคที่ดีอยู่แล้ว คือใช้วิธีมอบหมาย ข้าฯมีผู้ช่วยอยู่รอบด้านตั้งแต่กวนอู เตียวหุย เจ้าหยุน ฯลฯ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ด้านต่างๆ แต่งานทั้งหลายก็ยังพันกันอีรุงตุงนัง ไม่สามารถปรับให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นได้ เดิมข้าฯคิดว่าคือแมลงวันไม่มีหัวอยู่ตัวเดียว แต่หลังการใช้ระบบมอบหมายงาน กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันบริษัทมีแมลงวันหัวขาดเป็นฝูง!!

      ขงเบ้ง ฟังแล้วจึงเริ่มอธิบายว่า "เทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งเป็น สูง กลาง และต่ำ สามขั้น ขั้นต่ำเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก ขั้นกลาง เน้นการใช้แผนดำเนินงาน และตารางโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน ส่วนขั้นสูง เน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรีความสำคัญของงาน เพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว ทั้งสามขั้นอันดับต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้อง การของปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น

 

                                     เร่งด่วน                                          ไม่เร่งด่วน

                       ก. (งานประเภทที่เป็นก้องกรวด)           ข. (งานประเภทที่เป็นก้อนหิน)

                              ๑. วิกฤติการณ์                                    ๑. โครงการใหม่หรือการริเริ่มใหม่                      

สำคัญ                      ๒. ปัญหาประชิดตัว                             ๒. กฎระเบียบ

                               ๓. งานที่มีเวลากำหนดแน่นอน               ๓. การปฏิรูปประสิทธิภาพการผลิต

                                                                                     ๔. การสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน

                                                                                     ๕. มาตรการป้องปราม

 

                      ค. (งานประเภทที่เป็นเม็ดทราย)             ง. (งานประเภทที่เป็นน้ำ)

                              ๑. รับรองแขกที่ไม่ได้รับเชิญ                      ๑. งานจุกจิกทั่วไปที่ทำหรือไม่ทำก็ได้

                              ๒. จัดการกับจดหมาย เอกสาร หรือ              ๒. งานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไปที่ไม่จำเป็น

ไม่สำคัญ                        โทรศัพท์ทั่วไป                                 ๓. กิจกรรมที่น่าสนใจทั่วไป                    

                              ๓. เข้าประชุมทั่วไป 

                              ๔. การประชุมและกิจกรรมทั่วไปที่ไม่สำคัญ

 

 เล่าปี่สารภาพว่า "หากพิจารณาตามการแบ่งขั้นของเทคนิคการบริหารเวลาแล้ว ข้าฯยอมรับว่าวิธีของข้าฯอยู่ที่ขั้นต่ำ เพราะใช้แค่ส่งสลิปบันทึก ขงเบ้งชี้ไปที่ถังเหล็กกับกองวัสดุที่ผู้ช่วยได้เตรียมเสร็จไว้มุมห้องพร้อมกล่าวว่า

"คำตอบของการบริหารขั้นสูงอยู่ในถังเหล็กใบใหญ่นี้แหละ! ความจุของถังนี้เปรียบเสมือนขีดความสามารถของคนๆ หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ก้อนกรวดเปรียบได้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วน ก้อนหินคือภาระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เม็ดทรายเปรียบได้กับภาระที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และน้ำคือหน้าที่ที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน"

         ขงเบ้งอธิบายพรางวาดผังประกอบคำอธิบาย ดังในตารางประกอบ

"ปกติท่านเน้นงานประเภทใด?" ขงเบ้งถาม   "ก็ต้องเป็นประเภท ก." เล่าปี่ตอบอย่างไม่ลังเล "แล้วงานประเภท ข. ล่ะ?" ขงเบ้งถามต่อไป เล่าปี่ตอบว่า "ข้าฯตระหนักถึงความสำคัญของงานประเภท ข. แต่ก็ไม่มีเวลาพอที่สนใจมัน"    "เป็นอย่างนี้ใช่ไหม" ขงเบ้งถาม พรางใส่กรวดลงไปในถังเหล็กจนเต็มแล้วพยายามใส่ก้อนหินเข้าไปซึ่งใส่ไม่ได้        เล่าปี่ตอบว่า "ใช่!"   "และหากเปลี่ยนวิธีบรรจุใหม่ล่ะ?" ขงเบ้งถามต่อ พลางใส่ก้อนหินทีละก้อนเข้าไปในถังก่อนจนใส่ไม่ได้ แล้วจึงถามเล่าปี่อีกว่า "ตอนนี้ถังเหล็กเต็มแล้วจะใส่อะไรลงไปอีกไม่ได้ใช่ไหม?" ซึ่งเล่าปี่ตอบว่า "ใช่"       "จริงหรือ?" ขงเบ้งถามแล้วหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด "บัดนี้ถังเหล็กใบนี้ใส่อะไรลงไปอีกได้หรือไม่?" ขงเบ้งพูดพรางเทเม็ดทรายลงไปอีกจนหมด

"แล้วทีนี้ละ? ใส่อะไรลงไปอีกได้ไหม?" ขงเบ้งถามต่อไป  แต่ก่อนที่เล่าปี่มีโอกาสตอบ ขงเบ้งก็ตักน้ำที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในถังเหล็กอีกจนหมด "ตอนนี้ท่านเข้าใจความหมายของการทดลองนี้แล้วหรือยัง?"   เล่าปี่ตอบว่า "เข้าใจแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจัดการแบบแยกประเภท และเลือกการจัดการก่อนหลังใช่ไหม?"

        ขงเบ้งตอบว่า "ใช่แล้ว การทดลองชี้ให้เห็นว่าหากถังเหล็กตั้งแต่แรกก็เติมเต็มไปด้วยก้อนกรวด ทราย และน้ำ ก็คงไม่มีโอกาสใส่ก้อนหินลงไปได้ แต่ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อนในถังยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆ เข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทราย และน้ำ ฯลฯ และไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรก"

       เล่าปี่ยังถามว่า "แล้วการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องต่างๆ ออกเป็นสี่หมวดนี้มีผลอย่างไรล่ะ?"

       ขงเบ้งตอบว่า "บุคคลจำพวกที่ว้าวุ่นอยู่กับเรื่องราวประเภทก้อนกรวด ย่อมมีความรู้สึกถูกเวลากดดันและวนเวียนอยู่ในแดนวิกฤติจนอ่อนล้า พวกที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์ ชอบฟังคำพูดเพราะหู คบคนแบบผิวเผิน พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักบกพร่องเรื่องสำนึกรับผิดชอบ แม้กระทั่งเรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเอง"        เล่าปี่ถามว่า "เป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน?"    "ท่านทราบไหมว่าก้อนกรวดมาจากไหน? ก็มาจากก้อนหินที่แตกสลายไง!" ขงเบ้งตอบ "คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินจะมีก้อนกรวดน้อย คนที่เน้นก้อนกรวดก็จะมีก้อนกรวดเยอะตลอด"    ขงเบ้งสอนต่อไปว่า "คนที่อิงเรื่องประเภทก้อนหินเป็นคนมีประสิทธิภาพ เพราะเขาจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลา และสิ่งแวดล้อม สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วนและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ กล้าฟันธงและใช้มาตรการป้องปราม บุคคลจำพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์ เคารพกฎระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้

           เล่าปี่ชื่นชอบทฤษฎี "วัตถุในถัง" ของขงเบ้งเป็นอย่างมาก พร้อมกับสารภาพว่า "มาวันนี้ข้าฯถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า การต่อสู้ของข้าฯทำไมจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ เพราะแม้ว่าข้าฯมีขุนพลเก่งๆ เช่น กวนอูและเตียวหุย แต่พวกเขาจะก้าวหน้าได้อย่างไรตราบใดที่คนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างพวกเขาจมปลักอยู่กับเรื่องจิ๊บจ๊อย กับการทำงานลักษณะ "เก็บเม็ดงาแต่ทิ้งแตงโม" (เจี่ยนเลอจือหมา ติวเลอซีกวา) ขืนดำเนินตามวิธีนี้ต่อไป ความพยายามของข้าฯที่จะเป็นอภิมหาเศรษฐีนัมเบอร์วันในแผ่นดินก็คงเป็นได้แค่ ความฝัน!"

 

 

“อย่าปล่อยให้มายาคติที่ว่า ไม่มีเวลา มาเป็นพันธนาการที่คอยเล่นงานและจองจำเราให้ตกอยู่ใน หลุมดำ อีกต่อไป”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 393282เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท