ประวัติหลวงพ่อน้ำเคือง - ต่อ


ประวัติหลวงพ่อน้ำเคือง

  

 

มณฑปเก่า  (ปัจจุบันรื้อออกแล้ว)  ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อน้ำเคือง 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม) 

         ต่อมาในปี  พ.ศ.  2530  หลวงพ่อน้ำเคืองได้ถูกคนร้ายลอบตัดเศียรอีกครั้ง  ทำให้ชาวบ้านดงตะขบเศร้าโศกเสียใจอีกครั้ง  และได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เศียรของหลวงพ่อกลับมา ต่างเฝ้าคอยฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา และเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ให้สามารถจับตัวคนร้ายให้ได้  และในที่สุดก็สามารถติดตามนำเศียรของหลวงพ่อน้ำเคืองกลับมาได้  จึงได้จัดงานสมโภช  9  วัน  9  คืน

 

 เศียรของหลวงพ่อน้ำเคืองที่ติดตามกลับมาได้   
และนำมาเก็บรักษาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตะพานหิน 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม) 

 

 คณะกรรมการวัดรับเศียรของหลวงพ่อน้ำเคืองที่ติดตามกลับมาได้ 
จากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตะพานหิน 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

   

 การแห่หลวงพ่อน้ำเคืองรอบตลาดตะพานหิน  หลังจากได้เศียรกลับมา
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

 

 

 การแห่หลวงพ่อน้ำเคืองกลับวัดดงตะขบ  หลังจากได้เศียรกลับมา
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

 

 การจัดงานสมโภช  9  วัน  9  คืน  หลังจากที่ได้หลวงพ่อน้ำเคืองกลับคืนมา
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

          เมื่อวันที่  9  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2544   พระครูปริยัติวโรภาส ได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดงตะขบ  และได้ทำการพัฒนาปรับปรุงบริเวณวัด พร้อมได้ปรารภถึงมณฑปหลวงพ่อน้ำเคืองว่าคับแคบมาก  จึงได้ปรึกษาหารือคณะกรรมการวัดและประชาชนว่าน่าจะสร้างวิหารให้กับหลวงพ่อน้ำเคืองใหม่

         ในวันที่  18  มกราคม  พ.ศ.  2550  ได้มีพิธีการวางศิลาฤกษ์วิหารหลวงพ่อน้ำเคืองขึ้น  ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ 

 

 วิหารหลวงพ่อน้ำเคืองซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

             การจัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อน้ำเคือง  ซึ่งเป็นงานประจำปีของวัดดงตะขบ  โดยกำหนดการจัดงานไว้ในวันขึ้น  13  ค่ำ  เดือน  4  เป็นวันเจริญพระพุทธมนต์เย็น  มีกำหนด  3  วัน 3  คืน(ปัจจุบัน 2553 มีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อนำเคืองวันที่30 ธันวาคม 2553 ถึง 3 มกราคม  2554) 

วิหารหลวงพ่อนำ้เคืองสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้ประชุมคณะกรรมการวัดและประชาชน ตกลงให้เป็นอุโบสถ อัญเชิญหลวงพ่อน้ำเคืองขึ้นประดิษฐาน

3.  พุทธลักษณะของหลวงพ่อน้ำเคือง

       จากการตรวจสอบของนักวิชาการ  ลงความเห็นว่า  จากพุทธลักษณะของหลวงพ่อน้ำเคือง  น่าจะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  ปางห้ามสมุทร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  ประทับยืน  สูง  69  ซม.

       ได้จัดสร้างรูปเหมือน     รุ่น

    1. รุ่นแรก ขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน  ไม่ทราบจำนวน

    2. ด้านหลังมียันต์ ไม่ทราบจำนวน

    3. ขนาดเท่ารุ่นที่ 2 เป็นรุ่นดัง ด้านหลังมียันต์ มีชื่อวัดดงตะขบ สร้างพร้อม รุ่นรางปืนไม่ทราบจำนวน

    4. เป็นรูปล๊อกเก็ตด้านหน้าเป็นหลวงพ่อน้ำเคือง  ด้านหลัง รูปเจ้าอาวาส(พระครูพิพิศบุญญาคม  นามเดิม  บุญชู )

    5. สร้างในงานเกษียณอายุราชการ คุณครูจำลอง รอดชื่น สร้างเป็นของดีวัดดงตะขบ 9 อย่าง (1.ไม้จันทร์ในองค์หลวงพ่อน้ำเคืองได้จากงานพุทธาภิเษก หลวงพ่อน้ำเคืองถูกตัดเศียรครั้งแรก โดยมีพี่อ้น ด้วงโท้ นามสกุลเดิม คูณสิน เป็นผู้มอบให้ 2. พวงมาลัยผู้มาถวายหลวงพ่อน้ำเคือง 3. น้ำมนต์หลวงพ่อน้ำเคือง 4. ดินกลางวัดดงตะขบ 5. เศษอิฐวัดดงตะขบ 6. ทองปิดองค์หลวงพ่อน้ำเคือง 7. ไคลเสมาอุโบสถวัดดงตะขบ 8...........  สร้างแจกผู้มาร่วมงานเกษียณอายุราชการ คุณครูจำลอง รอดชื่น

    6.  รุ่นดินผงสร้างจากมวลสารที่มาจากองค์หลวงพ่อน้ำเคือง ซึ่งขัดเพื่อลงรักปิดทอง สร้างโดยพระครูปริยัติ วโรภาส เจ้าอาวาสวัดดงตะขบองค์ปัจจุบัน

   7.  รุ่นสร้างอุโบสถหลวงพ่อน้ำเคือง มีเนื้อเงิน เนื้อทองและนวโลหะ กำลังดำเนินการ และจะมีพิธีพุทธาภิเศก ก่อนฝังลูกนิมิตอุโบสถหลังปัจจุบัน สั่งจองได้ที่ เจ้าอาวาสวัดดงตะขบ

        จากพุทธลักษณะของหลวงพ่อน้ำเคืองที่กล่าวมาข้างต้น  สามารถนำมาอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ  เพื่อให้เข้าใจถึงพุทธลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  และพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

         พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

         พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่  19 – 20  ในยุคที่พระร่วงครองกรุงสุโขทัย  ซึ่งถือเป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกา  จากหลักฐานศิลาจารึกกล่าวไว้ว่า  พระมหาธรรมราชาลิไท  พระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง  ทรงราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วง  ซึ่งเป็นหนังสือวรรณกรรมไทยเล่มแรกไว้ด้วย  มีข้อสันนิษฐานว่า  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจาก พระพุทธรูปลังกา  และพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน  แต่มีข้อโต้แย้งที่ว่าลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีความแตกต่างจากพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนมาก เช่น  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนิยมนั่งขัดสมาธิราบ  แต่พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนนิยม นั่งขัดสมาธิเพชร  รัศมีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเป็นรูปเปลวเพลิง  แต่พระพุทธรูป สมัยเชียงแสนเป็นรูปเกศบัวตูม  ชายจีวรพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยยาวจรดพระนาภี แต่พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนสั้นอยู่เหนือพระถัน

           จากข้อสันนิษฐานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากลังกาเป็นส่วนมาก  แต่ก็ยังมีพระพุทธรูปที่รับอิทธิพลมาจากเชียงแสนยุคต้นผสมอยู่ด้วย  จึงเกิดพระพุทธรูปแบบ  “วัดตะกวนอิทธิพลเชียงแสน”  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยในยุคต้น  ถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนเลยก็ว่าได้  จากนั้นจึงวิวัฒนาการมาเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยบริสุทธิ์  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้รับการยกย่องว่าเป็นฝีมือของช่างอันวิเศษสุด  คือ  พระพุทธรูปปางลีลาในท่ากำลังเสด็จพระดำเนินก้าวพระบาท  พระหัตถ์ข้างหนึ่ง อยู่ในท่าประทานอภัย  จีวรอยู่ในอาการโบกสะบัด  อ่อนช้อยงดงาม

             ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย 
             ลักษณะที่สำคัญของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  ได้แก่  พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง  เส้นพระศกขมวดก้นหอยแหลมสูง  ส่วนมากไม่มีพระศก พระขนงโก่ง  พระนาสิกงุ้ม  พระหนุเสี้ยม  ชายสังฆาฏิยาวถึงพระนาภี  มีปลายสองแฉกย่นเป็นรูปเขี้ยวตะขาบทับซ้อนกันหลายชั้น  นั่งขัดสมาธิราบ  ฐานหน้ากระดานเกลี้ยง  ตอนกลางแอ่นเข้าข้างใน  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อาจแบ่งได้ดังนี้ 

 พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
ที่มา  :  (พระพุทธศาสนาสมัยกรุงสุโขทัย,  ม.ป.ป.)

          พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอาจแบ่งได้ดังนี้

          แบบวัดตะกวน  พบครั้งแรกที่วัดตะกวนเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยรุ่นแรก  ได้รับอิทธิพลจากลังกามากที่สุด  รูปทรงกระด้างไม่ได้สัดส่วน  เปลวเพลิง ทำแบบหยาบ ๆ  ฐานเขียง  หน้ากระดานเรียบ ๆ 

 พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแบบวัดตะกวน
ที่มา  :  (พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย,  ม.ป.ป.)

           แบบสุโขทัยบริสุทธิ์  เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด  วงการโบราณคดีนิยมเรียกว่า  “พระพุทธรูปหมวดใหญ่”  ที่พัฒนามาจากพระพุทธรูปของช่างสกุลต่าง ๆ  ทั้งของไทยและลังกานำมารวมกัน  แล้วเปลี่ยนให้เป็นแบบสุโขทัยโดยเฉพาะลักษณะพระพักตร์รูปไข่  พระขนงโก่ง  พระนาสิกแหลมงุ้ม  พระโอษฐ์เล็กบาง รัศมีเปลวเพลิงงดงาม  แบบพระพุทธรูปลังกา  พระวรกายสมส่วนสง่างาม  ส่วนฐานเป็นฐานกระดานเกลี้ยง ๆ  และเตี้ย  ช่วงกลางฐานแอ่นเว้าเข้าไปข้างใน

 

 

 พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแบบสุโขทัยบริสุทธิ์
ที่มา  :  (ประวัติพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร,  ม.ป.ป.)

          แบบพระพุทธชินราช  ลักษณะทั่วไปยังเป็นแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ทั้งสิ้นที่ต่างกันก็เป็นพระพักตร์ค่อนข้างอ้วนกลม  พระรัศมีสูงกว่าแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ลักษณะที่เด่นชัดที่สุด  คือ  นิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้งสี่นิ้วตามแบบคัมภีร์มหาบุรุษ ลักษณะตัวอย่างของพระพุทธรูปได้แก่ พระพุทธชินราช  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก  พระพุทธชินสีห์  พระศาสดาในวัดบวรนิเวศวิหาร  และพระศรีศากยมุนี  ในพระวิหารหลวง  วัดสุทัศนเทพวราราม

 

 พระพุทธชินราช  เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแบบพระพุทธชินราช
ที่มา  :  (พุทธลักษณะของพระพระพุทธรูป,  2549)

          แบบกำแพงเพชร กำเนิดขึ้นเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่  20 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่  21  เป็นช่วงที่กรุงสุโขทัยเสียเอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกว่า แบบกำแพงเพชร เพราะพบที่กำแพงเพชรเป็นแห่งแรก และพบมากกว่าที่อื่น พระพุทธรูปยุคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอยุธยาด้วย ทำให้มีลักษณะแข็งกระด้าง รูปทรงไม่ได้สัดส่วน ชายสังฆาฏิยาว รัศมีเป็นรูปเปลวเพลิงทำอย่างหยาบ  ทำฐานเขียง แบบเรียบ ๆ  ตามแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ แต่มีขาโต๊ะติดกับฐานเพิ่มมา  ซึ่งขาโต๊ะนี้ เป็นศิลปะของอยุธยา  พระพุทธรูปบางองค์มีความคล้ายกับแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ พระพุทธรูปแบบกำแพงเพชรนี้ ถือเป็นยุคเสื่อมของการสร้างพระพุทธรูปก็ว่าได้ นักสะสมพระแทบไม่กล่าวถึงกันเลยก็ว่าได้

 

 พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยแบบกำแพงเพชร
ที่มา  :  (พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย,  ม.ป.ป.)

           พุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
           ปางห้ามสมุทร  เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง (บางตำราเรียกว่าเป็นปางห้ามพยาธิ  หรือปางห้ามญาติ  เป็นพระพุทธรูปในลักษณะเดียวกัน)

 

 พุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
ที่มา  :  (ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร,  2549)

          ประวัติตามตำนาน

          ในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแคว้นมคธ  ของพระเจ้าพิมพิสาร  ทรงขอประทับแรมอยู่ในสำนักของอุรุเวสกัสสปะ  ผู้เป็นหัวหน้าชฎิล  (ฤษี  ผู้บูชาไฟ)  ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแคว้นมคธ ซึ่งแสดงอาการ  ท่าทางดูถูกพระพุทธเจ้า  และไม่แสดงความเคารพ  เนื่องจากคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงนักบวชธรรมดา  และการแสดงธรรมเป็นเพียงการหลอกหลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ  และเกรงว่าถ้าผู้คนหันไปนับถือพระพุทธเจ้าตนเองจะหมดความสำคัญลง  จึงทำทุกวิถีทางที่จะไล่พระพุทธเจ้าให้กลับไป  พระพุทธเจ้าทรงแสดง อิทธิปาฏิหาริย์นานัปการ  เพื่อให้ฤษีอุรุเวสกัสสปะคลายความพยศลง โดยในครั้งหนึ่ง มีเหตุการณ์น้ำท่วม พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศ มิให้เข้ามาในที่ประทับ  และเสด็จจงกลมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง  พวกเหล่าชฎิลพายเรือมาดู  เห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมรับในอานุภาพของพระพุทธองค์  และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

            อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในนครกบิลพัสดุ์  ซึ่งเป็นพระนครของเจ้าศากยะพระญาติฝ่ายบิดา  กับนครเทวทหะ  นครของเจ้าโกลิยะ  พระญาติฝ่ายมารดาทั้งสองนครตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินี  ชาวนาของเมืองทั้งสองอาศัยน้ำในแม่น้ำโรหินีนี้ทำนา  สมัยหนึ่งน้ำน้อยไม่พอทำนา  จึงมีการแย่งน้ำทำนา  ตอนแรกก็เป็นการวิวาทเฉพาะบุคคล  แต่เมื่อระงับด้วยสันติวิธีไม่ได้  การวิวาทก็ลุกลามมากขึ้น  เกิดการด่าว่าถึงชาติโคตร  และลามปามไปถึงราชวงศ์ในที่สุด  อันเป็นเหตุให้กษัตริย์ทั้งสอง พระนครกรีฑาทัพออกมาประชิดกันยังแม่น้ำโรหินี  เมื่อพระศาสดาทรงทราบ ก็เสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสอง  โดยแสดงให้เห็นโทษ ความพินาศของชีวิตมนุษย์  และเป็นการทำลายเกียรติของกษัตริย์  เพราะเหตุเล็กน้อยคือน้ำ  ครั้นพระญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจคืนดีกันแล้ว  ก็เสด็จพระดำเนินกลับ

          ความเชื่อและคตินิยม

      -  เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันจันทร์
      -  การบูชาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ใช้บทสวดยันทุนนิมิตตัง 
โดยตั้งนะโม  3  จบ  และตามด้วย

           ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะโย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง  พุทธานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ  (สวด  15  จบ)

4.  ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่อน้ำเคือง

      พุทธคุณ

            ด้วยที่มีคนเคารพและศรัทธามากขึ้น  ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อน้ำเคืองโด่งดังไปไกล  โดยเฉพาะเรื่องพุทธคุณของท่านในด้านต่าง ๆ  จึงมีเสียงเรียกร้องให้ทางวัดจัดทำรูปเหมือนหลวงพ่อน้ำเคือง  คณะกรรมการวัดได้จัดประชุมและมีมติให้จัดทำรูปเหมือน  โดยให้เช่าและแจกจ่ายผู้มีจิตศรัทธาในการทำบุญในเทศกาลต่าง ๆ  ซึ่งพุทธคุณที่ปรากฏคือ  ดีทางแคล้วคลาด  ปกป้องอุบัติภัย  เมตตามหานิยม  เป็นของดีที่น่าบูชาติดตัว  โดยทุกรุ่นทางวัดได้จัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้น  โดยจัดทำทุก  2 – 3  ปี  ต่อครั้ง

      การจัดงานประจำปี

      องค์หลวงพ่อน้ำเคือง  เป็นพระพุทธรูปที่ทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง  ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ  ในการจัดงานประจำปีปิดทองนมัสการ หลวงพ่อน้ำเคืองของทุกปี  จึงมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจมาร่วมงาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว  ประชาชนที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาอันมั่นคง  เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน  เช่น  ของหาย  มีความทุกข์  ก็จะเข้ามาบนบานศาลกล่าว ขออำนาจบุญบารมีหลวงพ่อน้ำเคือง  ช่วยปัดเป่าความทุกข์  อันตรายต่าง ๆ  ให้หมดไป และขอให้ช่วยคุ้มครอง  ด้วยเดชะบารมีและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อน้ำเคือง ก็ดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จตามที่ปรารถนาเกือบทุกราย  จึงถือได้ว่า หลวงพ่อน้ำเคืองเป็นที่เคารพต่อประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะลูกหลานตำบลดงตะขบ จะถือว่าเป็นลูกหลวงพ่อน้ำเคือง 

        ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อน้ำเคือง 

        ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อน้ำเคือง  สามารถนำมาเสนอพอเป็นสังเขป  ได้ดังนี้ 

        ครั้งหนึ่งลูกหลานชาวดงตะขบ  ได้เดินทางด้วยรถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุ  ปรากฏว่าผู้โดยสารคนอื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต  แต่ผู้ที่คล้องหลวงพ่อน้ำเคืองเพียงคนเดียวไม่บาดเจ็บใด ๆ  เลย อีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นขณะที่ลิเกกำลังรำถวายแก้บนอยู่ ปรากฏว่าลิเกที่รำนุ่งโจงกระเบน  หางกระเบนหลุดในขณะรำ  เมื่อแต่งใหม่รำก็หลุดอีก ทางเจ้าภาพจึงบอกให้ผู้รำถอดรองเท้า  พอผู้รำถอดรองเท้าก็รำได้  หางกระเบนก็ไม่หลุดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง นักธุรกิจพ่อค้าที่ทำการค้าขาย  ต้องการให้ธุรกิจของตนเองรุ่งเรือง มีกำไร  ก็มาจุดธูป  กราบอธิษฐานจิตขอให้การค้ามีผลกำไร  ก็ประสบผลสำเร็จมาแก้บนเป็นลิเก  หัวหมู

        หลวงพ่อน้ำเคืองเป็นมิ่งขวัญของประชาชนทั่วไป  และเป็นที่เคารพสักการะบูชาสูงสุดของชาวบ้านตำบลดงตะขบ  เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้ยึดมั่นและประกอบแต่คุณงามความดี  เป็นที่พึ่งทางใจเมื่อยาม       ที่มีทุกข์  เมื่อได้กราบไหว้นมัสการองค์หลวงพ่อน้ำเคืองแล้ว  จะยิ่งเกิดความสงบร่มเย็น  ทั้งทางกายและใจ  ด้วยพุทธานุภาพของหลวงพ่อน้ำเคือง  จึงเป็นพระคู่บ้านของชาวตำบลดงตะขบนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

                       

 

                  

หมายเลขบันทึก: 389388เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2018 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท