ยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต


ยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต

            วรรณคดีประเภทลิลิตมีอยู่หลายเรื่อง  แต่เรื่องที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่  6  ว่าเป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต คือ ลิลิตพระลอ  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับลิลิตพระลอไว้ในหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่  1  ฉบับที่  5  วันที่  21  มิถุนายน  2497  ว่า  “...เรื่องลิลิตพระลอแต่งในสมัยอยุธยาเหมือนกัน  เป็นนิทานเรื่องทางอาณาเขตลานนา(คือมณฑลพายัพ)  ดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงพระราชนิพนธ์แต่ในเวลาเมื่อดำรงพระยศเป็นพระราชโอรส...”

            ลิลิตพระลอเลือกสรรใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะ  แม้ในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ยังได้ยกโคลงจากลิลิตพระลอมาใช้เป็นโคลงแม่แบบในการแต่งโคลงสี่สุภาพ  และยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน  นั่นคือโคลงบทที่ว่า

                        เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                 อันใด  พี่เอย

            เสียงย่อมยอยศใคร                              ทั่วหล้า

            สองเขือพี่หลับใหล                                ลืมตื่น  ฤๅพี่

            สองพี่คิดเองอ้า                                     อย่าได้ถามเผือ

 

            นอกจากโคลงบทนี้แล้วยังมีโคลงบทอื่น ๆ ที่แต่งได้ไพเราะลึกล้ำและให้แง่คิดเกี่ยวกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต  และเรื่องของบุญกรรม  เช่น

                        สิ่งใดในโลกล้วน                       อนิจจัง

            คงแต่บาปบุญยัง                                  เที่ยงแท้

            คือเงาติดตัวตรัง                                  ตรึงแน่น  อยู่นา

            ตามแต่บาปบุญแล้                                ก่อเกื้อรักษา

                        ถึงกรรมจักอยู่ได้                     ฉันใด  พระเอย

            กรรมบ่มิมีใคร                                      ฆ่าเข้า

            กุศลส่งสนองไป                                    ถึงที่  สุขนา

            บาปส่งจำตกข้า                                    ช่วยได้ฉันใด

 

              เนื้อหาของเรื่องลิลิตพระลอหาใช่มีแต่เรื่องราวความรักความพิศวาสเท่านั้น  หากแต่ได้สอดแทรกความรักระหว่างแม่กับลูกเอาไว้อย่างคมคาย

                        สิบเดือนอุ้มท้องพระ                ลอลักษณ์

            สงวนบ่ลืมตนสัก                                 หนึ่งน้อย

            ตราบพระปิ่นไตรจักร                          เสด็จคลอด  มานา

            ถนอมอาบอุ้มค้อยค้อย                        ลูบเลี้ยงรักษา

                        ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อ                      เมียตน

            เมียแล่พันฤๅดล                                  แม่ได้

            ทรงครรภ์คลอดเป็นคน                        ฤาง่าย  เลยนา

            เลี้ยงยากนักท้าวไท้                             ธิราชผู้มีคุณ

                       

            นอกจากนี้ยังแทรกสำนวนนิราศไว้ในเนื้อเรื่องตอนที่พระลอเสด็จไปยังเมืองสรองอีกด้วย

                        ยามไร้เด็ดดอกหญ้า             แซมผม  พระเอย

            หอมบ่หอมทัดดม                              ดั่งบ้า

            สุกกรมลำดวนชม                             เชยกลิ่น  พระเอย

            หอมกลิ่นเรียมโอ้อ้า                          กลิ่นแก้วติดใจ

                        เล็บมือนางนี้ดั่ง                     เล็บนาง  เรียมนา

            ชมม่านนางหวังต่าง                          ม่านน้อง

            ชมพูสไบบาง                                    นุชคลี่  ลางฤๅ

            งามป่านี้ไม้ปล้อง                               แปลกปล้องศอศรี

 

            บทที่เล่นคำเล่นความได้ไพเราะก็มีอยู่หลายบท  เช่น

                        กาจับกาฝากต้น                      ตุมกา

            กาลอดกาลากา                                   ร่อนร้อง

            เพกาหมู่กามา                                     จับอยู่

            กาม่ายมักกาซร้อง                               กิ่งก้านกาหลง

 

                        ลางลิงลิงลอดไม้                     ลางลิง

            แลลูกลิงลงชิง                                     ลูกไม้

            ลิงลมไล่ลมติง                                     ลิงโลดหนีนา

            แลลูกลิงลางไหล้                                 ลอดเลี้ยวลางลิง

          ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลเหนือจิคใจคนไทยอย่างมาก  แม้ในขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนฟันม่าน  ได้กล่าวถึงม่านฝีมือนางวันทองที่ปักเป็นเรื่องราวของพระลอ ดังนี้

           เจ้าปักเป็นพระลอดิลกโลก           ถึงกาหลงทรงโศกกำสรดสุด

แสนคะนึงถึงองค์อนงค์นุช                      ทรงเสี่ยงสายสมุทรมาเป็นลาง

แสนคะนึงถึงองค์พระเจ้าแม่                    พระลอแลน้ำแดงดังแสงฝาง

ละลักษณวดีไว้โดยปรางค์                       คะนึงนางพระพี่น้องทั้งสององค์

ปู่จ้าวท้าวใช้ให้ไก่แก้ว                            มาล่อแล้วพระลอไล่เตลิดหลง

ถึงสวนขวัญพระยิ่งแสนกำสรดทรง         ปักเป็นองค์พระเพื่อนพระแพงทอง

สู่สวนพิศวาสประพาสโฉม                       พระลอโลมเสพสุขประสมสอง

พี่เลี้ยงเคียงข้างคอยประคอง                  นางรื่นนางโรยรองบาทบงสุ์

 

        เมื่อครบถ้วนกระบวนความเช่นนี้แล้ว  ลิลิตพระลอจึงควรค่าแก่การเป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต  เป็นเพชรงามประดับวงวรรณคดีไทยตลอดกาล 

หมายเลขบันทึก: 391768เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ..

บทกวี เป็นความงดงามของภาษาไทย ที่มีเอกลักษณ์

อ่านกี่ครั้งก็ยังประทับใจ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ  Ico32  คุณเลิศฤทธิ์ ศรีหงส์

   ยินดีที่ได้ต้อนรับผู้ชื่นชอบบทประพันธ์เหมือนกันค่ะ 

บทที่ยกมาล้วนแต่มีเสน่ห์ มีความน่าทึงของกวีผู้สร้างผลงาน ได้เป็นแบบอย่างของคนรักษ์ภาษาไทยค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ  Ico32  คุณ yaiyai997

   เห็นด้วยกับ Ico32  คุณyaiyai997 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท