นปส.55 (29): พร้อมให้ใฝ่รู้


ในเวทีการจัดการความรู้ ทุกคนในเวทีต้องพูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ และจดอย่างเข้าใจใส่ใจ

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 10 ของการฝึกอบรม ผมขับรถจากตากกลับไปที่วิทยาลัยมหาดไทยด้วยเส้นทางเดิม เริ่มคุ้นเคยกับเส้นทางมากขึ้น จำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง แวะพักผ่อนอิริยาบทยืดเส้นยืดสายตามปั๊มระหว่างทางเป็นระยะๆ บางครั้งก็แวะร้านอเมซอนเพื่อซื้อกาแฟเย็น แต่ไม่บ่อยนักเพราะผมใช้กาแฟรักษาไมเกรน ถ้าดื่มบ่อยๆเกรงว่าจะดื้อและรักษาไม่ได้ผล กว่าจะถึงวิทยาลัยก็ราวห้าทุ่ม กว่าจะได้นอนก็เกือบเที่ยงคืน พอเช้าวันจันทร์ก็เลยไม่ค่อยอยากลุกไปออกกำลังกายตอนเช้า

แต่ครูจุ๋ม ครูแอโรบิกที่ช่วยสอนพวกเราและนำเต้นแอโรบิกได้ง่ายๆ ใจเย็น ทำให้อยากออกกำลังกายมากขึ้น แต่ก็มีบางส่วนชอบไปวิ่ง บางคนไปเล่นเทนนิสเช่นพี่แดง พี่ไก่และพี่สุรจิต ครูจุ๋มทำให้ผมมีความรู้สึกดีๆกับการเต้นแอโรบิก จากที่เคยรู้สึกแอนตี้มาก่อน พอเราเต้นได้ เต้นเป็น เต้นตามได้ทันก็รู้สึกสนุก การเต้นแอโรบิกราวครึ่งชั่วโมง ให้หัวใจเต้นได้ 50% แบบสายกลาง ก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ และแค่เต้นวันเว้นวันก็พอเพราะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกแบบสายกลางมีผลดีอยู่ถึง 48 ชั่วโมง

พี่แดง หรือ ยุทธนา นุชนารถ นายอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นคนรักกีฬาและการออกกำลังกาย ชอบเล่นเทนนิส หุ่นดีสูง แข็งแรง ยิ้งเก่ง พูดสุภาพ ร้องเพลฝรั่งได้ดี มีความเป็นผู้ใหญ่และผู้นำสูงมาก ให้เกียรติคนอื่น ไม่ถือตัว ผมกับพี่แดงอยู่หมู่ลูกเสือเดียวกัน จึงสนิทสนมกันดี พี่แดงพูดให้ผมได้คิดและลองไปฝึกเล่นกอล์ฟพร้อมทั้งให้ถุงมือผมมาด้วย ในเรื่องการทำงานพี่แดง มีผลงานที่โดดเด่นมากจนได้รับรางวัลนายอำเภอแหวนเพชรเมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นนายอำเภอที่รักของชาวบ้าน พี่แดงมักจะเล่าเรื่องงานและถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผมฟังบ่อยๆ ความน่ารักของพี่แดงมีอีกมาก

พี่ไก่ หรือ วุฒินันท์ สีลมัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยี การประปานครหลวง ชอบเล่นเทนนิสมาก จะไปเล่นเกือบทุกเช้า พี่ไก่เป็นคนใจดี ยิ้มง่าย คุยเก่ง เป็นขวัญใจสาวๆในรุ่น ร้องเพลงได้ไพเราะแต่ไม่ค่อยได้ร้อง เพราะถูกคนอื่นแย่งหมด จึงมักทำหน้าที่เป็นนักเทคโนโลยี คอบปิดเปิดหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ให้เพื่อนๆใช้ได้และต้องรับหน้าที่อยู่เป็นเพื่อนสาวๆในรุ่นร้องเพลในห้องคาราโอเกะ

พี่สุรจิต พัฒนสาร อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้เข้าร่วมอบรมที่มีความอาวุโสด้านระดับตำแหน่งที่สุด ได้รับเครื่องราชฯชั้นสายสะพายสายสาม สูงที่สุดของรุ่น เป็นคนเงียบๆ แต่ยิ้มง่าย ไม่ถือตัว แต่งตัวเนี๊ยบ สุภาพ กล้าแสดงความคิดเห็นในห้อง ร้องเพลงได้ดี ชอบออกกำลังกายตอนเย็นวิ่ง ตอนเช้าเล่นเทนนิสและเป็นคนตั้งใจเรียนมาก แทบไม่เห็นว่าหลับในเวลาเรียนเลยและตั้งใจบันทึกการเรียนรู้ดีมาก

การเต้นแอโรบิก นอกจากจะได้ออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจนเผาผลาญอาหารแล้ว ยังได้ความสนุกสนานจากเสียงเพลงและเป็นการผ่อนคลายได้ดี โอกาสเกิดการบาดเจ็บน้อยมาก มีการอบอุ่นร่างกายขึ้นและค่อยๆลดความร้อนร่างกายลงเมื่อใกล้จบการเต้น ที่ผมได้อีกอย่างหนึ่งคือการฝึกหายใจเข้าออกยาวๆเหมือนการได้ทำสมาธิไปด้วย แต่พอจบการฝึกอบรมไปโอกาสจะเต้นแอโรบิกทุกวันคงน้อย เพราะเต้นเองคนเดียวไม่ได้ต้องมีผู้นำเต้น ในกลุ่มที่เต้นด้วยกันมีคนที่ทำได้ดีและทำสม่ำเสมอ 2 คนคือพี่รัดและพี่อ้อย

พี่รัดหรือรัชนี นำพูลสุขสันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การงบประมาณเพื่อบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ สำนักงบประมาณ เป็นตัวแบบของการดูแลสุขภาพได้เลย ดูแลสุขภาพดีมาก ชอบออกกำลังกาย เล่นโยคะ ทานอาหารสุขภาพ ใจดี ยิ้มเก่ง คุยสนุก ร่าเริงแจ่มใส เต้นรำเก่ง ร้องเพลงเก่ง พี่รัดมีลูกชายเป็นแพทย์ชื่อเดียวกับผม บางครั้งผมก็เลยแซวเล่นแกล้งเรียกเป็นคุณแม่ไปเลย พี่รัดดูสาวกว่าอายุมากเลย

พี่อ้อยหรืออารียา โลณะปาลวงษ์ หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คุณแม่ลูกสาวสาม เป็นคนคุยสนุก ร่าเริง แจ่มใส เป็นกันเอง แซวเล่นได้ ไม่ถือโกรธ ชอบร้องเพลงและร้องได้ดีมากด้วย พูดเก่ง ตอนเรียนฝึกพูดก็ได้รางวัลนำเสนอดีที่สุดในรุ่น ชอบออกกำลังกาย ชอบเต้นรำ ดูแลสุขภาพได้ดีเช่นกัน จึงดูอ่อนกว่าวัยเยอะ

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2553 เรียนรายวิชา การบริหารความรู้เพื่อสร้างภาวะผู้นำ โดย ดร. ประพนธ์ ผาสุกยืด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม ผมออกไปเบิกเงินจากเอทีเอ็มที่ปั๊มน้ำมันหน้าวิทยาลัย จึงเข้าห้องช้าไป 15 นาที ผมเดาว่าจะต้องถูกอาจารย์ประพนธ์ถามถึง เพราะผมทราบว่าเวลาอาจารย์ไปบรรยายที่ไหนจะขอดูรายชื่อและภูมิหลังของผู้เข้าอบรมก่อน และก็เป็นจริง

พอเข้ามาในห้องเพื่อนๆก็รีบบอกเลยว่าอาจารย์ถามถึง ตอนแรกอาจารย์ตั้งใจจะให้ดูวีซีดีการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตากแต่ทราบว่าพวกเราได้ดูแล้วในชั่วโมงของอาจารย์ชาติชายจึงเปลี่ยนเป็นวีซีดีของมูลนิธิขวัญข้าว ซึ่งเป็นวีซีดีการจัดการความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดีมากเรื่องหนึ่ง

อาจารย์นำเสนอและบรรยายพร้อมให้พวกเราคิดตามไปด้วยโจทย์ง่ายๆ 3-4 ข้อ เพื่อให้คิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้แล้วแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ และให้นำเสนอในห้องด้วย มีคำถามหลายคำถามจากเพื่อนๆเช่นจากพี่สุมาลี เป็นต้น อาจารย์บอกว่า การจัดการความรู้ (เคเอ็ม) มีแนวคิดและรูปแบบวิธีการหลากหลาย การพยายามอธิบายเคเอ็ม จึงไม่ต่างอะไรจาก “ตาบอดคลำช้าง

ในการนำเคเอ็มมาประยุกต์ใช้ จึงต้องให้เนียนไปกับงานประจำ ต้องทำให้ “KMเป็นพละ ไม่ใช่ภาระ” โมเดลปลาทู เป็นกุศโลบายการนำKMไปใช้ให้เนียนอยู่ในงานประจำ โดยเปรียบเทียบปลาทูหนึ่งตัวที่ต้องมีหัว (ตา) ตัว หาง คือ ส่วนหัวบอกว่าตามองไปทางไหน ทำอะไรเพื่ออะไรมีคุณเอื้อคอยช่วยหนุน ส่วนตัว (หัวใจ) บอกว่าต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีคุณอำนวยคอยช่วย และส่วนหาง เป็นคลังความรู้ ช่วยให้การแพร่กระจายความรู้มีประสิทธิภาพมีคุณกิจช่วยขับเคลื่อน

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เน้นการเล่าเรื่องที่บอกถึงเทคนิคที่ทำให้สำเร็จ เล่าสิ่งที่เป็นเคล็ดลับของความสำเร็จ เล่าสิ่งที่เป็นประสบการณ์จริง เล่าว่าได้ทำอะไร ทำอย่างไร ผู้ฟัง ฟังให้เห็นทั้งหมด (Listen completely) ฟังส่วนที่เป็นบริบทด้วย ฟังแบบ “Deep Listening” ซักถามได้ ในกรณีที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ไม่ใช่ถามเพื่อต้องการจับผิดหรือต้อนให้จนมุม

อาจารย์เสนอโมเดลภูเขาน้ำแข็งแสดงการจัดการความรู้ 3 ระดับ คือ

- Manage content จัดการความรู้ (ส่วนที่อยู่เหนือผิวน้ำ) เน้นการเรียนรู้

- Manage Communities จัดการความรู้สึก (ส่วนใต้ผิวน้ำ) เน้นความสัมพันธ์

- Manage Conscious จัดการความรู้สึกตัว (ส่วนล่างสุดใต้ผิวน้ำ) เน้นการรับรู้ จิตสำนึกสติ

ผมคิดว่า เป็นโมเดลที่ดีมาก ผมเคยบรรยายไว้ว่า จะจัดการความรู้ ต้องจัดการความรักด้วย แต่ที่ลืมไปก็คือการจัดการความรู้สติหรือการจัดการปัญญานี่เอง ทั้งนี้ ปัญญา คือความรู้ที่ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติ ต้องใช้ “ฝีมือ” ไม่ใช่ “ฝีปาก” ภาษาฝรั่งใช้คำว่า “NATO” กับ “AFTA” (No Action, Talk Only กับ Action First, Talk After)

ช่วงบ่าย อาจารย์ประพนธ์ให้นั่งเป็นกลุ่ม และให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานโดยนำเรื่องประทับใจมาเล่าให้สมาชิกในกลุ่มฟัง แล้วให้กลุ่มเลือกเรื่องที่โดเด่นที่สุด ให้ออกไปเล่าหน้าชั้นให้เพื่อนๆได้ฟังด้วย กลุ่มผมก็มีเรื่องเล่าดีๆหลายเรื่อง ผมเล่าเรื่องการเสริมพลังเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบ้านตาก พี่ลือชัยเล่าเรื่องการทำงานกับกลุ่ม อส. เล่าได้ดีมาก สามารถจัดการแบบนุ่มนวล ได้ใจ ทำให้ อส.ที่เกเรกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ได้ พี่สมภพก็เล่าเรื่องการทำงานที่อำเภอที่ทำให้งานเดินหน้าไปได้ดี

พี่พิชัยก็เล่าการทำงานในสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองที่ทำให้คนที่ถูกมองข้ามกลับมามีคุณค่าต่อองค์กรอีกครั้งหนึ่ง พี่กอบชัยเล่าเรื่องการทำงานสมัยที่ยังอยู่ในกรมการปกครองตอนที่ยังไม่ได้แยกออกมาเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนกลุ่มอื่นๆก็มีเรื่องเล่าดีๆหลายเรื่องเช่นกัน

ในกลุ่มมีความเห็นร่วมกันให้พี่ลือชัยออกไปเล่าหน้าชั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆก็มีกลุ่มละ 1 คน กลุ่มแรกที่ออกไปเล่าเป็นประสบการณ์ดีๆในการทำงานพัฒนาชุมชนโดยพี่สุทิน ผมคิดว่า ทุกคนที่ออกไปเล่าเรื่อง เล่าได้ดีมาก ทำให้เห็นภาพแสดงได้ว่า แต่ละคนผ่านประสบการณ์การทำจริงมาแล้ว จึงเล่าได้อย่างเร้าพลัง

หลังจากเล่ากันครบทุกกลุ่ม อาจารย์ประพนธ์ก็ได้สรุปแนวคิดหลักการสำคัญๆของการจัดการความรู้ให้อีกครั้งหนึ่ง และอาจารย์ให้ผมกับพี่นัดช่วยกันสรุปเติมในช่วงท้ายด้วย พี่นัดก็เคยเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้กับอาจารย์ประพนธ์มาก่อนและมีประสบการณ์ทำมาแล้ว ส่วนผมก็มีประสบการณ์สมัยอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก

ผมได้สรุปให้เพื่อนๆในชั้นฟังว่า แก่นของการจัดการความรู้เพื่อนำไปใช้และต่อยอดได้ 8 ข้อคือ

1. KM เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องเปลี่ยนข้อมูล สารสนเทศ ความรู้แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดปัญญา เวทีKMจึงเป็นของ “นักทำ” ไม่ใช่ “นักพูด”

2. KM เป็นกระบวนการหมุนเกลียวความรู้ที่มีการดึงความรู้ในคนออกมาเป็นความรู้ในวัตถุแล้วนำไปประยุกต์ใช้จนเกิดความรู้ในตัวใหม่ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่มีดีที่สุด (The best) มีแต่ดีกว่า (The better)

3. KM ต้องใส่ใจกับความรู้ในคน การจะแลกเปลี่ยนกันได้คนต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงต้องมีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนหรือมีการจัดการความรัก

4. KM เริ่มต้นจากสิ่งดีๆ ความสำเร็จ การชื่นชม โดยการให้เล่าหรือเขียนถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในบรรยากาศที่รู้สึกอิสระ เป็นมิตร ต้องมี “เวทีความดี บัญชีความสุข”

5. KM เป็น “เวทีระดมปัญญา” ไม่ใช่ “เวทีระดมปัญหา”หรือระดมสมอง จึงต้องเป็นเวที “เล่าเรื่องเก่า ท้าวความหลัง” คือเคยทำจริงมาแล้ว เห็นผลดีจึงบอกต่อ ทำนอง “ใช้ดีจึงบอกเพื่อน” จึงไม่มีคำว่า “ฉันว่า” “คิดว่า” “อย่างนี้มั้ง” “อย่างนั้นมั้ง” หรือ “น่าจะ”

6. เวทีKM จะเกิดได้ง่าย ได้ดีต้องมีตัวช่วยเป็น “แม่สื่อแม่ชัก” หรือคุณอำนวย เพื่อทำให้คนเกิดสภาพ “พร้อมให้ ใฝ่รู้” โดยคุณอำนวยต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง ใจเย็น รับฟังคนอื่น รู้กว้าง รู้ใจคน รู้จักประเมินบรรยากาศ ตะล่อมเข้าเรื่อง และทำหน้าที่ “Learn, Care, Share, Shine

- Learn กระตุ้นให้คนเกิดการเรียนร่วมกัน "สร้างไมตรี มีเวลา หาเวที" ให้

- Care สร้างสัมพันธ์ที่ดี ทำให้คนรักใคร่ห่วงใยกัน

- Share ทำให้คนแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน “ลดความหวงวิชา เพิ่มความกล้าเล่าสิ่งดี

- Shine ชื่นชม ยกย่องชมเชยคนที่มาถ่ายทอดสิ่งดีๆให้คนอื่น เพื่อ “เติมไฟใส่ฟืน”

7. ผู้ที่อยู่ในเวทีKM ต้องแสดงบทบาทสำคัญ 4 อย่างต่อไปนี้คือ

- พูดอย่างจริงใจ ทำได้แค่ไหนบอกแค่นั้น ไม่เว่อร์ (ทำได้ 70 พูด 100) ไม่กั๊ก (ทำได้ 100 พูด 70)

- ฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลุ่มลึก ฟังให้ได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เห็นคุณค่าและความหมายของช่องว่างระหว่างคำ (Between the words) แม้จะน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงก็ต้องตั้งใจฟัง เพราะผักบุ้งแต่ละต้นหรือเพชรแต่ละเม็ดที่ร่วงจากปากคนเล่ามีคุณค่าเสมอ

- ถามอย่างซาบซึ้งใจ สนใจถามด้วยความอยากรู้เพื่อกระตุ้นต่อมอยากเล่าของคนพูด ทำให้เล่าได้มากขึ้น ลึกขึ้น ถามด้วยใจยกย่องชมเชย ไม่ใช่ถามเพื่อลองภูมิหรือต้อนให้เขาจนมุม

- จดอย่างเข้าใจใส่ใจ จดตามสภาพความเป็นจริง ไม่ตีความ ไม่แปลงสาร ไม่เอากรอบคิดของตัวเองไปเปลี่ยนความเอาเอง เข้าใจอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เข้าใจอย่างที่เราอยากให้เป็น

8. KM เป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้น "ไม่ทำไม่รู้ อยากรู้ต้องทำ"

หลังจากนั้นอาจารย์ประพนธ์ก็พูดสรุปส่งท้ายและก็เลิกการเรียนในวันนั้น คิดว่าเพื่อนๆน่าจะมีความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้มากขึ้น บรมครูที่ช่วยชี้แนะให้ผมได้เรียนรู้KMก็คืออาจารย์หมอวิจารณ์ อาจารย์หมออนุวัฒน์ และอาจารย์ ดร. ประพนธ์ ทั้งสามท่านนี้เอง

KM ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจแก่นแท้ของมัน และไม่ติดกรอบติดตำรา ปรับให้เข้ากับหน่วยงานและจริตของคนของเรา (แต่อย่าลืมแก่นของมัน) ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย

หมายเลขบันทึก: 388644เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์ครับ

ถือว่ามาทบทวน KM อีกรอบในบันทึกของอาจารย์ ผมก็เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้ที่ปรับเปลี่ยนไปจากภาพเดิมมากขึ้น ในที่สุดเราก็ต้องทำการจัดการความรู้ตามธรรมชาติ หมายถึง ธรรมชาติของคน ธรรมชาติขององค์กร

กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีพลังอย่างที่สุดในการช่วยผลักกระบวนการให้ลื่นไหลคือ facilitator(FA) ผมมองว่าความเข้าใจ KM ของ FA นั้นจำเป็นมาก หากเราติดกรอบไปเสียเเล้ว กระบวนการเรียนรู้ที่ FA ท่านนั้นออกแบบก็ติดกรอบ อึดอัดไปหมด

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การจัดการความสัมพันธ์ การจัดการความรักนั้นสำคัญอย่างยิ่ง พลังที่เป็นพลังร่วมของผู้คนที่จะเข้ามาเเลกเปลี่ยนกันอย่างจริงใจนั้น เป็นพลังบวกที่เป็นพลังมาจากความรัก  เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจัดการความรักสำเร็จ การจัดการความรู้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก คนรักกันพร้อมที่จะคุยกัน เเละ AI กันอยู่เเล้ว

 

เรียนอาจารย์จตุพรครับ

ขอบคุณมากครับที่มาช่วยต่อยอดความคิดครับ คนสำคัญกว่าเครื่อง ใจสำคัญกว่าความรู้ครับ

แวะมาเรียนแบบไม่เว่อร์และไม่กั๊กครับ คุณหมอ ;)

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท