นปส.55 (37): หนึ่งสมองสองมือ


ปรัชญาของหลักสูตรหมออนามัยติดปีก “พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมให้สามารถให้บริการปฐมภูมิแบบองค์รวมที่ใกล้บ้านใกล้ใจได้อย่างเหมาะสมกับบริบทที่ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยแพทย์และพยาบาลวิชาชีพได้ยากลำบาก”

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2553 ผมเป็นประธานประชุมชี้แจง "การฝึกภาคปฏิบัติในโครงการหมออนามัยติดปีก" ซึ่งเป็นนวัตกรรมของประเทศไทย เป็นหลักสูตรหมออนามัยเฉพาะทางการบริการปฐมภูมิ เดิมจะใช้คำว่าหมออนามัยเวชปฏิบัติ คล้ายพยาบาลเวชปฏิบัติ ก็เกรงจะมีปัญหาเชิงวิชาชีพ เป็นการฝึกอบรมภาคพิเศษคือศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้หมออนามัยได้มีเวทีอย่างเป็นทางการและรูปแบบในการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการพี่น้องประชาชน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 18 สัปดาห์ ในพื้นที่จังหวัดตาก

หลักสูตรการสาธารณสุขเฉพาะทางด้านบริการปฐมภูมินี้ ทำในนามคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการสนับสนุนจากท่านคณบดีอาจารย์หมอศุภสิทธิ์ พรรณนารุโนทัยและอาจารย์หมอทวีศักดิ์ นพเกสร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชุมชนและอาชีวเวชศาสตร์  เป็นการพัฒนา “นักบริการปฐมภูมิ” ให้มีคุณสมบัติที่จะสามารถทำงานในสถานีอนามัยหรือ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ในชื่อใหม่นี้ได้มากขึ้น

คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของนักบริการปฐมภูมิในสถานีอนามัย ประกอบด้วย 4 สมรรถนะสำคัญ คือ

  • สามารถให้บริการปฐมภูมิแก่บุคคลแบบองค์รวมได้อย่างเหมาะสมกับบริบท (Holistic individual care)
  • สามารถกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการส่งเสริมสุขภาพและดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิในชุมชนได้ (Health promotion, prevention and self care)
  • สามารถให้บริการปฐมภูมิแก่ชุมชนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ (Holistic community care)
  • สามารถเชื่อมประสานการบริการปฐมภูมิในทีมที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพในชุมชนได้ (Coordination care)

จากยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ

  • เพิ่มศักยภาพและขยายบริการปฐมภูมิให้เข้าถึงชุมชนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างสอดคล้องกัน
  • ปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปรับปรุงระบบการผลิต พัฒนา และระบบบริหารจัดการบุคลากรที่หลากหลายสอดคล้องกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิและบริบทของพื้นที่
  • สร้างการยอมรับคุณค่า ศักดิ์ศรีและเอกลักษณ์ระบบบริการปฐมภูมิ
  • สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ

บริการปฐมภูมิ เป็นบริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ บริการปฐมภูมิเป็นระบบบริการขั้นพื้นฐานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ หัวใจของการบริการปฐมภูมิไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ซับซ้อนหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ แต่อยู่ที่การเป็นบริการสุขภาพที่มีความละเอียดอ่อนและใส่ใจความเป็นมนุษย์ ระบบบริการปฐมภูมิที่ดีคือระบบบริการที่สามารถดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เข้าใจมิติทางสังคมของความเจ็บป่วย มองสุขภาพอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งมิติทางกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ

โครงการหมออนามัยติดปีกมีชื่อหลักสูตรว่า การสาธารณสุขเฉพาะทางด้านการบริการปฐมภูมิ (Program of Public Health specialty in Primary care) และได้ประกาศนียบัตรเป็น Certificate in Public Health specialty in Primary care ปรัชญาของหลักสูตร “พัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมให้สามารถให้บริการปฐมภูมิแบบองค์รวมที่ใกล้บ้านใกล้ใจได้อย่างเหมาะสมกับบริบทที่ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยแพทย์และพยาบาลวิชาชีพได้ยากลำบาก

รายละเอียดหลักสูตร ช่วงเวลาฝึกอบรม มีนาคม-สิงหาคม 2553 มีผู้รับผิดชอบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก โดยแหล่งสนับสนุนงบประมาณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การไออาร์ซีแม่สอด จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม 75 คน จำนวนหน่วยกิตรวม 18 หน่วยกิต จำนวนวันฝึกอบรมภาคทฤษฎี 32 วัน (วันละ 8 ชั่วโมง เวลา 08.00-17.00 น.)  จำนวนวันฝึกอบรมภาคปฏิบัติ 35 วัน (วันละ 10 ชั่วโมง จำนวน 35 วันและวันละ 8 ชั่วโมง จำนวน 5 วัน) หรือ 6 สัปดาห์ (340 ชั่วโมง) และมีการประเมินความพร้อมและพื้นฐานความรู้ความสามารถก่อนรับการฝึกอบรม การสอบFoundation test และการทำ Before action review (BAR) ก่อนฝึกอบรม

คุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรม เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดหรือสถานพยาบาลของรัฐทุกประเภทที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  (ถ้าไม่จบระดับปริญญาตรี จะพิจารณาความจำเป็นเป็นรายๆไป  

รายวิชาในหลักสูตรหมออนามัยติดปีก ประกอบด้วย 5 รายวิชา คือ

  • สุขภาพ ระบบสุขภาพและการบริการปฐมภูมิ 3(2-2-5)
  • การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ 3(2-2-5)
  • การรักษาโรคเบื้องต้นในการบริการปฐมภูมิ 3(2-2-5)
  • การดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉินและหัตถการ 3(2-2-5)
  • การฝึกปฏิบัติการบริการปฐมภูมิ 6 (340 ชั่วโมงหรือ 6 สัปดาห์)

ด้านอาจารย์ผู้สอน กำหนดคุณสมบัติของผู้สอนภาคทฤษฎี มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า มีประสบการณ์การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่สอนไม่น้อยกว่า 2 ปี

ความพร้อมของแหล่งฝึกปฏิบัติ มีอาจารย์พี่เลี้ยงที่เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือพยาบาลเวชปฏิบัติที่มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือพยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ในอัตราส่วนอาจารย์แพทย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 1: 8 หรือพยาบาลเวชปฏิบัติต่อนักศึกษาไม่เกิน 1: 3 หรือพยาบาลวิชาชีพต่อนักศึกษาไม่เกิน 1:2 และอาจารย์พี่เลี้ยงทุกคนต้องผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนรับนักศึกษาฝึกภาคปฏิบัติ

การประเมินผล เกณฑ์การประเมิน มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ต้องผ่านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรายวิชาไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

  • การประเมินผลภาคทฤษฎี สอบข้อเขียน (Exit comprehensive examination) ร้อยละ 80 พฤติกรรม ความสนใจ กิจกรรมในชั้นเรียน เวลาเรียนและงานที่มอบหมาย ร้อยละ 20

การประเมินผลภาคปฏิบัติ

  • ทักษะปฏิบัติการบริการปฐมภูมิในแผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน การปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัย ร้อยละ 50 (สัดส่วนคะแนนฝึกที่ รพท: รพช: สอ เป็น 2:2:1) โดยการบันทึกประสบการณ์ลงใน Work book (Log book)
  • รายงานส่วนบุคคลกรณีศึกษา 3 เรื่องในแหล่งฝึกระดับละ 1 เรื่อง ร้อยละ 30
  • การสัมมนา การนำเสนอและการอภิปรายรายงานกลุ่ม (กลุ่มละไม่เกิน 3 คน) ร้อยละ 20

การประเมินผลการฝึกอบรม ประกอบด้วยหลังสิ้นสุดการฝึกอบรมทันที ให้ตอบแบบสอบถาม ติดตามหลังสิ้นสุดการฝึกอบรมไปแล้ว 3 เดือนโดยการประเมินผลการปฏิบัติงาน การทำ OPD Card Audit/ Family folder Audit การจัดทำเครือข่ายและประเมินการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายและมีการประชุมเพื่อจัดทำ Selected case conference การประเมินโดยทีมประเมินภายใน ที่ประกอบด้วยกรรมการหลากหลายวิชาชีพโดยประเมินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นความเป็นไปของโครงการทั้งกระบวนการทางปริมาณและคุณภาพ (Qualitative and quantitative methods)

ในการประชุมชี้แจง มีทีมงานมาช่วยหลายคนเช่น พี่เฉลิม กล่อมเกลี้ยง สาธารณสุขอำเภอบ้านตาก พี่ประเสริฐ สอนเจริญทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอท่าสองยาง พี่อ่าง (สมร เพชรอำพร) และพี่น้ำ (กิรตา คงเมือง) ผู้รับผิดชอบโครงการ พี่สุนทร ผู้ช่วย สสอ.บ้านตาก ติ (กิตติพัทธ์) นาง (อัณณ์ฉัตร) เอ้หรือสุภาภรณ์ ปู (วรวรรณ) ผู้รับผิดชอบรายวิชาแต่ละวิชาและหนิง เจ้าหน้าที่งานกิจการพิเศษ

การทำรายงานกลุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 3 คน จะทำใน 3 ประเด็นคือการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ 9 กลุ่ม (อำเภอละ 1 เรื่อง) รายงานการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมตามแนวทางเวชศาสตร์ครอบครัว 8 กลุ่มและรายงานการดูแลชุมชนแบบองค์รวม 8 กลุ่ม โดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงและอาจารย์ที่ปรึกษาคือผม คุณหมอวิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ คุณหมอโรจนศักดิ์ ทองคำเจริญและคุณหมอวัสนา ศรีวิชัย

การฝึกปฏิบัติของนักศึกษาโครงการหมออนามัยติดปีก จะฝึกที่โรงพยาบาลทั่วไป 2 สัปดาห์ (โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและโรงพยาบาลแม่สอด) ฝึกที่โรงพยาบาลชุมชน 2 สัปดาห์ (ใครอยู่อำเภอไหนฝึกอำเภอนั้น ยกเว้นอำเภอเมืองกับแม่สอดให้ไปฝึกที่บ้านตากหรือสามเงาหรือพบพระหรือแม่ระมาด) และฝึกในสถานีอนามัยที่มีพยาบาลเวชปฏิบัติ 1 สัปดาห์ ปิดท้ายด้วยการสัมมนาอีก 1 สัปดาห์

ช่วงเย็น พาลูกไปว่ายน้ำ ทานอาหารเย็นแล้ว เตรียมเอกสาร ตรวจสอบความพร้อมและความถูกต้องของเอกสารที่จะไปเสนอขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาในเช้าวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2553 เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในการกรอกเอกสารใบสมัครขอวีซ่าอเมริกาแบบออนไลน์ กรอกไปแล้วไม่ได้บันทึกไว้ก็หายไป ต้องทำใหม่ และต้องสแกนรูปถ่ายตามที่สถานทูตกำหนดใส่ไว้ในไฟล์สมัครด้วย

ผมสมัครขอทุน ก.พ. ไปฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง โดยเลือกไปอบรมหลักสูตร 1 เดือนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan Executive Program) ในช่วงเดือนกันยายน 2553 จึงต้องรีบดำเนินการเรื่องขอวีซ่า และได้ดูเดี่ยว 8 ของคุณโน้ต อุดม ที่เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ไปของวีซ่าอเมริกา ตอนฟังเราก็สนุกดี แต่พอเราจะไปเองบ้างก็เลยวิตกกังวลเกรงว่าจะเป็นปัญหาและรู้สึกว่า การขอนัดทำวีซ่ายุ่งยากมาก ผมขอนัดทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้ใช้ระบบโทรศัพท์พินโฟน

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2553 ผมขึ้นไปเคลียร์งานค้างที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จน 10 โมงเช้าจึงไปประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตาก มีวาระที่เป็นประเด็นสำคัญๆหลายเรื่องกว่าจะเสร็จการประชุมก็เกือบ 4 โมงเย็น รีบกลับบ้านพัก เก็บกระเป๋าเสื้อผ้า แล้วให้พี่สมชายขับรถยนต์ไปส่งที่กรุงเทพฯ โดยแวะรับพี่เวง ที่มาคอยอยู่ที่โรงแรมแมกไม้ในตัวเมืองตากแล้วก็นั่งรถไปด้วยกัน ระหว่างทางก็คุยกันไปตลอดทางและฝนตกไปตลอดเช่นกัน ทำให้ต้องขับช้าลง ไปถึงกรุงเทพฯพักที่โรงแรมพีเจวอเตอร์เกต ประตูน้ำ ราว 3 ทุ่มครึ่ง เข้าที่พักแล้วก็นอนพัก ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตีห้าเพราะต้องตื่นไปสถานทูตแต่เช้า

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2553 ผมตื่นแต่เช้ารีบรับประทานอาหารเข้าที่โรงแรมแล้วนั่งรถแท็กซี่มิเตอร์ไปที่สถานทูตอเมริกาเพื่อขอวีซ่า ไปถึงราว 6 โมง 45 นาที มีคนต่อแถวกันเต็มเลย ทั้งๆที่แต่ละคนก็มีเวลานัดที่แน่นอน พอถึงเวลาพนักงานก็เรียกเข้าไปโดยผ่านการตรวจเอกซ์เรย์ ฝากกระเป๋าแล้วเข้าไปยื่นเอกสารที่เคาน์เตอร์มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงสองคนแต่ก็บริการดี นั่งรอหน้าเคาน์เตอร์สักพักก็เรียกเข้าไปข้างใน เกือบครึ่งชั่วโมงก็ถึงคิวสัมภาษณ์มีฝรั่งมาสอบถามสามสี่ประโยค พอผมฟังไม่ทันเขาก็คุยภาษาไทยได้

เสร็จแล้วเดินออกมาข้างนอกสถานทูต ขึ้นสะพานลอยข้ามไปฝั่งตรงข้าม มีคนมาถามว่าถ่ายรูปเพิ่มไหม เหมือนกับที่ฟังในเดี่ยว 8 พี่เล็ก เพื่อนพี่เวง มารอรับกลับโรงแรมและขับรถกลับไปวิทยาลัยมหาดไทยพร้อมกับพี่เวง และต้องรีบกลับไปให้ทันสอบกลางภาคในช่วงบ่าย การขอวีซ่าใช้เวลาไม่นานเพราะเอกสารพร้อมและเป็นไปตามนัดหมายและคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ขณะขับรถกลับพี่สมภพโทรมาตามเพราะกลัวเราจะไม่ไปสอบกลางภาคกัน

หมายเลขบันทึก: 389184เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท