...แบบไหนก็ไม่ดี...


ในสัปดาห์นี้หนึ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นผู้ป่วยที่ข้ามฝั่งมาจาก สปป.ลาว เพื่อนบ้านเรานี่เองค่ะ ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเคยมารับการผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และฉายแสงครบไปตั้งแต่ปี 2551 ผู้ป่วยแข็งแรงดี กลับไปอยู่ที่บ้านและทำงานได้เหมือนเดิมค่ะ มาครั้งนี้ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการแขนขาข้างขวาอ่อนแรง (อาการเหล่านี้แสดงว่าต้องมีพยาธิสภาพในสมองแน่ๆ แต่จะจากอะไรต้องหาสาเหตุให้เจอ และรีบรักษาค่ะ) นั่งรถเข็นมา สีหน้าวิตกกังวลมากๆ รวมทั้งญาติที่มาด้วยค่ะที่มีสีหน้าไม่ค่อยดี  ผู้ป่วยขอมาปรึกษาเรื่องการฉายแสงค่ะ

แหะๆ ภาพประกอบจาก internet อาจไม่เข้ากันเท่าไหร่ แต่ภาพนี้สีสวยดีค่ะ

จากผลอ่าน film CTscan ที่ผู้ป่วยถือมาด้วยพบว่ามีก้อนในเนื้อสมองอยู่ 1 ตำแหน่ง รังสีแพทย์มองว่าถ้าเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาจากมะเร็งเต้านมเดิมนั้น น่าจะมีมากกว่า 1 ก้อน จึงส่งปรึกษาทางศัลยกรรมก่อน เพราะยังไม่มีผลยืนยันและอาการทางคลินิคก็ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมอง เวลาไม่นานผู้ป่วยและญาติกลับมาบอกพยาบาลว่า กลัว ไม่อยากผ่าตัดสมอง ถ้ามีทางเลือกอื่นขอเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดสมอง จึงปฏิเสธทางศัลยกรรม และผู้ป่วยเลือกขอทำ MRI ก่อน หลังจากที่ได้พูดคุยและเข้ารับคำปรึกษาเรียบร้อยแล้ว

พยาบาลแจ้งผู้ป่วยเรื่องแผนการรักษาต่อไป

แพทย์จะส่งผู้ป่วยไปทำ MRI เพื่อดูว่าจะเป็นมะเร็งแพร่กระจายหรือไม่ หากพบว่ามีก้อนมากกว่า 1 ตำแหน่ง จะฉายแสงให้ แต่ถ้ายังคงพบเพียง 1 ตำแหน่งเหมือนในผล CT scan จะส่งไปพบศัลยแพทย์อีกครั้ง

ถ้าเป็นคุณ จะลุ้นให้ผล MRI ออกมาแบบไหนคะ???

1.ถ้าผลออกมาว่าไม่ใช่มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมอง ต้องส่งไปผ่าตัดสมอง

2.ถ้าผลออกมาว่าเป็นมะเร็งแพร่กระจายไปสมอง จะรักษาด้วยการฉายแสงโดยไม่ต้องผ่าตัดสมอง

สำหรับหนึ่ง ถ้าเลือกได้ ขอไม่เป็นทั้งสองแบบ แหะๆๆ แต่สำหรับผู้ป่วยรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนจากสองแบบที่ว่า ตอนนี้เค้ามีอาการแขนขาอ่อนแรงแล้ว และกำลังวิตกกังวลเรื่องการรักษาที่จะต้องทำต่อไปด้วย ในฐานะพยาบาลรังสีรักษา (และหนึ่งก็คิดว่าหลายๆท่านก็คิดแบบหนึ่ง) ในใจหนึ่งเองนั้น อยากจะลุ้นให้ผลออกมาว่าไม่เป็นมะเร็งแพร่กระจายไปสมอง แต่ใจผู้ป่วยคิดยังไงต้องติดตามต่อไปค่ะ 

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นค่ะ ^^

พรุ่งนี้หนึ่งจะมาเล่าต่อว่าสรุปแล้วผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาแบบไหน และความรู้สึก สภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างไรต่อผลที่ออกมาและการรักษาที่ได้รับค่ะ

มาแล้วค่ะ

ผล MRI ที่รังสีแพทย์อ่านมาก็คือมะเร็งแพร่กระจายไปที่สมอง ทำให้แพทย์พิจารณารักษาด้วยการฉายรังสี

ตอนที่ผู้ป่วยและญาติมาฟังผล MRI นั้นเมื่อทราบว่าจะได้รับการรักษาด้วยการฉายแสง ผู้ป่วยและญาติมีสีหน้าดีใจมากกกก หนึ่งเองก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ว่าจะเห็นอาการดีใจเมื่อได้รับแจ้งว่าป่วยเป็นมะเร็งกระจายไปสมอง

ณ ตอนนี้ ผู้ป่วยบอกว่ายังไงก็แล้วแต่ ขอรักษาแบบไหนก็ได้ที่ไม่ต้องผ่าตัดสมอง เพราะกลัวว่าผ่าตัดแล้วจะไม่ฟื้นมาพบหน้าสามีและลูกอีก เคยเห็นคนที่อยู่บ้านใกล้กันไปผ่าตัดสมองแล้วฟื้นขึ้นมา จำใครไม่ได้เลย  ผู้ป่วยรู้ว่า เกิดมาครั้งนึงทุกคนย่อมจากโลกนี้ไปแน่นอน ช้าหรือเร็วแค่นั้น อย่างน้อย ถ้าต้องเป็นอะไรไปจริงๆ ก็อยากจะขอจำลูกได้  

ผลออกมาว่าได้ฉายแสงผู้ป่วยและญาติจึงดีใจมากค่ะ

บางครั้งที่เราคิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้น่าจะดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยนั้นๆแล้ว ก็อาจไม่ใช่แบบที่ผู้ป่วยต้องการจริงๆเสมอไป ดังนั้นเวลาจะให้การพยาบาลผู้ป่วยแต่ละรายจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ป่วยแต่ละราย ความต้องการที่แท้จริงของเค้าคืออะไร

หมายเลขบันทึก: 392414เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2010 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ไม่เลือกทั้งสองอย่างดีกว่า น่ากลัว แง ความไม่มีโรค เป็นลาบ ก้อย(อร่อย) เอ้ย ลาภอันประเสริฐ ฮ่าๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

อิอิ อร่อยจริงๆด้วยค่ะ เอ้ย!! ไม่ใช่ค่า อิอิ

ใช่เลยค่ะ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐที่สุดแล้วค่ะ

แต่สังขารไม่เที่ยง คนเราต้องมีเกิด แก เจ็บ ตาย

เมื่อเจ็บ(ป่วย)ขึ้นมา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือกำลังใจจากคนในครอบครัวค่ะ

ผู้ป่วยรายนี้มีลูกหลาน ญาติมิตรเพื่อนข้างบ้าน มาเป็นกำลังใจกันเพียบเลยค่ะ ^^

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ขจิตมาคนแรกอีกแล้วเย้ๆๆๆ

สวัสดีหมอฮานะ

ไม่ได้คุยด้วยตั้ง หนึ่งวัน จิงปะไม่รู้ น่าจะจิงนะ ฆีดดดดดดดดดถึงคิดถึง

สวัสดีค่ะคุณหม่อมนักบิน

(โอ๊ะโอว..เพิ่งสังเกต่าตัวสะกดจาก ณ เป็น น ตั้งแต่เมื่อไหร่อ่ะค้า แหะๆ)

ไม่ได้คุยด้วยหลายวันเลยนะค้า ไม่ใช่วันเดียวเพราะหนึ่งไม่ค่อยได้เข้ามาบ่อยเหมือนเมื่อก่อน

เดี๋ยวนี้ g2k โหลดหน้าเวบ ย๊ากกกกยากกกกค่ะ (จริงๆอาจเป็นที่เน็ทไม่ค่อยดีด้วย แหะๆ)

ขอบคุณค่า ^^

สวัสดีหมอฮานะ

ณ ก็ยังมีไว้เหมือนเดิม แต่สงวนไว้ใช้ในปีใหม่ เดียวมันจะเก่าเสียก่อน ใช้นานไม่ได้ เก่าแล้วขี้เกียจซัก คีดถึงนานแล้วไม่ได้เข้ามาอ่าน ตอนนี้อ่านหนังสือหนักมาก เลยได้เล่นคอมน้อย

สวัสดีค่ะคุณหม่อมนักบิน

เรียนคงหนักมาก ช่วงนี้เป็นช่วงสอบใช่ป่าวคะ ยังไงก็สู้ๆนะคะ ^^

หนึ่งก็งานยุ่ง และ thesis ก็พยายามให้ก้าวหน้าไปบ้าง เลยไม่ค่อยได้เข้ามาใน gotoknow ค่ะ

สวัสดีครับ

บันทึกนี้มีประโยชน์ครับ ขอชมด้วยความจริงใจ...ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันความรู้อย่างเป็นกัลยาณมิตร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า อโรคยาปรมาลาภา โรคยาปรมาลาภะหาย ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ความมีโรคทำให้เสียลาภ แหะๆ ล้อเค้ามาครับ

เข้ามาอ่านก็ไม่อยากเลือกแต่สิ่งที่เลือกของผู้ป่วย ในความคิดของผมก้อคงเหมือนคนทั่วไปที่มีความรู้แค่ว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดสมองน่าจะมีโอกาสเดี้ยงหรือไม่เหมือนเดิม กลัวเป็นโรคเอ๋อ คิดช้า สมองดับ ติงต๊อง น่ะครับขอใช้ศัพท์แบบชาวบ้านๆไฮเทคแบบเห็นภาพน่ะครับ

แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ความจำเป็นของการรักษามะเร็งในสมองที่มี 1 ก้อนควรผ่า และถ้ามีมากกว่า 1 ก้อนควรฉายแสงเพราะว่า ถ้ามีหลายก้อนแล้วใช้วิธีผ่าก็จะกระทบส่วนอื่นมากหลายจุดถูกต้องไหม และการฉายแสงรักษาสามารถกินพื้นที่กว้างและกระทบส่วนอื่นๆในสมองน้อยกว่าใช่ไหมครับ

ถ้าใช่ ตามเหตุผล สมมติเจอมะเร็ง 3 ก้อนในสมองที่ไม่ได้กระจายมาจากเต้านม ก็จะต้องฉายแสงเพราะเหตุผลข้างต้น

แล้วเสี่ยงที่จะเป็นสิ่งดังกล่าว ก้อ ตรงกับความต้องการคนป่วยแต่ถ้าเป็นก้อนเดียว เลือกฉายแสงมีผลต่อหัวล้าน ก้อต้องเลือกหัวล้านอยู่ดีเพราะผ่าตัดยังไงก็เสี่ยงทำให้เกิดอาการดังกล่าวใช่ไหมครับ

ก็เรยขอถามเป็นความรู้เผื่อไปถึงเพื่อนๆท่านอื่นว่า ข้อเสียของการผ่าตัดสมองคือจะมีผลต่อเส้นประสาทต่างๆเช่นทำให้คิดอะไรได้ช้า (เอ๋อรับประทาน) ตรงนี้หรือเปล่าครับ เพราะถ้าใช่คนส่วนใหญ่ก็เรยกลัวการผ่าตัดครับ

ว่าที่ ร.ต.โสตถิทัศน์ เอี่ยมลำเนา

www.gotoknow.org/kmteamdca

บันทึกน่าสนใจครับ มีประโยชน์ อย่างน้อยก็ทำให้ผมมีเรื่องราวไว้อ่าน ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น

ขอบคุณมากครับ

การผ่าตัดสมองไม่ได่น่ากลัวอย่างที่คิด

คุณหมอท่านเก่งมากๆ แม่พี่ก็เคยผ่าตั้ง 2 ครั้ง

แต่ว่าไม่เป็นอะไร ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด

จะดีที่สุด...

สวัสดีค่ะคุณว่าที่ ร.ต.โสตถิทัศน์ เอี่ยมลำเนา

ขอบคุณมากๆเลยค่ะที่ร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์

หนึ่งเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะว่าการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ แต่เราก็ไม่สามารถหนีความจริงข้อที่ว่า ทุกๆชีวิตย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม อยู่ที่เราจะรับมือ (ปรับตัว ปรับใจ รักษา ปฏิบัติตัว) กับการเจ็บป่วยนั้นๆได้เหมาะสมอย่างไร ^^

ถ้าถามว่า ใครไม่เคยป่วยเลย ยกมือขึ้น คงไม่มีเป็นแน่ค่ะ อิอิ

ยิ่งการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากในความรู้สึกของเราทุกคนคือ โรคมะเร็ง แถมจะยิ่งมากเข้าไปอีกเมื่อเป็นมะเร็งตรงอวัยวะที่สำคัญที่สุดอวัยวะนึงของร่างกายเราก็ว่าได้ นั่นคือสมอง

ปกติเราจะพบว่าผู้ป่วยที่ผ่าตัดสมองมักมีอาการแบบที่เค้าเรียกว่า "เอ๋อ"

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า เนื้องอกในสมองนั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิดค่ะ คือ เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย กับเนื้องอกชนิดที่เป็นเนื้อร้าย(มะเร็ง) ในที่นี้เราจะคุยกันถึงชนิดหลังนะคะ คือชนิดที่เป็นมะเร็ง ก็จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในสมองเลย กับ มะเร็งแพร่กระจายมาจากตำแหน่งอื่นๆ เช่นจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ถ้าเราพบก้อนเนื้องอกในสมอง เราก็คงต้องลุ้นว่าให้เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงก่อน จะรู้ได้ไงก็โดยการเจาะดูดชิ้นเนื้องอกเพื่อไปตรวจ ถ้าบังเอิญผลออกมาแล้วว่าเป็นชนิดร้ายแรง ก็ขอลุ้นต่อค่ะว่าให้เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในสมอง และมะเร็งกระจายไปสมองคงต้องขอเลือกเป็นตัวสุดท้ายค่ะ เพราะหนทางรักษาเหลือน้อยลงจากสองชนิดแรกแล้ว

คราวนี้เรามาดูกันว่า การรักษามะเร็งสมองมีกี่แบบ ส่วนมากจะมี ผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด ส่วนมากจะใช้หลายวิธีร่วมกันค่ะเพื่อให้ได้ผลดีมากขึ้น

ตามมาอีกรอบ ฝนตกทุกวันสบายดีไหมเนี่ย...

คำถามที่ว่า ถ้าพบมะเร็ง 1 ก้อนจะต้องผ่า นั้นก็ยังไม่แน่ค่ะ ขึ้นอยู่กับตำแน่งของตัวมะเร็งหรือเนื้องอกนั้นๆด้วยว่าอยู่ตรงไหน ถ้าเป็นใกล้กับก้านสมอง หรือส่วนสำคัญในสมอง แพทย์ก็อาจพิจารณาไม่ผ่าได้ค่ะ

ผลข้างเคียงการฉายแสงที่สมอง ขึ้นกับตำแหน่งที่ฉาย บริเวณที่ได้รับรังสี ปริมาณรังสีด้วยค่ะ ฉายที่ศีรษะ แน่นอนว่าผมจะร่วง แต่หากได้รับปริมาณรังสีไม่มากนัก เมื่อรักษาครบแล้วผมก็จะงอกขึ้นมาใหม่ได้ค่ะ

ถ้าพบว่ามะเร็งกระจายมาที่สมองแน่นอน ส่วนใหญ่จะไม่พิจารณาผ่าตัดค่ะ จะส่งมาฉายแสง

ผลของการฉายแสงต่อเซลล์มะเร็ง จะไปยับยั้งการแบ่งเซลล์ มะเร็งก็จะไม่โตขึ้น ฉายซ้ำทุกวัน(หยุดเสาร์-อาทิตย์) จะทำให้ก้อนมะเร็งยุบลง อาการปวดหัวที่ผู้ป่วยเคยมีก็จะทุเลาขึ้น อาการชัก เกร็ง กระตุก ก็จะลดลงตามขนาดของก้อนที่ไปเบียดเนื้อสมองส่วนข้างเคียงที่เล็กลง เป้าหมายในการฉายมะเร็งกระจายมาที่สมอง เพื่อประคับประคองอาการ ลดความทุกข์ทรมานจากอาการต่างๆค่ะ ^^

สวัสดีค่ะคุณsuan

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ ^^

สวัสดีค่ะพี่ครูป.1

ใช่แล้วค่ะ การผ่าตัดสมองก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หนึ่งก็เคยเจอผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดสมองมาหลายราย

บางรายหลังครบการรักษา ทำกายภาพบำบัดต่อ อีกหน่อย ก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ค่ะ (ขึ้นกับเนื้องอกในสมองนั้นๆด้วยค่ะ)

^^

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ที่อุดรฝนไม่ตกเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ หนึ่งก็สบายดี เรื่อยๆค่ะ

ช่วงนี้โดนตัวขี้เกียจสิงร่างอยู่ 555 งาน thesis ไม่ค่อยเดินหน้าเท่าไหร่

อาจารย์ขจิตเป็นไงบ้างคะ สบายดีป่าวคะ

คุณ hana เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การที่ความดันเป็นที่ใจเราเครียดเอง ถ้าเพื่อนคนนึงเค้าไปตรวจ MRI แล้วเรื่องของไตรกลีเซอร์ไร หรือคลอเรสเตอร์รอลก็ปกติ แต่มีอาการหน้ามืดบ่อย ใจสั่นเต้นรงบ่อย หมอบอกความดันสูง ทั้งที่อายุก็ยังไม่มากแค่ สามสิบต้นๆ ไปหาหมอๆก็ยังไม่ฟันธงถึงสาเหตุ ก็บอกแค่ความดันสูง อย่างนี้อันตรายไหมและต้องระวังอะไรบ้างครับ เพื่อนกลุ้มใจมากเพราะไม่รู้เกิดจากอะไรทั้งที่ตรวจสุขภาพประจำปีทุกสามเดือนตลอด (เบิกจ่ายตรงได้) ควรเปลี่ยน รพ ไปตรวจที่อื่นไหมครับ เพราะเดือนนึงแล้วยังไม่หาย และไม่รู้สาเหตุ ผมว่าน่ากลัวนะ เผื่อล้มน้อคไปจะแย่นะครับนะ

ว่าที่ รต โสตถิทัศน์ฯ

คุณ hana

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การที่ความดันเป็นที่ใจเราเครียดเอง ถ้าเพื่อนคนนึงเค้าไปตรวจ MRI แล้วเรื่องของไตรกลีเซอร์ไร

หรือคลอเรสเตอร์รอลก็ปกติ แต่มีอาการหน้ามืดบ่อย ใจสั่นเต้นรงบ่อย หมอบอกความดันสูง ทั้งที่อายุก็ยังไม่มากแค่

สามสิบต้นๆ ไปหาหมอๆก็ยังไม่ฟันธงถึงสาเหตุ ก็บอกแค่ความดันสูง อย่างนี้อันตรายไหมและต้องระวังอะไรบ้างครับ

เพื่อนกลุ้มใจมากเพราะไม่รู้เกิดจากอะไรทั้งที่ตรวจสุขภาพประจำปีทุกสามเดือนตลอด (เบิกจ่ายตรงได้)

ควรเปลี่ยน รพ ไปตรวจที่อื่นไหมครับ เพราะเดือนนึงแล้วยังไม่หาย และไม่รู้สาเหตุ ผมว่าน่ากลัวนะ

เผื่อล้มน้อคไปจะแย่นะครับนะ

แมค-โสตถิทัศน์

สวัสดีค่ะคุณแมค-โสตถิทัศน์

  • คำถามยากจัง แหะๆ จากที่อ่านดู หนึ่งไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยไปทำ MRI เนื่องด้วยสาเหตุอะไรค่ะ แต่คำถามจะเกี่ยวข้องกับความดันโลหติสูง และดูเหมือนว่าผู้ป่วยเป็นกังวลมาก หนึ่งขอแนะนำแบบนี้ละกันนะคะ ความดันโลหิตสูง มี๒ประเภทค่ะ ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (essential hypertension) และชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension) ไม่ทราบสาเหตุก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่เราทราบว่าตอนนี้มีความดันสูง เมื่อทราบแล้วเราต้องทราบต่อไปว่าความดันสูงจะก่อให้เกิดอันตรายอะไรได้บ้าง เช่น หลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ขึ้นได้ ความดันโลหิตสูงทำให้ไตเราทำงานหนักมากขึ้น หัวใจทำงานหนักมากขึ้น เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆได้ค่ะ เมื่อเราทราบถึงอันตรายที่มีโอกาสเกิดจากความดันโลหิตสูงแล้ว เราต้องทราบถึงวิธีดูแลรักษาตัวป้องกันไม่ให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น ควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงระยะที่๑ ถ้าสูงไม่มากแพทย์จะแนะนำการรักษาความดันสูงโดยไม่ใช้ยา คือ
  • ๑ ลดน้ำหนักลง ๑๕%ของน้ำหนักตัวผู้ป่วย
  • ๒ ความคุมการบริโภคเกลือ (ไม่ควรเกิน๔-๖กรัมต่อวัน)
  • ๓ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม (ไม่เกิน ๑ออนซ์ต่อวัน)
  • ๔ ออกกำลังกาย วันละ ๒๐นาที ทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ครั้ง
  • ๕ การดูแลจิตใจไม่ให้เกิดความเครียด

เรียน คุณหมอ Hana

ก่อนอื่นต้องขอบคุณมั่กมากครับ ที่ทำให้ผมและเพื่อนๆได้ความรู้เรื่องโรคความดันเพิ่มขึ้นอีก

มีประโยชน์จริงๆ ตอนนี้ผมได้แนะนำเพื่อนๆรวมทั้งเพื่อนที่เป็นความดันสูงเข้ามา ลปรร ในเพจนี้ครับนะ

สุดท้ายขอให้ผลบุญที่คุณ Hana ได้ให้ความรู้ทุกคน

ทำให้เพื่อนๆมีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

ส่งผลให้สำเร็จในการทำ thesis นะครับนะ

แมค-โสตถิทัศน์

สวัสดีค่ะคุณแมค-โสตถิทัศน์

ก่อนอื่นหนึ่งขอแก้ข่าวเล็กน้อยค่ะ แหะๆ หนึ่งเป็นพยาบาลค่ะ ไม่ใช่คุณหมอ ^^"

ยินดีมากที่บันทึกหนึ่งมีประโยชน์ และยินดี ลปรร ค่ะ

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกายและใจ สดใสแข็งแรงนะคะ ^^

ปล.ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับคำอวยพร หนึ่งขอรับไว้เต็มๆเลยค่า โดยเฉพาะเรื่อง thesis อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท