สมุทรสงคราม ตอน ขี้แดดนาเกลือ


สิ่งที่เคยเป็นขยะหรือปัญหาของท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มีมูลค่าอย่างมากสำหรับชาวนาเกลือ

         ที่จังหวัดสมุทรสงครามมีสิ่งที่ขึ้นชื่อไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเช่นตลาดน้ำอัมพวา ของกินเช่น สัมโอ หรือวิถาชีพของคนที่นี่เช่นการทำนาเกลือ เมื่อกล่าวถึงการทำนาเกลือ หลายคนคงนึกถึงผลผลิตที่เป็นเกลือเม็ดหรือป่นสีขาว แต่หลายคนคงจะไม่ทราบว่าผลผลิตที่ได้จากการทำนาเกลือนั้นมีมากมาย เช่น ดอกเกลือ เกสรเกลือ นำไปทำกับข้าว ทำเกลือสปา เกลือดำใช้ในการรักษาความเย็นในการปั่นไอศกรีม เกลือตัวผู้ ใช้ทำยา ยากวาดคอเด็กของคนโบราณ น้ำเกลือใช้ผสมเพาะพันธุ์ในการเลี้ยงกุ้ง และขี้แดดนาเกลือ

          การทำนาเกลือของจังหวัดสมุทรสงครามมีขั้นตอนดังนี้

  •  ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาแล้ว (อันตาก อันเชื้อ อันปลง) คราดนาจนทั่วพื้นนา 1 รอบ หลังจากคราดนาเกลือเสร็จ จะใช้กระดานละเลงปาดพื้นผิวให้เรียบ
  • ใช้ลูกกลิ้งหรือรถบดนาให้เรียบ เก็บน้ำไว้ที่นาอันตาก 10-15 วัน ระบายน้ำจากนาอันตากไปนาอันเชื้อ วัดค่าความเค็มได้ 20-25 ดีกรี และระบายน้ำเข้านาอันปลงต่อไป
  • เมื่อความเค็มของน้ำ เข้มข้นถึง 24 ดีกรี จะเกิดดอกเกลือที่ผิวน้ำ ชาวนาเกลือจะช้อนดอกเกลือใส่บุ้งกี๋ แล้ระบายน้ำจากนาอันเชื้อไปนาอันปลง ทิ้งไว้ 5 วัน จะเกิดผลึกเกลือ ใช้คฑาซุ่มตัดแถวเกลือให้เป็นลูก/กอง
  • หลังจากนั้นโกยเกลือจากกองใส่บุ้งกี๋ แล้วหาบเกลือเข้ายุ้งเพื่อเก็บไว้ขายในช่วงปลายปี

 

        หลายคนคงสงสัยเหมือนฉันว่าขี้แดดนาเกลือคืออะไร ฉันเคยได้ยินมาว่าสามารถนำมาใส่เป็นปุ๋ยได้แต่ยังไม่เคยเห็นกับตา ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จนได้มาดูงานที่สมุทรสงครามได้มาเห็นของจริงๆว่า ขี้แดดนาเกลือ  ก็คือ สาหร่ายและตะใคร่น้ำที่จับตัวกันเป็นแผ่น และตกตะกอนเป็นแผ่นแห้ง ในนาเกลือ หลังที่พักการทำนาเกลือในฤดูฝน  โดยชาวนาเกลือจะเรียกพวกสาหร่ายและตะใคร่เหล่านี้ว่า “ดินหนังหมา” เนื่องจากมันมีกลิ่นเหม็น ซึ่งชาวนาเกลือจะเก็บขี้แดดกันปีละครั้ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ก่อนบดนาทำนาเกลือ

           ซึ่งขี้แดดนาเกลือเคยเป็นปัญหาของชาวนาเกลือในอดีต ไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน จนคุณโต ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีความรักในอาชีพ รักท้องถิ่น ช่วยเหลือคนอื่น มีความเสียสละน่ายกย่อง ทำนาเกลือแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเกษตรกรทำนาเกลือคนหนึ่งได้สังเกตเห็นว่าบริเวณที่เอาขี้แดดไปทิ้ง พืชบริเวณนั้นกลับเจริญงอกงามดี จึงได้เข้าร่วมโครงการกับคุณสรณพงษ์  บัวโรย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และชาวบ้านในชุมชนร่วมกันทำวิจัยท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากขี้แดดนาเกลือ

         จึงทำให้สิ่งที่เคยเป็นขยะหรือปัญหาของท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มีมูลค่าอย่างมากสำหรับชาวนาเกลือ ซึ่งขี้แดดนาเกลือสามารถนำไปใช้ร่วมกับพืชทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี สามารถเพิ่มความหวานให้กับผลไม้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี ในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีคนทำนาเกลือ ในเครือข่ายมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงคราม ทำให้คนที่สนใจได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถทำวิจัยต่อยอด เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นได้อีกมาก

หมายเลขบันทึก: 391917เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท