คนตาย (ไม่) ขายคนเป็น…วิจัยเชิงปฏิบัติการของชุมชนเพื่อชุมชน


          การจัดงานศพของคนทั่วไปในหลายชุมชน มีค่านิยมหลายประการที่ทำให้เจ้าภาพต้องใช้เงินทุนสูงในการจัดงาน บางงานเมื่อจัดงานเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับมีหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการจัดงานจำนวนมากมายที่ต้องมาใช้หนี้ โดยเฉพาะ “เหล้า” ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการใช้เพื่อเลี้ยงขอบคุณแขกหรือเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานหรือญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมงาน

          จากปัญหาซับซ้อนยาวนานอันเกิดจากค่านิยมและความเชื่อของชาวบ้านอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ที่ทำให้การจัดงานศพแต่ละงานต้องใช้เงินจำนวนมาก เจ้าภาพต้องกู้เงินนอกระบบ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดงานจนกลายเป็นหนี้สินที่เกิดจากงานศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเหล้าที่ใช้เลี้ยงแขกในงาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงาน

          จากตัวเลขหนี้สินที่เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงมีการรวมพลังกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้การจัดงานศพเป็นงานศพปลอดเหล้า โดยใช้กระบวนการวิจัยจากชาวบ้านเองและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีแกนนำการวิจัย คือ ผู้นำตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน อบต. มัคนายก และอีกหลายคนที่ร่วมมือกัน จากการเปิดเวทีประชาคมให้ลูกบ้านทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น การประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ เริ่มต้นจากการที่หลายคนไม่เห็นด้วย จนกระทั่งเกิดความเข้าใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์ในชุมชน แกนนำวิจัยต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ค่อย ๆ ลงลึกในรายละเอียด จนในที่สุด สามารถนำไปสู่ “การจัดงานศพปลอดเหล้า” ของชาวสบปราบที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง และสามารถขยายผลสู่การลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อีก เช่น  การทำโลงศพและปราสาทเองเพื่อทดแทนการซื้อและยังได้ความร่วมมือสามัคคีกัน การใช้ปราสาทไม้เผาไปกับศพเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ  เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นค่านิยมและความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องใช้ความอดทนมาก การทำวิจัยก็เช่นเดียวกันต้องให้ประโยชน์กับชุมชน ในปัจจุบันจะเห็นงานวิจัยท้องถิ่นมากมาย ที่ชาวบ้านหันมาทำวิจัยกันเอง เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน

         สำหรับการทำวิจัยทางด้านการเกษตรนอกจากจะทำการทดลองในห้องหรือแปลงปฏิบัติการแล้ว สิ่งสำคัญต้องให้สามารถนำไปใช้ได้จริงกับชุมชนเป้าหมาย ให้บุคคลเป้าหมายหรือเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 388652เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท