นปส.55 (27): ยืนยงคงมั่น


ผู้นำที่ดีต้องมี 3 ครองและ 4 ภูมิ คือ ครองตน ครองคน ครองงาน และ ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐานและภูมิปัญญา

วันพุธที่ 16 มิถุนายน 2553 ช่วงเช้า เรียนเรื่องการจัดการภาวะวิกฤต เรามักนึกไปถึงเรื่องของอุบัติเหตุจากเทคโนโลยีสมัยใหม่หรืออุบัติภัยจากธรรมชาติ แต่จริงๆแล้วส่วนนั้นเป็นเรื่องของHard issues ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินอย่างฉับไว เห็นได้ชัดเจน แต่ภาวะวิกฤตบางอย่างส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน สังคม ความเป็นอยู่วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมอย่างช้าๆแต่รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งได้เรียนในช่วงบ่ายรายวิชา การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมของนักบริหาร โดยอาจารย์สุธรรม ส่งศิริ วิทยากร หัวข้อเช้าบ่ายจึงเหมือนคนละเรื่องเดียวกัน

คุณธรรมคือสภาพคุณงามความดีหรือมโนสุจริต ส่วนจริยธรรมคือธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ ข้อควรประพฤติหรือกริยาที่ควรประพฤติสอดคล้องกับสิ่งที่ดีงาม มาตรฐานทางคุณธรรมจึงเป็นเกณฑ์สำหรับรับรองสภาพคุณงามความดีซึ่งมักจะใช้เป็นนามธรรมที่แสดงคุณงามความดีทางจิตใจ จริยธรรมวิชาชีพ เป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับกลุ่มวิชาชีพ เรียกว่าจรรยาวิชาชีพหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ

จรรยาบรรณเป็นประมวลความประพฤติของอาชีพการงานแต่ละอย่างที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จริยธรรมในหน่วยงานเป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับคนในองค์กรโดยถูกกำหนดไว้ให้มี (แต่อาจไม่ได้ไว้ให้ทำ...มั๊ง...เพราะหลายแห่งมีไว้โชว์ ไม่ได้มีไว้ใช้ อันนี้ผมต่อเอง อาจารย์ไม่ได้พูดครับ)

เรื่องของจริยธรรมมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะงาน ขอบเขตอำนาจหน้าที่และการทุจริต ค่านิยม/วัฒนธรรมและประสบการณ์ทางตรง/ทางอ้อม ที่มีผลกระทบต่อการเกิด “ค่านิยม” ซึ่งจะเป็นตัวกำกับความคิดดีงามในจิตใจของคน “คุณธรรม” แล้วจึงผลักดันออกมาให้เกิดเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ดี “จริยธรรม” ได้ ถ้าคนในหน่วยงานหรือชุมชนทำเหมือนๆกันก็จะกลายเป็น “วัฒนธรรม” เมื่อพูดเรื่องจริยธรรมทางการบริหาร จริยธรรมข้าราชการจึงไม่ใช่แค่การจับคนเข้าวัดไปฝึกอบรมธรรมะ นุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดฟังธรรมเท่านั้น

ภาวะวิกฤตในสังคมไทย แสดงออกด้วย 4 อาการสำคัญคือการฉ้อราษฎร์บังหลวง (การร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับข้าราชการทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ) การหลีกเลี่ยงภาษี (เก็บได้เพียง 40% ของจำนวนผู้เสียภาษี ถ้าใครหลบหรือหาช่องทางเสียได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นถือว่าเจ๋ง) การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง และการไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนตามที่ควรปฏิบัติในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

ความสำเร็จในการขับเคลื่อนจริยธรรมภาครัฐมีองค์ประกอบ 3 ด้านคือหนึ่ง สร้างกลุ่มผู้นำและผลักดันให้เกิดองค์การแห่งสุจริตธรรม สอง พัฒนาระบบคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลโดยปรับกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยมพัฒนาข้าราชการ ให้คำแนะนำปรึกษา จัดการความรู้ พัฒนาระบบบริหารงานบุคคล ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณ วางระบบบริหารจริยธรรม วัดผลและตรวจสอบ

และสามวางระบบสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ทั้งกฎหมาย หน่วยงานหลัก การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง การมีส่วนร่วมของประชาชน แรงกดดันจากสังคมและการศึกษาวิจัย อาจารย์ให้สูตรบ่อเกิดและโอกาสของการละเมิดจริยธรรมในการฉ้อราษฎร์บังหลวงไว้ว่า

Corruption = (Greed + Opportunity) – Ethics หรือ คอรัปชั่น = (ความโลภ+โอกาส) – จริยธรรม

หลังการบรรยายอาจารย์เปิดเวทีให้พวกเราแสดงความคิดเห็นในเรื่องของจริยธรรมในวงราชการและสังคมไทย มีเพื่อนๆร่วมแสดงความคิดเห็นหลายคน หนึ่งในนั้นสร้างความฮือฮาด้วยการพูดอย่างตรงไปตรงมา ภาษาฟังแล้วเข้าใจเลยโดยไม่ต้องแปล ดุเด็ดเผ็ดมัน คือ การนำเสนอคุณธรรมของนักการเมืองโดยพี่สุชาติ สบาย ท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ พี่สุชาติบอกว่า วันนี้ปวดฟันไม่อยากจะออกความคิดเห็นแต่อดไม่ได้ พี่สุชาติเป็นคนที่ดูเหมือนเคร่งขรึมจริงจังแต่ถ้าได้คุยกันแล้วพี่เขาจะคุยสนุก น่ารัก เป็นกันเอง มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า พี่สุชาติเขียนเรื่องนี้ในบันทึกกาเรียนรู้ดุเด็ดเผ็ดมันกว่าที่พูดมากเลย

ผมพูดถึงเรื่องการสร้างเสริมจริยธรรมที่นำคนไปเข้าวัดฟังธรรม 5 วัน 7 วัน ของหน่วยงานราชการที่กำลังเป็นที่นิยมกันซึ่งไม่น่าจะได้ผล เพราะเรื่องจริยธรรมมันมีอะไรที่มากกว่านั้นและพูดถึงภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องหรือSIDS (Social Immunodeficiency Syndrome) ที่กล่าวถึงสังคมไทยขาดภูมิคุ้มกัน 3 ชนิดคือความรู้ ความรักและความอดทน อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/3802 และ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/6882 อาจารย์สุธรรมขอรายละเอียดเอกสาร ผมได้ส่งให้ท่านทางอีเมล์และท่านก็ได้ตอบในบันทึกโกทูโนว์ไว้ว่า

“Very good analysis indeed. Your explanation and suggestions are quite realistic and should work when apply. Our society are in crisis situation and need Social Doctor, Spititual Doctor and Economic Doctor to heal this patient. We all have to do our share to heal and get our healthy society back.”  Sutham Songsiri: Institute of Good Governance Promotion.

ผมนึกถึงโครงการหมออนามัยติดปีก ที่นำหมออนามัยมาพัฒนาให้มีสามารถในการดูแลแบบปฐมภูมิมากขึ้น ทำคล้ายๆหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ ทางอาจารย์หมอทวีศักดิ์ นพเกสรจากคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาให้หมออนามัยดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้นในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ แต่เขาไม่มีคณะกรรมการวิชาชีพควบคุม เราจะต้องสร้างความมั่นใจแก่สังคมว่า เรามีกลไกดูแลเรื่องนี้อยู่

จึงได้มีการกำหนดคณะกรรมการจริยธรรมหมออนามัยติดปีกไว้ในกระบวนการฝึกอบรม ทำหน้าที่ดูแลกำกับมาตรฐานการบริการและจรรยาบรรณในการทำงานรวมทั้งการพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นด้วย องค์ประกอบคณะกรกรมการฯมี 15 คนมาจากการแต่งตั้ง 7 คน (นายแพทย์ สสจ.ตาก ผชช.ว.ตาก ตัวแทนคณะแพทย์มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มสาธารณสุขอำเภอเลือกกันเองอีก 4 คน) และอีก 8 คนให้กลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมหมออนามัยติดปีกเลือกกันเอง จึงมีลักษณะคล้ายๆคณะกรรมการวิชาชีพนั่นเอง

เรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของนักบริหาร ผมได้เขียนสรุปเป็นโมเดลลงในบันทึกการเรียนรู้ (Learning Log ไม่ใช่ Learning Lock) กำหนดออกเป็น "วงจรการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในองค์การ" มี 5 องค์ประกอบที่ส่งผลถึงกันและกันเป็นวงจร จาก 1-2-3-4-5-1 ไปเรื่อยๆ คือ

1. กำหนดค่านิยมหลัก (Core/Shared value) เป็นเข็มทิศจริยธรรมหรือเครื่องยึดเหนี่ยวใจหรือกำกับใจในการทำงานที่ผู้คนต้องปฏิบัติการ ถ้าปฏิบัติตามจนเป็นนิสัยกันทั้งองค์การก็จะกลายเป็น “วัฒนธรรมองค์การ” ได้ ผมเคยอ่านค่านิยมหลักของชาวอเมริกันว่ามี 3 ประการคือ “เสรีภาพ ความมั่งคั่ง เสมอภาค” หรือตอนไปอบรมแพทยศาสตร์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้ทราบว่าสิงคโปร์ก็เน้นให้คนของเขามี “เสมอภาค สันติภาพ ครอบครัว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” แต่ของไทยเราผมไม่แน่ใจว่ากำหนดหรือเปล่า มีแต่คำขวัญวันเด็กที่เปลี่ยนกันทุกปีแต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติกันจริง

2. ผู้นำเป็นแบบอย่าง (Role Model) ต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นแบบย่างที่ดี อยู่ภายใต้กฎกติกาและมาตรฐานเดียวกัน ผู้บริหารต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติ ละเมิดคุณธรรมและจริยธรรมใดๆทั้งสิ้นเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรฐานองค์การ ทั้งนี้ “ปลาตายเน่าที่หัวก่อน” และ “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก

3. สร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจทางบวก (Inspiration) จริงๆแล้วอันนี้จะมีทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ (ระเบิดจากภายใน เกิดจากความรู้สึกภายในตน) และเสริมสร้างแรงจูงใจทางบวก (สิ่งสนับสนุนจากภายนอก) ต้องนำผู้ที่ทำความดีประพฤติดีปฏิบัติดีในองค์กร ทำงานดีเสียสละทุ่มเทมาทำให้เป็นที่ตระหนักและเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นๆ ชื่นชมคนดี สร้าง “เวทีความดี บัญชีความสุข” ขึ้นในองค์การ ข้อนี้ผมได้แนวทางมาจากการไปศึกษาดูงานมูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวันเมื่อสามปีก่อน ที่สมณาจารย์เจิ้งเหยียนได้เป็นผู้นำการปฏิบัติธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆ มีเวทีความดีในวัด จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายจากเงินที่ได้จากการคัดแยกขยะมาเปิดเวทีเชิดชูความดีและคนดีในสถานีโทรทัศน์

4. ผนวกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) คัดเลือกผู้ที่ปฏิบัติดี มีจริยธรรมคุณธรรมโดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ยอมรับจากคนอื่นๆ มาบอกเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ปฏิบัติภายใต้บรรยากาศชื่นชม (Learn, Care, Share, Shine) เน้นคนที่ “ฝีมือดี” ไม่ใช่คนที่ “ฝีปากดี” สร้างบรรยากาศ “พร้อมให้ ใฝ่รู้” ของคนเล่าและคนฟัง จนเกิดความยอมรับนับถือซึ่งกันและกันและสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งการฟังกันจะทำให้เกิดความปีติสุขทาง “จิตวิญญาณหรือเชาว์ปัญญา” เป็น “การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์” ที่ดีทางหนึ่ง

5. สู่การขับเคลื่อนร่วมกัน (Network) อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่าน เคยสอนผมว่า “การทำความดีเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ อย่าเห็นว่าเป็นความดีเล็กน้อยจึงไม่กระทำ และอย่าเห็นเป็นความชั่วเล็กน้อยจึงกระทำ” เมื่อความดีทำยาก ขับเคลื่อนยาก เพราะต้องอาศัยความรู้สติ (ตื่นรู้ คือทั้งตื่นและทั้งรู้) ไม่เหมือนการทำความชั่วที่ทำง่ายเพราะเป็นสัญชาตญาณดิบ (Id) ดังนั้นการทำความดีจึงต้องชวนกันทำ ทำเป็นหมู่เป็นพวก ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไปด้วยกัน ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกันได้ และเข้ากับลักษณะคนไทยที่เป็นแบบ “พวกมากลากไป” ได้ดี การทำความดีเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายนี้เข้าได้กับแนวทางของศาสนาพุทธนิกายมหายาน (ยานลำใหญ่ ไปสู่ความสุขความดีความงามด้วยกันพร้อมกันหลายๆคน) ที่ต่างจากพุทธนิกายหินยาน (ยานลำเล็ก บรรลุให้ได้คนเดียวก่อน ให้เขาศรัทธาก่อนแล้วค่อยไปสอนไปนำคนอื่น) คนไทยนอกจากจะเป็นแบบพวกมากลากไป (ไม่ผูกยึดกลุ่มกันด้วยอุดมการณ์ แต่เอาถูกใจเข้าว่า จึงรวมกลุ่มกันหลวมๆเป็น Loose structure) แล้ว ยังมีความเป็นส่วนตัว (Individualism) สูงด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียนรายวิชา บทเรียนการปกครอง การบริหารมองผ่านวรรณกรรม โดย ดร.เจริญ วรรธนะสิน เป็นที่สนใจของพวกเราอย่างมาก อาจารย์เอาหนังสือมาขายแป๊บเดียวหมดเลย ต้องสั่งซื้อกันเพิ่ม อาจารย์กล่าวว่า อดีตเป็นเหตุของปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นผลของอดีตและเป็นเหตุของอนาคต การศึกษาเข้าใจอดีตเพื่อรู้จักปัจจุบันและปรับอนาคต การศึกษาประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจกำพืดของตนเองดีขึ้น เข้าใจโลกและชีวิตดีขึ้นและรู้คุณค่าของชีวิตมนุษย์

"การอ่านหนังสือดีๆ เป็นเสมือนหนึ่งการปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่วงไปตามสายธารแห่งปัญญา ส่วนการเขียนไม่เพียงแต่แสดงความคิดแต่เป็นการแสดงออกของจิตวิญญาณทำให้เข้าใจโลกและชีวิต ยิ่งเมื่อได้อ่านแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ปรับประยุกต์ใช้ก็จะเกิดประโยชน์มาก"

สามก๊กเป็นวรรณกรรมคลาสสิก ที่ให้บทเรียนจากความสำเร็จและความผิดพลาดจากประสบการณ์ชีวิตของตัวละครแต่ละคน สถานการณ์แต่ละแห่งแต่ละห้วงเวลา ถ้าอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์โดยไม่มีอคติ ไม่มีพระเอกผู้ร้าย วางใจเป็นกลางและถอดบทเรียนออกมา เราจะพบทั้งข้อดีและข้อด้อยของตัวละครแต่ละตัวได้

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553 ช่วงเช้าเรียนรายวิชา ผู้นำกับการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ โดยพระอาจารย์จักรกฤษณ์ เจ้าคณะอำเภอศรีราชา ท่านได้กล่าวถึงคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะที่ดีของผู้นำและยกเอาทศพิธราชธรรม10หรือธรรม 10 ประการในวงราชการมาสอนพวกเราคือความเสียสละ ศีล การเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวม ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียรอุตสาหะ ความไม่แสดงอาการโกรธในที่สาธารณะ ความไม่เบียดเบียน ความอดทนอดกลั้นและความยุติธรรมหนักแน่นถูกต้องเที่ยงธรรม

พระอาจารย์บอกว่า "ผู้นำที่ดีต้องมี 3 ครองและ 4 ภูมิ คือ ครองตน ครองคน ครองงาน และ ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐานและภูมิปัญญา" อาจารย์สอนให้เรารู้จักเรียนรู้การบริหารและภาวะผู้นำจากพุทธศาสนา ดูได้จากองค์พระพุทธเจ้าและการบริหารจัดการคณะสงฆ์ และบทเรียนจากประสบการณ์ของพระพุทธองค์ที่ถ่ายทอดผูกโยงให้น่าอ่านน่าสนใจ สนุกโดยเล่าออกมาเป็นนิทานที่เรียกว่า นิทานชาดก

ช่วงบ่าย จัดให้สัมมนากลุ่มย่อยในหมวดวิชาที่ 3 สรุปภาพรวมการพัฒนามุมมองในระดับประเทศ แต่ละคนในกลุ่มทบทวนความรู้จากเอกสารบันทึกกาเรียนรู้ของแต่ละคน พูดคุยแสดงความคิดเห็นกันและมอบหมายให้ผมจัดทำสรุปประเด็นและทำเอกสารนำเสนอส่งอาจารย์ เลิกเรียนผมขับรถกลับบ้านคนเดียว วันเสาร์มีประชุมโครงการหมออนามัยติดปีก รับส่งลูกไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ช่วงเย็นพาลูกไปว่ายน้ำ กินข้าวเย็นนอกบ้าน

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2553 นัดทานข้าวกลางวันเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดให้พี่ตุ๊ก (ภิพาภรณ์ โมราราช) เพื่อนร่วมงานสมัยอยู่บ้านตากที่ร้านส้มตำเป่าปาก พี่ตุ๊กเป็นคนทำงานดี ลุยงาน ไม่บ่นไม่ท้อ ใครมาเป็นผู้อำนวยการก็เรียกใช้เพราะไม่ต้องบอกมากสั่งมาก ความยิ่งใหญ่ของสามก๊กยืนยงคงอยู่ ควรค่าแก่การศึกษา ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานที่ผูกพันกันด้วยความเป็นเพื่อนมักยืนยงคงอยู่มากกว่าการผูกพันด้วยความเป็นเจ้านายกับลูกน้อง

เอ้ (ภรรยาผม) เป็นคนซื้อของขวัญวันเกิดให้พี่ตุ๊กและให้ผมเป็นคนเขียนการ์ด ผมเลยเขียนเป็นกลอนสุภาพให้ ถ้าผูกพันกันไม่มากคงเขียนเป็นกลอนได้ยาก ดังนี้

ขออวยชัย ให้พร แด่พี่สาว      งามดุจดาว พร่างพราย ประกายแสง

แด่พี่ตุ๊ก คู่ชีวิต ชิดพี่แดง              ให้แข็งแรง สุขสวัสดิ์ พิพัฒน์นาน

จากดวงใจ น้องเอ้ หมอพิเชฐ        ขอฤทธิ์เดช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประสิทธิ์สาร

อายุมั่น ขวัญยืน สุขยาวนาน         ให้พบพาน สิ่งดี นิจนิรันดร์”

 

หมายเลขบันทึก: 388627เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Now it is the time to enforce 'the ethic and code of conduct 'issues in Public Sector and Political Sector. Now is the time ' the people power' to emerge and take our country back from the dirty hand of both politicain and the dishonest public service officials who working for politician's interest, not people's interest. Now is the time for Thai people to decide that we cannot bear this situation any more and start to do some thing to put our country in the right direction.

Sutham Songsiri

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท