ประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค “สื่อพื้นบ้านประสานใจ” ตอนที่ 3 หลังจากได้รับรางวัล


ขอแสดงความเคารพศรัทธาอย่างสูง ในตัวของบรมครูลำตัดของประเทศไทย ครูหวังดี นิมา สุดยอดนักแสดงต้นแบบเพลงพื้นบ้าน

การประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค

“สื่อพื้นบ้านประสานใจ”

ตอนที่ 3 หลังจากได้รับรางวัล

ชนะเลิศลำตัด ระดับประเทศ

คณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ

โดย อ.ชำเลือง  มณีวงษ์

        หลังจากที่ได้รับทราบผลการประกวดเพลงพื้นบ้าน ภาคกลาง ในรอบชิงชนะเลิศ เวลาในช่วงนั้นประมาณ 16.00 น.เศษ มีเจ้าหน้าที่ดำเนินงานมาตามผมและเด็ก ๆ นักแสดงไปให้สัมภาษณ์บันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อออกอากาศ ช่อง NBT ในคำถามและคำตอบจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึก การเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ทำอย่างไร แล้วก็ให้ผมได้ฝากข้อคิดเอาไว้สำหรับเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยเรา และร่วมกันรักษาเอาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

                           

        หลังจากนั้นก็เตรียมเก็บสิ่งของ อุปกรณ์การแสดงเพื่อที่จะเดินทางกลับมายังโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ ส่งเด็ก ๆ นักแสดงกลับบ้าน เด็ก ๆ ถามผมว่า ในวันพรุ่งนี้ พวกเราจะต้องออกไปยืนปรากฏตัวที่หน้าเสาธงหรือไม่ ผมบอกเด็ก ๆ ว่า ครูคิดว่าคงจะต้องออกไปประกาศเกียรติคุณ ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนโรงเรียน เป็นตัวแทนจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าร่วมกิจกรรมในระดับชาติ และได้รับรางวัลสูงสุดของภาคกลาง เป็นรางวัลในระดับประเทศ ก็ขอให้นัดหมายเตรียมความพร้อมกันเอาไว้

        เช้าวันที่ 6 กันยายน 2553 เป็นวันจันทร์ที่ท้องฟ้าแจ่มใส ผมมองอะไรมัว ๆ สลัว ๆ มาหลายวัน งานซ้อนเข้ามาหลายอย่างทั้งงานราชการ งานขยายผลเพลงอีแซว งานประกวดลำตัด งานส่วนตัว (ทำขวัญนาคที่ภาคเหนือ) ผมโทรศัพท์แจ้งข่าวให้ท่านผู้อำนวยการลั่นทม พุ่มจันทร์ ได้ทราบผลการประกวดลำตัด และรายงานรายละเอียดให้ท่าน ผอ.ได้รับทราบเป็นเบื้องต้น รวมทั้งเรียนเชิญท่านแสดงความยินดีกับทีมงานลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ที่ได้โล่รับรางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ระดับประเทศ จัดโดย กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ท่าน ผอ.แสดงความยินมีกลับมาในสายโทรศัพท์

       

        

       

        ผมขอเวลาครูเวรเพื่อแจ้งข่าวสำคัญและเป็นข่าวดีสำหรับสถานศึกษาของเรา โดย แจ้งผลการประกวด กล่าวท่าวความถึงที่มาที่ไปของการประกวดเพลงพื้นบ้านในครั้งนี้ย่อ ๆ พอเข้าใจ เด็ก ๆ นักแสดงเดินออกมาที่หน้าเสาธง ปรากฏตัวให้นักเรียน 2,000 คนได้เห็นหน้า ไม่ต้องประกาศชื่อเพราะคนกลุ่มนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ท่านผู้อำนวยการกล่าวแสดงความยินดี ขอบคุณครู ผู้ฝึกสอน ดูแลทีมงานที่ทำให้ได้รับรางวัลในระดับประเทศอีกครั้ง ขอบใจนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทุกคน ขอบคุณครูผู้สอนที่ให้โอกาสนักเรียนได้ร่วมกิจกรรม ขอบคุณท่านผู้ปกครองนักเรียน และท่านก็กล่าวถึงการสร้างคุณงามความดีซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ โรงเรียนของเรามีจุดเด่นที่ควรรักษาไว้ตราบนานเท่านาน

        สำหรับท่าน ผอ.ลั่นทม พุ่มจันทร์ ท่านเป็นผู้บริหารโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ที่อยู่โรงเรียนนี้มานานตั้งแต่ตำแหน่งครู อาจารย์จนถึงผู้อำนวยการ และที่เป็นจุดเด่นของท่านคือ ท่านให้ความสนใจ ให้ความสำคัญทุกจุด ให้การสนับสนุน ให้โอกาสทำงานอย่างอิสระโดยท่านกำกับดูแลในโครงสร้างของงาน เนื้อในเราสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ท่านสนับสนุนเวลา โอกาส ยานพาหนะ งบประมาณอย่างเหมาะสมมาตลอดในเวลาที่ผ่านมา ผมและทีมงานเพลงพื้นบ้านทั้งหมดประทับใจในความเมตตาของท่าน ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีข้อเสนอแนะมาให้ ก็เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นบวกทั้งหมด ท่านกล่าวกับผมว่า “รับงานแสดงติด ๆ กัน เด็กมีเวลาเรียนพอไหม ขอเวลาเรียนจากครูผู้สอนให้เด็ก ๆ ด้วย” ยังมีจุดเด่นอีกหลายอย่าง หากไม่มีบุคคลอย่างท่าน ผอ. เพลงพื้นบ้านของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 คงไม่สามารถที่จะเดินทางมาถึงจุดสูงสุดในระดับประเทศได้หลายครั้ง จนถึงในระดับนักแสดงมืออาชีพได้แน่

       

        

       

        หลังจากที่ทีมงานลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ประเภทลำตัด ในระดับประเทศแล้ว ภารกิจที่เราจะต้องกระทำต่อไปคือ การเข้าร่วมแสดงโชว์ในวันรับรางวัล วันที่ 29 กันยายน 2553 ที่ห้องประชุม กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ ซึ่งในวันนั้นจะเป็นการแสดงโชว์ของทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 4 ภาค และเข้ารับโล่รางวัล เกียรติบัตร เงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท จาก ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี งานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT ถ่ายทอดสด

        พวกเรายังคงใช้เพลงพื้นบ้านเป็นสื่อนำสาระสู่ท่านผู้ชม ณ สถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ด้วยผลงานมหรสพพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ทำขวัญนาค เพลงแหล่ ฯลฯ โดยครูชำเลือง มณีวงษ์ร่วมกับเยาวชน ทายาททางเพลงกลุ่มหนึ่งอย่างเหนียวแน่นไปจนตลอดชีวิต เพื่อตอบแทนแผ่นดินเกิด ประเทศชาติที่มีพระคุณต่อชีวิตของคนไทย อย่างพวกเรา ที่เป็นปุถุชนสามัญ อันมีสถาบันที่เราเคารพยิ่งเป็นศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ ให้รู้รักสามัคคี ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของชาติเอาไว้ด้วยความรักและหวงแหนที่สุด

        

        วงเพลงลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ มาจากวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ เมื่อเราไปแสดงเพลงประเภทใดก็จะใช้ชื่อนำหน้าตามเพลงที่ไปนำเสนอผลงาน โดยเฉพาะเวลาเข้าร่วมประกวดแข่งขัน เป็นวงเพลงพื้นบ้านที่ก่อตั้งมายาวนาน 19 ปี (ผมมีประสบการณ์ในการแสดงมากว่า 40 ปี) ผมฝึกฝนนักเรียนให้เขาได้แสดงออกอย่างมืออาชีพ ผมเขียนบทเพลงพื้นบ้าน (สคริปการแสดง) ด้วยตนเองเอาไว้เป็นจำนวนมาก หลายร้อยชุด มากว่า 1,000 หน้ากระดาษโดยได้เรียนรู้จากนักเพลงรุ่นครูหลายท่านเป็นต้นแบบ จากหลาย ๆ สถานที่ โดยเฉพาะการแสดงลำตัด ผมมีโอกาสได้ไปคารวะท่าน 2-3 ครั้ง โดยพี่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ประสานงานให้ ท่านเป็นครูเพลงที่น่ายกย่องนับถือมาก ผมขอแสดงความเคารพศรัทธาอย่างสูง ในตัวของบรมครูลำตัดของประเทศไทย ครูหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) สุดยอดนักแสดงเพลงพื้นบ้านต้นแบบที่ยากจะหาคนมาแทนที่ท่านได้ ไว้ ณ โอกาสนี้

ชำเลือง มณีวงษ์

        - รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซวด้นสด ของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2525

        - ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ เพลงพื้นบ้าน  ปี พ.ศ.2547

        - โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดินจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี พ.ศ.2549

        - เข็มรางวัลผู้ทำประโยชน์ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี       ปี พ.ศ.2552

        - ประธานกลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ.2553

หมายเลขบันทึก: 391767เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ชำเลืองหนูอยากสมัครตัวเป็นศิษย์ของท่านจังเลยค่ะ หนูมีความสนใจด้านลำตัดมานานแล้วค่ะ ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนของอาจารย์ที่ได้รับรางวัลด้วย ถ้าหนูต้องการเรียนการเขียนเพลง และการร้อง หนูจะติดต่อกับอาจารย์ได้อย่าไรคะ

  • ยินดี ครับ และดีใจด้วยที่ยังมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน
  • ลำตัด จะร้องยากกว่าเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ เพราะมีหลายทำนองและเป็นเพลงที่เล่นแบบผสมผสานกับเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ด้วย
  • ที่สำคัญคือ ลำตัดต้องมีรำมะนา และผู้ที่ทำหน้าที่ตีรำมะนาจะต้องรู้จักทำนองว่าผู้ร้องร้องทำนองใด รู้ว่าจังหวะเร็ว ปานกลาง ช้า จึงจะตีเข้ากับผู้ร้องได้
  • ส่วนกลอน เขียนแบบลงสระเดียว แต่ละทำนองร้อง จะใช้คำไม่เท่ากัน ครับ ในบล็อกเพลงพื้นบ้านมีเขียนเรื่องลำตัดเอาไว้แล้ว
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท