การแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน


ผู้ที่เข้ามาดูแลโดยแท้จริง รู้สภาพปัญหาที่แท้จริงหรือไม่?

 ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว และก็เอ่ยว่าจะแก้ไขกันทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลประชาธิปไตย (อย่างแท้จริง!!! 555) ได้มีมติให้ปิดสถาบันดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมทั้งมีการปรึกษาหารือกับทางผู้เกี่ยวข้อง

 

ก่อนอื่นต้องถามว่า “ผู้ที่เข้ามาดูแลโดยแท้จริง รู้สภาพปัญหาที่แท้จริงหรือไม่?” หรือเพียงแค่ “รู้ผิวเผินแต่ออกคำสั่งตามความรู้สึกส่วนตัว” 

 

          เพราะส่วนใหญ่ที่คิดนโยบายต่างๆ ออกมา ท่านๆ ก็มักจะนั่งในห้องแอร์ นั่งเทียนเขียนความคิด หรือได้ยินตามๆ กันมา แล้วสรุปด้วยความคิดของตัวเองว่า “ควรทำอย่างนี้” โดยที่ไม่ได้ไปดูสภาพความเป็นจริงเลยว่า “โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว”

 

          คนนั่งประชุมมักจะไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กๆ โดยตรง แต่เอาผลงานของผู้ดูแลโดยตรง ขึ้นมารายงาน (ก็เหมือนกับการจับคนร้ายโดยนายตำรวจชั้นประทวน แต่คนที่ได้หน้าคือ ตำรวจระดับสัญญาบัตรที่มียศนายพันขึ้นไป นั่งแถลงข่าว ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “เราได้มีการวางแผนเป็นอย่างดีแล้ว” ทั้งๆ ที่การวางแผนก็แทบไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ)

 

ในฐานะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การที่ปิดสถานศึกษานั้นๆ เท่ากับยิ่งเป็นการตอกย้ำให้สังคมมองว่า เด็กเหล่านี้ เป็นปัญหาของสังคม และถูกปล่อยปละละเลย ยิ่งการละเลยก็จะทำให้เขาต้องการเรียกร้องความสนใจในทางที่ผิดมากยิ่งขึ้น จนยากที่กฎหมายจะควบคุมลงโทษ

 

อาจจะเป็นเพราะด้วยกฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนแอเกินไป อำนาจของเงิน สามารถง้างได้ทุกอย่าง จึงทำให้ระบบยุติธรรมของไทย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนไทยด้วยกันเอง

 

สิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำอย่างยิ่งคือ การเปิดสถาบันตามปกติ แต่เน้นให้มีหลักสูตรฟื้นฟูจริยธรรมในสถาบันด้วย เช่นวิชา หน้าที่พลเมือง (ในสมัยก่อน) จริยศึกษา หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม ต้องเน้นให้มากกว่าเรื่องของการดำเนินชีวิต

 

เด็กคืออนาคตของชาติ แต่เมื่อได้ลงโทษกับเด็กแบบนี้ อนาคตของชาติจะดีได้อย่างไร

 

อีกทั้งหากต้องการให้เด็กได้เกิดความรักกันจริงๆ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องแสดงให้เห็นด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยคำพูด

 

การที่บอกว่าเห็นด้วยกับการปรองดอง แต่ยังคงตามปิดสื่อที่เห็นต่าง หรือใส่ร้ายป้ายสี ห้ามนิสิตนักศึกษาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง นี่ก็เท่ากับเป็นการบ่มเพาะนิสัยความเป็นผู้ผูกขาดอำนาจเพียงฝ่ายเดียว

 

แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ เมื่อเด็กๆ ที่ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการแสดงออก ก็จะแสดงออกในทางที่เลวร้ายเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะเกิดอาการเหลิงอำนาจ เพราะถูกกดดันต้องแต่เด็กๆ

 

การแก้ไขที่ถูกต้องต้องละลายพฤติกรรมของผู้ใหญ่ก่อน แล้วให้ความรัก ความเข้าใจที่ถูกต้องกับครอบครัวของเด็กๆ เพราะปัญหาเด็กตีกันนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรัก ความอบอุ่น ในครอบครัว

 

เรื่องนี้โทษเด็กไม่ได้ ต้องโทษที่ผู้แกครอง วิธีการหนึ่งที่อาจจะสามารถลดจำนวนพฤติกรรมและโน้มน้าวให้ผู้ปกครองหันมาดูแลเอาใจใส่บุตรหลานคือ “เมื่อเด็กถูกจับควบคุมความประพฤติ ในสถานกักกันแล้ว ผู้ปกครองต้องถูกดำเนินคดีด้วย ในฐานะผู้ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงภายในประเทศ ซึ่งควรจะมีความผิดสูง”

 

หากทำได้เช่นนี้ก็ย่อมอาจที่จะลดปริมาณการตีกัน และยังให้ผู้ปกครองต้องหันมาใส่ใจดูแลคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาของสังคมโดยคิดว่า “ส่งลูกเข้าโรงเรียน เดี๋ยวครูจะช่วยสอนเอง” เพราะครูคนแรกของลูกๆ ที่จะชี้ผิดถูกก็คือ “พ่อแม่” นั่นแหละ   

 

ปัญหาเด็กตีกัน แก้ไขไม่ยาก เพียงแค่ขยับรายได้และค่าครองชีพที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นภายในประเทศ สามารถดำรงชีพได้โดยไม่ต้องทำงานจนสายตัวแทบขาด เพราะเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ ความรักในครอบครัวต่างหาก

 

เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น เงินไม่เพียงพอก็ต้องหาเพิ่ม เวลาในการหาเงินก็ต้องเพิ่มขึ้น เวลาที่อยู่กับครอบครัว ดูแลลูกๆ จึงน้อยลง เด็กจึงมีปัญหา เพราะว่า ผู้ใหญ่ไม่มีเวลาพูดคุยกัน

 

อย่าวัดค่าเศรษฐกิจของประเทศด้วยอัตราการส่งออกหรืออัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ (ขนาดใหญ่ ที่พวกคุณๆ มีส่วนด้วย!!) แต่ควรพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศอย่างแท้จริง นั่นแหละคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

 

บทความโดย พัฒนะ  มรกตสินธุ์

หมายเลขบันทึก: 391854เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท