ข้อสังเกตเกี่ยวกับตำนานนางเลือดขาว


ตำนานนางเลือดขาวจากคำบอกเล่าในท้องถิ่นต่างๆนั้นมีหลากหลาย  จึงทำให้ยากต่อการนำมาใช้อ้างอิงทางด้านประวัติศาสตร์  เนื่องจากเป็นตำนานที่ผูกโยงหรือแต่งขึ้นเพื่ออธิบาย สถานที่  ความเชื่อและเหตุการณ์ทางสังคมในบริบทของท้องถิ่นนั้นๆอย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจะหาข้อเท็จจริงได้ยากจากตำนานดังกล่าว  แต่ก็ใช่ว่าตำนานเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ หากเราสามารถศึกษาถึงแก่นของตำนานก็จะเห็นคุณค่าในด้านต่างๆอย่างมาก  ดังจะสรุปเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับตำนานนางเลือดขาวที่เล่ากันในท้องถิ่นต่างๆได้ดังนี้

1. ตำนานนางเลือดขาวเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม  คำว่า “เลือดขาว”นั้นไม่ได้ความหมายว่า  นางมีเลือดเป็นสีขาว  แต่เลือดขาวนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนสตรีผู้บริสุทธิ์  มีความซื่อสัตย์ กตัญญู  และเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา  จึงเป็นสัญลักษณ์ของคนดีและยังชี้ให้เห็นสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน (ยกเว้นตำนานนางเลือดขาวจากเกาะลังกาวีที่มีข้อแตกต่างทางศาสนา)  เป็นการยกย่องสตรีที่มีความซื่อสัตย์ต่อสามี  ข้อหาการคบชู้ของสตรีเป็นสิ่งผิดจารีตประเพณี  ผิดศีลธรรมอันดีงามและเป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจอย่างรุนแรง  ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างสอดคล้องกันในตำนานนางเลือดขาวทุกท้องถิ่น  ดังตัวอย่างที่ปรากฏในตำนานนางเลือดขาวของพงศาวดารเมืองพัทลุง  ซึ่งหลังจากที่พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงโปรดให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ พร้อมนางสนมออกมารับนางเลือดขาวที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเชิญไปเป็นมเหสีแล้วนั้น  เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงทราบว่านางมีสามี และมีครรภ์ติดมา จึงไม่ยกขึ้นเป็นมเหสีแต่ได้ทรงขอบุตรของนางเลือดขาวมาชุบเลี้ยงแทน  ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนของค่านิยมในสังคมที่ให้ความสำคัญแก่ศีลธรรมและจริตธรรมตามหลังพุทธศาสนาที่ได้ห้ามมิให้ผิดลูกผิดเมียผู้อื่นย่างป็นตัวอย่างที่เหฌนได้ชัดเจนของค่านิยมในสังคม

2. ตำนานนางเลือดในแต่ละท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน  ตำนานนางเลือดขาวในแต่ละท้องถิ่นนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องของนางเลือดขาวก็จริงแต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน  เช่น  ตำนานนางเลือดขาวจังหวัดภูเก็ตไม่เหมือนหรือเกี่ยวข้องกับตำนานนางเลือดขาวในอำเภอเชียงใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  และไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำนานนางเลือดขาวจังหวัดพัทลุง เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามมีตำนานนางเลือดขาวบางจัดหวัดที่มีลักษณะตำนานบางส่วนคล้ายกัน  เช่น  ตำนานนางเลือดขาวที่จังหวัดตรังมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับตำนานนางเลือดขาวจังหวัดพัทลุง  หรือตำนานนางเลือดขาวจังหวัดชุมพร  บางส่วนจะเกี่ยวข้องกับตำนานนางเลือดขาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง  โดยตำนานนางเลือดขาวที่เมืองตรังนั้นจะกล่าวถึงการที่พระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์  และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด 1 องค์  ก่อนเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้สร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง 1 องค์  ก่อนที่จะเดินทางกลับบางแก้ว เมืองพัทลุงภายหลังจากการเดินทางกลับจากเกาะลังกา 

เหตุที่เป็นเช่นนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า  เป็นเพราะการแพรกระจายของตำนานในดินแดนที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง  การปกครอง และสังคมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน  จึงมีการถ่ายเทเรื่องราวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งพร้อมกับนำเอาบริบทด้านต่างๆในท้องถิ่นนั้นเข้ามาผสมผสาน  จึงทำให้ตำนานนั้นมีความแตกต่างและเหมือนกันในบางส่วน

3. ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานที่ยกย่องสตรีและผู้นำที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา  ตำนานนางเลือดขาวชี้ให้เห็นบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำทางด้านการเมือง  การปกครองและการศาสนา  โดยเฉพาะบทบาททางพุทธศาสนามีลักษณะเด่นมาก  ซึ่งในอดีตมีการยอย่องสตรีให้เป็นผู้นำและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้นั้น  ส่วนใหญ่เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาและจรรโลงพระพุทธศาสนา  เช่น  พระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัย (ลำพูน)  พระนางเหมชาลา – ทนกุมารแห่งนครศรีธรรมราช เป็นต้น  นางเลือดขาวหรือเจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาวก็เช่นเดียวกันเป็นบุคคลที่เลื่อมใสและช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา  โดยการสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป และเจดียสถานไว้หลายแหล่ง  จนเป็นที่ยอมรับของสังคมและได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีทางธรรมหรือทางพุทธศาสนา

อันจะเห็นได้จากที่เมื่อนางเลือดขาวเดินทางกลับมายังเมืองพัทลุง  โดยขบวนเรือแล่นเข้าทางแม่น้ำปากพนัง  หลังจากการเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสุโขทัยแล้วนั้น  นางเลือดขาวได้พำนักอยู่บริเวณบ้านค็องหลายวัน  ซึ่งในระหว่างนั้นนางเลือดขาวก็ได้สร้างวัดคลองค็องขึ้น  เรียกชื่อว่า “วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว”(ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช)  แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง  โดยหลังจากที่นางเลือดขาวกลับมาจากกรุงสุโขทัยแล้วนั้นคนทั่วไปมักเรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือบางครั้งเรียกว่า นางพระยาเลือดขาว หรือ พระนางเลือดขาว  ด้วยเข้าใจผิดว่านางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน

4. ตำนานนางเลือดขาวที่เป็นตำนานอธิบายนามสถาน  ตำนานนางเลือดขาวในแต่ละท้องถิ่น  ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมือง  สถานที่ทางศาสนาและสถานที่ทางธรรมชาติ  โดยการเชื่อมโยงสถานที่เหล่านั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของตำนานเพื่อสร้างความสำคัญ  ความน่าเลื่อมใสศรัทธาและความเก่าแก่ของสถานที่นั้นๆให้ชุมชนได้มีความสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน  จึงทำให้ชื่อเสียงของตำนานกระจายไปตามท้องถิ่นต่างๆมากมาย  ดังจะเห็นได้จากชื่อสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตำนานนางเลือดขาว เช่น เมืองพระเกิด เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช วัดพระงาม วัดท้าวโคตร บ้านนาปะขอ บ้านพระเกิด ท่าศพ เป็นต้น 

โดยจากการเดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชของพระยากุมารกับนางเลือดขาวนั้นได้ทำการสร้างวัด โบสถ์ เจดีย์ พระพุทธรูป และพระบรมสารีริกธาตุไว้ตามสถานที่ต่างๆที่เดินทางผ่านไปมากมาย  เช่น  ได้ทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว  สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง  สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม)  วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ ปัจจุบันคือ วัดเจ้าแม่ อยู่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

5. ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของเมืองศูนย์กลางอำนาจกับเมืองบริวาร  ในตำนานนางเลือดขาวชี้ให้เห็นเมืองศูนย์กลางอำนาจ 2 แห่ง คือ เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองราชธานี  ได้แก่ กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เมืองทั้ง 2 แห่งจะมีอำนาจเหนือเมืองบริวาร คือ เมืองพัทลุง หรือชุมชนที่เป็นถิ่นเดิมของนางเลือดขาว  เมืองหลวงหรือเมืองศูนย์กลางอำนาจจึงสามารถสั่งการเมืองบริวารได้ทุกเรื่อง  รวมถึงการสั่งให้นำนางเลือดขาวไปเป็นนางสนมหรือพระมเหสี  จนได้รับการยกย่องจากผู้คนในท้องถิ่นเป็น เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาวหรือพระนางเลือดขาว  เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นนางสนมหรือพระมเหสีของกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนคร  และประเด็นสำคัญอีกประการ คือ เมืองพัทลุงเป็นแหล่งจับช้างป่าส่งส่วยให้เมืองสทิงพารารณสีและกรุงศรีอยุธยา

อันจะเห็นจากการที่ตำนานกล่าวถึง  ตาสามโมกับยายเพชร สองสามีภรรยา ผู้ที่ชุบเลี้ยงนางเลือดขาวกับกุมาร ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี  อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุงตา  โดยตาสามโมนั้นมีอาชีพเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา  เป็นผู้มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดสำหรับส่งไปให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ 1 เชือก  โดยเรียกสถานที่นั้นว่า ที่คช หรือ ที่ส่วยช้าง  มีอาณาเขตถึงบ้านท่ามะเดื่อ  ตำบลท่ามะเดื่อ  อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง  ซึ่งภายหลังจากที่ตายายทั้งสองถึงแก่กรรมแล้วนั้นกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองช้าง  เลี้ยงช้างส่งให้พระยากรุงทองต่อจากตาสามโม

6. ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในภาคใต้  เรื่องราวของนางเลือดขาวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา (ยกเว้นตำนานนางเลือดขาวที่เกาะลังกาวีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม)  ในฐานะผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาและช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจากเกาะลังกา  เห็นได้จากตำนานนางเลือดขาวหลายท้องถิ่นกล่าวถึงนางเลือดขาวเดินทางไปเกาะลังกา  เพื่อนมัสการและนำพระบรมสารีริกธาตุมายังภาคใต้  สร้างวัดและเจดีย์พระมหาธาตุ  นำพระพุทธสิหิงค์และสร้างพระพุทธรูปไว้ตามสถานที่ต่างๆ  ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ที่ได้เผยแพร่มายังภาคใต้ของไทยได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของตำนานนั้นได้กล่าวไว้ว่า เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบค้นหาพระบรมสารีธาตุที่เกาะลังกา เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้ทราบข่าวก็ได้คิดที่จะเดินทางติดตามไปกับทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชด้วย  โดยคณะทูตได้ขี่ช้างไปทางห้วยยอดเมืองตรังแล้วลงเรือที่แม่น้ำยังท่าเรือกันตัง  เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวจึงขี่ช้างจากบางแก้วไปยังสถานที่แห่งหนึ่งพบเมืองร้องอยู่  จึงเรียกที่นั้นว่า “บ้านทะหมีร่ำ”(ทะ คือ พบ ,ร่ำ คือร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำ อำเภอพัทลุงในปัจจุบัน  เมื่อถึงเมืองตรังเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง  ชื่อว่า”วัดพระงาม”  แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตัง  แล่นเรือไปยังเกาะลังกา  ซึ่งหลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางกลับมาก็ได้รับเอาอิทธิพลของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เอามายังภาคใต้ด้วย

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แพร่กระจายอยู่ในบริเวณท้องที่จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง  ซึ่งได้รวมเอาตำนานที่อธิบายเกี่ยวกับสถานที่เข้าปะปนเข้าไว้ด้วยกัน  จึงดูเป็นเรื่องเกินความจริงยากที่จะเชื่อถือเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้  แต่อย่างไรก็ตามในสิ่งที่เป็นตำนานนั้นย่อมจะมีข้อเท็จจริงแอบแฝงอยู่ด้วยอย่างแน่นอน  โดยตำนานนางเลือดขาวนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อการสร้างประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองพัทลุงแล้ว  ก็ยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อของชาวใต้และชาวพัทลุงอีกด้วย   จึงถือได้ว่าเป็นนิทานหรือตำนานที่มีความสำคัญ และน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ประเภทตำนานในท้องถิ่นภาคใต้

 

แนวคิดที่เด่นชัดซึ่งได้ปรากฏอยู่ตำนานนางเลือดขาวที่เด่นชัดนี้ ก็คือ เรื่องของการยกย่องบูชาบุคคลที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  และสร้างสรรค์ถาวรวัตถุเพื่อศาสนา  ดังตัวอย่างชีวิตของเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวดังที่ได้กล่าวไปแล้ว 

 

หมายเลขบันทึก: 392785เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2010 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท