คนตาย (ไม่) ขายคนเป็น


การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นค่านิยมและความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราทำให้ชุมชุนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์มากขึ้นสามารถทำได้

คนตาย (ไม่) ขายคนเป็น…วิจัยเชิงปฏิบัติการของชุมชนเพื่อชุมชน  

         ในหลายชุมชน การจัดงานศพของคนทั่วไป เจ้าภาพต้องใช้เงินทุนสูงในการจัดงาน บางงานเมื่อจัดงานเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับมีหนี้สินเพิ่มขึ้น  จากปัญหาที่ยาวนานอันเกิดจากค่านิยมและความเชื่อของชาวบ้านอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ที่ทำให้การจัดงานศพแต่ละงานต้องใช้เงินจำนวนมาก เจ้าภาพต้องกู้เงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดงานดังกล่าว จนกลายเป็นหนี้สินที่เกิดจากงานศพ โดยเฉพาะ “เหล้า” ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการใช้เพื่อเลี้ยงขอบคุณแขกหรือเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานหรือญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมงานซึ่งเป็นค่านิยมที่ทำกันมานาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงาน

          จากตัวเลขหนี้สินที่เกิดขึ้น มีแกนนำการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน อบต. และอีกหลายคนที่ร่วมมือกัน จากการเปิดเวทีประชาคมให้ลูกบ้านทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น การประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ เริ่มต้นจากการที่หลายคนไม่เห็นด้วย จนกระทั่งเกิดความเข้าใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากพระสงฆ์ในชุมชน ชาวบ้านจึงมีการรวมพลังกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

          โดยใช้กระบวนการวิจัยจากชาวบ้านเองและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งแกนนำวิจัยต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ค่อย ๆ ลงลึกในรายละเอียด จนในที่สุด สามารถนำไปสู่ “การจัดงานศพปลอดเหล้า” ของชาวสบปราบที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง และสามารถขยายผลสู่การลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อีก ซึ่งการลดรายจ่าย จากงานศพปลอดเหล้า ยังทำให้คนในชุมชนเริ่มเกิดแนวคิดที่สร้างสรรค์ในอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้ปราสาทไม้เผาไปกับศพ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ, การคิดค้นเมนูอาหารทางเลือกในงานศพตามกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ และตัดกับแกล้มเหล้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสุกๆ ดับๆ ออก เพื่อลดความเสี่ยงต่อพยาธิใบไม้ในตับ

         นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยทางด้านพิธีกรรมและการจัดเลี้ยงแล้วงานศพที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังช่วยลดปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยชุมชุนอีกด้วย

          ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นค่านิยมและความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราทำให้ชุมชุนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์มากขึ้นสามารถทำได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้ความอดทนมาก การทำวิจัยก็กันต้องให้ประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด ในปัจจุบันจะเห็นงานวิจัยท้องถิ่นมากมาย ที่ชาวบ้านหันมาทำวิจัยกันเอง เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุนและคำแนะนำ

         สำหรับการทำวิจัยและพัฒนาทางด้านการเกษตรนอกจากที่จะทำการทดลองในห้องปฏิบัติการหรือแปลงทดลองแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ งานทดลองนั้นต้องสามารถนำไปใช้ได้จริงกับชุมชนหรือเกษตรกร โดยให้ชุมชุนหรือเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนั้นด้วย

หมายเลขบันทึก: 392036เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท