เลี้ยงแพะปลอดโรคทางเลือกที่ใสใสของเกษตรกร


เข้าใจกันก่อน 

         ด้วยสายเลือดสัตวบาลจากรั้ววิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก ส่งผลให้ผู้เขียนนึกถึงการเขียนเรื่องของเพาะ  เมื่อพบเกษตรกรเลี้ยงบริเวณข้างถนนเข้าสู่ท้องทุ่งนาหมู่ 7  ต.เขาท่าพระ จึงประสานงานหมอพร้อม  นงบาง  สัตวแพทย์ชำนาญงาน จึงได้รับการตอบกลับถึงฟาร์มที่ประสบผลสำเร็จและน่าสนใจที่จะเป็นฟาร์มตัวอย่างด้านการจัดการที่ดีส่งผลให้แพะปลอดโรคเป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ จึงกล่าวได้ว่า “ตลาดไม่ใช่ปัญหาของการเลี้ยงแพะแต่แพะไม่พอขาย”   ปัจจุบันจังหวัดชัยนาทมีแพะจำนวน 11,355 ตัว

 รู้เรื่องง่ายๆ ของแพะ       

       นายสมบัติ  แก่นจันทร์ เกษตรกรเลี้ยงแพะวัย 43 ปี บ้านเลขที่ 43 หมู่ 7 ต.เขาท่าพระ   อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท กล่าวว่า หลังจากขายวัวที่เลี้ยงร่วมกับเพื่อนบ้าน ด้วยใจรักการเลี้ยงสัตว์จึงหาข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เพื่อนำเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดลงทุนอย่างคุ้มค่า เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ให้ผลตอบแทนได้เร็วจึงตัดสินใจเลี้ยงแพะมานานกว่า 10 ปี เริ่มโดยจัดสร้างโรงเรือนกว้างXยาว 16X 20 เมตร ยกพื้นสูงสำหรับอยู่อาศัยบังแดดบังฝน ด้านข้างของชั้นบนและพื้นล่างกันด้วยตาขายไนล่อน เพื่อป้องกันกันยุงกัดแพะเวลากลางคืน ส่วนด้านล่างนอกจากกันยุงได้แล้วยังสามารถรองมูลแพะที่กวาดลงมาให้ไหลรวมกันพร้อมที่จะนำไปผึงแดดให้แห้งรอการบรรจุกระสอบจำหน่ายในราคากระสอบละ 15 บาท  

        เนื่องจากยกพื้นสูงจึงทำทางเดินสำหรับแพะขึ้น-ลงลาดสูงประมาณ 45 องศา เพื่อให้ขึ้นได้สะดวกทางขึ้นลงใช้ไม้ทำระนาดกั้นกันลื่นล้ม  พื้นใช้ไม้หนาขนาด 1 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว ปูพื้นให้เว้นร่องระหว่างไม้แต่ละอันห่างกันประมาณ 1.5 เซนติเมตร จะทำให้มูลของแพะตกลงข้างล่าง พื้นคอกจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ผนังคอกสูง 1.5 เมตร ป้องกันไม่ให้แพะ กระโดดหรือปีนข้ามออกไปได้  หลังคาสูงจากพื้นคอกประมาณ 2 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี

     ด้านข้างของโรงเรือนได้กั้นคอกสำหรับเป็นคอกอนุบาลแพะคลอดลูกใหม่ให้ได้อยู่กับลูกโดยไม่มีแพะตัวอื่นๆ มารบกวน สำหรับการเลี้ยงนั้น ใช้การเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง โดยจะปล่อยออกจากคอกประมาณ 9.00-10.00 น. คอยดูแลตลอดเวลาให้หากินตามทุ่งนาหลังการเก็บเกี่ยว หรือบริเวณที่สาธารณะและถนนเข้าสู่ทุ่งนา  เพราะเป็นการเลี้ยงที่ประหยัด ไม่ต้องตัดหญ้ามาเลี้ยง เพียงระมัดระวังอย่าให้แพะเที่ยวทำความเสียหายให้แก่ พืชเกษตรกรเพาะปลูก ทั้งนี้เพราะแพะกินพืชได้หลายชนิด แต่โชคดีที่แพะที่เลี้ยงไม่กินต้นข้าวของเพื่อนเกษตรกรที่ทำนา หลังจากแพะหาอาหารกินแล้วจะไล่ต้อนกลับเข้าคอกตอนเย็น หากพื้นที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์แพะจะกินอาหารเพียง 1-2 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว  ปัจจุบันมีแม่แพะพันธุ์แองโกลนูเบียนจำนวน 120 ตัว พ่อแพะพันธุ์เบอร์ จำนวน 2 ตัวเป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม ลูกแพะจำนวน 84 ตัว แพะจะให้ลูกได้เร็ว อายุตั้งท้อง 150 วัน ดังนั้นจึงสามรถให้ลูกได้ปีละ 2 ครั้ง บางครั้งอาจได้ลูก 2 ตัวต่อครั้ง หรือเรียกว่าตกลูกแฝด  ลูกเพศผู้อายุ 3 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณ 18 กก. จำหน่ายได้ประมาณ กก.ละ 70 บาท

การเลี้ยงแพะให้ปลอดโรค

         นายสมบัติ  กล่าวถึงความยากง่ายของการเลี้ยงแพะให้ปลอดโรคว่า ปฏิบัติไม่ยากนัก เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกแม่พันธุ์จากฟาร์มที่เชื่อถือได้หรือผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ และติดต่อให้สัตวแพทย์เข้าตรวจเลือดทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาเชื้อโรคโรคบรูเซลโลซิส หรือโรคแท้งติดต่อ และเมลิออยโดสิส หลังจากการตรวจแล้วไม่พบเนื่องจากพ่อแม่พันธุ์หาจากฟาร์มที่ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนดภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์  อีกทั้งการรักษาคอกให้สะอาดและไม่ปล่อยให้แพะออกไปหากินบริเวณที่ชื้นแฉะ หรือช่วงฝนตก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นพยาธิ โรคปากเปื่อย  โรคปอดปวม  และโรคไข้นม  อีกด้วย การดูแลรักษาที่ดีจะส่งผลให้แพะแข็งแรงสามารถต้านต่อโรคของแพะ ลูกที่เกิดใหม่จะแข็งแรงดีอีกด้วย

หมอพร้อม นงบาง สัตวแพทย์ชำนาญงาน

ชวนผู้อ่านเข้าร่วมงานสักนิด

         นายวีระ  ร่มโพธิ์ภักดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงแพะเนื้อ เป็นอีกอาชีพหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรที่สร้างรายได้และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า  การที่จะให้การเลี้ยงแพะประสบความสำเร็จ จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี  สำหรับฟาร์มที่ผ่านการรับรองตามหลักเกณฑ์การรับรองและรักษาสถานภาพฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลซีสในแพะ แกะ นอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อแล้ว ยังส่งผลดีให้กับเจ้าของฟาร์มและชุมชนด้านสุขอนามัยอีกด้วยโดยฟาร์มที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานฯ มีองค์ประกอบดังนี้ มีรั้วรอบฟาร์มป้องกันสัตว์โดยเฉพาะสุนัข มีการทำลายเชื้อโรค และควบคุมคน สัตว์ ส่งของ ยานพาหนะ เข้า-ออกฟาร์ม มีระบบการกำจัดของเสียไม่เกิดมลภาวะ มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ทุกตัว มีระบบการจัดเก็บมูลสัตว์เป็นรายตัว และต้องตรวจสอบโรคในสัตว์ที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนทุกตัว

เรื่องน่ารู้

         โรคแท้งติดต่อหรือโรคบรูเซลโลซีส  เป็นโรคติดต่อ  ชนิดเรื้อรังเกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิด  รวมทั้งเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน  โรคแท้งติดต่อเกิดจากเชื้อแบดทีเรีย อาการที่สังเกตได้  คือ   มีแท้งในช่วง  2 เดือนสุดท้ายของการตั้งท้อง  โดยฝูงที่พบโรคครั้งแรกมักจะมีการแท้งแทบทุกตัว  และอัตราการแท้งลดลงในการตั้งท้องครั้งต่อไป  นอกจากนี้อาจพบอาการเต้านมอักเสบ  ขาเจ็บ  และข้ออักเสบ  และบางครั้งจะมีอาการทางระบบประสาทตัว  ผู้อัณฑะมักมีอาการอักเสบบวม (กรมปศุสัตว์: http://www.dld.go.th/region1/conth/control3/bruin.htm#bur4)

        โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นเชื้อที่พบได้ในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะในนาข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้ออยู่ในดินและน้ำ จึงมักพบผู้ป่วยจำนวนมากในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพกสิกรรม หรือต้องสัมผัสกับดินและน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยเชื้อเข้าทางบาดแผล แม้รอยถลอกเล็กน้อย  อาการของโรคในสัตว์ ในแพะ มักเกิดฝีที่ปอด หรืออาจมีไข้ ไอ น้ำมูกน้ำตาไหล ข้อบวม ค่อยๆ ผอมแห้งลง บางตัวอาจแสดงอาการแค่มีไข้และอ่อนเพลียเท่านั้น ในแพะมักเกิดเต้านมอักเสบและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย การติดเชื้อที่ปอดในแพะจะรุนแรงน้อยกว่าในแกะ (สำนักโรคติดต่อทั่วไป: http://thaigcd.ddc.moph.go.th/zoo_may.html)

คำสำคัญ (Tags): #แพะ
หมายเลขบันทึก: 390890เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท