หลานปู่
สมศักดิ์ ป้อม สายแสงจันทร์

นันทนาการสร้างสุข


เรื่องที่แปลกใหม่ไม่มีจริงๆในการทำเกมกิจกรรม มีแต่การเปลี่ยนแปลงและ adapt ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับคำว่า สุขแท้ด้วยปัญญา

นันทนาการสร้างสุข 

 นันทนาการสร้างสุข

(กระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อความสุขแท้ด้วยปัญญา)

          นันทนาการสร้างสุขที่จะกล่าวในที่นี้ขีดวงเพียงแค่เกม เพลง หรือกิจกรรมบางตัวที่เป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวก่อน เพื่อให้สามารถเน้นจุดที่จะสามารถทำความเข้าใจได้  นันทนาการสร้างสุขคือกิจกรรมที่ไม่สามารถทำเพียงแค่กระตุ้นเร้า  แก้ง่วงหรือละลายพฤติกรรมเท่านั้น  แต่นันทนาการสร้างสุขคือกิจกรรมเรียนรู้ฐานกายที่มีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ อาจถือได้ว่าเป็นรากฐานของการเรียนรู้ความสัมพันธ์และพลังกลุ่มทีเดียว 

     เราค้นพบว่า  นันทนาการสร้างสุขสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้  ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ มีสีสัน  และสร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ให้กับเวทีอย่างน่ามหัศจรรย์     และถ้ามีการออกแบบ เรียงลำดับ มีจังหวะจะโคนที่พอดี จะสามารถสร้างความแปลกใหม่ กระตุ้นสมอง เปิดโลกจินตนาการ และบรรยากาศของความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจได้อย่างดี  ที่สำคัญทุกคนเรียนรู้ที่จะเปิดตัว ลดทิฐิและเข้าสู่ความพร้อมในการเรียนรู้ฐานใจและฐานคิดต่อไปด้วย  หรือแม้กระทั่งแทรกเนียนไปในกระบวนการฐานใจและฐานคิดก็ได้ เช่น ช่วงสรุปบทเรียน นำเสนอ  หรือการช๊อปปิ้งไอเดีย  

      เกมกิจกรรมนั้น ถ้าเป็นนักกิจกรรมก็ต้องบอกว่า  ไม่มีอะไรแปลกใหม่   เกมที่ใช้ทั่วไปในเวทีก็เห็นกันอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสุดยอดเกมอย่าง ผึ้งแตกรัง  ไปด้วยกันนะ  พายเรือ  หรือมากมาย เราสามารถหาได้ตามหนังสือ เกม เพลง การอบรมสร้างทีมเวิร์ค วอร์คแรลลี่ทั่วไป คอนเสิร์ต  หรือไปนั่งดูการจัดกิจกรรมสันทนาการในเวทีเรียนรู้ต่างๆ คล้ายๆไปนั่งดูคอนเสิร์ตหลายๆวงเราก็จะเกิดแนวคิดหรือเห็นกิจกรรมใหม่ๆนำมาใช้ได้   ดังนั้นเรื่องของการจะมาเขียนว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ทำอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร จบอย่างไร ขอให้ได้อ่านในบันทึกการทำเวทีหรือได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ด้วยกัน  เป็นเรื่องที่จะต้องได้เห็นได้สัมผัสจริงๆ ถึงจะเข้าใจและสามารถนำไป adapt  ตามแบบฉบับของเราได้  อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือการได้ลองใช้ ลองปฏิบัติบ่อยๆในเวทีและเรียนรู้ ปรับปรุง ฟังข้อแนะนำจากผู้รู้ ทีมงาน หรือแม้กระทั่ง ผู้ร่วมเรียนรู้ ก็ช่วยให้การทำนันทนาการสร้างสุขพัฒนาไปได้ 

    เรื่องที่แปลกใหม่ไม่มีจริงๆในการทำเกมกิจกรรม  มีแต่การเปลี่ยนแปลงและ adapt ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับคำว่า สุขแท้ด้วยปัญญา   นี่หมายถึงอะไร หมายถึงว่า  ทุกกิจกรรมที่เลือกมาใช้  ต้องตระหนักและระลึกอยู่เสมอว่า

     1.เราเคารพและใส่ใจผู้ร่วมเรียนรู้หรือยัง   เราไม่สามารถที่จะบีบบังคับ หรือใช้คำสั่งใช้อำนาจในการให้ลุก ยืน เดิน นั่ง นอน ตามใจของเราได้ เราต้องคำนึงถึงความสุภาพ  ความเหมาะสม ความดีงาม ตลอดจนสุขภาพร่างกายวัยของผู้ร่วมเรียนรู้ อีกประการหนึ่งก็คือ แม้แต่เด็กๆ หรือชาวบ้าน พ่อแม่ เราก็ต้องให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกัน  เราจะไม่พูดว่า เมื่อใครทำกิจกรรมขำๆ ทำท่าทางเหล่านี้แล้ว คนจะลดความถือเนื้อถือตัวลง  มีมากมายวิธีที่คนจะรู้สึกได้ว่าต้องลดเพดานของอัตตาตัวเองลง   ยกเว้นเสียแต่ว่าเป็นความเต็มใจ อย่างไรก็ดี ความเคารพ หมายถึงว่า เราจะไม่พาให้ผู้ร่วมเรียนรู้ทำในกิจเหล่านี้ เช่น ลงโทษด้วยท่าทีที่ล้อเลียนผู้พิการ หรือแม้กระทั่ง สัตว์ถูกเบียดเบียน (ไก่ย่าง)  การทำในสิ่งเหล่านี้นอกจากจะไม่เคารพผู้ร่วมเรียนรู้แล้ว ยังถือเป็นความไม่เคารพในสถานที่และสิ่งที่มองไม่เห็นที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรเสี่ยงอย่างหนึ่งของครูฟา

       2.เราเคารพและใส่ใจกิจกรรมหรือยัง    เราต้องศรัทธาและเชื่อมั่นว่ากิจกรรมที่ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวที่สนุกอบอุ่น และโน้มนำให้คนได้ เคลื่อนที่เคลื่อนไหวสัมผัสกันตามรูปแบบต่างๆที่สร้างสรรค์ปลอดภัยนั้น สามารถสร้างการเรียนรู้และบรรยากาศของความเป็นมิตร คุ้นเคยกันได้จริงๆ   กิจกรรมเดิมๆสามารถที่จะคลี่กระจาย เชื่อมโยงหรือร้อยเรียงแบบใหม่ๆได้อีกหลายรูปแบบ    สามารถพลิกแพลงเป็นกิจกรรมใหม่ๆได้  หรือใช้วิธีการเดิมแต่เพิ่มพลังของเมตตาจิตไปก็ได้ หรือแม้กระทั่งทำแบบเดิมจริงๆ  ก็ต้องทำด้วยความใส่ใจและเคารพในกิจกรรมอย่างปล่อยวางในทีได้ กิจกรรมสามารถทำแบบเดิมได้ เหมือนเพลงที่สามารถร้องได้หลายๆรอบ ในช่วงเวลาที่เว้นช่วงไป โดยไม่เบื่อ ครูฟาต้องไม่คิดว่า  เฮ้อ กิจกรรมนี้อีกแล้ว  มันไม่ได้สิ้นหนทางขนาดนั้น แม้แต่ผึ้งแตกรังกิจกรรมเดียว ถ้าเราจับแกนของการเคลื่อนไหวได้ เราจะสามารถสร้างสรรค์ได้อีกไม่ต่ำกว่า   10 รูปแบบ รวมทั้งนำเกมหรือเพลงอื่นๆมาบูรณาการ ประสานพลังเพิ่มเข้าไปอีกได้ตามความเหมาะสม  แล้วแต่สถานการณ์และการปิ๊งแว๊บปัญญาญาณของครูฟาด้วย  อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมต่อกิจกรรมที่จะเป็นเสน่ห์ทำให้คนอยากร่วมทำไปด้วยอย่างไม่ฝืนกายฝืนใจมาก  เพราะมีจังหวะที่ส่งให้กันเสมือนวงเหล็กที่ร้อยเป็นลูกโซ่อยู่ นอกจากนี้ ความสด ความพลาด หรือความโง่เป็นบางครั้งของครูฟา ก็ช่วยให้บรรยากาศคลี่คลายได้  ครูฟาควรได้เจริญสติ ความเป็นไตรลักษณ์  ลดอัตตาไปในการทำนันทนาการสร้างสุขไปด้วยก็จะเป็นบุญกุศลเชิงลึกต่อจิตใจได้เช่นกัน และนี่คือความเคารพสูงสุดต่อกิจกรรม เพราะทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้และกระทั่งตัวเอง ลดเพดานของอัตตาลง โดยไม่ทำให้ใครเสียหน้าหรือขายหน้านั่นเอง

     **  ตัวอย่าง ผึ้งแตกรัง เปลี่ยนอะไรได้บ้าง

1.เปลี่ยนคำ   เป็นอื่นๆโดยยึดผู้ร่วมเรียนรู้เป็นสำคัญ  หรืออาจถามผู้ร่วมเรียนรู้ก็ได้ว่าอยากให้เป็นอะไร  เช่น-- -

-ดอกไม้กับกระถาง

-ครกกับสาก (แถวนั้นทำครก)

-ถ่านกับกระสอบ   (แถวนั้นเขาขายถ่าน)

-โซเดียมกับคลอไรด์ (วิชาเคมี)

-สารอาหารกับเอนไซน์ * (วิชาชีวะ)

-นิวเคลียสกับอิเลกตรอน(วิชาฟิสิกส์ มีความคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ สสารที่เล็กมากระดับนั้น จะมีการเกิดดับตลอดเวลา เป็นคลื่นบ้าง อนุภาคบ้าง ไม่แน่นอน แต่เพราะเมื่อมนุษย์ไปสังเกตอย่างจงใจเข้าสสารจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย  จึงคล้ายๆว่าจะตั้งการ์ดป้องกันตัวเองโดยฟอร์มบุคลิกแบบมีอิเล็กตรอนวิ่งรอบนิวเคลียสขึ้นมา เรื่องนี้น่าสนใจเพราะว่า มันเปรียบเทียบกับการปรุงแต่ง รักษาการดูดี ป้องกันตัวเองของมนุษย์เรานั่นเอง  และต่อเมื่อมีการ เปลี่ยนกลุ่ม แตกกลุ่มบ่อยๆ จะเห็นได้ว่า นี่คือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เข้ากับหลักไตรลักษณ์แล้ว จึงเป็นไปได้ว่า ทำไมเกมนี้จึงได้รับความนิยมสูงสุด เพราะว่าลึกๆแล้วมันเข้ากับหลักและคลื่นธรรมชาตินั่นเอง )

ฯลฯ

    อาจมีเทคนิคอื่นๆเพิ่ม เช่น  ถามกันและกันว่า รักกันไหม

“ดอกไม้จ๋า”      ....จ๋า..          “รักกระถางไหม” . ... รัก...แล้วก็ถามกลับ สร้างสีสันเพิ่มเติมให้กิจกรรมได้ดีทีเดียว  ซึ่งก็คือเทคนิคการโปรแกรมสมองที่เคยกล่าวไปนั่นเอง แต่ทำแทรกอยู่ระหว่างกิจกรรม

    การเปลี่ยนที่คำเป็นการเปลี่ยนที่ปูพื้นการมีจินตนาการเบื้องต้นได้  เพราะต้องไม่ลืมว่ามีบางคนที่นึกไม่ออกจริงๆว่าสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ได้  ควรได้เรียนรู้วิธีพลิกแพลงกันไประหว่างทาง

2.เปลี่ยนลักษณะของกลุ่ม การเคลื่อนที่หรือจำนวน รังหรือผึ้ง 

เช่น   -อาจให้เป็น ผึ้ง 2ตัว อยู่ในรัง 4รัง (แล้วแต่จะกำหนดว่าจะให้รังหนึ่งมีกี่คน)  3ตัวอยู่ใน 3รัง  5ตัว 6รัง  ฯลฯ

          -รังหมุนรอบผึ้ง ผึ้งหมุนรอบรัง

          -ผึ้ง  1 ตัว ถูกรัง 10 รังอุ้ม   ตามความเหมาะสมทั้งวัย เพศ และจังหวะ

          -ฯลฯ

3.บูรณาการกับเพลง เช่น  ในระหว่าง ที่จะให้ เปลี่ยนรัง เปลี่ยนผึ้ง หรือ แตกรัง อาจใช้เพลงในการให้เดินเต้นไปด้วย บางที่เหมาะกับเพลงลูกทุ่งที่คุ้นเคย  เช่น บ้านพี่ขาดคนหุงข้าว แน่หรือพี่จ๋า หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ  สาวขอนแก่น ปูไข่ไก่หลง  ตาอินกะตานา    บางที่ก็ เพลงลูกกรุงอย่าง  รักกันไว้เถิด อยุธยา ฯลฯ   ......อื่นๆ ตามเหมาะสมของบริบท  โดยควรจะร้องสดไม่จริงจังมาก

      จะเห็นได้ว่า  มีทางเลือกที่จะยืดหยุ่นกิจกรรมมากพอสมควร  มันคลิกนิดเดียวก็คือ ให้เราถือเอา  7 ลักษณะการกระทำร่วมของกลุ่ม ดังต่อไปนี้เป็นแกนในการสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับโน้ตดนตรี 7 ตัวหลัก ที่ใช้เป็นทำนองหลักในวิชาดนตรีสากลคือ

โด   ลักษณะทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่ม    เช่น  เปลี่ยนที่ เปลี่ยนคู่  เปลี่ยนกลุ่ม เข้าคู่  เข้ากลุ่ม เข้าที่ หนีตาม เคลื่อนย้ายหนี  เข้าหา 

เร   ลักษณะรูปร่างเรขาคณิตของกลุ่ม  เช่น นอนตัว ยืดเข้า ยืดออก  เหยียดเข้า คู้ออก คู้เข้า เป็นวง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ต่อตัว  หันหลังชน หันหน้าหากัน เอามือชนกัน ไหล่ชนกัน  ซ้อนกัน  เหลื่อมกัน

มี   ลักษณะจำนวนกลุ่ม เช่น 1 คน 2 คน 3คน จนถึงทั้งหมด

ฟา   ลักษณะความแตกต่างของข้อมูลลักษณะคนในกลุ่ม  เช่น วัย  เพศ สีเสื้อ ที่อยู่  ที่เรียน ห้องเรียน ที่ทำงาน แผนก สาขา ฯลฯ บุคลิก วันเกิด 

ซอล ลักษณะของการสัมผัส เช่น  ชี้ แตะ หนีบ จับ ผลักเบาๆ นวด ยก อุ้ม

ลา  ลักษณะของการแบ่งปัน เช่น ปล่อย วาง หยิบ ส่ง  ดึง ยื้อแย่ง  ระแวดระวัง 

ทรี ลักษณะของการเคลื่อนไหวร่างกายของคนในกลุ่ม เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ยกมือ  กระโดด เปล่งเสียง  ส่งเสียง ปิดตา ลงสี  ลงมือเขียน   เต้นรำ โยกย้ายตัว  เป่ายิงชุบ  หัวเราะบำบัด ฯลฯ ตามความเหมาะสม

       รูปแบบกิจกรรมเกมใดๆก็แล้วแต่  อาจจะประกอบด้วยโน้ตการกระทำร่วมอย่างน้อย 5 ตัวหลัก(สีน้ำเงิน) เช่นเดียว  5 โน้ตพื้นฐานในโครงสร้างทำนองเพลงไทยหรือเพลงทางโลกตะวันออก  บางกิจกรรมมีครบทั้ง 7 ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ทุกกิจกรรมล้วนมีเป้าหมายหลักไปที่ความสุขและการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์เพื่อสุขแท้ด้วยปัญญาทั้งสิ้น โดยมีตัวนำสื่อสารสำคัญ เปรียบได้กับเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะและทำนองคือ

       1.จังหวะคำพูดสัญญาณหรือรหัสขอความร่วมมือเชื้อเชิญทำกิจกรรมทั้ง เริ่มต้น  ท่ามกลาง  และเสร็จสิ้น  เปรียบเสมือนเครื่องให้จังหวะ(เช่น กลอง  ฉิ่ง ) เช่น  .....(ดูในดีวีดี)

       2.เพลงประกอบ   เปรียบเสมือนเครื่องดนตรีที่ให้ทำนอง(เช่น กีตาร์ เครื่องสายต่างๆ)เช่น.....

      3.การเรียบเรียง ร้อยเรียงกิจกรรมเป็นชุดๆช่วงๆเสมือนบทเพลงแห่งการกระทำร่วมของกลุ่ม เช่น.....

   จังหวะกับทำนองต้องประสานกัน  และเรียบเรียงอย่างลงตัว บางกิจกรรมอาจไม่ต้องมีเพลงก็ได้ เช่นเดียวกับที่บางบทเพลงมีแต่จังหวะ ไม่มีทำนอง   แต่การมีครบทั้งสามอย่างจะทำให้กิจกรรมมีเสน่ห์ มีพลัง และสร้างความสั่นสะเทือนของพลังกลุ่มได้มาก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ คำพูด หรืออุปกรณ์เสริมเล็กๆต่างๆที่จะสร้างสีสันให้กับกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เปรียบเสมือนทำนองของแนวเพลงบางแนว  เช่น แจ๊ซ  ที่เลือกใช้ทั้ง 12 โน้ต มาร้อยเรียงเป็นบทเพลง

ซึ่ง เพลงพวกนี้จะหลากหลายและให้อารมณ์ที่สนุกชวนให้โยกเบาๆแต่มันอยู่ลึกๆได้ 

    ได้แก่

      โด # คำพูด คำถาม แซวในทางดีงามกึ่งเตือน เช่น  ให้นวดคอนะคะไม่ใช่ให้บีบคอ ในกิจกรรมนวด

      เร # หรือ มีb อุปกรณ์เสริม  เช่น  ในกิจกรรม  ขออะไรต้องได้สิ่งนั้น  หรือของร้อน ที่จะมี ปากกา  แท่งสี หรืออื่นๆที่หาได้ง่ายๆ

      ฟา # หรือ ซอล b การพูดคุยสื่อสารตกลงร่วมในกลุ่ม  ซึ้งใช้มากเช่นกัน เช่นกิจกรรม เลียนเสียงสัตว์ ส่งเสียงสัตว์ เสียงดนตรี  ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องของพลังและการเหนี่ยวนำของกลุ่มย่อยได้ดีมาก

   ซอล#หรือลาb  ความคิดสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจร่วม เช่น  กิจกรรม ปั้นหุ่น   ดอกไม้หุบบาน  ละครสั้น 

    ลา         ไหวพริบและสมาธิร่วม   เช่นที่เห็นชัดก็คือ  นับเลข  ปลาโลมา  และอีกหลายกิจกรรม  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ในการเตรียมความพร้อม ของกาย ใจ สมองได้ดีทีเดียว

     และที่ลืมไม่ได้คือ  แรงจูงใจ  แรงจูงใจในการร่วมกิจกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ครูฟาต้องมีกุศโลบายที่หลากหลายให้ผู้ร่วมเรียนรู้รู้สึกอยากทำกิจกรรม  คือเป็นดาวยั่ว และเป็นต้นแบบที่ดีได้ แรงจูงใจที่ดีที่สุดก็คือคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาเอง  โดยเฉพาะ ความสุขและความผ่อนคลาย

 5 เทคนิคง่ายๆของการสร้างแรงจูงใจ

  - แนะนำตัวเอง สร้างความเป็นพวกเดียวกัน โดยการยิ้ม ร่าเริงแจ่มใส พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ใส่ใจ พอดีๆโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับบริบทของกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้

   -พูดจาโน้มน้าว  ถ่อมตัว  ขออนุญาต  

   -ขู่เล่นๆเล็กๆขำๆด้วยบทลงโทษที่น่ารักซึ่งอาจไม่ต้องทำก็ได้  เช่น   รำน่ารักสามัคคี  รถตุ๊กๆแต้มสีที่มือเบาๆหากใครช้า ทำไม่ได้ หรือพลาด

   -จู่โจม เข้ากิจกรรมแบบไม่ให้ตั้งตัว ด้วยเพลง

   -ชื่นชม เชิงบวก  ใส่ใจ  ทำประหนึ่งเป็นบริกรการเรียนรู้

   10 ข้อที่พึงตระหนัก

1.การล่วงละเมิดทางเพศ  ความเหมาะสมทางวัฒนธรรม 

2.ความปลอดภัยในร่างกาย

3.คำพูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด หรือเพ้อเจ้อ

4.ความยึดมั่น  และความปล่อยวาง

5.ความโลภที่จะทำกิจกรรม

6.เพลงสองแง่สองง่าม

7.เวลา

8.การแซวที่ดูหมิ่นดูแคลน

9.ความต่อเนื่อง ลื่นไหล  มีศิลปะ

10.ความเคารพ  ไม่ต้องบังคับ ฝืนใจ

     (จากหนังสือ อรุณสวัสดิ์ครูฟา เช้าวันใหม่ในโรงเรียนสร้างสุข)

หมายเลขบันทึก: 389687เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2010 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท